31/03/2020
Public Realm

Work From Home: เมื่อพื้นที่เมืองและพื้นที่ทำงานถูกผลักเข้าพื้นที่บ้าน

The Urbanis
 


เมื่อคอนโดเป็นที่อยู่อาศัยของคนเมือง พื้นที่เมืองจึงกลายเป็นห้องนั่งเล่น

อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องของปกติของชาวกรุงเทพวัยทำงานไปแล้ว สำหรับการย้ายที่พักจากบ้านเดี่ยวมาพักอาศัยที่คอนโดตามแนวรถไฟฟ้า BTS และ MRT เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางจากที่พักไปยังที่ทำงาน ด้วยเหตุผลที่สุดจะทนกับระยะเวลาเดินทางไป – กลับที่แสนจะยาวนาน หรือจะเป็นความสะดวกสบายในการเดินทาง การเข้าถึงสถานที่ และบริการต่างๆ ที่ทำให้การพักอาศัยที่คอนโดในเมืองเป็นทางเลือกของชาวกรุงเทพ หลังจากการพัฒนาด้านต่างๆ ขยายตัวไปตามพื้นที่แนวรถไฟฟ้า ราคาคอนโดโดยรอบสถานีต่อตารางเมตรดีดตัวสูงขึ้น ในขณะที่ขนาดห้องเล็กลงเกินครึ่ง ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี จากเดิมขนาดเฉลี่ยคอนโด 1 ห้องนอน คือ 65 ตร.ม. ในปัจจุบันกลับเฉลี่ยเหลือเพียง 28 ตร.ม. 

ขนาดห้องสี่เหลี่ยมที่จำกัด ส่งผลให้เกิดการผลักความต้องการการใช้พื้นที่บางส่วนที่หายไป ไปสู่พื้นที่เมือง ผู้อยู่อาศัยในคอนโดจำนวนมากใช้พื้นที่ส่วนกลางคอนโดหรือพื้นที่ของเมืองทดแทนพื้นที่ที่หายไป พื้นที่ส่วนกลางของคอนโดหลายแห่งมักมีบริการฟิตเนส สวนหย่อม ห้องสมุด หรือห้องนั่งเล่น เพื่อตอบรับความต้องการ  รวมถึงการเติบโตและพัฒนาของพื้นที่ส่วนต่างๆของเมืองเอง ก็พยายามผลิตและพัฒนาพื้นที่ที่สามารถตอบรับการใช้ชีวิตของคนเมือง เช่น พื้นที่ร้านกาแฟ พื้นที่ co-working space หรือสวนสาธารณะ ก็กลายเป็นพื้นที่ทางเลือกให้กับการเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน อ่านหนังสือ หรือการพักผ่อนหย่อนใจ เสมือนเป็นห้องนั่งเล่นและห้องทำงานของคนเมือง

เมื่อห้องนั่งเล่นและห้องทำงานหายไปเพราะ COVID-19

หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 เข้าสู่ภาวะการระบาดใหญ่ (pandemic) ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing จึงเป็นหนึ่งในมาตรการที่หลายประเทศดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกาย การรวมกลุ่ม และการทำกิจกรรมร่วมกันของคนหมู่มาก รวมไปถึงได้มีการขอความร่วมมือประชาชนในการอยู่บ้าน งดการเดินทาง และปิดพื้นที่บริการต่างๆ ของเมือง หลายบริษัทมีนโยบายทำงานที่บ้านหรือ work from home เป็นการลดการพบปะผู้คนในระบบขนส่งสาธารณะ และการเข้าออกอาคารสำนักงานที่เป็นแหล่งรวมผู้คน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดและแพร่กระจายเชื้อ

เมื่อกล่าวถึงการทำงานที่บ้านหรือ work from home อาจจะดูเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นชินของพนักงานออฟฟิศหลายๆคน แต่ในอีกมุมหนึ่ง กลุ่มคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ รับจ้างอิสระ นักเขียน ฯลฯ มีลักษณะการทำงานแบบ work from home มานานแล้ว ด้วยรูปแบบการทำงานที่เป็นเจ้านายตัวเอง ไม่มีตารางเวลาการทำงานที่ชัดเจน ทำให้กลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง ซึ่งเป็นเทรนด์การทำงานในปัจจุบันและช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชื่นชอบการทำงานในออฟฟิศ และมีไลฟ์สไตล์ทำงานอยู่ที่บ้าน ดูๆ ไปแล้วก็เหมือนว่ากลุ่มคนอาชีพเหล่านี้มีแต้มต่อในการ work from home มากกว่าพนักงานออฟฟิศ 

แต่จากการศึกษาพบว่า ส่วนมากกลุ่มคนที่เป็นฟรีแลนซ์เลือกที่จะไปทำงานตาม 3rd place กล่าวคือสถานที่ที่ไม่ใช่บ้านหรือที่ทำงาน เป็นพื้นที่เมืองที่เปรียเสมือนห้องนั่งเล่นหรือห้องทำงานของบ้าน เช่น ร้านกาแฟ co-working space ฯลฯ เนื่องจากพื้นที่บ้านหรือคอนโดไม่ได้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สามารถผลิตงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และไม่สามารถแยกเส้นกั้นระหว่างพื้นที่ทำงานและพื้นที่ส่วนตัวได้ รวมถึงความไม่สะดวกในการพบปะหรือนัดคุยงานกับลูกค้า หากแต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การ work from home ของทั้งพนักงานออฟฟิศทั่วไปหรือฟรีแลนซ์ รวมถึงการใช้ชีวิตของมนุษย์คอนโด หมายถึงการทำงานอยู่ในพื้นที่บ้านจริงๆ ไม่สามารถออกไปทำงานตาม 3rd place ได้ อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์การระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบให้พื้นที่ทำงานและพื้นที่ห้องนั่งเล่นของคนเมืองบางกลุ่มหายไป 

เมื่อพื้นที่เมืองและพื้นที่ทำงานถูกผลักเข้าสู่พื้นที่บ้าน ส่งผลให้การอัดแน่นความต้องการเชิงพื้นที่รวมไว้ในที่อยู่อาศัย

จากนโยบาย social distancing และมาตรการ work from home  ที่เกิดขึ้น  ส่งผลให้เกิดการผลักพื้นที่กลับเข้าบ้านหรือพื้นที่อยู่อาศัย ไม่เพียงแต่ห้องนั่งเล่นอย่างพื้นที่เมืองที่หายไป แต่พื้นที่ทำงานเองก็ถูกผลักกับมาอยู่ที่บ้านเช่นกัน กลายเป็นตอนนี้คนเมืองกลับอยู่ในสภาวะที่ 1st place หรือที่อยู่อาศัยนั้น อัดแน่นความต้องการเชิงพื้นที่ 3 รูปแบบที่แตกต่างไว้ด้วยกัน เมื่อบ้านต้องกลายมาเป็นพื้นที่ทำงานในวันธรรมดา และในวันหยุดก็ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ ส่งผลให้คนต้องการพี้นที่ภายในบ้านที่เพื่อตอบสนองความต้องการทุกรูปแบบ แต่ด้วยพื้นที่ที่จำกัดของที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโด อาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการหรือทดแทนพื้นที่นอกบ้านได้ ทั้งความต้องการในด้านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย หรือไม่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ความสดชื่นหายไป และไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้่ ยังมีอีกประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังจากสภาวะอปกตินี้ คือจากความหนาแน่นของผู้อยู่อาศัยในคอนโด ส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อมากกว่าการอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าที่มีการใช้พื้นที่แยกขาดจากกัน เนื่องจากการเข้าถึงห้องพักของคอนโดมิเนียมหรือหอพักต้องมีการผ่านพื้นที่ส่วนกลางและลิฟท์หรือบันได ที่ทุกคนจะต้องใช้ร่วมกัน ทำให้ต้องพบเจอกับผู้อยู่อาศัยในอาคารเดียวกันมากมาย ทั้งกลุ่มที่กักตัวอยู่ในห้อง หรือบางกลุ่มที่ยังต้องออกไปทำงานข้้างนอก และด้วยพื้นที่ที่จำกัดทำให้การเว้นระยะห่างของคนที่อาศัยในคอนโดมีเนียมอาจไม่มากพอ ผู้เขียนจึงมองว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้อาศัยอยู่ในคอนโดนั้น อาจได้รับผลกระทบมากกว่าผู้อาศัยที่อยู่บ้านเดี่ยวที่มีพอจะมีพื้นที่ทำกิจกรรม และพบปะผู้คนน้อยกว่า 

ทั้งนี้ จากสถาการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้สังคมอยู่ในพยาธิสภาพหรือถูกฟรีซค้างไว้ สิ่งที่น่าสนใจคือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการระบาดสามารถควบคุมได้ ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตและความต้องการเชิงพื้นที่ของคนเมืองจะเปลี่ยนไปหรือไม่ จากการถูกผลักพื้นที่อื่นๆเข้าสู่พื้นที่บ้าน อาจเป็นได้ทั้งการกลับสู่สภาวะปกติเช่นเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่งจากการปรับตัวเลยก็เป็นได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดนั้น ล้วนส่งผลกระทบต่อพื้นที่เมือง พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำงาน อย่างแน่นอน นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของงานด้านการออกแบบและพัฒนาเมือง งานอสังหาริมทรัพย์ หรืองานด้านอื่นๆ ก็เป็นได้

บทความ “Work From Home: เมื่อพื้นที่เมืองและพื้นที่ทำงานถูกผลักเข้าพื้นที่บ้าน” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor