15/02/2024
Mobility

“หากราชวิถีจะมีสกายวอล์ค” ผลสำรวจความคิดเห็นต่อการเดินเท้าบริเวณถนนราชวิถีของประชาชนผู้ใช้งานพื้นที่

ธนพร โอวาทวรวรัญญู
 


“ทางเดินยกระดับ” หรือ “สกายวอล์ค (SKYWALK)” หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะช่วยให้เกิดการยกระดับศักยภาพการเดินเท้าในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่บริเวณที่มีข้อจำกัดทางพื้นที่ อาทิ พื้นที่แคบไม่สามารถขยายพื้นที่ทางเท้าได้ พื้นที่ทางเท้าขาดความต่อเนื่องจากการมีทางเข้า-ออกจำนวนมาก พื้นที่ที่มีปริมาณคนเดินเท้าหนาแน่น ฯลฯ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการเชื่อมต่อการเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายการสัญจรระดับอาคาร

ถนนราชวิถี เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ควรมีการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาสกายวอล์ค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่การเป็นย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี-ราชวิถี ดังนั้น กรุงเทพมหานคร และคณะทำงานโครงการฯ จึงได้มีการจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นต่อการเดินเท้าบริเวณถนนราชวิถี ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงแยกตึกชัย ของประชาชนผู้ใช้งานพื้นที่กว่าหนึ่งพันคน เกี่ยวกับข้อมูลพฤติกรรมการเดินเท้าในพื้นที่ ปัญหาที่พบเจอ ความต้องการในการพัฒนา รวมถึงความคิดเห็นต่อการพัฒนาสกายวอล์คในพื้นที่

กว่า 82% เห็นด้วยต่อการพัฒนาสกายวอล์คบริเวณถนนราชวิถี

จากการสำรวจความเห็นต่อการพัฒนาทางเดินยกระดับ มีผู้ให้ความเห็นทั้งสิ้น 1,236 คน พบว่า 82% “เห็นด้วย” กับการสร้างและพัฒนาให้บนถนนราชวิถีมีทางเดินยกระดับ โดยมีผู้ให้ความเห็นเพิ่มเติมที่สนับสนุนความคิดที่เห็นด้วยอย่างหลากหลาย อาทิ การช่วยลดความเสี่ยงเวลาเดินข้ามถนน ความสะดวกสบายในการเดินทาง การมีโครงสร้างกันแดดกันฝน การช่วยเสริมความปลอดภัยให้กับผู้คนที่เปราะบางในการเดินทาง เช่น คนตาบอด หรือ คนพิการ ลดการจราจรติดในตอนเช้า และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลที่มักจะต่อรถมาจากขนส่งสาธารณะ

ผู้ที่ไม่แน่ใจ คิดเป็น 12% ที่ส่วนมากยังมองภาพไม่ออกว่าหากมีการพัฒนาทางเดินยกระดับในพื้นที่ จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบเช่นไรบ้าง ส่วนหนึ่งมีความกังวลในช่วงเวลาการก่อสร้างหากมีการพัฒนาจริง ที่จะส่งผลให้เกิดการจราจรที่ติดขัด จึงอยากให้ทางผู้ดำเนินการมีการวางแผนงานในส่วนนี้อย่างละเอียด

ผู้ที่ไม่เห็นด้วย คิดเป็น 6% เนื่องจากยังไม่แน่ใจต่อรูปแบบของทางเดินยกระดับที่จะมีการออกแบบ กังวลในเรื่องการบดบังทัศนียภาพ และการใช้งานจริงของคนทุกกลุ่ม หรือบางกลุ่มมองว่าผู้คนไม่ได้มีการเดินเท้ามากเพียงพอที่จะคุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงมีความกังวลต่อการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งในระหว่างการก่อสร้างและหลังการเปิดใช้งาน

ทางเท้าถนนราชวิถี พื้นที่ที่คนทุกกลุ่มใช้งานทางเท้า

จากการสำรวจข้อมูลลักษณะทั่วไปของผู้ใช้งานทางเท้าถนนราชวิถี พบว่า มีคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ
ทุกวัย ที่สัญจรด้วยการเดินเท้าบนถนนราชวิถี โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 36-37 ปี ผู้ที่ให้ความคิดเห็นที่มีอายุมากที่สุดอยู่ที่ 90 ปี และน้อยที่สุดอายุ 8 ปี ส่วนมากเป็นกลุ่มคนอายุ  22 – 40 ปี จำนวน 31.63% รองลงมาคือ กลุ่มนักเรียน/ นักศึกษา อายุน้อยกว่า 22 ปี คิดเป็น 30.43% ที่เข้ามาทำงานและเรียนหนังสือในพื้นที่

ด้านเพศ พบว่า ผู้ตอบแบบสบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็น 57.52% รองลงมาคือ เพศชาย คิดเป็น 39.08% เพศทางเลือก 2.27% และไม่ต้องการระบุ 1.13%

ด้านอาชีพ พบว่า ส่วนมากเป็นนักเรียน นักศึกษา กว่า 28.24% รองลงมาคือ ข้าราชการ/ พนักงานรัฐวิสาหกิจ 22.17% อาชีพอื่น ๆ เช่น เกษียณอายุ แม่บ้าน และว่างงาน คิดเป็น 18.28% และทำธุรกิจส่วนตัวหรือค้าขาย 13.67%  ตามลำดับ

นอกจากผู้ใช้งานทางเท้าในพื้นที่จะมีลักษณะตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้ว จากการสังเกตการณ์และสำรวจพื้นที่ ยังพบว่า ผู้ใช้งานทางเท้าบนถนนราชวิถี มีกลุ่มเปราะบางทั้ง เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ที่ประสบปัญหาในการใช้งานทางเท้าในพื้นที่ แต่มีความจำเป็นเนื่องจากจุดหมายปลายทางอยู่ในพื้นที่ ดังนั้น การออกแบบเพื่อทุกคน (Design for All) จึงเป็นโจทย์สำคัญในการศึกษาและออกแบบครั้งนี้

กว่า 90% ของผู้ใช้งานอาศัยอยู่ใน กทม. และปริมณฑล

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกว่า 90% โดยกระจุกตัวอยู่ที่เขตราชเทวี พญาไท ดินแดง จตุจักร และบางเขน เป็นกลุ่มคนทำงานหรือเรียนภายในพื้นที่ ส่วนในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ อีก 10% มาจากจังหวัดที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มที่มาพบแพทย์หรือทำธุระโรงพยาบาล และอีกส่วนหนึ่งมาเพื่อเปลี่ยนถ่ายการสัญจร

ชาวเมืองต้องใช้การเดินทางมากกว่า 2 รูปแบบ

จากการเก็บข้อมูลรูปแบบการเดินทาง พบว่า  ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จะมีการเดินทางมากกว่า 2 รูปแบบขึ้นไป เช่น เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสและต่อด้วยการเดินเท้า หรือเดินทางด้วยรถประจำทางและต่อด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ มีความจำเป็นจะต้องใช้การเดินเท้าในการเข้าถึงพื้นที่จุดหมายปลายทาง ซึ่งสามารถแบ่งสัดส่วนรูปแบบการเดินทางจากมากไปน้อย ดังนี้

  • รถโดยสารประจำทาง คิดเป็น 27.90%
  • รถไฟฟ้าบีทีเอส คิดเป็น 23.64%
  • เดินเท้า คิดเป็น 20.08%
  • รถยนต์ส่วนตัว คิดเป็น 16.47%
  • รถจักรยานยนต์ คิดเป็น 8.03%
  • การเดินทางรูปแบบอื่น ๆ เช่น รถตู้ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถขนส่งรับจ้าง รถไฟ และรถโดยสารพนักงาน คิดเป็น 3.86%

ถนนราชวิถีศูนย์รวมสถาบันการแพทย์และการศึกษาของประเทศ

เนื่องจากบริเวณถนนราชวิถีเป็นพื้นที่ที่มีสถาบันการแพทย์และการศึกษากว่า 12 แห่ง ที่ล้วนแล้วเป็นศูนย์รวมการรักษาและองค์ความรู้ที่สำคัญของประเทศ จึงส่งผลให้พื้นที่นี้เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของกรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับการเก็บข้อมูลวัตถุประสงค์การเดินเท้าของผู้ตอบแบบสอบถาม ที่พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เดินเท้าเพื่อมาทำงานหรือเรียนมากที่สุด คิดเป็น 33.38% รองลงมาคือ มาพบแพทย์/ ติดต่อธุระที่โรงพยาบาล คิดเป็น 20.41% เปลี่ยนถ่ายการสัญจร คิดเป็น 17.67% จับจ่ายใช้สอย คิดเป็น 16.55% เดินเท้าเพื่อไปยังที่อยู่อาศัย คิดเป็น 9.19% และอื่น ๆ เช่น พักผ่อน และท่องเที่ยว คิดเป็น 2.81%

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์ในการเดินเท้าในพื้นที่มากกว่า 2 วัตถุประสงค์ เช่น เดินเท้าจากจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร เพื่อไปจับจ่ายใช้สอยก่อนจะเดินกลับที่พัก หรือ เดินเท้าจากโรงพยาบาลไปยังร้านอาหารก่อนจะเดินไปยังจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร เป็นต้น

ทางเท้าแคบ อันตราย ไม่น่าเดิน สัมทับด้วยฝุ่นควันจากรถยนต์

จากความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาในการเดินเท้าของผู้ใช้งาน พบปัญหาการใช้งานทางเท้าราชวิถีหลากหลาย โดยสามารถเรียงตามลำดับคะแนนได้ดังนี้ (เต็ม 5 คะแนน)

  1. ฝุ่นควันและมลพิษ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.26 คะแนน
  2. แดด/ ความร้อน/ ฝนตก ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.07 คะแนน 
  3. ทางเท้าแคบและมีสิ่งกีดขวาง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.89 คะแนน 
  4. อันตรายจากรถยนต์/ มอเตอร์ไซค์ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.80 คะแนน 
  5. ทางเท้าไม่เรียบ ขรุขระ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.74 คะแนน 
  6. ความสกปรกของทางเท้า/ กองขยะ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.55 คะแนน 
  7. ความสว่างทางเท้า ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.37 คะแนน

โดยมีความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ทำแบบสอบถามว่า บริเวณนี้เป็นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น และรถติด ทำให้มีฝุ่นควันและมลพิษสูง ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ทางเท้า อีกทั้งยังไม่มีที่บังแดดและฝน เป็นอุปสรรคในการเดินเท้าช่วงเวลากลางวันและเวลาที่ฝนตก ทางเท้าบริเวณฝั่งหน้าโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าค่อนข้างแคบและมีหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า ทำให้เดินไม่สะดวก บางครั้งต้องลงมาเดินบริเวณถนนซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อตัวผู้ใช้ทางเท้าและผู้ใช้รถใช้ถนน รวมถึงทางเดินยกระดับที่เชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิยังขาดช่วงทำให้การเดินเท้าไปถนนราชวิถีไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น การวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการเดินเท้าในบริเวณนี้จึงต้องมีการศึกษาแนวทางที่เหมาะสมและตอบรับกับปัญหาที่ผู้ใช้งานพื้นที่พบเจอในชีวิตประจำวัน

ผู้ใช้งานทางเท้าราชวิถีร่วมส่งเสียงความต้องการการพัฒนา

ด้านความต้องการในการพัฒนาคุณภาพการเดินเท้าในพื้นที่บริเวณราชวิถีจากผู้ตอบแบบสอบถามสามารถเรียงลำดับความต้องการจากมากไปน้อยได้ดังนี้ (เต็ม 5 คะแนน)

  1. ทางเท้ามีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.61 คะแนน 
  2. ทางเดินเท้าไม่มีสิ่งกีดขวาง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.51 คะแนน
  3. ทางเดินเท้ามีร่มเงามากขึ้น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.39 คะแนน 
  4. ทางเดินเท้ากว้างขึ้น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.25 คะแนน 
  5. ทางเดินเท้ามีป้ายบอกทาง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.19 คะแนน 
  6. ทางเดินเท้ามีที่นั่งพัก ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.76 คะแนน

โดยมีความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ทำแบบสอบถามว่า ต้องการให้ทางเท้ามีความปลอดภัยในการเดินเท้ามากขึ้น ทางเท้าควรมีขนาดที่กว้างมาก และมีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย เพื่อไม่ให้ผู้ใช้ทางเท้าต้องลงไปเดินบริเวณถนนที่มีความอันตราย รวมถึงต้องมีจุดทางข้ามและสัญญาณไฟจราจรคนข้ามถนนที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอันตรายจากการข้ามถนน มีการเพิ่มที่บังแดดและฝน เพื่อให้การเดินเท้าในช่วงเวลากลางวันหรือเวลาฝนตกสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ท้ายที่สุด เนื่องจากบริเวณนี้ เป็นศูนย์รวมทางด้านการแพทย์ ควรมีป้ายบอกทางและพื้นที่สำหรับการนั่งพัก ไว้รองรับกลุ่มผู้ป่วย ผู้อายุ และผู้พิการที่ต้องเข้ามาใช้งานในพื้นที่เช่นเดียวกัน เนื่องจากในปัจจุบันทางเท้าบริเวณนี้ยังไม่มีการออกแบบที่เหมาะสมกับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม

สกายวอล์คราชวิถี ควรมีการออกแบบอย่างไร

จากการเก็บข้อมูลความเห็นต่อการออกแบบสกายวอล์คถนนราชวิถี พบว่า ผู้ให้ความเห็นมีความต้องการต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของการออกแบบอยู่ในระดับที่เห็นด้วยมากถึงมากที่สุด โดยสามารถเรียงลำดับคุณลักษณะที่พึงมีจากมากที่สุด ไปน้อยที่สุด ได้ดังนี้ (เต็ม 5 คะแนน)

  1. มีกล้องวงจรปิดได้ 4.74 คะแนน 
  2. เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า และจุดจอดรถโดยสารประจำทางได้ 4.57 คะแนน
  3. มีปุ่มส่งสัญญานขอความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ 4.53 คะแนน 
  4. เชื่อมต่อกับอาคารหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่บนถนนราชวิถี อาทิ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ฯลฯ ได้ 4.51 คะแนน
  5. มีป้ายบอกทาง แผนที่ และข้อมูลพื้นที่สำคัญในย่านได้ 4.42 คะแนน 
  6. มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ/ปฐมพยาบาลฉุกเฉินและถังดับเพลิงได้ 4.33 คะแนน 
  7. เปิดให้ใช้งาน 24 ชั่วโมงได้ 4.21 
  8. มีลิฟต์สำหรับขึ้น-ลงเป็นช่วง ๆ 4.20 คะแนน
  9. มีความกว้างอย่างน้อย 4 เมตรได้ 4.11 คะแนน 
  10. มีบริการรถกอล์ฟรับ-ส่งได้ 3.49 คะแนน

นอกจากนี้ ยังมีการให้ความเห็นเพิ่มเติม ในการการออกบบแสงสว่างทั้งด้านบนและด้านล่างโครงสร้างทางเดินยกระดับ การแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน การดูแลรักษาความสะอาด การมีห้องน้ำสาธารณะ และการมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยข้อมูลส่วนนี้จะเป็นฐานในการออกแบบต่อไป

ท้ายที่สุดนี้ จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่า ผู้ใช้งานบริเวณราชวิถี ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงแยกตึกชัย มีกลุ่มคนที่หลากหลายตั้งแต่เด็ก คนวัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ ที่ส่วนมากเข้ามาทำงานและมาเรียนในพื้นที่ รวมถึงพบแพทย์และติดต่อธุระที่โรงพยาบาล อันเป็นจุดหมายสำคัญของพื้นที่ ผู้คนที่ใช้งานพื้นที่ส่วนมาก หากเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟฟ้า มีความจำเป็นจะต้องใช้การเดินเท้าเดินทางเพื่อเข้าถึงพื้นที่จุดหมาย หากแต่ทางเท้าบนแนวถนนราชวิถียังมีปัญหาอยู่มากที่ควรต้องดำเนินการแก้ไขหรือพัฒนา ผู้ใช้งานต้องการให้มีการพัฒนาพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น ปลอดภัยขึ้น มีร่มเงา และลดสิ่งกีดขวางบนช่องทางเดิน

ดังนั้น การพัฒนาทางเดินลอยฟ้าบนแนวถนนราชวิถีจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการยกระดับการเดินเท้า ภายใต้ข้อจำกัดที่ไม่สามารถขยายพื้นที่ทางเท้า ซึ่งผู้ใช้งานที่ตอบแบบสอบถามส่วนมาก “เห็นด้วย” กับการพัฒนาทางเดินยกระดับ แต่ขอให้มีการพัฒนาควบคู่ไปกับทางเท้าด้านล่าง ซึ่งจากผลการวิเคราะห์นี้ คณะทำงานจะนำความคิดเห็นเป็นฐานในการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาต่อไป


Contributor