24/07/2020
Public Realm
บางประทุน(นิยม) ในวันที่ชีวิตริมคลองต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง
อธิวัฒน์ อุต้น
ภาพ : พูลสวัสดิ์ สุตตะมา
จากวันนั้นจนถึงวันนี้
เสียงคำรามของเครื่องยนต์ดังลั่นลอยมาให้ได้ยิน ไม่กี่อึดใจเรือหางยาวก็แล่นฝ่าน้ำเข้ามาเทียบท่า เท้าเหยียบซีเมนต์ก่อนจะก้าวข้ามไปบนพื้นเรือ
“บางประทุนเปลี่ยนไปมาก” คำทักทายแรกที่ได้ยิน
“ทางที่ดีใช่ไหมพี่” ผมเอ่ยถาม
…!
รับรู้ความหมายได้จากรอยยิ้มอ่อนพร้อมอาการส่ายหน้าน้อยๆ ของเขา เรือแล่นไปข้างหน้า ผมเหลือบมองสายน้ำทั้งสองฝั่ง สีของน้ำที่เปลี่ยนไป ขยะเกลื่อนลอยปะปน ผิดกับเมื่อครั้งที่ผมเคยมาเยือนคลองนี้เพื่อสำรวจความอุดมสมบูรณ์ ระยะเวลาแค่ปีเดียวเหมือนจะไม่นานแต่นั่นมากพอจะทำให้บางประทุนเปลี่ยนไปมากตามคำเขาว่า
เขาในวันนี้ไม่ต่างจากวันที่เจอกันครั้งแรก รูปร่างกำยำท้วมสูง ทะมัดทะแมง มองดูก็รู้ว่าเป็นลูกชาวสวนที่ใช้แรงเป็นกิจวัตรประจำวัน เขาที่ว่าผู้ใหญ่ในชุมชนเรียก ไอ้ ส่วนเด็กๆ เรียก ครู เป็นคนในชุมชนบางประทุนที่คอยเป็นกระบอกเสียงของคนริมคลอง บอกเล่าความสำคัญของชีวิตริมสายน้ำ เก็บรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม ปลูกฝังรากฐานให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงวิถีชีวิต พยายามรักษาบางประทุนให้คงอยู่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาของความศิวิไลซ์
เคลื่อนเรือไปไม่ถึงนาที เสียงเครื่องยนต์สงบลง จอดเทียบท่าให้ก้าวขึ้นฝั่งอีกครั้ง เขาเปิดประตูนำเข้าไปในบ้านไม้สองชั้นอายุมาก ที่ก่อนหน้านี้เคยตั้งใจจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับเก็บวัตถุมีคุณทางจิตใจของชาวชุมชน จำพวกภาพถ่ายในครั้งอดีต อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่สะสมไว้เป็นเครื่องเตือนความทรงจำ เมื่อวันใดวันหนึ่งที่ความเจริญจะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่มากกว่าที่เคยเป็น แต่ความตั้งใจนั้นต้องถูกพับเก็บ เเพราะที่ดินแปลงนี้มีเจ้าของโฉนดเป็นคนนอกชุมชน เมื่อไหร่เจ้าของที่ดินเรียกคืน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็จะสูญเปล่า
บ้านหลังนี้ไร้สมบัติประเภท เงิน ทอง แต่มรดกอย่างหนึ่งซึ่งตกทอดมาจนถึงปัจจุบันคือ พื้นที่สวน ว่ากันว่านี่คือ สวนซึ่งดูจะสมบูรณ์มากที่สุดในย่านบางประทุน แต่อย่างที่บอกไป สวนแห่งนี้เจ้าของโฉนดไม่ใช่คนในชุมชนบางประทุนอีกแล้ว
“สวัสดีลุง” ผู้นำทางเอ่ยทักทายเจ้าของสวนที่กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการพรวนดิน
“อากาศมันร้อนสุดๆ ไปเลยนะ” เจ้าของสวนตอบรับ เผยให้เห็นร่างเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ ชุ่มโชกด้วยเหงื่อมันเลื่อม
“มีมะพร้าวกินไหมลุง”
เสียงอีโต้สองฉับ! มะพร้าวน้ำหอมหนึ่งทลายก็กลายเป็นเครื่องดื่มต้อนรับที่เจ้าบ้านอภินันทนาการมาให้คลายความร้อนของแดดยามสาย ที่ผ่านมาชุมชนใกล้กรุงเทพนี้เป็นสวนที่ดินดีปลูกอะไรก็อร่อย มีผลผลิตขึ้นชื่อมากมาย เช่น ส้มบางมด ลิ้นจี่บางขุนเทียน กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ตลอดจนพืชผักสวนครัวและยังแวดล้อมไปด้วยผลไม้ท้องถิ่นนานาพันธุ์ และในกาลครั้งหนึ่งบางประทุนเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมขึ้นชื่อของไทยด้วย
เมื่อนั่งอยู่ในสวน เจ้าบ้านจึงเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการพาย้อนกลับไปถึงวิถีชีวิตของชาวสวนที่มีความสัมพันธ์กับสายน้ำ ชุมชนบางประทุนตั้งอยู่บนพื้นที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร แต่ก่อนผู้คนส่วนใหญ่ของบางนี้จะประกอบอาชีพทำไร่สวนผสม ปลูกบ้านเรือนอยู่ริมตลิ่ง ใช้คลองบางประทุนเป็นหลักในการเดินทางสัญจรไปมาทางน้ำ เชื่อมต่อระหว่างคลองสนามชัยกับคลองภาษีเจริญระยะทางราว 4 กิโลเมตร ส่วนคำว่าบางประทุนเกิดจากไม้นานาพรรณทั้งสองฝั่งโน้มเข้าหากันจนเกิดลักษณะเป็นหลังคาหรือ ‘ประทุน’ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกชุมชนแห่งนี้
คลองบางประทุนมีวัดอยู่ 2 แห่ง คือ ‘วัดบางประทุนนอก’ จะอยู่ติดกับคลองสนามชัย ถัดไปไม่ไกลมีอีกวัดซึ่งอยู่ติดกับริมคลองบางประทุนด้านใน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า ‘วัดบางประทุนใน’ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วัดแก้วไพฑูรย์’ และวัดชื่อหลังนี้เองที่มีตำนานเล่าขานกันมาว่า ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3-4 นั้นมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ชาวบ้านเรียกขานนามท่านว่า หลวงปู่บุญ สมัยนั้นชาวชุมชนทุกหลังคาเรือนมักจะมาขอน้ำมนต์จากท่านกันอยู่ไม่ขาดสาย ตำนานยังเล่าอีกว่า เมื่อมีผู้มาขอน้ำมนต์จากท่านมากเข้าๆ ท่านจึงให้ชาวบ้านไปตักน้ำมนต์ที่ตนปลุกเสกไว้บริเวณคลองหน้าวัดแทน ความเชื่อนี้จึงส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น เมื่อใครสักคนต้องนำผลผลิตไปขายยังตลาดน้ำวัดไทรตลาดชื่อดังในสมัยนั้น เป็นอันต้องนำน้ำจากคลองหน้าวัดมาพรมหัวเรือให้กิจการของตนขายได้แบบเทน้ำเทท่าทุกทีไป ความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำมนต์ในคลองหน้าวัดนี้ยังทำให้ชาวบ้านหลายหลังรอดพ้นจากภัยร้ายอหิวาตกโรคที่เคยเกิดขึ้นด้วย เหตุนี้เองคนในชุมชนจึงศรัทธาต่อสายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบได้ดั่งความหมายของชีวิต
“คลองบางประทุนจะเป็นเส้นทางผ่านของผู้คนที่เดินทางจากภาษีเจริญนำสินค้าไปขายที่ตลาดน้ำวัดไทร นอกจากนี้ยังเป็นสายน้ำที่เชื่อมให้ผู้คนจาก สุพรรณบุรี มหาชัย แม่กลอง หรือราชบุรี เอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนกันด้วย จากแลกเปลี่ยนก็เป็นซื้อขาย จากซื้อขายก็กลายเป็นการท่องเที่ยว
“ต่อมาพอการท่องเที่ยวมีมากขึ้นและไม่ได้รับการจัดการที่ดี นักท่องเที่ยวเอาเรือเข้ามาแล่นด้วยความเร็ว คลื่นน้ำ ทำให้เรือแม่ค้าล่ม แม่ค้าก็ไม่อยากไปขาย ตลาดนี้ก็ค่อยๆ ล่มสลาย เพราะการท่องเที่ยวที่ไม่มีการจัดการ ไม่รู้คุณค่าของสถานที่ ไม่รู้ว่ามีของดีคืออะไร มันมีแต่จะแย่ลง ลงทุนไปก็เสียเปล่า ถ้าการท่องเที่ยวพึ่งพาสายน้ำแต่น้ำคุณเน่า ใครจะอยากมาเที่ยว” เขาเล่าถึงตลาดน้ำวัดไทรที่ครั้งหนึ่งเคยเจริญรุ่งเรือง
บางประทุนเป็นแหล่งเกษตรชั้นเยี่ยมของกรุงเทพฯ ก็เพราะน้ำในคลองนั้นได้รับอิทธิพลมาจากการขึ้นลงของทะเล แร่ธาตุที่พัดเข้ามาทุกครั้งที่ทะเลหนุนทำให้ดินงาม น้ำดี ผลไม้จึงเจริญเติบโตกันอย่างไม่รู้เหนื่อย สิ่งมีชีวิตในลำคลองเองก็แหวกว่ายเบียดกันแน่นเอียดชนิดที่ว่า เข้าครัวตำน้ำพริกทิ้งไว้ กระโดดลงน้ำไปงมกุ้งเพียงชั่วครู่ก็ได้แกงส้มหม้อหนึ่งสำหรับกินกันทั้งครัวเรือนแล้ว อะไรกินไม่หมดมีเหลือเฟือก็แบ่งกันไปอย่างไม่เคยขาดน้ำใจ
เขาเล่าให้ฟังถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนว่า เมื่อวัดมีงานบุญทุกคนก็พร้อมจะลงแรง ลงทุน ช่วยกันคนไม้ละมืออย่างเต็มที่เต็มใจ ส่วนในตอนนี้เปลี่ยนไปเพราะคนรุ่นใหม่ในชุมชนส่วนมากจะออกไปทำงานประจำในเมืองกันเกือบหมด เสาร์ อาทิตย์ ที่เคยเนืองแน่นไปด้วยชาวชุมชนที่ออกไปช่วยงานบุญ มาวันนี้ลดน้อยลง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในบางก็เช่นกัน
วิถีชีวิตเมื่อก่อนที่ใช้เรือในการเดินทาง ตลอดสองฝั่งแทบทุกบ้านจะรู้จักคุ้นหน้ากันเป็นอย่างดี หากมีผู้ใดแปลกหน้าเข้ามา ทุกคนจะรู้กันโดยอัตโนมัติว่า อาจมีภัยมาเยือนหรือมีความไม่ปกติเกิดขึ้น เมื่อบ้านฝั่งตรงข้ามไม่อยู่อีกบ้านก็จะคอยสอดส่องดูแลความเรียบร้อยให้กันและกันสุนทรียภาพด้านความงามทางธรรมชาติมีให้เสพจนเต็มอิ่ม ความเงียบสงบ อากาศเย็นสบาย ตอนกลางคืนนอนหลับแง้มหน้าต่างไว้เล็กน้อย ลมก็พัดเข้ามามากพอทำให้ต้องคว้าผ้ามาห่ม อดีตเป็นเช่นนั้น
คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า
เรื่องราวในครั้งอดีตที่ผ่านมาของชุมชนแห่งนี้เป็นเหมือนภาพความสวยงามที่อยู่ในอุดมคติของใครหลายคน ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาคือเครื่องบันทึกว่า บางประทุน เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์เรื่องเล่ายาวนานและน่าเข้ามาสัมผัส จนทำให้คนนอกพื้นที่อยากจะเข้ามาท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนแห่งนี้ แต่เมื่อฟังเสียงจากคนในบางแล้ว กลับพบว่าพวกเขากำลังประสบปัญหาอยู่
“คนข้างนอกอาจจะมองว่าเราชาวชุมชนลำบากนะ ต้องอยู่กับดิน อยู่กับน้ำ แต่จริงๆ มันคือความเงียบ ความสงบ ที่หาไม่ได้แล้วในกรุงเทพฯ บางคนก็อยากจะเอาการท่องเที่ยวเข้ามา แต่ส่วนตัวคิดว่าต้องให้เวลากับความพร้อมมากกว่านี้ เพราะมันก็มีปัญหาแน่ๆ ปัญหาจะเกิดขึ้นมากมาย ถ้าไม่ได้รับการจัดการที่ดี มีบางคนที่มองเห็นประโยชน์ เอาทัวร์ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชน แต่ว่าชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ด้วยเลย เพราะชาวบ้านไม่ได้ชอบการท่องเที่ยวทุกคน บางทีคนอยู่บ้าน เขาถอดเสื้อ ใส่กระโจมอกอาบน้ำ เขาก็อายนะ ไม่มีใครอยากเป็นสวนสัตว์ เราไม่รู้จะพูดอย่างไรให้คนนอกพื้นที่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการมาท่องเที่ยวในชุมชน”
ชาวชุมชนแห่งนี้เคยรวมตัวกันเพื่อต่อต้านโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำเมื่อปี 2547 ทางการเตรียมทำประตูควบคุมน้ำ ทำให้ชาวชุมชนลุกขึ้นส่งเสียงปฏิเสธโครงการดังกล่าว เพราะเมื่อใดที่ประตูน้ำเกิดขึ้น เท่ากับว่าน้ำในคลองที่เคยขึ้นลงตามแรงหนุนของทะเลจะหยุดนิ่ง ส่งผลให้เกิดเป็นน้ำดำเน่าเสียอย่างแน่นอน และการรวมตัวของชาวบ้านพวกเขาสามารถยื่นความประสงค์จนชนะได้
อีกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเกิดขึ้นของถนนพระราม 2 ถนนเอกชัย และถนนกัลปพฤกษ์ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ชาวชุมชนจะเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งนี้ก็เป็นดั่งตัวการหนึ่งที่ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมเริ่มสั่นคลอน เมื่อพื้นคอนกรีตเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนในชุมชนจนพื้นที่ดินหลายแปลงต้องเปลี่ยนเจ้าของโฉนดกันเป็นว่าเล่น
“ตอนถนนตัดใหม่ เด็กอย่างผมดีใจมาก เพราะจะได้มีที่กว้างๆ เดินทางไปไหนมาไหนก็สะดวกสบาย ตอนนั้นเป็นความคิดที่เด็กมากเลย เพราะยังไม่รู้ว่าเราจะต้องเสียอะไรให้กับถนนหรือความเจริญที่จะเข้ามา” เขาพูดด้วยสีหน้าจริงจังผสมน้ำเสียงติดตลก
แน่นอนเมื่อความเจริญเข้ามาย่อมพาให้วิถีชีวิตในวันวานเปลี่ยนแปลงไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทุกครั้งที่ปั้นจั่นคำรามเสียง นั่นเท่ากับว่าบ้านใครสักคนกำลังจะหายไปจากชุมชนแห่งนี้ เมื่อถนนมาวิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปตามบริบทของความสะดวกสบาย ชาวสวนหลายครอบครัวไม่สนับสนุนให้ลูกหลานต้องมาลำบากทำสวนแบบตน จึงส่งลูกออกไปเรียนข้างนอกและขายที่ทิ้งเพื่อลาจากความลำบากของชีวิตที่เป็นอยู่
มะพร้าวหนึ่งทลายที่ได้มาจากลุงเจ้าของสวน บัดนี้ถูกจัดการเกลี้ยง เขาชวนผมออกเดินทางต่อยังบ้านหลังถัดไป เรือพามาส่งที่ท่า เป็นท่าที่วางตำแหน่งตัวเองอยู่ใต้สะพานข้ามถนน ท่าที่ว่านี้คือบริเวณด้านหลังของศูนย์จำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่ ผมและผู้นำทางเดินเลาะไปตามไหล่ทางถนนเพื่อเข้าชุมชนอีกทาง ทำให้ระหว่างเดินผมได้เห็นสิ่งก่อสร้างทั้งหลาย ทั้งปั๊มน้ำมัน ตึกแถว อาคารพานิชย์ โชว์รูมรถ ร้านอาหาร และโครงการอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ตั้งรายล้อมห่างจากพื้นที่ชุมชนเพียงระยะเดินไม่มีก้าวก็ถึง
เขาพาผมเดินลัดเลาะไปตามริมถนน เวลาเพลพอดีอุณหภูมิจึงพุ่งสูงขึ้นไปอีกเท่าตัว เหงื่อเริ่มซึมตามร่างกาย ไม่ถึงห้านาทีจากตลิ่งก็ถึงซอยเล็กๆ ทางเข้าอีกทางของชุมชน ซอยนี้มีความกว้างเพียงให้มอเตอร์ไซค์วิ่งและคนเดินได้เท่านั้น ฝั่งหนึ่งเป็นกำแพงของบ้านจัดสรร อีกฝั่งเป็นสวนของชาวชุมชน เมื่อเดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ จะพบกับบรรยากาศของสวนที่ยังดูหนาครึ้มอยู่พอสมควร แต่สวนเหล่านั้นเกินครึ่งถูกเปลี่ยนมือเจ้าของที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผมและเขาเราเดิมดุ่มๆ ฝ่าอากาศร้อนกันจนมาถึงบริเวณบ้านที่เต็มไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด ดูเหมือนพื้นที่ตรงนี้จะปรับสมดุลต้อนรับผมด้วยอากาศที่ร่มรื่น เขาพาไปนั่งพักหลบร้อนที่ศาลาริมน้ำ เรือวิ่งผ่านหน้าไปลำสองลำ อากาศจึงเริ่มดีขึ้น
วิถีชีวิตแบบชาวสวนจะเรียกฝั่งติดริมคลองว่าหน้าบ้าน พวกเขาจะใช้ประโยชน์จากน้ำและดูแลหน้าบ้านเป็นอย่างดี สมัยก่อนผมคิดว่าขยะในน้ำยังไม่น่าจะลอยชูหัวเยอะเท่าทุกวันนี้ ณ ปัจจุบันชาวชุมชนบางประทุนมีวิธีการกำจัดขยะโดยทิ้งขยะใส่ถุงดำมัดปากและวางไว้ริมตลิ่งหน้าบ้าน เมื่อถึงเวลาเรือเทศบาลก็จะแล่นมาเก็บไป
“แค่ขี้เยี่ยวลงคลองเขาก็ด่ากันแล้ว เราจะรู้กันดีว่า ถ้าทิ้งขยะจากตรงนี้ (ชี้ไปที่คลอง) ขยะก็จะลอยออกไปหาทะเล พอน้ำทะเลหนุนมันก็กลับมาหาคุณอยู่ดี สะสม ตกตะกอน แล้วตื้นเขิน ไม่มีแหล่งรับน้ำ น้ำท่วม ปัญหามันวนเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้”
มูลค่าที่บางประทุนนิยม
ราคาที่ดินของบางประทุนในปัจจุบันมีมูลค่าแตะ 10 ล้านบาท และอาจยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีกหากมีการเปลี่ยนมือเจ้าของ เหตุที่มูลค่าของที่ดินมีราคามากขนาดเท่านี้ได้ เพราะว่าบางประทุนอยู่ใกล้กับเมืองมากๆ เป็นทำเลทองที่ขับรถไม่กี่นาทีก็ถึงย่านธุรกิจอย่างสาทร หรือจะออกต่างจังหวัดก็เพียงวิ่งผ่านเส้นกาญจนาภิเษกได้ง่ายๆ อยู่ใกล้รถไฟฟ้าด้วยระยะห่างไม่มาก ยังมีคอนโด อาคารอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
“การอยู่กับพื้นที่สีเขียวในชุมชนของเรามันคือความสงบเงียบ ความเย็นสบาย อากาศดี ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ ถามว่ายังอยากให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีอยู่ไหม แน่นอนเราก็ยังอยากให้มีอยู่แต่พอถนนเข้ามาสิ่งเหล่านี้ที่เคยมีก็ค่อยๆ หายไป แน่นอนการเปลี่ยนแปลงทำให้เราต้องปรับสภาพตามอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องทำทุกอย่างที่จะชะลอไว้ไม่ให้สิ่งที่เรายังอยากรักษาหายวาบไปเลยทีเดียว เราจึงพยายามดูแลรักษาสร้างกำแพงที่เป็นพื้นที่สีเขียวที่เราอยู่ตอนนี้ไว้ปกป้องตัวเรา”
ตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ พื้นที่สีเขียวในเมืองนั้นลดน้อยลงจากหลากหลายปัจจัย จากการที่เมืองนั้นมีผู้คนเดินทางเข้ามาหางานทำและใช้ชีวิตมากขึ้น เมื่ออุปสงค์ของการงานและที่อยู่อาศัยในเมืองเพิ่มมากขึ้น พื้นที่สีเขียวซึ่งไร้สิ่งปลูกสร้างจึงมีราคาในการเวนซื้อคืนที่ถูก จึงไม่แปลกที่เหล่านักลงทุนจะรีบกว้านซื้อพื้นที่ดังว่ามาครองเพื่อสร้างอนาคตใหม่สดุดีแก่ความสะดวกสบายที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน
“บางประทุน เมื่อก่อนจะมีพื้นที่เขียวเยอะมาก แต่เมื่อถนนตัดผ่าน ความเขียวจึงค่อยๆ หายไป ความเป็นเมืองกระจายสู่วงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้คลองสายหลักแคบลง ส่วนคลองสายเล็กๆ 20-30 คู ที่ทะลุไปหากันโดนถนนปิดหมดแล้ว แค่นายหน้ากว้านซื้อที่ดินสองฝั่งได้ กินอาณาเขตถึงกลางคลองพวกเขาก็สามารถถมที่ได้แล้ว จากเมื่อก่อนที่ไม่เคยแบ่งเขตไม่ได้แบ่งว่าฝั่งไหนถึงตรงไหน คลองก็คือคลอง”
จากศาลาริมน้ำ ผมและเขาก้าวลงเรือเพื่อข้ามไปฝั่งตรงข้าม เดินลัดเลาะสำรวจซอกซอยในชุมชน เขาชี้ให้ดูว่าเมื่อก่อนตรงนี้เคยเป็นอะไร พื้นที่ตรงนั้นเป็นอะไรมาก่อน และ ตรงไหนบ้างที่ยังเป็นเหมือนเดิม ผมก้าวตามหลังผู้ใหญ่อย่างช้าๆ ฟังเรื่องเล่าและจินตนาการตาม
พื้นที่สีเขียวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเมือง ทั้งในแง่ของธุรกิจและสุขภาพ ไม่ต่างจากชาวชุมชนที่อยากให้บ้านของพวกเขายังคงพื้นที่สีเขียวไว้ให้มากที่สุด เพราะอากาศดีๆ ที่หายใจเข้าปอดอยู่นั้นล้วนแล้วแต่เป็นออกซิเจนที่มาจากพื้นที่สีเขียวของธรรมชาติ
เดินพูดคุยชี้บ้านชี้ต้นไม้กันมาได้สักพักก็โพล่มาถึงจุดที่เรียกว่า ศูนย์เรียนรู้บางประทุน สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในลักษณะเป็นประทุน มุงด้วยจากสร้างด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง ได้ความมาว่ากลางปี 2016 The Association of Siamese Architects – Community Act Network (ASA-CAN) ร่วมกับสถาปนิกนักออกแบบอย่าง สถาบันอาศรมศิลป์ จัดกิจกรรมเวิร์กชอปที่ชวนนักศึกษาจากหลากหลายสถาบันมาร่วมกันนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาชุมชนจึงเกิดเป็น‘ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบางประทุน’ เพื่อใช้เป็นพื้นที่รวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนในบางประทุน
การออกแบบก่อสร้างศูนย์เรียนรู้นั้นใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิธีสร้างเรือนไม้ไผ่ด้วยเทคนิคเครื่องผูกแบบที่ชาวบ้านสืบทอดต่อกันมา ใช้ฐานคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อไม่ให้ตัวไม้ไผ่สัมผัสความชื้นจากพื้นดินยืดอายุการใช้งาน ใช้วัสดุเกือบทั้งหมดมาจากธรรมชาติที่พบเห็นได้ในท้องถิ่น ศูนย์เรียนรู้นี้ได้น้ำพักน้ำแรงจากชาวบ้านในพื้นที่ออกมาร่วมกันก่อสร้างจนสำเร็จ พื้นที่ตรงนี้เป็นเหมือนแลนด์มาร์กของชุมชน มีประโยชน์กับเยาวชนในพื้นที่ เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ และเป็นตลาดนัดค้าขายผลผลิตการเกษตรของชาวชุมชนอีกด้วย
“ด้วยความคิดที่อยากให้คนในชุมชนมองเห็นมุมที่มันสวย จึงอยากทำอะไรก็ได้ที่ให้ความรู้สึกว่า สวยงาม และทำให้ทุกคนในชุมชนจะต้องอยากช่วยกันรักษาดูแล อยากทำให้บ้านเราสวยน่าอยู่ยิ่งๆ ขึ้นไป พวกผู้ใหญ่เขาส่งต่อสิ่งที่หลงเหลืออยู่ให้รุ่นเรา ตัวเราก็อยากที่จะเก็บวันนี้ที่ดีไว้เพื่อส่งต่อไปอีกรุ่นเหมือนกัน
“ตอนนี้ทำดีที่สุดได้แค่ยื้อ ให้มันเป็นแรงต้านทาน ทำให้มันหนืด ทำให้มันช้าที่สุด เพื่อส่งต่อไปถึงลูกหลานเราให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องแบ่งแยกเมืองออกจากชุมชนหรอก ผมคิดว่าตอนนี้สิ่งที่ต้องทำก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้เมืองกับวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุลย์ ปรับตัวของเราเองให้อยู่ได้กับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเข้ามาแบบที่เราไม่ต้องสูญเสียตัวตนไป”
เขาพาผมย่ำเดินต่อไปเรื่อยๆ ฟังเรื่องเล่าของบางประทุน มองต้นไม้ มองสายน้ำ สำรวจสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของชุมชน ในวันนี้พื้นที่สีเขียวและสวนผลไม้ของบางประทุนบางตาลงไป ในขณะที่กำแพงคอนกรีตของโครงการอสังหาริมทรัพย์รอบๆ ชุมชนหนาตาขึ้น ชาวชุมชนสามารถขี่มอเตอร์ไซค์เข้าออกบ้านของตัวเองได้ ไม่ต้องใช้เรืออย่างเดียวเหมือนก่อน ความเจริญแห่งยุคสมัยและทุนนิยมที่คืบคลานเข้ามา บางประทุนที่เขาเรียกว่า ‘บ้าน’ เปลี่ยนไปมากจริงๆ แต่เขายังคงสวมหมวกนักอนุรักษ์ลงแรงกายและใจเพื่อดูแลรักษาบางประทุน ชุมชนริมคลองสถานที่ที่เป็นบ้านเกิดไม่เคยเปลี่ยน