01/04/2020
Public Realm

‘เมืองเสี่ยงภัย’ กับโรคระบาด จากมุมมองของสังคมวิทยาความตาย

วรากร วิมุตติไชย
 


“เมืองเสี่ยงภัย” กับโรคระบาด จากมุมมองของสังคมวิทยาความตาย

บทบาทสำคัญของสังคมวิทยาความตาย คือ การพยายามทำความเข้าใจและศึกษากลไกทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับความตาย เราสนใจใคร่รู้ว่าสังคมให้ความหมาย จัดการ และประกอบสร้างความตายขึ้นมาอย่างไร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และท้ายที่สุดอาจสามารถจุดประกายบางอย่างแก่สังคมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านความตายได้

ในสภาวะวิกฤตเช่นการกำเนิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ Covid-19 การพยายามศึกษาความตายจากโรคระบาดย่อมเป็นความท้าทายในตัวมันเองอย่างหนึ่ง และเมื่อโยงเข้ากับ “ความเป็นเมือง” แล้วก็ยิ่งสร้างความท้าทายขึ้นอีกขั้นหนึ่งไม่แพ้กัน ในขั้นแรกของการท้าวความ จึงขอแสดงภาพความข้องเกี่ยวกันของเมือง ความเสี่ยง และโรคระบาดเสียก่อน

Living on the volcano of civilization – ใช้ชีวิตอยู่บนภูเขาไฟแห่งความเจริญ

หากจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ก็คงเป็นการพลิกประสบการณ์ในสถานการณ์วิกฤตให้กลายเป็นการสร้างองค์ความรู้และกระบวนทัศน์การมอง “เมือง” ที่ต่างออกไปจากเมืองในวิถีปกติ 

แม้ว่าเมืองในแบบปกติของมันจะมีปัญหามากพออยู่แล้วก็ตาม แต่ความเป็นเมืองยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ แอบแฝงอยู่เพื่อรอวันปะทุขึ้นราวภูเขาไฟที่ยังไม่ดับสนิท หนึ่งในนั้นก็คือองค์ประกอบเรื่อง “ความเสี่ยง” ที่นักสังคมวิทยา Ulrick Beck เคยประกาศกร้าวจนสะเทือนวงการสังคมวิทยาไปครั้งหนึ่งแล้วในหนังสือชื่อ Risk society: towards a new modernity ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาเยอรมันเมื่อปี 1989

Beck กล่าวว่า ความเป็นสมัยใหม่นอกจากจะนำไปสู่การกระจายถ่ายโอนความมั่งคั่ง (distribution of wealth) แล้ว ความเป็นสมัยใหม่ยังถ่ายโอนความเสี่ยง (distribution of risk) ต่าง ๆ นา ๆ สู่พื้นที่อื่นอีกด้วย กล่าวคือ อำนาจของความเสี่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันได้ขจัดความเป็นปกติธรรมดาที่เราใช้เป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตออกไป ตั้งแต่เรื่องของพื้นที่และเวลา (space and time) เรื่องระหว่างเวลาทำงานและเวลาพักผ่อน (work and leisure time) เรื่องระหว่างโรงงานกับรัฐ (factory and nation state) หรือแม้กระทั่งเรื่องพรมแดนของแต่ละทวีป (borders between continents) รากฐานกฏเกณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงเปลี่ยนไป 

ตัวอย่างที่ Beck ยกขึ้นมานั้น ได้แก่ ความเสี่ยงจากพลังงานนิวเคลียร์ มลพิษจากอุตสาหกรรม ขยะอันตราย (หลอดไฟเก่า ถ่านไฟฉาย กระป๋องสเปรย์ ฯลฯ) การเสื่อมของระบบนิเวศน์ ความเสี่ยงต่อระบบสุขภาพ (health risks) และความเสี่ยงต่อการสูญเสียทักษะจากระบบอัตโนมัติ (threats to skills from automation) 

จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงที่ Ulrick Beck ยกขึ้นมานั้น ไม่ได้ไกลจากสิ่งที่กำลังปะทุอยู่ในปัจจุบันเลย ตอนนี้เราเองก็เหมือนกับกำลังใช้ชีวิตอยู่เหนือปากปล่องภูเขาไฟที่จะปะทุขึ้นเมื่อใดไม่มีใครคาดการณ์ได้

เมืองเสี่ยงภัย – ความเป็น city node กับบทบาทของการชักนำและกระจายโรค

เมื่อทั้งโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าหรือคาดการณ์ได้ แล้ว “เมือง” จะมีหน้าตาอย่างไร?

The UN World Urbanization Prospects คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2050 ประชากรสองในสามของโลก หรือก็คือ 68% จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง จากแผนภาพด้านล่างแสดงให้เห็นถึงหน้าตาของความเป็นเมืองในปี 2018 

ความเป็นเมือง โดยเฉพาะในบริบทสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่มีขนาดใหญ่เท่านั้น แต่เมืองคือศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนและกระจุกตัวของทรัพยากร ฉะนั้น เราไม่ควรมองเมืองในรูปแบบของพื้นที่ที่ปิดกั้นไม่เชื่อมโยงจากบริบทแวดล้อม เมืองใหญ่ไม่ได้มีหน้าที่และหน้าตาเหมือนในอดีต ที่เพียงแค่ปิดประตูเมือง ทั้งอาณาจักรก็สามารถกันโรคระบาดร้ายแรงที่ทำให้คนกลายเป็นซอมบี้ได้แล้ว 

เมืองใหญ่ ๆ ในปัจจุบัน (Mega city) จึงเปรียบได้กับ node หรือ จุดรวม/ชุมทาง ของการมาและไปของสินค้าและผู้คน เป็น node ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระบบเศรษฐกิจระดับโลก นำพานักท่องเที่ยวและแรงงาน ส่งออกผู้คน มีบริษัทต่างชาติ มีห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย สถานที่ท่องเที่ยว ผับ บาร์ โรงแรม สนามมวย(!) สนามบิน ท่ารถท่าเรือ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเชื่อมโยงกับการแลกเปลี่ยนและเคลื่อนที่ไปมาในระดับโลกทั้งสิ้น 

และโรคระบาดก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นเช่นกัน


จากแผนภาพแสดงเคสยืนยันการติดเชื้อ Covid-19 ทั่วทั้งโลก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความเป็นเมือง มีปัจจัยที่ส่งเสริมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เราจะพบว่าจุดแดงที่แสดงการแพร่ระบาดล้วนปรากฏอยู่ในบริเวณเมือง ยิ่งในยุคที่การเดินทางข้ามทวีปสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วง่ายดาย เราอาจต้องยอมรับว่า การอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ก็นับเป็นความเสี่ยงในตัวของมันเองได้ 

โรคระบาดฟกับการตระหนักถึงความตายของคนในเมืองเสี่ยงภัย

เราคงเริ่มเห็นภาพแล้วว่าสิ่งที่ทำให้คนเมืองมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคนในพื้นที่นอกเมือง ก็คือการที่คนเมืองรับรู้ว่าตนมีโอกาสสัมผัสต่อความเสี่ยงได้รวดเร็วกว่าและกระทันหันกว่า จากการแพร่ระบาดของ Covid-19 เรายิ่งเห็นได้ชัดว่ามหานครกรุงเทพนั้นเป็นเมืองแห่งความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อและส่งต่อเชื้อไปสู่ภูมิลำเนาอื่น ๆ 

คนกรุงเทพฯ มีการตื่นตัวในการป้องกันตนเองสูง มีการเรียกร้องให้ปิดสนามบิน เกิดปัญหาหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอลล์ขาดแคลน มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับมาตราการการจัดการต่าง ๆ เช่น การรับแรงงานผิดกฏหมายจากประเทศเกาหลีกลับบ้าน การเข้าถึงการรักษา หรือมาตราการ social distanceing และ work from home ล้วนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยในกรุงเทพขนานใหญ่

สิ่งที่น่าสนใจในมุมมองของสังคมวิทยาความตายภายใต้บริบทเมืองเสี่ยงภัย คือวาระซ่อนเร้นในการมาถึงของโรคระบาด ในที่นี้คือโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่สามารถควบคุมและรักษาให้หายได้ สถานการณ์ในคราวนี้จึงต่างจากการจัดการโรคระบาดที่มีอยู่แล้วในวิถีปกติ เพราะความใหม่และความไม่รู้นี่เอง สิ่งที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้การตื่นตัวของคนเมืองจึงอาจเป็นความตระหนักถึงความตายที่เข้ามาใกล้ 

ในมุมมองของสังคมวิทยาความตาย จึงมีสมมติฐานว่า Covid-19 หรือ Coronavirus Disease 2019 ในฐานะของโรคระบาดในวงกว้าง (pandemic) ได้ก่อให้เกิด

1. แทรกแซงวิถีปกติของความตาย

การมาถึงของโรคอุบัติใหม่ไร้ยารักษาเข้าไปแทรกแซงวิถีปกติของการตายใน 2 รูปแบบ (1) แทรกแซงการรับรู้ความตายของคน จากเดิมความตายมักจะถูกนำไปผูกกับมุมมองเชิงมิติของเวลา คนหนุ่มสาวมองว่าความตายเป็นเรื่องไกลตัว คนสูงอายุกลับมองว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ แต่การมาถึงของโรคระบาดทำให้มิติเวลาที่ต่างกันของวัยถูกบีบให้เข้ามาใกล้กันมากยิ่งขึ้น มันได้เข้ามา reset มุมมองความตายของคนทุกวัยให้กลายเป็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะสัมผัสความตายเท่า ๆ กัน (2) แทรกแซงวิถีการจัดการความตาย เช่น กรณีของประเทศอิตาลีที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเกินกว่าที่จะจัดงานศพตามประเพณีได้ทัน จำเป็นต้องลำเลียงศพไปเผาที่อื่น หรือในกรณีของประเทศไทยที่วัดปฏิเสธไม่รับร่างของผู้เสียชีวิตจากโควิดเพราะความกลัว 

2. สะท้อนระบบในการจัดการภายใต้สภาวะวิกฤต

เป็นไปได้ว่าสภาวะวิกฤตที่ส่งผลต่อชีวิตนั้น เป็นสาเหตุของแรงขับเคลื่อนดิ้นรนเพื่อปกป้องตนเอง และนำไปสู่การกระทำทางสังคมอีกมากที่ล้วนสะท้อนถึง “ความตื่นตระหนก” “ช่องว่าง” และ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” มากมาย เช่น การกักตุนสินค้า การโก่งราคาหน้ากากอนามัย การเหยียดเชื้อชาติ ความเครียด การขาดรายได้ของคนหาเช้ากินค่ำ ปัญหาเศรษฐกิจ ความพร้อมของระบบบริการสาธารณสุข หรือการเข้าไม่ถึงอะไรสักอย่างของคนไร้บ้าน

3. สร้างประสบการณ์ร่วมของคนเมืองแบบใหม่ในฐานะ Global citizen

ผู้เขียน มีสมมติฐานว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นประสบการ์ณโรคระบาดและความตายครั้งใหญ่ที่สุดที่ส่งผลกระทบคนทั่วโลก ประเด็นที่น่าสนใจคือ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเมืองทั่วโลกมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก เช่น การแห่ไปกักตุนอาหาร การมีมาตราการกักกันโรค ความตื่นตระหนกและการหาวิธีการป้องกันรับมือต่าง ๆ ภาพของเมืองร้างและผลกระทบจากความสูญเสีย เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ชัดถึงความเป็นคนเมืองในยุคสมัย Global citizen 

บทความ “‘เมืองเสี่ยงภัย’ กับโรคระบาด จากมุมมองของสังคมวิทยาความตาย” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย วรากร วิมุตติไชย


Contributor