24/04/2020
Public Realm

เมือง (ลอนดอน) กับมาตรการรับมือ Covid-19

วณัช บัณฑิตาโสภณ
 


อังกฤษกลายเป็นที่โด่งดังหลังจากออกมาตรการ Herd Immunity เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มาตรการนี้เหมือนจะเป็นแนวคิดใหม่ แลดูท้าทาย ผสมผสานความเสียดสีว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจ ปล่อยให้แต่ละคนแบกรับชีวิตตนเอง แต่ก็เป็นวิธีที่มีใช้กันมานาน ได้ผลและมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ

ตั้งแต่ Boris Johnson นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรประกาศ Lock Down และเริ่ม Social Distancing เมื่อ 23 มีนาคม ลอนดอนที่เป็นเมืองศูนย์กลางเมืองหนึ่งของโลกก็เริ่มเงียบเหงาลง ชาวต่างชาติทยอยเดินทางกลับบ้าน คนที่ยังอยู่ก็เริ่มทำงานจากบ้าน (Work from home : WFH) ไม่ต่างจากเมืองไทย จากที่เคยออกจากบ้านวันละหลายครั้ง กลายเป็นหลายวันต่อหนึ่งครั้ง คนในเมืองใหญ่อย่างลอนดอนต่างผูกชีวิตไว้กับซุปเปอร์มาร์เก็ตซึ่งแม้จะสั่งออนไลน์ให้มาส่งได้แต่หากเป็นของสดก็จำเป็นต้องออกไปเลือกซื้อด้วยตัวเอง

หลายมาตรการรับมือ Covid-19 ในสหราชอาณาจักรและลอนดอนเป็นที่รับรู้กันดี และใช้กันตามเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่านทั่วโลก ทั้งการรักษาระยะห่าง 2 เมตร และอยู่รวมกันได้ไม่เกิน 3 คน ในที่สาธารณะ ภาคเอกชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐด้วยการทำสัญลักษณ์ตามทางเดินและฝากำแพงเพื่อบอกให้รู้ว่าระยะ 2 เมตร คือระยะประมาณนี้นะ รวมถึงมีการแบ่งเวลาเข้าซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตชัดเจนว่าให้ความสำคัญ (Priority) กับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง (Vulnerable people) กับคนที่ทำงานให้ NHS (National Health Service) ก่อนในช่วงเช้า ของบางชนิดมีโควตาให้ซื้อได้แต่ละครั้งและมีการจำกัดจำนวนคนใช้บริการให้เหมาะสมในช่วงเวลาต่างๆ

รัฐบาลอนุญาตให้ประชาชนออกจากบ้านเพื่อมาออกกำลังกายได้วันละ 1 ครั้ง ลอนดอนได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองที่อยู่ในป่า (London is a forest) ประกอบกับช่วงนี้อากาศอุ่นขึ้น หน่ออ่อนของต้นไม้แทงยอดสู่พื้นผิว ดอกไม้เริ่มผลิบาน การอยู่ในบ้านเป็นเวลานานเกินไปส่งผลด้านลบต่อทั้งร่างกายและจิตใจไม่แพ้สถานการณ์ Covid-19 สวนสาธารณะที่อยู่กระจัดกระจายใหญ่บ้างเล็กบ้างเป็นยารักษาโรคชั้นดีให้ทั้งกายและใจ

แต่กระนั้น สวนสาธารณะซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนมาใช้ร่วมกัน รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ (เช่น City of Westminster, Islington) จัดสรรกำลังตำรวจคอยตรวจตราให้แต่ละคนเคลื่อนที่อย่างสม่ำเสมอไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มและแออัดของคนที่มาออกกำลังกาย (Please keep moving, so we can keep the park open for everyone!)

และที่น่าชื่นใจซึ่งคอยย้ำเตือนว่าถึงแม้เราแต่ละคนจะ Social distancing กันอยู่ในบ้าน แต่ทุกวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์เวลา 2 ทุ่ม จะมีการปรบมืออย่างพร้อมเพรียงเพื่อให้กำลังใจ NHS (Clap for our Carers) แน่ล่ะ บางคนไม่เพียงปรบมือแต่กลับร้องเพลงออกมาดังๆ ให้เพื่อนบ้านรับรู้ด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในช่วงเวลาวิกฤต คือช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างภาครัฐกับประชาชนมีความชัดเจนและเข้าใจง่าย ในเว็บไซต์ของรัฐบาลแบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจนว่าหากเรามีข้อสงสัยเรื่องใด เช่น Health and wellbeing, Work financial support and money หรือ Housing and accommodation เราควรจะทำอย่างไรต่อ และบอกรายละเอียดตามแต่ละกลุ่มบุคคลไม่ว่าจะ On furlough (ไม่ถูกเลิกจ้างแต่นายจ้างไม่มีงานให้ทำ), Unemployed หรือ Self-employed ว่าเรามีสิทธิและควรได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

คนที่เข้าข่าย On furlough มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างจำนวนหนึ่งจากนายจ้าง นายจ้างไม่สามารถปฏิเสธการจ่ายเงินเดือน หรือ Leave without Pay ได้ สำหรับ Unemployed หรือผู้ที่สูญเสียงานจากวิกฤตครั้งนี้ (รัฐบาลฯ ให้เริ่มนับตั้งแต่หลับ 28 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป) นั้นมีสิทธิคล้ายกับ On furlough ซึ่งเงินจำนวนนี้รัฐบาลฯ เป็นคนสนับสนุนผ่าน Coronavirus Job Retention Scheme

สำหรับ Self-employed หรือเหล่า Freelance ทั้งหลายซึ่งอาจจะไม่ได้ไม่มีงานแต่ถ้าหากมีงานลดลงสามารถขอเงินสนับสนุนของรัฐบาลฯจาก Self-employment Income Support Scheme ได้ ในส่วนของที่พักอาศัย รัฐบาลฯ ออกกฎว่าผู้ให้เช่า (Landlord) ไม่สามารถบังคับให้ผู้เช่า (Renter) ย้ายออกได้ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนนี้ (ถึง 30 กันยายน) แต่ผู้เช่ายังจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอ หากคุณเป็นคนที่ 1) มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ 2) อายุ 18 ปีขึ้นไป 3) อายุเข้าข่ายได้รับ State Pension 4) ตนและคู่สมรสมีเงินฝากน้อยกว่า 16,000 ปอนด์ 5) อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร คุณมีสิทธิได้รับสวัสดิการแบบถ้วนหน้า (Universal Credit) ซึ่งตรงนี้ต่างจากของไทยที่เป็นแบบเฉพาะเจาะจง (Conditioning Transfer) นอกจากนี้ สำหรับนักศึกษาต่างชาติ บางหอพักอนุญาตให้นักศึกษายกเลิกสัญญาได้ก่อนกำหนดโดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าหรือค่าปรับส่วนที่ยกเลิกสัญญาไปด้วย

สิ่งที่ประทับใจมากอย่างหนึ่งแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยคือตั้งแต่วันแรกๆ ที่มีการ Lock down รัฐบาลฯส่ง SMS เข้าเบอร์ทุกเบอร์ เข้าโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องของคนในประเทศว่าควรเตรียมตัวรับมืออย่างไรพร้อมลิงค์ของเว็บไซต์รัฐบาลข้างต้น และลงท้ายว่า Stay at home. Protect the NHS. Save lives.

นอกจากนี้ภาครัฐสร้างช่องทางให้ผู้ที่ต้องการเสนอตัวเป็นอาสาสมัคร (Volunteering) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยผู้อื่นในด้านต่างๆ เช่น ซื้อ/ส่งอาหาร ยาและสินค้า พาสุนัขออกมาเดิน รวมถึงเป็นเพื่อนคุยหากพบว่าตัวเองรู้สึกโดดเดี่ยว ตลอดจนช่องทางการบริจาคอาหารและทุนทรัพย์ให้องค์กรการกุศล โดยเร็วๆนี้มีการเปิดรับสมัครอาสาสมัครผู้เข้าร่วมทดสอบวัคซีนป้องกัน Covid-19 อีกด้วย

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น ในวันที่ออกไปนอกบ้าน ผู้คนตามท้องถนนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะไม่ใส่หน้ากาก ระยะห่าง 2 เมตรไม่เคร่งครัดมากนักโดยเฉพาะในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก จากตัวเลขหลักพันในตอนนั้นมาถึงเรือนแสนในตอนนี้ มาตรการ Herd Immunity ยังต้องได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพดีเพียงพอกับโรคระบาดในยุค Covid-19 นี้หรือเปล่า ทุกอย่างเพิ่งจะเริ่มต้น

ขอเอาใจช่วยให้เมืองกลับคืนฟื้นขึ้นในเร็ววัน เพราะเมืองเป็นเมืองไม่ได้ถ้าไม่มีผู้คน ลอนดอนเองก็เช่นกัน

บทความ “เมือง (ลอนดอน) กับมาตรการรับมือ Covid-19” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิงข้อมูล
Government support available for landlords and renters reflecting the current coronavirus (COVID-19) outbreak
Coronavirus (COVID-19): what to do if you’re self-employed and getting less work or no work
Coronavirus (COVID-19): what to do if you were employed and have lost your job
Coronavirus (COVID-19): what to do if you’re employed and cannot work


Contributor