22/11/2022
Public Realm

เมือง กับ กระบวนทัศน์และพลวัตของการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 21

อภิชยา ชัยชิตามร
 


ความจริงและความรู้ พบได้ในตัวเรา หรือเป็นสิ่งที่พบได้ นอกจากประสาทสัมผัสของเรา ?

การเรียนรู้ คืออะไร เราเรียนรู้ไปเพื่ออะไร ?

ประเด็นพูดคุยที่มีเรื่องให้ถกกันนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 และเรากำลังอยู่ใน ยุคแห่งข้อมูล เทคโนโลยีและนวัตกรรม ความก้าวหน้าและท้าทายทางเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ ที่จะมีบทบาทอย่างมาก ในการสร้างงานรูปแบบใหม่ที่มีทักษะสูง การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเป็นพลเมือง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรม

ฐานการเรียนรู้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากภายนอก ประสบการณ์การเรียนรู้ การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล สื่อ สิ่งของ หรือความไม่รู้ ที่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดองค์ความรู้ใหม่ การต่อยอด การนำไปความรู้ไปใช้ต่อยอดให้เกิดแนวทางการแก้ไขด้วยนวัตกรรมในการแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม ตลอดจนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมืองต่อไปได้จึงเป็นความท้าทายที่น่าขบคิดต่อ 

สัญญาณและทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ร่วมสมัยในศตวรรษที่ 21 

การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นเป้าหมายสูงสุดของการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การเติบโตด้วยประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกับองค์ความรู้จากสิ่งต่าง ๆ  จึงเป็นแบบแผนของปฏิสัมพันธ์ (interaction) ระหว่างผู้เรียนกับสถานการณ์แวดล้อม กล่าวคือผู้เรียนจะสร้างความรู้ จากประสบการณ์

การเรียนรู้ข้ามศาสตร์ หรือว่าการเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่มีอยู่พร้อมต่าง ๆ เป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคต สามารถทำให้เกิดความรู้เชิงระบบ ความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความรู้ที่เป็นเป้าหมาย มากไปกว่านั้นจะทำให้ได้มาซึ่งบทเรียน หรือประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่

ปัจจุบัน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจาก ความอยากรู้ (Curiosity) ซึ่งเป็นความรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันและสังคม การศึกษาฐานสมรรถนะ (Skill-based education) การเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับเทคโนโลยีปัญญาระดิษฐ์ (AI related learning)

การจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) องค์ความรู้ มีอยู่ 2 แบบ ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) คิดเป็น 20 % และ องค์ความรู้ที่ฝั่งอยู่ในตัวบุคคล (Tacit Knowledge) คิดเป็น 80% สิ่งที่เป็นความท้าทายคือ จะสามารถนำความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวบุคคลออกมาเพื่อรวบรวมและส่งความรู้เหล่านั้นต่อไปในอนาคตให้คนรุ่นหลังได้อย่างไร จึงเป็นโจทย์สำคัญที่อาจจะไม่ใช่แค่สัญญาณเพียงเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม  ดังนั้นแล้วทิศทางการเรียนรู้ที่ควรเกิดขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ 1) การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) เรียนรู้ด้วยตนเอง และ 3) นิเวศการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ นำมาสู่โจทย์สำคัญว่าจะพัฒนานิเวศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

นิเวศการเรียนรู้ กับ เมืองที่เราอยู่อาศัย

‘Learning Ecosystem’ นิเวศ หรือสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ในความหมายใหม่ในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ใดที่หนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่พร้อมจะทำให้เกิดการเรียนรู้ สร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ให้กับทุกคนสามารถเป็นผู้เรียนรู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง 

จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้น ‘เมือง’ ในฐานะของสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ ต้องทำหน้าที่ในการสร้างภูมิทัศน์แห่งการเรียนรู้ และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง

เมืองซอนเดอร์บอร์ก (Sønderborg), เดนมาร์ก

ภาพจาก http://brightgreenbusiness.com/toppages/our-masterplan-roadmaps-2

ซอนเดอร์บอร์ก เป็น 1 ในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้จากองค์การ UNESCO ที่มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เมืองซอนเดอร์บอร์กเองริเริ่มการพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม มีพลเมืองตื่นรู้ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้กำหนดในเชิงนโยบาย และวางแผนการดำเนินงานเชิงปฏิบัติผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน นักเรียนอนุบาลถึงมหาลัย สถาบันทางการเงิน และหน่วยงานต่าง ๆ

เมืองซอนเดอร์บอร์ก กับความมุ่งหวังในการเป็น ‘City of Knowledge’ ขับเคลื่อนนโยบาย 4-17-42 และสร้างภูมิทัศน์การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรมผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ  ทั้งการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้สาธารณะ การจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เด็กและเยาวชนตั้งแต่อายุ 0-18 ปี ผ่านโครงการ VidensBy นโยบาย Active Citizenship สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันของพลเมืองและบริษัทเอกชน ให้เกิดกระบวนการกำหนดและออกแบบกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะของเมืองร่วมกัน นโยบายความยั่งยืนที่ดำเนินการโดยเทศบาลเมืองเพื่อให้แน่ใจว่าเทศบาลเองก็ขับเคลื่อนความยั่งยืนในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกันกับพลเมือง  

ในปี 2019  เทศบาลเมืองซอนเดอร์บอร์กร่วมกับชาวเมือง กำหนดโครงการเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาสภาพภูมิอากาศเพื่อลด รองรับ และเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21  ผ่านโครงการ Project Zero โดยวัตถุประสงค์หลักคือ เมืองซอนเดอร์บอร์ก จะกลายเป็นเมืองคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2029 และสร้างงานสีเขียว (Green Jobs) ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม (3Ps) บนฐานการเรียนรู้ เพื่อต่อยอดให้เกิดแนวทางการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาแก้ปัญหาและพาเมืองให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ 

เมือง กามารา เดอ โลบอส (Câmara de Lobos) ประเทศโปรตุเกส

ภาพจาก gnlc-publication_2017_en.pdf (ckh.hu)

นายกเทศมนตรีเมือง กามารา เดอ โลบอส ประเทศโปตุเกส กล่าวว่า “การศึกษาคือ 1 ในลำดับความสำคัญหลักของเมืองกามารา เดอ โลบอส ที่เป็นเรื่องพื้นฐานของคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อพัฒนามนุษย์ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมือง และประเทศ” 

Agenda 21 Local แผนของเมืองกามารา เดอ โลบอส ครอบคลุม 5 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนบนแนวคิดการเรียนรู้ทะเล การเกษตร เศรษฐกิจท้องถิ่น การท่องเที่ยว และผู้คนในเมือง และเมืองสนับสนุน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ความเท่าเทียมและทั่วถึงทางสังคม การระดมทรัพยากรทางการศึกษา กระตุ้นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน ผลักดันและยกระดับวความสามารถทางนวัตกรรมเพื่อเป็นอาชีพที่มีศักยภาพพร้อมแข่งขันในศตวรรษที่ 21 

เมืองกามารา เดอ โลบอส มีกลยุทธ์การเรียนรู้สำคัญคือ พื้นที่แลกเปลี่ยนบทสนทนา ระหว่างเทศบาลเมืองและพลเมืองอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการกำหนดให้ใช้ ธรรมนูญทางการศึกษา เรียกว่า The Carta Educativa  (UNESCO Institute for Lifelong Learning, 2017) เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความต้องการของปัจเจกบุคคล และส่วนรวม ซึ่งเป็นความพยายามที่จะผลักดันนิเวศน์แห่งการเรียนรู้ของเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้เมืองสามารถบรรลุการพัฒนาเศรษฐกิจ บนฐานการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตั้งแต่ในระดับครอบครัว ชุมชน ตลอดจนที่ทำงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างทั่วถึง และเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ที่จะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในเมืองในการผลิตนวัตกรรมเพื่อพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของเมืองได้

เมืองแห่งการเรียนรู้ และเมืองแห่งความพร้อมให้นำความรู้ไปใช้

เมืองแห่งการเรียนรู้ ที่นอกจากเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยความรู้นั้น ยังเป็นเมืองสภาพแวดล้อมที่พร้อมนำความรู้ไปใช้ให้เกิดการเปลี่ยน เมืองที่มีความพร้อมเชิงองค์ความรู้ และรอการเชื่อมโยงผ่านนโยบาย หรือกิจกรรมต่าง ๆ และขับเคลื่อนร่วมกัน ดั่ง 2 เมืองด้านบน เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการกระตุ้นการเรียนรู้ ผู้เรียนรู้สามารถใช้องค์ความรู้ที่มีอย่างเป็นเอกลักษณ์ตอบโจทย์ประเด็นปัญหาร่วมกับคนอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นการประสานความเชี่ยวชาญ ความรู้ที่มีอยู่ในการคิดค้นแนวทางใหม่ ๆ นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเมืองให้สามารถรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ได้ต่อไป 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ที่มาข้อมูล

Sonderborgs ProjectZero

Câmara de Lobos | UIL (unesco.org)

Unlocking the Potential of Urban Communities


Contributor