27/12/2019
Public Realm

นิยายแห่งสองชรานคร : เราควรออกแบบเมืองเพื่อคนแก่ หรือเมืองเพื่อเตรียมคนให้แก่อย่างมีคุณภาพ?

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ณัฐชนน ปราบพล
 


เมื่อพูดถึง “เมือง” เราอาจจะนึกถึงความพลุกพล่านเร่งรีบของผู้คนหนุ่มสาววัยทำงานตามท้องถนน แต่ตัวละครหนึ่งที่เรามักมองข้ามก็คือ “ผู้สูงวัย”

แต่ประเด็นคือ ปัจจุบันโครงสร้างจำนวนประชากรที่สูงวัย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

สถิติจาก United Nations Department of Economic and Social Affairs (UNDESA) คาดการณ์ว่าในปี 2030 จำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกจะมีราว 1,402 ล้านคน และในปี 2050 จะเพิ่มเป็น 2,092 ล้านคน โดยประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกคือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ ไทย  

ดังนั้น จึงพูดได้ว่า สังคมไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต และคนไทยสูงวัยในอนาคตที่ว่า – ก็คือพวกเราหนุ่มสาววัยทำงานในปัจจุบันนี่เอง

แล้วเมืองของเราได้เตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้ไว้แค่ไหน?

ลินดา แกรตตัน ศาสตราจารย์แห่ง London Economic School ผู้เขียนหนังสือ The 100-Year Life บอกว่า ในอนาคตอันใกล้ “ศตวรรษนิกชน” หรือคนที่มีอายุเกินร้อยปี จะไม่ใช่บุคคลที่หายากอีกต่อไป เพราะคุณภาพและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนากว่าเดิม ความน่ากังวลคือช่วงชีวิตที่ยาวนานมากขึ้น คือช่วงวัยหลังเกษียณที่เราล้วนมีรายได้และกำลังวังชาที่ถดถอย ดังนั้น อายุที่ยาวนานมากขึ้นจะเป็น “พรอันประเสริฐ” หรือเป็น “คำสาป” ก็ขึ้นกับว่าช่วงหนุ่มสาวเราสะสมทุนไว้สำหรับตอนแก่ไว้แค่ไหน

สำหรับหลายๆ คน พรอันประเสริฐอาจจะเป็นการลดวัฏจักรชีวิตให้เหลือแค่ 3 ขั้น คือ เกิด แก่ ตาย โดยภาวนาให้ไร้ขั้นตอนการ “เจ็บ” หรือหากมีก็ขอให้สั้นที่สุด นั่นคือมีทุนสุขภาพที่ดีที่ทำให้ใช้ชีวิตช่วงแก่อย่างมีคุณภาพ

ข้อมูลอายุคาดเฉลี่ยและอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี ในปี 2016 จาก WHO ชี้ให้เห็นถึงช่วงเวลาของการ “เจ็บ” โดยเปรียบเทียบจากอายุคาดเฉลี่ย และอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี

นั่นหมายความว่า หลังอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไปจนถึงอายุคาดเฉลี่ย ช่วงเวลานั้นคือ ช่วงที่เราต้องอยู่ “แบบที่มีสุขภาพย่ำแย่หรือเริ่มเจ็บป่วย” นั่นเอง สำหรับในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนบ้านเรา ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า สิงคโปร์คือประเทศที่อายุยืนและเจ็บน้อยที่สุด ส่วนประเทศไทยเรามีอายุคาดเฉลี่ย 75.5 ปี อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี 66.8 ปี ระยะห่างอยู่ที่ 8.7 ปีที่ต้องมีอายุยืนแบบเจ็บป่วย

มีผลการวิจัยระบุว่า สุขภาพตอนแก่จะกำหนดโดยยีนหรือกรรมพันธุ์เพียง 25% ที่เหลือทั้งหมดคือไลฟ์สไตล์หรือกิจกรรมต่างๆ ที่กระทำตอนยังหนุ่มสาวมากถึง 75% ดังนั้น เมืองจึงมีผลอย่างมากต่อการสะสม “ต้นทุนชีวิต” ของเรา

เมืองหล่อหลอมพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้คน เรามองเมืองผ่านถนน อาคารบ้านเรือน โครงสร้างพื้นฐานและบริการต่าง ๆของเมือง เราจะรู้ได้ว่าคนในเมืองนั้นมีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอย่างไร เดินเท้าผสมขนส่งมวลชนหรือใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำอาหารทานเองหรือซื้ออาหารขยะ ใช้เวลาว่างตามพิพิธภัณฑ์หรือห้างสรรพสินค้า ออกกำลังกายตามสวนสาธารณะหรือฟิตเนส

ฉะนั้นแล้ว “เมืองที่ดีสำหรับสังคมอายุยืน” จึงไม่ใช่แค่เพียงการออกแบบเพื่อทุกคนตามแบบ Universal Design แต่ต้องเริ่มจากต้นทาง นั่นคือการออกแบบให้คนในเมือง (ทั้งแก่และยังไม่แก่) ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี และมีเงินเหลือในกระเป๋า ยิ่งเราเตรียมความพร้อมให้กับเมืองได้มากเท่าไหร่ ผู้คนจะสามารถสะสมทุนไว้ใช้ชีวิตตอนแก่ได้อย่างมีคุณภาพได้เท่านั้น

หนึ่งในทุนที่ว่าก็คือ “ทุนทางสุขภาพ” ที่ต้องสร้างตั้งแต่วัยหนุ่มสาวตอนยังมีเรี่ยวแรง ผ่านการกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะการออกกำลังกาย สอดคล้องงานวิจัยหนึ่งที่ระบุว่า การไม่ออกกำลังกายเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าสูบบุหรี่ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง เมืองที่เปิดโอกาสให้คนเดิน ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ก็จะเพิ่มทุนสุขภาพ ลดทุนเศรษฐกิจ ให้เรากลายเป็นคนแก่คุณภาพต่อไป

เราจะกลายเป็นคนแก่แบบไหน? ในเมืองแบบไหน?

ลองหลับตาแล้วจินตนาการไปอีก 20 ปีข้างหน้า ถึงภาพอนาคตที่เป็นไปได้ 2 ภาพในเมืองสมมติ 2 แห่ง

ภาพอนาคตที่ 1 – ติดบ้าน ติดเตียง ในมหานคร LOS ANGELES แห่งปลายบูรพาทิศ

ฉันคือคนแก่ที่เบื่อ เหงาหงอย ติดบ้าน ติดเตียง หมดเงินไปกับการรักษาตัวเอง รวมทั้งค่าเดินทางไปสถานพยาบาลด้วย ฉันอายุยืนในชรานครแห่งนี้ แต่สุขภาพกาย สุขภาพจิตแย่ แถมยังเงินเก็บก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ

เมื่อฉันย้อนคิดถึงครั้งยังหนุ่มสาว ฉันขับรถไปทำงาน เพราะบ้านไกลงาน ระบบขนส่งสาธารณะไม่ดี ค่าใช้จ่ายจำนวนมากก็หมดไปกับค่าเดินทาง ไม่ค่อยออกกำลังกายเพราะต้องเสียเวลาไปกับการใช้ชีวิตบนถนนที่การจราจรติดขัด ฟิตเนสก็แพง เสียดายเงิน ฉันมักหาความสุขโดยการชอปปิง กินบุฟเฟต์ กินหมูกระทะ ยิ่งเครียด ยิ่งกิน ยิ่งชอป

พอฉันเกษียณ สุขภาพฉันไม่ดี อ้วน โรครุมเร้าทั้งโรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน รวมทั้งโรคปอด ซึ่งก็คงมีสาเหตุจากฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มากขึ้นตามปริมาณรถยนต์ในเมืองฉัน บ้านฉันไกลอยู่ในซอยลึก ระบบขนส่งสาธารณะก็ไม่ได้เอื้ออำนวยให้การเดินทางสะดวกและง่ายขึ้นจากแต่ก่อน การเข้าถึงโรงพยาบาลยังยาก ขาดแคลนสถานที่ผ่อนคลายอย่างสวนสาธารณะ แม้ว่าฉันอยากจะหาโอกาสพบปะเพื่อนฝูงหรืออัพเดตทักษะใหม่ให้ทันโลก ก็อยู่ไกลเหลือเกิน คำนวณค่าเดินทางสารพัดแล้ว แถมร้อนระดับนรกโลกันตร์แบบนี้ กลัว Heat Stroke (โรคลมแดด) อยู่บ้านดีกว่า ลูกหลานของฉันก็ดิ้นรนทำงานอย่างหนักให้พอกับค่าใช้จ่ายจนไม่มีเวลามาเยี่ยมฉันเลย ชีวิตของฉันช่าง “nasty, brutish and long” ไม่เห็นเหมือนที่โทมัส ฮอบบส์ได้กล่าวไว้แต่อย่างใด

ภาพอนาคตที่ 2 – แก่ เเซ่บ ซ่าในมหานคร SAN FRANCISCO แห่งเอเชียอาคเนย์

แน่นอน ฉันแก่ขึ้น แต่ยังคงความแซ่บ ซ่า สามารถเฉลิมฉลองความเป็นตัวเองอย่างมีความสุขในวัยหลังเกษียณ ฉันมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี และมีเงินเหลือเก็บ

คิดย้อนไปสมัยฉันทำงาน ฉันเดินทุกวัน วันละหลายกิโล เนื่องจากขนส่งมวลชนสาธารณะของเมืองฉันคุณภาพดี ทางเท้าดี ร่มเย็น สวยงามน่าเดิน ฉันนั้นทันสมัยเพราะใช้เวลาระหว่างเดินทางอ่านหนังสือหรือฟังพอดคาสต์อัพเดตความรู้

วันหยุดฉันก็เข้าคอร์สรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มพูนทักษะ ฉันมักผ่อนคลายด้วยการใช้เวลาตามพิพิธภัณฑ์ โรงละคร ฟังดนตรี เดินเล่นหรือออกกำลังกายในสวนสาธารณะ

พอฉันเกษียณ ชีวิตฉันไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก กิจกรรมประจำวันยังเป็นการเดินไปซื้อของที่ตลาดและร้านโปรด พร้อมพบปะเพื่อนบ้านในย่านละแวก ฉันยังทำงานเล็กๆ น้อยๆ เป็นพาร์ตไทม์ในห้องสมุด 2 วันต่อสัปดาห์ ฉันนั่งรถเมล์ไปเพราะสะดวกสบาย ฉันนัดกับเพื่อนแทบทุกอาทิตย์ ชวนกันไปดูนิทรรศการศิลปะตามพิพิธภัณฑ์ในเมือง หรือไม่ก็ฟังดนตรีตามบาร์ ถึงแม้โรงพยาบาลจะอยู่ไกลบ้านของฉัน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะไม่จำเป็นต้องไปบ่อย หัวใจฉันยังแข็งแรง ปอดฉันยังดี ลูกหลานก็แวะมาเยี่ยมเยียนอยู่ประจำ ไม่ต้องทำงานปากกัดตีนถีบหาเงินอย่างหนัก เพราะรัฐสวัสดิการมีค่าใช้จ่ายให้ผู้สูงอายุใช้อย่างไม่ต้องกลัวอดอยาก แม้ฉันแก่ แต่ชรานครแห่งนี้ก็ได้ช่วยให้ฉันกลายเป็นคนแก่ที่สง่างามและมีความสุข

แน่นอนว่า ใครๆ ก็คงอยากแก่ในมหานคร SAN FRANCISCO แห่งเอเชียอาคเนย์ ที่เป็นเมืองเดินได้ เดินดี มีศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการต่างๆในชีวิต มีทางเดินเท้าที่ร่มเย็นช่วยเพิ่มระดับกิจกรรมทางกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของผู้คนในชีวิตประจำวัน และมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นทั้งพื้นที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ช่วยผลิตออกซิเจน กรองมลภาวะ สลายความเครียด

แต่ความจริงอันโหดร้ายก็คือ หากสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ยังดำเนินไปโดยไม่มีการออกแบบปรับปรุงเสียใหม่ เราน่าจะกลายเป็นคนแก่แบบเดียวกับมหานคร LOS ANGELES แห่งปลายบูรพาทิศ เพราะเมืองที่ไม่มีทางเลือกให้เราแก่อย่างมีคุณภาพได้มากนัก หนึ่งในทางออกที่เป็นไปได้อาจคือ “ก้มหน้าทำมาหากิน เก็บเงินให้ได้เยอะ แล้วไปเกษียณที่อื่น”

ท้ายที่สุดแล้ว ถึงแม้เมืองกำหนดพฤติกรรมและวิถีชีวิตคน ทว่าการออกแบบและพัฒนาเมืองประเทศไทยที่ผ่านมาดูจะส่งเสริมให้คนเน้นการใช้จ่ายเป็นหลัก

เรามีร้านอาหารมากมายหลายระดับให้เลือกรับประทาน แต่มีพื้นที่สาธารณะที่สามารถออกกำลังกายและพักผ่อนยังขาดแคลน, มีห้างสรรพสินค้าให้เดินชอปปิงนับไม่ถ้วน แต่โครงสร้างทางเท้าในเมืองกลับไม่เอื้อให้คนเดินได้อย่างสะดวก, ตั้งเป้าหมายเป็น Medical Hub เน้นการลงทุนเพื่อการรักษาพยาบาลตามโครงการต่าง ๆ แต่อาจจะลืมสร้างเมืองที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีตั้งแต่ต้น, สนับสนุนการเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเข้มข้น แต่สถานที่เพื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับทุกคน ทุกวัยเช่นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ กลายเป็นสิ่งที่หายาก

สถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ล้วนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เน้นการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้เสริมสร้างให้ดีมาตั้งแต่ต้น

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงเมืองปัจจุบันให้เป็น “เมืองที่ดี” สำหรับสังคมอายุยืนในอนาคต เมืองออกแบบได้ ให้เป็นเมืองที่เดินได้-เมืองเดินดี เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี เพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวลดอากาศร้อนจนสามารถเดินร่มเดินเย็นอย่างแท้จริง นับเป็นการสะสมทุนสุขภาพให้เราใช้ชีวิตตอนแก่ได้อย่างมีคุณภาพต่อไป – ด้วยต้นทุนราคาถูกอย่างการเดินเท้านั่นเอง


Contributor