21/08/2020
Environment
สถาปนิกกัวลาลัมเปอร์ เปลี่ยนพื้นที่ทิ้งร้างของเมือง เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้และสร้างมั่นคงให้ชุมชน
ชยากรณ์ กำโชค
คุณครูพาเด็กนักเรียนมาปลูกข้าว พ่อแม่จูงลูกน้อยมาเรียนปลูกต้นกล้า อาสาสมัครจับกลุ่มรดน้ำ พรวนดิน กำจัดวัชพืช เด็กในชุมชนละแวกสวนชวนกันเตะฟุตบอล หรือผู้สูงอายุอุ้มเป็ดตัวอ้วน คือ ภาพชีวิตเมืองที่เกิดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ณ พื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองที่ชื่อว่า “เคอบุน เคอบุน บังซาร์” (Kebun-Kebun Bangsar) พื้นที่สีเขียวของเมืองที่เป็นมากกว่า “สวนกินได้” (edible garden) ในเมืองหลวงที่มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวมากกว่า 44 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน
เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ชาวเมืองกัวลาลัมเปอร์ได้รู้จักเคอบุน เคอบุน บังซาร์ สวนชุมชนขนาด 20 ไร่ จากการฟื้นฟูพื้นที่ทิ้งร้างใต้เสาไฟฟ้าแรงสูงใจกลางเมือง ดำเนินการโดย Ng Sek San สถาปนิกวัยใกล้ 60 ปี ผู้หันหลังให้กับงานคอมเมอร์เชียลทั้งในและต่างประเทศเมื่อ 6 ปีก่อน และหันหน้าสู่งานชุมชน เมือง และวัฒนธรรมอย่างเต็มตัว
“สำหรับผม นี่เป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญที่สุดเท่าที่ทำงานมาทั้งชีวิต” Ng Sek San พูดถึง เคอร์บุน-เคอร์บุน
กว่าจะประสบความสำเร็จเป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมืองในปี 2017 Ng Seksan ผู้พัฒนาโครงการ ต้องฝ่าพันอุปสรรคทั้งในระดับรัฐบาลท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่โดยรอบกว่า 5 ปี เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ตามกฎหมาย ควบคู่ไปกับกระบวนการสร้างความเข้าใจชุมชน ด้วยเป้าหมายสำคัญที่ว่าให้วิถีชีวิตเมืองที่ต่างคนต่างอยู่อาศัยกลับมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ยังต้องการปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินของเมืองให้เป็นมากกว่าสวนสาธารณะหรือที่ดินที่ใช้ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น
ทุกวันนี้หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวชมเคอบุน เคอบุน บังซาร์ จะพบว่าพื้นที่สีเขียวขนาด 20 ไร่แห่งนี้ เป็นได้ทั้งพื้นที่จัดเวิร์คช็อปด้านเกษตรในเมือง ศูนย์เรียนรู้ด้านปศุสัตว์ เวทีเสวนา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย ฯลฯ
เท่านั้นไม่พอ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับโปรเจ็กต์ เคอบุน เคอบุน บังซาร์ เป็นแรงบันดาลให้เกิดโครงการลักษณะเดียวกันอีก 7 แห่งทั่วเมืองกัวลาลัมเปอร์ เช่นโครงการ เคอบุน เคอบุน เคอร์รินชิ (Kebun-Kebun Kerinchi) ในพื้นที่ไม่ห่างกับบังซาร์มากนัก นอกจากสภาพผิวดินที่แตกต่างกับบังซาร์ เนื่องจากไม่ต้องกังวลโครงสร้างทางวิศวกรรมไฟฟ้าที่ฝังใต้ดินแล้ว ที่เคอบุน เคอบุน เคอร์รินชิยังตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ ที่สามารถข้ามไปยังชุมชนได้อย่างไร้รอยต่อ เป้าหมายของโครงการแห่งนี้จึงมากกว่าการทำให้คนเมืองได้ใกล้ชิดกับอาหารและการเกษตรเท่านั้น แต่ยังหมายถึงคุณภาพชีวิตและการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนของชุมชนใกล้เคียงที่อยู่อาศัยในแฟลตธรรมดาๆ จำนวนกว่า 4,000 ยูนิตอีกด้วย
“บางครั้ง เราข้ามแม่น้ำไปเยี่ยมชุมชนฝั่งตรงข้าม พวกเขารับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์กับสุขภาพ หรือกินบิสกิตและขนมปังเป็นมื้อค่ำ ผมไม่รู้ว่าถ้าพวกเราสามารถสร้างรายได้ให้พวกเขาได้ในระยะยาวหรือไม่ แต่พวกเราก็หวังว่าเราจะสามารถช่วยเหลือพวกเขา ผ่านการโครงการที่ริเริ่มตรงนี้ เช่น การสอนให้ชุมชนปลูกผักเพื่อพวกเขานำไปจำหน่าย หรือสอนทำปุ๋ยแล้วเอาไปขายต่อ” Ng Sek San เล่าเป้าหมายโครงการที่ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งบันดาลใจส่งต่อไปอีกหลายชุมชน
ที่ดินเปล่ากับความมั่นคงทางอาหารในภาวะเมืองไม่ปกติ
ย้อนกลับมาที่กรุงเทพมหานครในระยะต้นของการระบาดของโรคโควิด-19 ประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่คนกรุงเทพฯ ต้องล็อกดาวน์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทั้งยังมีประกาศฉุกเฉิน “ปิดสถานประกอบการทุกประเภท” จนเกิดภาวะกักตุนอาหารและน้ำดื่มของกลุ่มผู้มีรายได้ ในทางกลับกัน กลุ่มผู้เปราะบางของเมืองที่เดิมมีปัญหาด้านการเข้าถึงอาหารอยู่แล้ว ก็ประสบปัญหาซ้ำซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า “มาตรการปิดเมือง” เป็นต้นสำคัญที่ส่งผลสะเทือนถึง “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” ของคนเมือง
การประชุมภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเกี่ยวกับประเด็นเกษตรและอาหารปลอดภัย รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานที่ประชุมชวนมองในระยะยาวในเชิงผังเมืองว่า การนำที่ดินเปล่าในเมืองมาใช้ให้ประโยชน์ในระยะยาวในการเป็นแหล่งผลิตอาหารให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง
“การฟื้นฟูกับการเตรียมความพร้อมในระยะยาวซึ่งต้องมองให้ทะลุถึงภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือปัญหาภัยพิบัติต่างๆ จะต้องมีความพร้อมรับมืออย่างไร ขอบเขตพื้นที่และกลไกในการดำเนินการควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร” รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์
ย่านละแวกที่ดีคือคำตอบของเมืองที่ผันผวน
“แค่บ้านดีไม่พอ ต้องย่านดีด้วย” คือข้อเสนอของ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) นำเสนอในเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 ว่า ในช่วงวิกฤตโรคระบาดเมื่อบ้านกลายเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง แต่จะพิจารณาแค่บ้านนั้น ไม่พออีกต่อไป ต้องมองเลยถึง “ย่าน” ด้วย เพราะหากเรามีย่านที่ดี ความสุขความทุกข์มันอาจจะพอเฉลี่ยกันในทุกระดับฐานะเศรษฐกิจ
“ท่านทราบไหมคะว่า หากเป็นเมืองที่ดี เขาจะสามารถจัดหาสิ่งอื่นมาชดเชยได้บ้านที่เล็กลงเรื่อยๆ – นั่นคือ ย่านละแวกที่ดี
ย่านที่ดี คือ อาณาบริเวณรอบๆบ้านที่น่าอยู่ ร่มรื่น มีสาธารณูปการเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ทางเท้าและพื้นที่สาธารณะที่ร่มรื่น มีร้านค้า มีตลาด มีแผงลอย มีบริการสาธารณสุข จบครบถ้วนภายในย่าน รัศมีการใช้ชีวิตของเราจบได้ในระยะเดินเท้าถึงหรือประมาณรัศมี 1 กิโลเมตรในย่านได้
ย่านที่ดี คือ สิ่งที่อยู่ระหว่างกลางระหว่างบ้านกับเมือง ที่เอื้อให้หน่วยย่อยที่สุดของเมือง บ้าน ร้านค้า ตลาด แหล่งงาน ทำงานร่วมกันได้ เกิดการผลิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเมืองไปพร้อมกัน
ย่านที่ดี จะทำให้ความรู้สึกของความเป็นบ้านแก่คนอยู่ นั่นคือความรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นส่วนหนึ่ง ความรู้สึกอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย ความรู้สึกเสมือนว่าเป็นบ้านจะกว้างไกลกว่าโฉนดที่ดิน” ผู้อำนวยการ UddC-CEUS กล่าว
ท่ามกลางความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอของเมือง โครงการ “เคอบุน เคอบุน” ที่ประสบความสำเร็จในเมืองกัวลาลัมเปอร์ กระทั่งขยายผลไปยังหลายย่านของเมือง อาจเป็นโมเดลของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในระดับย่านจากพื้นที่ทิ้งร้างของเมือง ที่มีศักยภาพเป็นได้ทั้งพื้นที่นันทนาการ เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา กระทั่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเมืองเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ ซึ่งกรุงเทพฯ อาจใช้เป็นแนวทางดำเนินการเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต เพียงอย่าเข้าใจผิดว่า กรุงเทพฯ ไม่มีพื้นที่ว่างเปล่าแล้ว เพราะอย่างน้อยเรายังมีพื้นที่ใต้ทางด่วนในกรุงเทพฯ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่มีขนาดกว่า 600 ไร่ หรือเทียบเท่าสวนลุมพินี 2 สวน
ซึ่งศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ชี้เป้าให้เห็นศักยภาพอยู่เสมอ!
ที่มาข้อมูล
Kebun Kebun Bangsar https://www.facebook.com/pg/kebunkebunbangsar
Creative Citizen : Kebun-Kebun Bangsar พื้นที่ไร้ประโยชน์สู่สวนสีเขียวมากคุณค่าสำหรับชุมชนในมาเลเซีย https://www.creativecitizen.com/kebun-kebun-bangsar/
Monocle: SOUL OF THE CITY https://monocle.com/magazine/issues/135/soul-of-the-city/
From community gardens to coworking spaces, here are 7 sharing groups in Malaysia https://www.shareable.net/from-community-gardens-to-coworking-spaces-here-are-7-sharing-groups-in-malaysia/
กรุงเทพธุรกิจ : เมืองใหญ่ในเอเชียเผชิญวิกฤติพื้นที่สีเขียว https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/840895
มูลนิธิโลกสีเขียว : ป่าในเมือง หรือ เมืองกลางป่า https://greenworld.or.th/green_issue/1561/
The Star: Kebun-Kebun Bangsar to appeal against notice to remove animals https://www.thestar.com.my/news/nation/2020/02/26/kebun-kebun-bangsar-to-appeal-against-removal-notice-to-remove-animals
Kebun-Kebun Kerinchi, a garden to feed body and soul https://www.edgeprop.my/content/1553150/kebun-kebun-kerinchi-garden-feed-body-and-soul
New Normal แค่บ้านที่ดีไม่พอ ย่านต้องดีด้วย, ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล (2563) https://www.facebook.com/uddcbangkok/posts/1919166601549618
โควิด-19 เขย่า ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ เตรียมพัฒนาข้อเสนอรับมือวิกฤติการณ์อนาคต https://www.nationalhealth.or.th/node/3130