13/03/2024
Mobility

ทางเท้าสุขุมวิทเป็นอย่างไร: เสียงของผู้ใช้งานทางเท้าสุขุมวิท

มัญชุชาดา เดชาคนีวงศ์
 


เมืองเดินได้ทำให้เศรษฐกิจดี? งานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศได้กล่าวถึงประโยชน์ของการพัฒนาเมืองให้เป็น “เมืองเดินได้-เดินดี” โดยนอกจากประโยชน์ทางตรงอย่างการมีสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว เมืองที่เอื้อให้ผู้คนเดินเท้าในชีวิตประจำวันยังส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจรายย่อย จากการเพิ่มโอกาสในการแวะจับจ่ายใช้สอยของผู้คน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่น้อยลง

ถนนสุขุมวิท เป็นหนึ่งในถนนเศรษฐกิจสายหลักของประเทศไทย อย่างไรตาม ถึงแม้ว่าบริเวณแกนถนนสุขุมวิทจะเป็นที่ตั้งของแหล่งงาน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่พาณิชยกรรม รวมถึงมีโครงการพัฒนาทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทางเดินเท้าริมถนนที่มีปริมาณการใช้งานต่อวันของผู้คนที่สูงนั้น ยังมีสภาพแวดล้อมที่่ไม่น่าเดินและไม่ส่งเสริมให้เกิดการเดิน

หากถนนสุขุมวิทที่เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของคนเมือง และมีศักยภาพในการพัฒนา สามารถเดินได้และเดินดีตลอดทั้งเส้น จะเป็นอย่างไร  กรุงเทพมหานคร และคณะทำงานโครงการฯ จึงได้มีการจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นต่อการเดินเท้าบริเวณถนนสุขุมวิทซอย 1 ถึงซอย 107 (นานา-แบริ่ง) ของประชาชนผู้ใช้งานพื้นที่ 893 คน เกี่ยวกับข้อมูลพฤติกรรมการเดินเท้าในพื้นที่ ปัญหาที่พบเจอ และความต้องการในการพัฒนา เพื่อร่วมกันเสนอแนวทางการพัฒนาให้ย่านของถนนสุขุมวิทน่าอยู่ และออกแบบทางเท้าให้เดินได้-เดินดี พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของย่านให้ดีมากยิ่งขึ้น

ถนนสุขุมวิท พื้นที่ของกลุ่มคนที่หลากหลาย

จากการสำรวจข้อมูลลักษณะทั่วไปของผู้ใช้งานทางเท้าถนนสุขุมวิท พบว่า มีคนทุกเพศทุกวัยเข้าใช้งานพื้นที่ อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 33-34 ปี ผู้ที่ให้ความคิดเห็นที่มีอายุมากที่สุดอยู่ที่ 75 ปี และน้อยที่สุดอายุ 13 ปี ส่วนมากเป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 26 – 59 ปี คิดเป็น 56% รองลงมาคือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา อายุ 15 – 25 ปี คิดเป็น 38% ที่เข้ามาทำงานและเรียนหนังสือในพื้นที่

ในส่วนของเพศ พบว่า ผู้ตอบแบบสบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็น 63% รองลงมาคือ เพศชาย คิดเป็น 29% เพศทางเลือก คิดเป็น 6% และไม่ต้องการระบุ คิดเป็น 2%

สำหรับอาชีพ พบว่า ส่วนมากผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากเป็นนักเรียน นักศึกษา คิดเป็น 33% รองลงมาคือ พนักงานบริษัทเอกชน คิดเป็น 25% เจ้าของกิจการหรือค้าขาย คิดเป็น 23% อาชีพอื่นๆ เช่น เกษียณอายุ แม่บ้าน รับจ้างทั่วไป และว่างงาน คิดเป็น 15% และข้าราชการ/ พนักงานรัฐวิสาหกิจ คิดเป็น 3%

ถนนสุขุมวิท จุดหมายการใช้ชีวิตของกรุงเทพมหานคร

จากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการเดินทางในพื้นที่ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่การเดินทางมากกว่า 2 รูปแบบขึ้นไป เช่น เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือรถขนส่งสาธารณะ แล้วต่อด้วยการเดินเท้าหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง เนื่องจากถนนสุขุมวิทเป็นพื้นที่ที่มีระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึงเพียงแค่ต้นทาง โดยสามารถแบ่งสัดส่วนรูปแบบการเดินทางจากมากไปน้อย ดังนี้ รถยนต์ส่วนตัว คิดเป็น 40% ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือสายน้ำเงิน คิดเป็น 36% การเดินเท้า 16% และระบบขนส่งกึ่งสาธารณะ เช่น รถตู้ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถขนส่งรับจ้าง คิดเป็น 8%

สำหรับวัตถุประสงค์ในการเดินเท้าบนทางเท้าถนนสุขุมวิท พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากจะเดินเท้าเพื่อไปยังที่ทำงาน สถานศึกษามากที่สุด คิดเป็น 58% รองลงมาคือ เดินเท้าเพื่อไปจับจ่ายใช้สอย คิดเป็น 37% ไปที่พักอาศัย คิดเป็น 29% เชื่อมต่อการสัญจร เช่น จากรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปยังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือจุดบริการเรือคลองแสนแสบ คิดเป็น 26%  และอื่น ๆ เช่น เดินเท้าไปยังสถานที่ท่องเที่ยว คิดเป็น 4%

นอกจากนี้ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการเดินเท้าในระยะทาง 800 เมตรขึ้นไป หรือมากกว่า 10 นาที ต่อการเดินหนึ่งครั้ง คิดเป็น 66% รองลงมาคือกลุ่มคนที่เดินระยะทาง 400-800 เมตร หรือ 5 – 10 นาทีต่อการเดินหนึ่งครั้ง คิดเป็น 30% และกลุ่มคนที่เดินไม่เกิน 400 เมตร หรือไม่เกิน 5 นาทีต่อครั้ง มีจำนวนน้อยที่สุด คิดเป็น 3% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1 กิโลเมตร

ทางเท้าสุขุมวิทช่วงย่านนานาถึงพระโขนง ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก ขรุขระ มีสิ่งกีดขวาง ไม่น่าเดิน

ถนนสุขุมวิทซอย 1 – ซอย 71 ถือได้ว่าเป็นจุดที่ตั้งของย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) อย่างอโศก และย่านพาณิชยกรรมที่สำคัญ เช่น พร้อมพงษ์ ทองหล่อ และเอกมัย โดยจากการสำรวจ พบว่า ทางเท้าในบริเวณนี้ได้รับการปรับปรุงแล้วบางส่วน และมีการนำสายไฟลงดินเรียบร้อย สามารถเดินได้สะดวก อย่างไรก็ตาม ยังมีบางจุดที่มีสิ่งกีดขวาง  เช่น ป้ายโฆษณา รวมถึงทางเท้าแคบ และพื้นผิวเสียหาย ขรุขระ ไม่เรียบ 

จากความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาในการเดินเท้าของผู้ใช้งาน พบปัญหาการใช้งานทางเท้าสุขุมวิทช่วงย่านนานาถึงพระโขนงที่หลากหลาย โดยสามารถเรียงตามลำดับคะแนนได้ดังนี้ (เต็ม 5 คะแนน)

  • ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกบนทางเท้า เช่น ถังขยะ หรือป้ายรถประจำทางในระยะที่เดินได้ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.44
  • ทางเท้าไม่เรียบ ขรุขระ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.41
  • ทางเท้ามีสิ่งกีดขวาง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.31
  • ทางเท้าแคบ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.20
  • ขาดความร่มรื่น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.18
  • ขาดไฟส่องสว่าง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.08
  • ขาดทางข้ามที่เหมาะสม ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.07
  • ขาดอุปกรณ์ชะลอความเร็วรถยนต์ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.94
  • ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างทางเท้าและอาคาร ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.86
  • ขาดกิจกรรมที่ดึงดูดในการเดิน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.63

โดยมีความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ทำแบบสอบถามว่า ทางเท้าบริเวณนี้สามารถเดินได้สะดวก แต่ไม่น่าเดิน เนื่องจากเป็นจุดที่มีการจราจรหนาแน่น และรถติด ส่งผลให้มีมลพิษและฝุ่นควันเยอะ นอกจากนี้ ยังขาดการจัดระเบียบทางเท้าให้เรียบร้อยและมีความสะอาด บางช่วงเป็นย่านศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่มีปริมาณคนเดินเท้าต่อวันสูง แต่ทางเท้ากลับมีกองขยะส่งกลิ่นเหม็น ทำให้ไม่น่าเดิน

ความต้องการจากผู้ใช้งานทางเท้าสุขุมวิทย่านนานาถึงพระโขนง

ด้านความต้องการในการพัฒนาคุณภาพการเดินเท้าสุขุมวิทย่านนานาถึงพระโขนง จากผู้ตอบแบบสอบถามสามารถเรียงลำดับความต้องการจากมากไปน้อยได้ดังนี้ (เต็ม 5 คะแนน)

  • เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกบนทางเท้า ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.82
  • เพิ่มสัดส่วนทางเท้าให้กว้างขึ้น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.77
  • เพิ่มโครงสร้างกันแดดกันฝน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.68
  • จัดระเบียบทางเท้าไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.65
  • เพิ่มองค์ประกอบของภูมิสถาปัตยกรรม ให้ร่มรื่น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.53
  • เพิ่มทางข้ามที่เหมาะสม ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.52
  • เพิ่มไฟส่องสว่าง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.39
  • เพิ่มกิจกรรมเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างทางเท้าและอาคาร ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.14
  • เพิ่มอุปกรณ์ชะลอความเร็วรถยนต์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.08
  • เพิ่มกิจกรรมที่ดึงดูดการเดิน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.88

โดยมีความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ทำแบบสอบถามว่า ต้องการให้ทางเท้ามีจุดทิ้งขยะ ที่ไม่ใช่การกองทิ้งไว้ ให้มากขึ้น เพิ่มขนาดให้กว้างขึ้น มีโครงสร้างกันแดดกันฝน หรือต้นไม้ เพื่อให้สามารถเดินได้ในทุกสภาพอากาศ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัย มีจุดทางข้ามและสัญญาณไฟจราจรคนข้ามถนนที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอันตรายจากการข้ามถนน และไฟส่องสว่าง ตลอดจนมีการออกแบบให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานทางเท้าได้อย่างสะดวก

ทางเท้าสุขุมวิทช่วงย่านอ่อนนุชถึงแบริ่ง ทางเท้าไม่เรียบเป็นหลุมบ่อ ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก เดินไม่สะดวก

ถนนสุขุมวิทบริเวณซอย 73 – 107 เป็นย่านที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของเศรษฐกิจใหม่ ที่มีความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยและแหล่งงานที่มีพลวัตและความหลากหลายสูง เช่น อ่อนนุช ปุณณวิถี อุดมสุข บางนา ลาซาล และแบริ่ง โดยจากการสำรวจ พบว่า ทางเท้าในบริเวณนี้ ผิวทางเท้าค่อนข้างชำรุดมาก มีสิ่งกีดขวางต่อเนื่อง และยังไม่มีการนำเสาไฟฟ้าลงดิน

จากความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาในการเดินเท้าของผู้ใช้งาน พบปัญหาการใช้งานทางเท้าสุขุมวิทช่วงย่านอ่อนนุชถึงแบริ่งที่หลากหลาย โดยสามารถเรียงตามลำดับคะแนนได้ดังนี้ (เต็ม 5 คะแนน)

  • ทางเท้าไม่เรียบ ขรุขระ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.06
  • ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกบนทางเท้า เช่น ถังขยะ หรือป้ายรถประจำทางในระยะที่เดินได้ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.44
  • ทางเท้ามีสิ่งกีดขวาง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.29
  • ขาดไฟส่องสว่าง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.20
  • ทางเท้าแคบ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.07
  • ขาดอุปกรณ์ชะลอความเร็วรถยนต์ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.03
  • ขาดความร่มรื่น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.03
  • ขาดทางข้ามที่เหมาะสม ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.79
  • ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างทางเท้าและอาคาร ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.47
  • ขาดกิจกรรมที่ดึงดูดในการเดิน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.43

โดยมีความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ทำแบบสอบถามว่า ทางเท้าบริเวณนี้ เป็นหลุมบ่อ ขรุขระ จุดทิ้งขยะมีน้อย นอกจากนี้ ยังเป็นจุดที่ยังไม่มีการเอาสายไฟลงดิน ทำให้มีสิ่งกีดขวางทางเท้า เดินไม่ต่อเนื่อง รวมไปถึงเป็นจุดที่มีน้ำท่วมขัง ต้องมีการปรับปรุงระบบระบายน้ำไปพร้อม ๆ กับการปรับปรุงทางเท้า

ความต้องการจากผู้ใช้งานทางเท้าสุขุมวิทย่านอ่อนนุชถึงแบริ่ง

ด้านความต้องการในการพัฒนาคุณภาพการเดินเท้าสุขุมวิทย่านอ่อนนุชถึงแบริ่ง จากผู้ตอบแบบสอบถามสามารถเรียงลำดับความต้องการจากมากไปน้อยได้ดังนี้ (เต็ม 5 คะแนน)

  • เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกบนทางเท้า ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.2
  • เพิ่มโครงสร้างกันแดดกันฝน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.85
  • จัดระเบียบทางเท้าไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.79
  • เพิ่มไฟส่องสว่าง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.70
  • เพิ่มอุปกรณ์ชะลอความเร็วรถยนต์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.49
  • เพิ่มสัดส่วนทางเท้าให้กว้างขึ้น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.43
  • เพิ่มทางข้ามที่เหมาะสม ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.30
  • เพิ่มองค์ประกอบของภูมิสถาปัตยกรรม ให้ร่มรื่น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.28
  • เพิ่มกิจกรรมที่ดึงดูดการเดิน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.89
  • เพิ่มกิจกรรมเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างทางเท้าและอาคาร ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.72

โดยมีความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ทำแบบสอบถามว่า ต้องการให้มีการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกบนทางเท้า เช่น จุดทิ้งขยะ ปรับปรุงป้ายรถประจำทางให้มีที่นั่งพัก มีจุดทางข้ามและสัญญาณไฟจราจรคนข้ามถนนที่เหมาะสม เพิ่มไฟส่องสว่าง เพราะบางจุดมืดมาก มีมาตรการจัดการกับรถมอเตอร์ไซค์ที่ขึ้นมาบนทางเท้าอย่างจริงจัง และมีการออกแบบให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานทางเท้าได้อย่างสะดวก

กล่าวโดยสรุป จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่า ผู้ใช้งานถนนสุขุมวิทตั้งแต่ซอย 1 ถึงซอย 107 นั้น มีหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่ เด็ก นักเรียน/นักศึกษา คนวัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ ที่ส่วนใหญ่เข้ามาทำงาน เรียนหนังสือ และจับจ่ายใช้สอย จากการที่สุขุมวิทเป็นแหล่งงานและแหล่งจับจ่ายใช้สอยที่สำคัญของกรุงเทพมหาคร โดยผู้ใช้พื้นที่ส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และระบบขนส่งสาธารณะ ร่วมกับการเดินเท้า หรือรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง 

ในส่วนของปัญหาและความต้องการในการปรับปรุงทางเท้าสุขุมวิทนั้น จะเห็นได้ว่า บริเวณย่านนานา-พระโขนง ที่มีการปรับปรุงทางเท้าและนำสายไฟลงดินแล้ว ผู้ใช้งานพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเพิ่มสิ่งอำนวยการความสะดวก เช่น จุดทิ้งขยะ ป้ายรถประจำทาง และขยายทางเท้าให้กว้างขึ้น เพื่อให้ทางเท้าน่าเดินมากขึ้น ในส่วนของย่านอ่อนนุช-แบริ่ง ที่ยังไม่มีการปรับปรุงทางเท้าและยังไม่มีการนำสายไฟลงดิน ผู้ใช้งานพื้นที่จะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพื้นผิวให้เรียบ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม และจัดการเรื่องปัญหาน้ำท่วมขัง เพื่อให้ทางเท้าทั้งเดินได้และเดินดียิ่งขึ้น ซึ่งจากผลการวิเคราะห์นี้ คณะทำงานจะนำความคิดเห็นเป็นฐานในการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาทางเท้าสุขุมวิทให้เดินได้-เดินดี พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของย่านให้ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป


Contributor