15/02/2024
Mobility

“6 ไอเดียจากประชาชน” ในการออกแบบทางเดินเท้าแบบมีหลังคาคลุม ในพื้นที่กรุงเทพฯ

ศุภกร มาเม้า
 


ในวันนี้ The Urbanis จะพาชาวเมืองทุกท่านดู 6 ไอเดียที่ได้รับรางวัล จากกิจกรรมประกวดไอเดียออกแบบทางเดินเท้าแบบมีหลังคาคลุม ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสำนักการโยธา กทม. ร่วมกับ UDDC-CEUS สสส. และภาคีในเครือข่าย

กิจกรรมในครั้งนี้เปิดรับสมัคร นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป สมาชิกไม่เกิน 3 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทการประกวด ประกอบด้วย ประเภท A นักเรียน นักศึกษาทุกสาขา (อายุไม่เกิน 25 ปี) และ ประเภท B บุคคลทั่วไป ในทุกสาขาวิชาชีพ

จากผู้สมัครเข้ามากว่า 50 ทีมทั่วประเทศ สู่ 10 ทีมสุดท้าย โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในหลายศาสตร์สาขา ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง และภูมิศาสตร์ มาร่วมเป็นกรรมการในการตัดสินผลงาน ประกอบด้วย

– รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน
– คุณไพทยา บัญชากิติคุณ กรรมการผู้จัดการบริษัท อะตอม ดีไซน์ จำกัด
– คุณเอกราช ลักษณสัมฤทธิ์ ผู้ก่อตั้งเพจ Dsign Something
– คุณกรวิชญ์ ขวัญอารีย์ นักออกแบบประจำ Mayday!
– คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) 

โดยทีมที่ได้รับรางวัล มีดังนี้

ผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลในประเภท A นักเรียน นักศึกษาทุกสาขา (อายุไม่เกิน 25 ปี)

ชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีม TFF

ทีม TFF

เลือกย่านห้วยขวาง บริเวณถนนรัชดาภิเษก มาเป็นพื้นที่ออกแบบในครั้งนี้ เนื่องด้วยพื้นที่บริเวณนี้เป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ มีผู้ใช้งานทั้งเวลากลางวันและกลางคืน โดยวิเคราะห์พื้นที่ผ่านการใช้หมุดแยกตำแหน่งพื้นที่ประเภทต่าง ๆ ยกตัวอย่าง หมุดร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ โรงแรม โรงเรียน ศาสนสถาน หรือ สำนักงาน เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมการใช้งานพื้นที่ของย่าน ทั้งที่เป็นย่านผู้ใช้งานจำนวนมาก แต่กลับยังมีปัญหาด้านการเดินเท้า ทั้งกายภาพทางเท้าที่ไม่เหมาะกับผู้พิการทางสายตา ขาดหลังคาคลุมที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าและพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงไม่มีทางลาดสำหรับผู้ใช้รถเข็น

ทางทีมจึงเลือกออกแบบ Covered walkway ให้มีโครงสร้างที่เหมาะกับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม ตลอดจนการออกแบบให้เข้ากับบริบทโดยรอบ อย่างบริเวณเทวาลัยพระพิฆเนศ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับย่าน พร้อมทั้งออกแบบหลังคาให้สามารถเคลื่อนไหวได้ดั่งปีกนกสอดรับกับแนวคิด “ห้วยขวางที่ไม่หลับไหล”

รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีม LANOI031226

ทีม LANOI031226

เลือกพื้นที่ศึกษาราชดำริ – โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมออกแบบให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่หลากหลาย อย่างแพทย์ นักศึกษา ผู้ป่วย และนักท่องเที่ยว ความน่าสนใจของทีมนี้คือการออกแบบ Covered walkway ให้มีลักษณะโค้งเว้า ไม่หนา ทึบ ตัน ที่สำคัญคือมีระบบกักเก็บน้ำฝน และติดตั้งแผงโซลาเซลล์บนหลังคา สำหรับเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน โดยจะดึงพลังงานจากแบตเตอรี่มาใช้ให้แสงไฟในเวลากลางคืน ตลอดจนออกแบบให้โครงสร้างมีความยืดหยุ่น สามารถปรับให้เข้ากับต้นไม้ในพื้นที่ได้อีกด้วย

รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทีม Out of the Box

ทีม Out of the Box

เลือกพื้นที่แยกศาลาแดง – ราชประสงค์ ที่มีผู้ใช้งานหลากหลายกลุ่มที่สำคัญอย่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลตำรวจ ราชกรีฑาสโมสร และโรงแรมต่าง ๆ โดยมีแนวคิดการออกแบบ Covered walkway ด้วยรูปแบบระบบโมดูลาร์ ที่มีความยืดหยุ่นและติดตั้งง่าย สามารถเป็นต้นแบบของการพัฒนาและขยายต่อไปในพื้นที่อื่นได้ โดยเน้นการเชื่อมต่อระหว่างโหนดที่สำคัญ

พร้อมทั้งเสนอให้ดำเนินการไปพร้อมกับการปรับปรุงพื้นทางเท้า โดยใช้หลังคาโปร่งแสงและติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เก็บกักพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้แสงไฟในยามค่ำคืน ส่วนทางเท้านอกจากมีการปรับปรุงพื้นทางเดินแล้ว จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบ ไม่ว่าจะเป็น การจัดถังขยะในแต่ละประเภท การปรับปรุงจุดจอดจักรยาน การทำที่นั่งพักคอยสำหรับคนทั่วไปและผู้ใช้งานรถเข็นวีลแชร์ การจัดให้มีพื้นที่สำหรับตระกร้าปันสุขให้ผู้คนสามารถนำของมาแบ่งปันกันได้ เป็นต้น ตลอดจนเพิ่มลูกเล่นให้กับทางเดินเท้า อย่างการทำสัญลักษณ์ slow down หรือ speed up เพื่อให้ผู้ใช้งานรู้จังหวะการเดินในแต่ละช่วง ทั้งยังเป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้กับพื้นที่นี้อีกด้วย

ผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลในประเภท B บุคคลทั่วไป จากทุกสาขาวิชาชีพ

ชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีม TMCK

ทีม TMCK

เลือกพื้นที่ถนนรัชดาภิเษกตั้งแต่แยกเทียมร่วมมิตร – ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พื้นที่เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะและพื้นที่สีเขียว ถือเป็นอีกหนึ่งย่านกิจกรรมและย่านการค้าของเมือง Covered walkway จะช่วยให้กายภาพของพื้นที่แห่งนี้ไร้รอยต่อมากขึ้น ส่งเสริมให้ผู้คนเดินถึงจุดหมายได้ในทุกสภาพอากาศ

โดยแบ่งการออกแบบ Covered walkway เป็น 4 พื้นที่ ประกอบด้วย (1) แยกเทียมร่วมมิตร – แยกพระราม 9 การออกแบบโดยวางอยู่บนแนวคิดของการเชื่อมต่อกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ห้างสรรพสินค้า โครงการอสังหาริมทรัพย์ และพื้นที่สีเขียว (2) แยกพระราม 9 – แยกเพชรพระราม เน้นเพิ่มความปลอดภัย พร้อมกับพัฒนาพื้นที่โดยรอบ อย่างการเชื่อมต่อจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร และปรับปรุงจุดอับสายตา (3) แยกเพชรพระราม – แยกอโศกมนตรี มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชื่อมต่ออาคารกับทางเดินเท้า (4) แยกอโศกมนตรี – แยกพระราม 4 เน้นออกแบบให้มีการเชื่อมต่อระหว่างจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรกับพื้นที่สีเขียวของเมือง

พร้อมทั้งเลือกใช้วัสดุที่ให้ความตื่นเต้น น่าค้นหา มีชีวิตชีวา อันเนื่องมาจากพื้นที่ถนนรัชดาภิเษกเป็นย่านขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาทิ การใช้เหล็กดัดลวดลายตาม Mood & Tone ของพื้นที่ อย่างจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร หรือ ทางข้ามถนน สร้างเอกลักษณ์ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ทั้งที่นั่งพักคอย และถังขยะ ตลอดจนสัญญาณขอความช่วยเหลือ ส่วนพื้นทางเท้าจะออกแบบให้มีลวดลายสวยงามผสมความเป็นไทยกับความเป็นสมัยใหม่ โดยในแต่ละพื้นที่จะใช้ลวดลายและสีสันที่แตกต่างกันออกไป

รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีม PATANTONY

ทีม PATANTONY

ทีมนักวิชาการสายปรัชญาที่หันมาสนใจงานสายสถาปัตยกรรม มีความตั้งใจพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองเดินได้-เดินดี ที่ผู้ใช้งานทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้สอยทางเท้าได้อย่างสะดวกสบาย โดยออกแบบ Covered walkway ให้เป็นรูปแบบโมดูลาร์ เน้นการดูแลง่าย สามารถจัดการได้อย่างยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานในแต่ละพื้นที่

โดยแบ่งการออกแบบเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย (1) หลังคาที่มีฟังก์ชันหลากหลาย อาทิ การมีระบบดูดควัน การออกแบบให้หลังคาโปร่งแสง และสีลายฉลุฉายลงบนพื้น รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ เป็นต้น (2) ติดตั้งอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงสร้าง อย่างเครื่องช่วยเหลือฉุกเฉิน หรือ ตู้ช่วยเหลือผู้พิการ (3) ทางเดินเท้าที่เดินสะดวก ปลอดภัย พร้อมจัดแบ่งพื้นที่สำหรับกิจกรรมการเดินเท้าต่าง ๆ อาทิ ทางเท้าสำหรับผู้พิการ ทางจักรยาน ป้ายรอรถ ตลอดจนจัดระเบียบพื้นที่สีเขียวบนทางเท้า โดยออกแบบให้สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ในแต่ละช่วง

รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทีม Warp Studio

ทีม Warp Studio

เลือกพื้นที่แยกอโศกมนตรี – เพชรบุรีตัดใหม่ เป็นพื้นที่ในการออกแบบ เนื่องจากเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่สำคัญ และมีผู้ใช้งานจำนวนมากในแต่ละวัน ทั้งคนวัยทำงาน นักเรียน นักศึกษา แต่ทางเท้าบริเวณนี้กลับเดินไม่สะดวกและไม่น่าเดิน แนวคิดการออกแบบของทีมนี้ จึงมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาทางเท้าที่สร้างความสุนทรีย์ในการเดิน เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้ามามากขึ้น

ทางทีมจึงเสนอการปรับปรุงทางเท้าให้ผู้คนสามารถเดินสวนกันได้ พร้อมทั้งจัดระเบียบพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พื้นที่หาบเร่แผงลอย พื้นที่นั่งพัก พื้นที่สีเขียว และจัดระเบียบสิ่งกีดขวาง ส่วนหลังคาจะออกแบบให้มีลักษณะที่หลากหลาย โดยติดตั้งไฟเป็นบล็อคสีเหลี่ยมสลับกัน ซึ่งมีการใช้สีที่โดดเด่น เพื่อสร้างภาพจำและบรรยากาศของย่านที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงทางเท้า

กิจกรรมนี้จัดโดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัท อะตอม ดีไซน์ จํากัด (ATOM Design) บริษัท วิศวกรและสถาปนิก คิวบิค จำกัด (QBIC) Dsign Something และ MAYDAY


Contributor