23/09/2022
Public Realm
เสียงจากผู้ร่วมกิจกรรมศิลป์ในซอย ครั้งที่ 7
อภิชยา ชัยชิตามร ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์

จบกันไปแล้วกับงานศิลป์ในซอย: แสง-สี-ศิลป์ เชื่อมย่าน เชื่อมการเรียนรู้ เชื่อมเศรษฐกิจชุมชน (ART IN SOI) ครั้งที่ 7 ตอน Plearn in Soi ที่จัดขึ้นในวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2565 นี้ ณ ย่านกะดีจีน-คลองสาน ตรอกดิลกจันทร์ และสวนสานธารณะ เรามาฟังเสียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานกันสักหน่อยว่าหลังจากที่ได้ทำกิจกรรมแล้ว พวกเขารู้สึกอย่างไรกันบ้าง

“ได้ยินว่าย่านนี้เป็นย่านเก่าแก่ ที่มาความเป็นพหุวัฒนธรรม เลยสนใจมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ หลังจากได้มาร่วมกิจกรรมเล่าย่านคลองสานผ่านโรงน้ำปลาแล้ว รู้สึกว่าได้เรียนรู้เบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ย่าน การรักษาอาคารเก่า และความรู้เรื่องการทำน้ำปลาในสมัยก่อน รู้สึกดีที่ได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้”
คุณพิชญ์สินี
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเล่าคลองสานผ่านโรงน้ำปลา

“ได้ตามที่คาดหวังและมากกว่าที่คาดหวังไว้ คือได้เข้ามาชมด้านใน แต่ที่มากกว่านั้นคือ การได้รู้เรื่องราวจากท่านวิทยากรที่ดูแลกิจการโรงน้ำปลาด้วย มากกว่าเรื่องราวและความรู้เกี่ยวกับสถานที่แล้ว ยังมีเรื่องราวเกี่ยวพันกับเรื่องพื้นเพเดิมของท่านวิทยากร ทั้งกิจการโรงน้ำปลา ความรู้อื่นๆ ความพิเศษของกิจกรรมในครั้งนี้คือ ที่นี่ไม่ได้เปิดให้คนภายนอกชมได้ตลอด มันเป็นความเฉพาะตัวที่มีแค่บ้างช่วงเวลาเท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้มีโอกาสได้เข้ามาตรงนี้ และได้รับรู้เรื่องราวการบูรณะสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เห็นทั้งในเชิงเทคนิคและความในใจจากคนที่เป็นเจ้าของสถานที่โดยตรง”
คุณพิชชาพร
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเล่าคลองสานผ่านโรงน้ำปลา

“ปกติเป็นคนที่คุ้นชินกับการเดินสำรวจต้นไม้ในพื้นที่ธรรมชาติ แต่ยังไม่เคยเดินสำรวจต้นไม้ในเมืองเลย ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเราถึงรู้สึกเชื่อมโยงกับต้นไม้ในพื้นที่ธรรมชาติได้แตกต่างจากต้นไม้ในเมือง ก็เลยอยากมาร่วมงานนี้ ซึ่งหลังจากที่ได้มาทำกิจกรรมก็รู้สึกว่าเมืองก็มีการดูแลต้นไม้ในแบบของเมือง ยังมีคนที่อยากดูแลและใช้ชีวิตร่วมกับต้นไม้อยู่ ก็มีความหวังว่าเราน่าจะได้ใกล้ชิดกับต้นไม้มากขึ้น แต่มันก็เป็นเรื่องยากมากที่เราจะยังคงรักษาต้นไม้เหล่านี้ไว้ได้ ด้วยสภาพเมืองในยุคปัจจุบันที่กายภาพไม่ได้ออกแบบมาให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติมากขนาดนั้น”
คุณสิรามล (เจ้าของเพจ Monature)
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินส่องย่าน เส้นทาง Green Finder ต้นไม้เก่าในฉากทัศน์ใหม่

“เคยมาเที่ยวสวนสมเด็จย่าครั้งหนึ่งแต่ไม่เคยเดินมาตรงนี้ ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีสถานที่แบบนี้ซ่อนอยู่ก็เลยสมัครมา วันนี้รู้สึกดีใจมากที่ได้มา ได้รู้ว่าที่ฝั่งธนฯ นี้ก็มีสถานที่เก่าแก่ที่สวยงามและน่าสนใจขนาดนี้อยู่ด้วย”
คุณเกียรติศักดิ์
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเล่าคลองสานผ่านโรงน้ำปลา

“รู้สึกดีใจมากที่ได้มาที่นี่ จากการเที่ยวในกรุงเทพฯ ที่ปกติเราได้ดูแค่พวกวิวทิวทัศน์ แต่ครั้งนี้เราได้เข้ามาเรียนรู้ในสถานที่จริงว่ามันมีที่มาที่ไป มีเรื่องราวอย่างไร อยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆ ด้วยความที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเราจะไปเที่ยวที่ไหนเพราะส่วนใหญ่คนก็จะไปที่ห้าง เราก็อยากให้มันมีงานแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะเราก็อยากให้มีการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไม่ใช่แค่ที่ห้าง”
“จริงๆ แล้วเป็นคนในพื้นที่ อยากจะเข้ามาดูที่นี่นานแล้วแต่เห็นว่ามันปิด พอมีงานนี้ก็เลยรีบสมัครเข้ามา จริงๆ มันมีตึกเก่าๆ ที่เราอยากเข้าไปดู ไปเรียนรู้ไปศึกษา แต่มันเป็นพื้นที่คนอื่นที่เราไม่สามารถเข้าไปได้ ถ้ามีกิจกรรมแบบนี้คือชอบมาก อยากให้จัดบ่อยๆ เลย”
คุณกวง ทรงศักดิ์ และคุณธนาธย์ หลิมพานิช
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเล่าคลองสานผ่านโรงน้ำปลา
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)