02/04/2020
Public Realm

COVID-19 ชีวิตที่ไม่มีวันเหมือนเดิม

นาริฐา โภไคยอนันต์
 


แปลและเรียบเรียงโดย กัญรัตน์ โภไคยอนันต์

“กินร้อน ช้อนฉัน ห่างกัน 2 เมตร” หรือ “อยู่บ้านเพื่อชาติ”  กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทยในเวลานี้ 

มนุษย์จะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) กำลังเป็นมาตรการที่จะยาวนานมากกว่าแค่ 2-3 อาทิตย์ แต่กำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

ในการร่วมกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของ Corona ไวรัสนั้น รัฐบาล หน่วยงาน กรมควบคุมโรค และสาธารณสุขของทุกประเทศได้ออกมาตราการขอความร่วมมือจากประชาชนในการเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมแทบจะทุกมิติ  นับตั้งแต่การทำงาน การออกกำลังกาย การพบปะสังสรรค์ การซื้อของ การเรียนการสอน ไปจนถึงการดูแลสมาชิกในครอบครัว 

ทุกคนเฝ้ารอให้สังคมได้กลับไปใช้ชีวิตปกติแบบเดิม แต่มีสิ่งหนึ่งที่  Gideon Lichfield บรรณาธิการของนิตยสาร MIT Technology Review ได้เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า หลังจากนี้อีก 2-3 เดือน หรืออาจจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยที่มนุษย์จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้ 

สถานการณ์ตอนนี้ทุกประเทศต่างยอมรับว่าต้องชะลอการระบาดของผู้ป่วยให้มากที่สุดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณะสุข (Healthcare system) เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นที่ประเทศอิตาลีตอนนี้ ด้วยการประกาศขอความร่วมมือใช้มาตรการต่างๆ ทั้ง ระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือที่องค์การอนามัยโลกใช้คำว่า ระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) นั่นหมายถึง การระบาดใหญ่ต้องอยู่ในระดับต่ำจนกว่าคนจำนวนมากจะสร้างภูมิคุ้มกัน Covid-19 ได้เองหรือการทดลองวัคซีนประสบผลสำเร็จ

แล้วมนุษย์จะต้องใช้เวลานานแค่ไหนและมาตรการข้อจำกัดทางสังคมที่เข้มงวดจะต้องเป็นอย่างไร ? 

ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ประกาศไว้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ถึงแนวทางมาตรการต่างๆ เช่น การจำกัดคนจำนวน 10 คนในการชุมนุมและกล่าวว่า“ด้วยการดำเนินการที่เข้มงวดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ สหรัฐอเมริกาจะสามารถเปลี่ยนเส้นกราฟได้อย่างทันเวลา” หรืออย่างในประเทศจีนการประกาศปิดเมือง 6 สัปดาห์ สถานการณ์ต่างๆก็เริ่มบรรเทาลง แต่จริงๆแล้วการต่อสู้กับโรคระบาดนี้ยังไม่จบแต่เพียงแค่ผู้ติดเชื้อลดน้อยลง ตราบใดที่ยังมีบางคนมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ การระบาดยังคงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ หากขาดการควบคุม

อะไรคือ“ การทิ้งระยะห่างทางสังคม” 

นักวิจัยระบุว่าเป็น “การที่ทุกครัวเรือน ทุกบ้าน ลดการติดต่อภายนอกบ้านทั้งโรงเรียนหรือที่ทำงานลง 75%” ไม่ได้หมายความว่าคนจะออกไปเที่ยวกับเพื่อนสัปดาห์ละครั้งแทนที่จะเป็นสี่ครั้ง แต่หมายความว่าทุกคนทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อลดการติดต่อทางสังคมและโดยรวมแล้วจำนวนผู้ติดต่อจะลดลงได้ถึง 75%

ภายใต้โมเดลนี้นักวิจัยสรุปว่า ระยะห่างทางสังคมและการปิดโรงเรียนจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ใน 3 ของเวลาประมาณ 2 เดือน หรือประมาณ 40 วัน และ 1 เดือนจนกว่าจะมีวัคซีนซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือน (ถ้าหากสามารถใช้ได้เลย) 

18 เดือน และทางเลือกอื่น 

ในแบบจำลองของนักวิจัยพบว่าแม้แต่กลยุทธ์การบรรเทาผลกระทบที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ การแยกหรือกักกันคนป่วย คนชราและผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อรวมไปถึงการปิดโรงเรียน สถานศึกษา สถานประกอบการต่างๆ แต่ยังคงไม่สามารถหยุดจำนวนตัวเลขผู้ป่วยวิกฤตได้ซึ่งมีจำนวนมากกว่าระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักรจะสามารถรับมือได้กว่า 8 เท่า ถึงแม้จะมีการตั้งโรงพยาบาลสนาม ผลิตเครื่องช่วยหายใจ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ แต่ทุกประเทศยังต้องการบุคคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่พร้อมจะดูแลอีกเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่การปิดทุกอย่างยาวนานถึง 5 เดือนก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งได้เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวโรคระบาดนี้ก็จะกลับมาระบาดขึ้นอีกครั้ง 

นี่ไม่ใช่การหยุดชะงักชั่วคราว แต่เป็นการเริ่มต้นของวิถีชีวิตที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง

ในระยะสั้น การแพร่ระบาดจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับธุรกิจที่ต้องพึ่งพาคนที่ต้องมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์ ไนท์คลับฟิตเนส โรงแรม โรงภาพยนตร์ หอศิลป์ ห้างสรรพสินค้า พิพิธภัณฑ์ดนตรี และนักแสดงอื่น ๆ สถานที่เล่นกีฬาและทีมกีฬา สถานที่จัดการประชุมและผู้ผลิตการประชุม สายการบิน การขนส่งสาธารณะ โรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ไปจนถึงการพยายามดูแลญาติผู้สูงอายุโดยต้องระวังการเป็นพาหะ และคนที่ขาดความมั่นคงทางการเงินที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยาและมีรายได้ที่ไม่แน่นอน

มนุษย์กับการปรับตัว

การปรับตัวของมนุษย์จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งในภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ตัวอย่างเช่น ฟิตเนสอาจจะขายอุปกรณ์กีฬาสำหรับใช้ในบ้านและเทรนนิ่งออนไลน์ เป็นต้น จะเกิดการขยายตัวของการบริการใหม่ๆ ในรูปแบบของ “เศรษฐกิจปิด” (Shut-in Economy) และโอกาสในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น เพิ่มการเดินทางที่ใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิงและปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยลง อย่าง การเดินหรือขี่จักรยาน รวมไปถึงการอุดหนุนเศรษฐกิจระดับชุมชนมากขึ้น 

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การหยุดชะงักของธุรกิจและการเปลี่ยนวิถีชีวิตจำนวนมากจะไม่สามารถปรับตัวได้ และวิถีการดำเนินชีวิตแบบปิดก็ไม่สามารถดำเนินไปได้ในระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้

ดังนั้นเราจะอยู่ในโลกใหม่นี้ได้อย่างไร 

ส่วนหนึ่งของคำตอบ คือ การหวังว่าระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะหน่วยการระบาดวิทยาจะสามารถรับมือกับปัญหาได้ดีขึ้น ทั้งการระบุหาสาเหตุ การจำกัดการแพร่กระจายก่อนที่จะระบาดเป็นวงกว้าง การผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งอุปกรณ์ ชุดตรวจ และยารักษา ถึงแม้ตอนนี้จะสายไปแล้วที่จะหยุดการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้จะช่วยให้มนุษย์เตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคตได้ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็ยังมีความหวังที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สามารถรวมกลุ่มทางสังคมได้อย่างเดิมโดยการพัฒนาเครื่องมือที่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้มีความเสี่ยงหรือไม่อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ตอนนี้จะเห็นได้ว่ามีหน่วยงานภาครัฐบางประเทศเริ่มนำมาใช้แล้ว เช่น ประเทศอิสราเอล รัฐบาลนำตำแหน่งข้อมูลโทรศัพท์ที่หน่วยข่าวกรองใช้ในการติดตามผู้ก่อการร้ายมาใช้ในการติดตามบุคคลที่มีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อแล้ว หรือแม้แต่ในสิงคโปร์เองก็เช่นกัน มีการนำข้อมูลติดตามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อทั้งหมดโดยการเผยแพร่และระบุตัวตนด้วยชื่ออย่างละเอียด ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร มนุษย์อาจจะยินยอมให้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเลกทรอนิคแจ้งเตือนหากมีการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อหรือพื้นที่เสี่ยง ไปจนถึงการเข้าไปในสถานที่แออัดอย่าง ศูนย์ประชุม ไนท์คลับ การตรวจวัดอุณหูมิร่างกายจะเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะทำและนอกจากการแสดงบัตรประชาชนแล้วอาจจะมีการแสดงบัตรสุขภาพหรือฝังข้อมูลสุขภาพการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสลงในบัตรประชาชนด้วยก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามตามปกติแล้วค่าใช้จ่ายจะถูกผลักเป็นภาระและปัญหาให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยและเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้ยาก ไปจนถึงกิ๊กเวิร์กเกอร์ ผู้ทำงานอิสระที่งานจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น รวมไปถึง ผู้อพยพ อดีตนักโทษที่จะกลับเข้ามาในสังคมอีกครั้ง 

โลกได้เคยเจอกับการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้งและก็กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง มนุษย์จะต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิต การทำงานและความสัมพันธ์ทางสังคม แต่เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะมีบางคนที่สูญเสียมากกว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์สามารถคาดหวังได้คือ ในที่สุดความยากลำบากของวิกฤตนี้จะบังคับให้ประเทศต่างๆแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่ทำให้ประชากรจำนวนมากกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

บทความ “COVID-19 ชีวิตที่ไม่มีวันเหมือนเดิม” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : https://www.technologyreview.com/s/615370/coronavirus-pandemic-social-distancing-18-months/


Contributor