21/07/2020
Mobility

เมื่อรถยนต์คือแขกรับเชิญ ในเมืองจักรยาน อัมสเตอร์ดัม

กรกฎ พัลลภรักษา
 


ภาพ : กรกฎ พัลลภรักษา

Pete Jordan ผู้แต่งหนังสือเรื่อง City of Bikes กล่าวว่า “พวกเยอรมันเกลียดคนอัมสเตอร์ดัมที่ขี่จักรยานเหลือเกิน” เพราะขวางการเคลื่อนขบวนรถทหารบนถนน แต่ความจริงแล้ว Jordan เขียนว่า “นี่เป็นวิธีการแสดงการขัดขืนต่อพวกนาซี และแสดงความสาแก่ใจ จากสามัญชน ที่สามารถขัดขวางพวกนาซีได้” เพราะการขี่จักรยานนั้น เป็นการคมนาคมหลักของประเทศในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และยิ่งมีบทบาทมากขึ้น ในช่วงนาซีเข้ามาครอบเมืองในช่วงประมาณ 1940 

ถึงวันนี้คนขับรถ หรือคนเดินถนนในอัมสเตอร์ดัมเอง ก็หวั่นเกรงคนขี่จักรยาน เพราะการใช้จักรยานในอัมสเตอร์ดัมคือพาหนะในการเดินทางหลัก และมีมากกว่า 880,000 คัน ขณะที่จำนวนรถยนต์มีน้อยกว่าถึง 4 เท่า  

ถ้าใครเคยดูหนังสารคดีเรื่อง Rijksmuseum คงจะจำได้ว่า การซ่อมแซมบูรณะพิพิธภัณฑ์นั้นใช้เวลายาวนานมาก เพราะแต่ละขั้นตอนของการออกแบบและก่อสร้าง จะต้องมีการขอความเห็น และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มคนใช้จักรยาน นักกิจกรรมจักรยานนั้นเสียงดังเอาเรื่อง เพราะถือว่าเป็นเสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิ์มากพอกับเสียงส่วนอื่นด้วย ดังนั้น การออกแบบของพิพิธภัณฑ์ไรกส์นั้น จึงจำเป็นที่ต้องทำให้ทุกฝ่ายพอใจ จนในที่สุดผู้ใช้จักรยานก็สามารถขี่ผ่านส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ได้ด้วย เพื่อนของเรา เป็นคนแรกที่ขี่จักรยานเข้าพิพิธภัณฑ์ไรกส์เป็นคนแรก Tania มารู้ก็ตอนที่ตัวเองได้ออกเป็นข่าวไปแล้ว!

ดูเหมือนจะไม่ได้ใส่ใจ แต่ใช้สิทธิธรรมดาๆ ในการใช้ถนนบนอานจักรยาน 

อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองที่ฉันหลงรักทันทีตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ไปพบ และทำให้เป็น loveaffair ระหว่างตัวฉันกับเมือง เพราะคลอง ถนนเล็กๆ จักรยาน และ Dutch Mentality หรือทัศนคติของคนดัตช์

จะเริ่มต้นอธิบายทัศนคติที่ว่าอย่างไรดี?

ส่วนมากแล้ว เพื่อนคนดัตช์ในอัมสเตอร์ดัม หรือคนอัมสเตอร์ดัมที่พบและรู้จักนั้น ถ้าเปรียบเป็นดอกไม้เหมือนทานตะวัน มากกว่าทิวลิปที่เป็นเหมือนโลโก้ของประเทศ ที่เหมือนทานตะวันก็ตรงที่สว่าง สง่า สบายที่ได้เห็น ไม่บอบบางเกิน ไม่แข็งทื่อไป เหมือนนิสัยตรงไปตรงมา พูดตรงแบบจริงใจ เปิดเผย และเป็นมิตร แบบไม่ต้องเดาเลย ฉันแปลกใจในความสดชื่นเหมือนสูดลมทะเลจากเพื่อนสัญชาตินี้และรู้สึกสบายเมื่อใช้เวลาด้วย ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ต่อติด จนเพื่อนสนิทคนหนึ่งต้องบอกว่า เป็นเพราะอัมสเตอร์ดัมที่มีพลังพิเศษนี้ อย่ามองโลกไร้เดียงสาไปเสียหมด… นี่ไง ความตรงไม่หลงตนของพวกเขา

และทุกครั้งที่ฉันไปอัมสเตอร์ดัม จักรยานสักคันจากเพื่อนสักคนจะต้องประเคนมาให้ขี่ เพราะนี่คืออิสระภาพของการมาอัมสเตอร์ดัม และนี่เป็นความอัมสเตอร์ดัมที่สุดที่เราจะได้ใช้ด้วยกัน บ้านเรือของเพื่อนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของสถานีรถไฟ สามารถเดินทางเข้าเมืองสะดวกด้วยการเอาจักรยานลงเรือข้ามฟาก และเพียงไม่กี่นาที เราก็สามารถมีส่วนร่วมกับอัมสเตอร์ดัมที่หน้าตายังเหมือนในยุคศตวรรษที่ 17 ที่เป็นยุคทองของชนชาติดัตช์แล้ว ในยุคนั้น อัมสเตอร์ดัมเฟื่องฟูที่สุด เพราะเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญที่สุดในโลก มีชื่อเสียงในเรื่องสถาบันการเงินและการค้าเพชร มีตลาดซื้อขายหุ้นที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง

คลองแห่งอัมสเตอร์ดัมที่เราเห็นในปัจจุบัน ก็คือคลองเก่าจากศตวรรษนั้น ซึ่งยังรักษาให้เป็นหัวใจของเมือง และได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อปี 2010 มีพิพิธภัณฑ์ระดับโลกหลายแห่ง มีย่านนางโลม red light district ที่ยังคงดำเนินธุรกิจโดยผู้ขายบริการทางเพศที่ทำงานและจ่ายภาษี เสมอเหมือนอาชีพอื่น มีร้านกัญชาและกาแฟ ในสถาปัตยกรรมเดิมแบบอาคารแคบ มีหน้ากว้างน้อยเพราะประหยัดภาษี ที่คิดตามความกว้างของอาคาร จนเป็นตึกแบบอัมสเตอร์ดัมที่มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ 

จะว่าไป อัมสเตอร์ดัมเหมือนเค้กที่มีหลายชั้น แต่ละชั้นเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่ทับซ้อนกันไป จนเป็นเค้กที่มีรสชาติแตกต่างน่าสนใจ ซึ่งต้องผ่านการขบคิดในการผสมให้กลมกล่อม… และความจริงของความหอมหวานนี้ก็คือว่า ไม่มีความบังเอิญใดเลยที่ทำให้อัมสเตอร์ดัมเป็นอัมสเตอร์ดัม มากไปว่ากาต่อสู้ของคนที่ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานของการตัดสินใจให้เมือง เป็นเมืองมิตรของจักรยาน

แต่ก็ไม่ใช่ว่า คนดัตช์จะคัดค้านหรือไม่ชอบรถยนต์ คนดัตช์รักการขับรถยนต์ข้ามประเทศไปตามที่ต่างๆ เหมือนคนอื่นๆ แต่พวกเขาทำความเข้าใจกับส่วนรวมว่าในพื้นที่จริงอะไรที่ให้คุณภาพชีวิต และเหมาะสมกับการใช้ชีวิตมากกว่ากัน จนการขี่จักรยานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอัมสเตอร์ดัม เหมือนการเปิดก๊อกที่ต้องมีน้ำไหล แบบที่ไม่ต้องคิด Gerrit Faber แห่งสหภาพผู้ใช้จักรยานในอัมสเตอร์ดัม ให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่ใช่ เพราะสิ่งนี้เป็นดีเอ็นเอในตัวพวกเรา แต่เป็นเพราะเราสร้างมันขึ้นมา และเมืองอื่นก็สร้างได้ด้วย”  

ย้อนหลังไปในช่วงปี 1960 หลายเมืองในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีจำนวนคนที่เป็นเจ้าของรถยนต์ได้มากขึ้นๆ เพราะเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของเวลานั้น และรถยนต์เป็นเหมือนยานยนตร์แห่งอนาคต จึงทำให้เกิดการตอบรับอย่างกระตือรือร้น ในอัมสเตอร์ดัมเองได้มีการทำลายชุมชนเก่าแก่หลายแห่ง เพื่อสร้างเป็นถนน และนั่นทำให้เกิดฉนวนของอุบัติเหตุ ที่ทำคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในปี 1971 นั้น มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 3,300 คน ในจำนวนนั้น มีเด็กเสียชีวิตมากถึง 400 กว่าคน ตัวเลขของการเสียชีวิตจากการใช้ถนนและรถยนต์ที่สูงจนน่ากลัวนี้ กลายเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดการประท้วงจากนักกิจกรรมทางสังคมหลายกลุ่ม ที่ต่างก็ลุกฮือขึ้นมาทวงถามการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

กลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทน่าจดจำก็คือ Stop de Kindermoord (stop the child murder) หรือหยุดพรากชีวิตเด็ก ด้วยการรณรงค์ทำให้ อัมสเตอร์ดัมกลายเป็นสวรรค์จริงๆ ของการขี่จักรยานให้ได้

การประท้วงเพื่อเรียกร้องให้อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองจักรยานในปี 1970 / ที่มาภาพจาก Bicycledutch

ในปี 1973 เป็นปีที่มีวิฤกตการณ์น้ำมันโลก ประธานธิบดีของเนเธอร์แลนด์ได้ออกมาให้ข้อคิดและเตือนคนดัตช์ออกอากาศ ว่าให้ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ และใช้พลังงานอย่างประหยัด รัฐบาลเองได้ริเริ่มนโยบายปลอดรถในวันอาทิตย์ และวันหยุดยาว ซึ่งทำให้เด็กๆ ได้สามารถมีพื้นที่วิ่งเล่นบนถนนได้อย่างปลอดภัย และยังทำให้ผู้ใหญ่เองตระหนักถึงคุณภาพชีวิตที่เคยมีมาก่อนด้วย

ประกอบกับแผลลึกของการสูญเสียมากมายหลายชีวิต ที่กลายเป็นยารักษาตัวเองของอัมสเตอร์ดัม ทำให้พลังเมืองแสดงออกมาในเรื่องของความพร้อม ในการรับมือกับจริงจังในการออกแบบเส้นทางขี่จักรยานที่ละเอียดและช่างคิด มีความปลอดภัย มีความสะดวกสบายสำหรับทุกคน แม้แต่เด็กที่เพิ่งหัดเดิน หรือผู้สูงอายุ ทุกคนจะสามารถขี่จักรยานบนเส้นทางจักรยาน เพื่อเป็นการเดินทางในเมืองได้

และไม่ใช่แค่อัมสเตอร์ดัมเท่านั้น แต่เส้นทางจักรยานกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ ให้คนดัตช์ได้ใช้ในการสัญจรไปมาในชีวิตประจำวันอย่างจริงจังในทุกเมืองทั่วประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปี 1980 เมืองต่างๆ มีการผลักมาตรการ ในการที่จะทำให้ถนนของแต่ละเมืองนั้นปลอดภัย และสะดวกกับการใช้จักรยาน ซึ่งดูเหมือนจะเข้าทาง แต่เรื่องของการใช้ถนนยังเป็นสงครามที่วางใจไม่ได้ เพราะยังมีการผลักดันผังเมืองที่ออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์กับรถยนต์ ถึงแม้ว่า จะมีการให้ความสำคัญและประโยชน์กับทางจักรยานมากขึ้นๆ แต่ก็ไม่สามารถนอนใจได้ว่า เส้นทางจักรยานจะไม่ถูกขโมยไปโดยรถยนต์ 

ทีละเล็กทีละน้อย นักการเมืองดัตช์ค่อยๆ ตระหนักถึงประโยชน์ในการทำให้อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองจักรยาน จนมีผลต่อการกำหนดนโยบาย รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายขวาเองก็เห็นถึงความสำคัญ และสนับสนุนให้งบในส่วนของการใช้จักรยาน ซึ่งเป็นข้อดีในการต่อรองกับนักการเมือง เพราะหากไม่เห็นความสำคัญของความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ย่อมแปลว่าจะขาดคะแนนเสียงไป เพราะ 80% ของประชาชนนั้น ส่วนใหญ่ใช้จักรยานกันอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง

ความคิดและความสำคัญของการขี่จักรยาน ได้เริ่มต้นสอนให้เด็กตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน พวกเขาจะออกไปใช้ถนนกับจักรยานที่มีผู้ใหญ่ขี่ แล้วดันหลังจักรยานเด็กให้วิ่งไปพร้อมๆ กัน และมีการให้การศึกษาแบบไม่บังคับกับเด็กทุกคนที่อายุเฉลี่ย 11 – 12 ขวบ ด้วยการสอนให้มีทักษะในการใช้จักรยาน เด็กๆ ในช่วงอายุนี้จะมีการทำข้อสอบ ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเข้าใจกฎการใช้ถนน ขณะเดียวกันก็มีการสอบภาคปฏิบัติ ในการขี่จักรยานบนถนนด้วย ทุกๆ ปี จะมีเด็กดัตช์เป็นร้อยๆ คน ออกไปใช้ถนนเดินทางบนเส้นทางบังคับจากบ้านไปโรงเรียน โดยมีกลุ่มให้คำปรึกษาในเรื่องจักรยานแห่งชาติ คอยดูแลให้เด็กๆ ได้ทดลองด้วยตัวเองในชีวิตจริงบนถนน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยว การอ่านเส้นทาง รู้จักถนน วิธีการให้สัญญาณ หรือการหยุดรถ 

จะว่าไป ไม่มีเพื่อนอัมสเตอร์ดัมคนไหนของฉัน พกหมวกกันน็อคเวลาขี่จักรยานเลย เรียกว่ามันไม่เคยอยู่ในความคิดพวกเขา การแต่งตัวด้วยรองเท้าส้นสูง กระโปรงสั้นสวย ใส่หมวกใบโตรัดรอบด้วยดอกไม้ หรือใส่สูทผูกเนคไท กับรองเท้ามันวับ หรือกระเป๋าแบบเมสเซ็นเจอร์กระชับๆ ยามขี่จักรยาน ดูจะเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า

เพราะการป้องกันความปลอดภัย ไม่เคยอยู่ในวัฒนธรรม หรือในความคิดทางสังคมของพวกเขา สิ่งที่อัมสเตอร์ดัมได้มาในวันนี้ ทั้งความคิดและการกระทำ ที่โลกเห็น คือ การต่อสู้ และการลงทุนระยะยาวในเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตั้งแต่ช่วงปี 1970 ที่มีการตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่า ความปลอดภัยในโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างวัฒนธรรมของการขี่จักรยานในชีวิตประจำวันนั้น สำคัญมากกว่าสิ่งใดทั้งหมด เพราะฉะนั้น การสร้างถนนสำหรับการขี่จักรยานที่ปลอดภัย มีความปลอดภัยในการขับรถความเร็วต่ำ และปลอดภัยในเรื่องปริมาณ ถือว่าสำคัญมากกว่าความปลอดภัยจากการป้องกันจากภายนอก คนที่ใส่หมวกกันน็อค 1 ใน 200 คนนั้น คือนักปั่นจักรยาน ไม่ใช่คนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม

ในความเป็นดอกทานตะวันของคนอัมสเตอร์ดัมสำหรับฉันที่เปรียบเปรยไว้ หนีไม่ได้ที่จะพูดถึงอิทธิพลของเมือง ที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมคนของเมือง เมื่อเมืองสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ในเรื่องของการขนส่งเฉพาะอย่าง และทำให้ปลอดภัยและสะดวกสบาย แน่นอนผู้คนจะใช้มัน เรื่องของเรื่องก็คือ ถ้าอัมสเตอร์ดัมและเนเธอร์แลนด์ส ไม่ได้เปิดใจกว้างอย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงที่ควรจะเป็น วัฒนธรรมจักรยานคงไม่ได้เกิด เพราะนี่ เป็นวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นทางเลือก และการขี่จักรยานควรเป็นของคนทุกคน ไม่ใช่เป็นการใช้ความกล้า และเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย

อนาคตของอัมสเตอร์ดัมคาดกันว่า รถในเมืองจะลดลงอีก จนถึงจุดที่ไม่จำเป็นต้องมีทางจักรยานอีกต่อไป เพราะถนนจะเป็นทางของจักรยาน และรถยนต์จะกลายเป็นแขกรับเชิญ ที่เข้ามาเยี่ยมเป็นครั้งคราวเท่านั้น และไม่ใช่การขนส่งของอนาคตอีกต่อไป

แต่… ถึงจะมีทางจักรยานมากกว่าถนน แต่คนอัมสเตอร์ดัมก็ยังต้องต่อสู้ ในเรื่องที่จอดจักรยาน และทางขี่จักรยานอยู่ดี นี่คือการให้ความสนใจต่อสู้ กับความเป็นเมือง ที่ไม่มีทางสิ้นสุด และห้ามเอาหมัดลงเท่านั้นเอง


Contributor