26/12/2019
Environment

How to be Green เพิ่มป่าจริงในป่าคอนกรีต

The Urbanis
 


ภัยพิบัติทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทยอยกันโจมตีมนุษย์อย่างต่อเนื่อง

คำถามก็คือ กรุงเทพฯ เมืองใหญ่ที่แสนจะเปราะบางแต่มักไม่รู้ตัว – จะยังพอมีทางออกอยู่หรือไม่?

Concrete Jungle of the East

หาก New York ได้รับสมญานามว่าเป็นป่าคอนกรีตแห่งโลก กรุงเทพฯ ก็คงเป็นเป็นคู่แข่งสำคัญอีกรายหนึ่งในนามป่าคอนกรีตแห่งตะวันออก

วลี “ป่าคอนกรีต” อาจหมายถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองอย่างเข้มข้น และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ หรือแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศก็ได้ แต่ถ้าถามถึงคุณภาพชีวิตของคนในป่าคอนกรีตแต่ละแห่ง ก็มักจะแตกต่างกันออกไปตามปัจจัยสนับสนุนการดำรงชีวิต

แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือเรื่องของ “พื้นที่สีเขียว” และ “สวนสาธารณะ” ในเมือง ซึ่งก็คือ “ป่าจริง” ที่ซ้อนอยู่ใน “ป่าคอนกรีต” นั่นเอง

เราจะเห็นว่า กรุงเทพฯ ในฤดูร้อนนั้นร้อนขึ้นทุก แถมล่าสุดยังต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ “กรุงเทพฯ คลุกฝุ่น” เป็นเวลาหลายเดือนด้วย

ผู้คนจึงเริ่มให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมในเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ทุเลาลงได้บ้าง ทั้งในแง่ของการกรองมลพิษ และสร้างเสริมสุขภาพกายและจิตให้กับคนเมือง

แล้วกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวมากแค่ไหน?

เริ่มต้นที่ “นิยาม” ของพื้นที่สีเขียวกันก่อน

นิยามของคำว่า “พื้นที่สีเขียวในเมือง” แบบง่ายๆ ก็คือ พื้นที่ใดในเมืองก็ตามที่ปกคลุมด้วยต้นไม้หรือพันธุ์พืช ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามงานวิจัยมาตรการในการเพิ่มและจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศูนย์วิจัยป่าไม้ (2547) ได้แก่

  • พื้นที่ธรรมชาติ
  • พื้นที่สีเขียวเพื่อบริการ
  • พื้นที่สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม
  • พื้นที่สีเขียวริมทางสัญจร
  • และพื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจชุมชน

โดยมีการกำหนดมาตรฐานหรือเกณฑ์ของพื้นที่สีเขียวในเมืองเอาไว้หลายแบบหลายหน่วยงาน เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรฐานสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในเมืองเอาไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่สำนักผังเมืองกทม. และ JICA ได้กำหนดมาตรฐานเนื้อที่สวนสาธารณะต่อประชากรไว้ที่ 16 ตารางเมตรต่อคน สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ

ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. อย่างคุณชาตรี วัฒนเขจร ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะ สวนหย่อม รวม 8,081 แห่ง กินพื้นที่ทั้งหมด 23,905 ไร่ 3 งาน 31.74 ตารางวา (38,249,326.95 ตารางเมตร)

นั่นแปลว่าอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 6.73 ตารางเมตรต่อคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.44 ต่อพื้นที่กรุงเทพฯ

ถ้าดูข้อมูลที่ว่า เราจะเห็นได้เลยว่า พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ยังน้อยกว่ามาตรฐานสากลที่ WHO กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคนอยู่พอสมควร

ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือบ้านหลังนี้ของเรายังขาดแคลนเครื่องฟอกอากาศอีกอย่างน้อย 3 เครื่อง เพื่อให้บ้านเย็นลง และสมาชิกในครอบครัวหายใจได้อย่างสะดวก

แน่นอนว่า ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมแขกผู้มาเยี่ยมบ้าน ซึ่งหมายถึงนักท่องเที่ยวและประชากรแฝงอีกนับล้านคนในกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งถ้านำมาหารเฉลี่ยเข้าไป ตัวเลขที่ว่าก็จะลดน้อยลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม พื้นที่สีเขียวไม่ได้มีไว้ฟอกอากาศเท่านั้น แต่ “หน้าที่” ของพื้นที่สีเขียวยังมีอีกหลากหลาย เช่น ใช้เพื่อการพักผ่อนและการทำกิจกรรมนันทนาการ อันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการส่งเสริมให้คนเมืองมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งพื้นที่สีเขียวประเภทนี้มักจะเป็น “สวนสาธารณะ” นั่นเอง

ถ้าเรามาดู “พื้นที่สีเขียวเพื่อบริการ” จากฐานข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เราจะพบว่า สวนสาธารณะหลักและรองซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวประเภทที่ทุกคนเข้าถึงได้เพื่อกิจกรรมนันทนาการและการพักผ่อน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 98 แห่ง

ใน 98 แห่งนี้ คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 4,011 ไร่ หรือ 6,418,301.32 ตารางเมตร ซึ่งก็เท่ากับประมาณ 6.42 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าพื้นที่เขตบางกอกใหญ่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นั่นแสดงว่า เรามีพื้นที่สาธารณะสำหรับให้ทุกคนมาออกกำลังกาย ทำกิจกรรม พบปะพูดคุย พักผ่อนหย่อนใจเพียงแค่ร้อยละ 0.41 ของพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้นเอง โดยคิดเป็น 1.13 ตารางเมตรต่อคน หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ หากให้ชาวกรุงเทพฯที่มีชื่อตามทะเบียนราษฎร์ ออกมาทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่สวนสาธารณะ เราอาจทำได้เพียงแค่ยื่นมือแตะไหล่คนข้างหน้าเท่านั้น

นั่นแปลว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวประเภทสวนสาธารณะน้อยยิ่งกว่าน้อย!

ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า พื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะของเมืองไม่เพียงแต่ช่วยระบายความร้อนให้เมืองเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มเส้นทางปลอดภัยสำหรับการเดินเท้าและปั่นจักรยานด้วย ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย สร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการพักผ่อนหย่อนใจ

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า การที่ผู้คนขาดพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย เมืองมีโครงข่ายการเดินเท้าที่ย่ำแย่ และการขาดการเข้าถึงพื้นที่นันทนาการ เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกร้อยละ 3.3

ซึ่งถ้านำตัวเลขนี้มาเทียบกับกรุงเทพฯ ก็อาจแปลว่า ประชากร 6 ล้านคนของกรุงเทพฯ จะมีอยู่ 198,000 คน ที่เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าว

นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย

แล้วเรายังพอจะมีทางออกอยู่หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเติบโตของเมืองแห่งนี้ในทุกด้านตลอดระยะเวลาหลายสิบปีเป็นไปในทิศทางของการลงทุนเพื่อสร้างผลกำไรมากกว่า

แน่นอน การลงทุนกับพื้นที่สำหรับพาณิชยกรรมหรือที่อยู่อาศัยย่อมสร้างผลกำไรได้ดีกว่าการสร้างพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้ ประชากรเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ทำให้หาพื้นที่สร้างสวนหรืออุทยานขนาดใหญ่กลางเมืองแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

แต่กระนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มต้นไม้ริมถนน สวนหย่อม สวนสาธารณะ สวนแนวตั้ง สวนบนหลังคา หรือจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่หรือโครงสร้างทิ้งร้างในเมืองให้เป็นพื้นที่สีเขียว

โครงการที่ว่า ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในหลายเมืองของต่างประเทศ เช่น

ปารีส ฝรั่งเศส

มีโครงการ Viaduc des Arts ที่ได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางรถไฟเก่าสาย Paris-Bastille – Vincennes ให้กลายเป็นแกลเลอรี่ ร้านอาหาร และเป็นย่านงานศิลปะคราฟต์ขึ้นชื่อของเมือง โดยที่โครงสร้างทางรถไฟด้านบนระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถูกปรับเป็นสวนสาธารณะ

https://www.parisinsidersguide.com/viaduc-des-arts.html

นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ได้ปรับปรุงโครงสร้างทางรถไฟฟ้ากลางเมืองที่ถูกทิ้งรางระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ให้เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่ชื่อว่า High Line ซึ่งพบว่า หลังจากการเปิดใช้งานของสวนลอยฟ้าแห่งนี้ ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์ในบริเวณใกล้เคียงมีมูลค่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการเพิ่มพื้นที่สวนหลังคาบนอาคารอีกหลายแห่งที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับเมือง ช่วยซึมซับน้ำฝนได้กว่า 7 ล้านแกลลอน ลดอุณหภูมิ และลดการใช้พลังงานของเมือง

โซล เกาหลีใต้

กับ Seoullo 7017 โครงการปรับโครงสร้างทางด่วนเดิมให้เป็นสวนลอยฟ้าลักษณะเดียวกับ High Line ในนครนิวยอร์ก ด้วยความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร โดยในอนาคตจะมีการใช้สวนลอยฟ้าแห่งนี้เป็นสถานอนุบาลต้นไม้เพื่อเตรียมย้ายไปปลูกในพื้นที่อื่นต่อไป

Aerial View of Seoullo 7017 - Day View (2).JPG

เมื่อมองกลับมาที่เมืองหลวงของเราอย่างกรุงเทพฯ ก็ไม่แพ้ใครเหมือนกัน เพราะโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ คือ “พระปกเกล้าสกายพาร์ค” หรือที่เรียกติดปากกันว่า “สะพานด้วน” จากเดิมที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินในอดีตที่ถูกยกเลิกไป ทำให้สะพานแห่งนี้ถูกทิ้งร้างร่วม 30 ปี

การฟื้นคืนชีพสะพานที่ยังมีโครงสร้างแข็งแรงแห่งนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักผังเมืองกทม. กรมทางหลวงชนบท และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) โดยปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานให้เป็นทั้งพื้นที่ทำกิจกรรม พื้นที่สำหรับพักผ่อน และโครงข่ายพื้นที่สีเขียวเชื่อม 2 สวนสาธารณะริมสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกัน

นับเป็นโครงการทางเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเป็นลำดับแรก ถึงแม้ว่าจะพระปกเกล้าสกายพาร์ค จะไม่ใช่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ และมีความยาวเพียง 280 เมตร แต่ถือเป็นต้นแบบของการปรับปรุงพื้นที่รกร้างของเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนได้เป็นอย่างดี

และนี่ก็คือหนึ่งในวิธี “เพิ่มป่าจริง” ให้กับ “ป่าคอนกรีต” แห่งนี้


Contributor