19/08/2021
Public Realm

ก้าวข้ามวังวนและมายาคติ การขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


เรียบเรียงโดย คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ฝ่าย Urban Intelligence จากการนำเสนอสาธารณะ ฟื้นเมืองบนฐานความรู้ (Knowledge-based City Remaking) ภายใต้โครงการเมืองกับบทบาทและศักยภาพในการขับเคลื่อนนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้

จากข้อสังเกต ประสบการณ์การทำงานโครงการขับเคลื่อนเมืองด้วยฐานความรู้และประสบการณ์การทำงานเรื่องของการพัฒนาพื้นที่โดยใช้ข้อมูลและความรู้เป็นฐานผ่านโครงการเชิงพื้นที่และเชิงประเด็นของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เน้นย้ำให้เห็นว่า แต่ละเมืองมีเอกลักษณ์ความเฉพาะตัว ที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ (VUCA: volatility, uncertainty, complexity, ambiguity) ซึ่งทำให้การพัฒนาเมืองหรือการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเมืองแต่ทางกายภาพเป็นไปไม่ได้ ที่จะปราสจากมิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม หรือเศรษฐกิจ ยิ่งบริบทของความเป็นเมืองในปัจจุบันที่เป็นสังคมของการเรียนรู้หรือการพัฒนาบนฐานความรู้ก็ยิ่งเป็นไปได้ยากหากมองเพียงมิติกายภาพเพียงอย่างเดียว ความท้าทายในการบริหารจัดการเมืองสมัยใหม่นั้น เป็นเรื่องของกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการเมืองที่เปลี่ยนไป จากรูปแบบของการสั่งการและการตัดสินใจจากผู้มีอำนาจ (hierarchic government-based modes of urban decision-making with command logic) แต่ฝ่ายเดียวนั้น ไม่สามารถใช้การได้ในสภาพสังคมและเมืองที่มีลักษณะข้างต้น แนวคิดการบริหารจัดการเมืองสมัยใหม่จึงให้ความสำคัญกับการจัดการความสัมพันธ์ของเครือข่ายผ่านกระบวนการเจรจาต่อรอง (hierarchic governance network-based modes with negotiation logic)

อีกประเด็นสำคัญของเมืองในฐานะที่เป็นพื้นที่ที่มีส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (economic surplus) เป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของผู้คน กิจกรรม เมืองจึงกลายเป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์ระหว่างผู้คน พื้นที่ ข้อมูลและความรู้ แต่แม้กระนั้นการบริหารจัดการเมืองหรือการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเมืองฐานข้อมูลและความรู้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งนี้ พอจะสรุปโดยสังเขปเกี่ยวกับมิติการขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูลและความรู้ ออกเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ 

ประเด็นแรก มายาคติว่าด้วยข้อมูล

เรามักเข้าใจเสมอว่าเมืองของเราไม่มีข้อมูล แต่ความจริงแล้วเมืองเราไม่เคยขาดข้อมูล สังคมไม่เคยขาดข้อมูล เราเก็บข้อมูลมาอย่างยาวนาน แม้ว่าข้อมูลนั้นจะถูกเก็บโดยกระดาษ เก็บผ่านแฟ้มเอกสาร เก็บผ่านความทรงจำของตัวบุคคล เก็บผ่านประสบการณ์ เรื่องเล่า “มุขปาฐะ” หรือเรียกอีกอย่างคือ tacit knowledge ซึ่งหมายถึง ความรู้หรือองค์ความรู้ที่ถูกเก็บอยู่ในสมองของเรา ซึ่งมีอยู่มหาศาลทั้งที่ถูกเก็บในระดับบุคคล หรือตัวบุคคลที่เป็นปราชญ์ชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน หรือแม้กระทั่งข้อมูลที่ถูกนำเสนอ ถูกจัดเก็บอยู่ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบทางราชการส่วนกลางหรือท้องถิ่นเองก็ตาม

ข้อมูลเมืองที่กล่าวไปข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่เคยขาดข้อมูล แต่ปัญหาคือเราไม่สามารถเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์หรือสร้างให้เกิดนวัตกรรมต่อยอดได้ ซึ่งจะส่งต่อไปเรื่องปัญหาของการจัดเก็บ และการจัดการข้อมูลในระดับเมืองหรือระดับท้องถิ่น ซึ่งรูปแบบการจัดเก็บและจัดการข้อมูลในระดับพื้นที่มีอยู่ 3 รูปแบบ

  • แบบที่ 1 ข้อมูลที่ท้องถิ่นจัดเก็บและใช้งานในท้องถิ่น เป็นระดับที่เล็กที่สุด มีการจัดการที่น้อยที่สุด แต่เห็นแรงกระเพื่อม เห็นโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นมากที่สุด คือ ข้อมูลที่ท้องถิ่นจัดเก็บและเอามาใช้งานในการบริหารจัดการท้องถิ่นเอง เช่น ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลคนแก่ที่ใช้จัดสรรงบประมาณ เรื่องของภาษี อย่างไรก็ตามปลายทางของข้อมูลชุดนี้ ถูกส่งต่อไปอันดับที่สอง
  • แบบที่ 2 ข้อมูลที่ท้องถิ่นจัดเก็บและส่งต่อให้ส่วนกลาง คือ ข้อมูลที่จัดเก็บและกลับเข้าสู่ส่วนกลาง ตัวอย่างเช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่อยู่ในระบบของท้องถิ่นเอง ท้ายที่สุดปลายทางไปอยู่ที่ส่วนกลาง
  • แบบที่ 3 ข้อมูลที่ส่วนกลางดำเนินการและจัดเก็บไว้ที่ส่วนกลาง เป็นระบบการจัดการข้อมูลโดยส่วนใหญ่ของประเทศไทยในรูปแบบของการดำเนินงานผ่านระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เป็นการเก็บข้อมูลโดยบทบาทหน้าที่หรือพันธกิจของหน่วยงาน เก็บข้อมูลจากส่วนกลางและเก็บเอาไว้ที่ส่วนกลาง

จากรูปแบบของการเก็บและการจัดการทั้ง 3 รูปแบบข้างต้น สะท้อนรูปแบบการจัดการข้อมูลท้องถิ่น หรือในที่นี้หมายถึงข้อมูลเมืองทั้ง 3 รูปแบบข้างต้นเป็นไปในลักษณะที่อนุมานได้ว่าเป็น ระบบผูกขาดข้อมูลโดยส่วนกลาง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะเข้าข่ายทำนองการโจรกรรมข้อมูลเมือง เพราะแม้ว่าท้องถิ่นจะดำเนินการจัดเก็บข้อมูล หรือกระทั่งเอกชน ประชาชนดำเนินการจัดเก็บข้อมูล แต่ท้ายที่สุดกลับถูกรวมศูนย์ไปที่ส่วนกลาง นอกจากนี้ยังขาดกลไกหรือกระบวนการถอดเอาข้อมูลหรือความรู้ที่เกิดขึ้นหรือถูกรวบรวม ส่งกลับมาที่ท้องถิ่นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการเมือง หรือส่งกลับให้สาธารณะในระดับปัจเจก ดังนั้น มายาคติที่เข้าใจกันว่าเราไม่มีข้อมูลนั้นอาจไม่จริง เพราะแท้จริงแล้วข้อมูลที่ถูกจัดเก็บรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง และมีข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ยังไม่ถูกรวบรวม และจัดระบบซึ่งอยู่ในรูปแบบของข้อมูล หรือองค์ความรู้ในตัวบุคคล

ทำให้รูปแบบการจัดการข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นการจัดการข้อมูลแบบทางเดียว เป็นการรวบรวมข้อมูลกลับสู่รัฐส่วนกลาง แต่ไม่สามารถเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้งาน อย่างไรก็ตาม ก็มิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะปัจจุบันมีแนวคิดการทำเรื่องข้อมูลรัฐแบบเปิด หรือข้อมูลเปิดของเมือง (urban open data) ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้สะท้อนผ่านการใช้ข้อมูลอย่างจริงจังของพื้นที่ ดังนั้น ปัญหาของการได้มาซึ่งข้อมูลหรือการไม่มีข้อมูล อาจไม่ได้เป็นโจทย์ที่ท้าทายในอนาคต แต่อยู่ที่การก้าวกระโดด หรือการเปลี่ยนผ่านตัวกระบวนการสร้างหรือการเก็บข้อมูล จากระบบอนาล็อก จัดเก็บไว้ในเอกสาร เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบอัตโนมัติ ด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence – AI) ข้อมูลจะเป็นระบบที่ไหลเวียนอยู่อย่างอัตโนมัติ  ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านของบุคลากรที่จะมาจัดการหรือรวบรวมข้อมูลเหล่านี้จะต้องสะท้อนความท้าทายที่จะเปลี่ยนผ่านระบบการจัดเก็บจากระบบอนาล็อกเป็นระบบ AI ในอนาคตอันใกล้นี้

ประเด็นที่สอง วังวนและกับดักของศูนย์ข้อมูลหรือข้อมูล

ประเด็นถัดมาหลังจากการมีการจัดเก็บข้อมูลเมืองหรือท้องถิ่นแล้วมักติดอยู่ใน “วงวนหรือกับดักของข้อมูล” ปัจจุบันนี้ รัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่น เริ่มพูดถึงเรื่องการทำศูนย์ข้อมูลข่าวสาร (data and information center) การสร้างศูนย์ต่าง ๆ แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไปสำหรับการจัดการความรู้ของเมือง หรือการขับเคลื่อนเมืองด้วยฐานความรู้ การสร้างหรือมีศูนย์ข้อมูลเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ เพราะหากมองว่าศูนย์ข้อมูลนั้นเป็นเพียงสถานที่เก็บข้อมูล เก็บความรู้แต่ไม่นำมาใช้ประโยชน์ ไม่เกิดการแลกเปลี่ยน มันไม่ต่างอะไรกับ “ชั้นเอกสารรอการทำลาย” มีการสร้างห้องเก็บรวบรวมโดยเฉพาะ แต่ท้ายที่สุด กลับกลายเป็นเพียงห้องเอกสารที่เก็บไว้รอทำลาย ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ดังนั้น การสร้างศูนย์ข้อมูลอาจะไม่ใช่ทางออก แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ การมีซึ่งข้อมูลอาจเป็นจุดเริ่มต้นขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี แต่ข้อมูลเมืองที่ว่านั้น ไม่ได้เป็นเพียงข้อมูลเมืองชุดเดียวอย่างที่เราเข้าใจ และโดยส่วนใหญ่ล้วนนึกถึงข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ข้อมูลเมืองที่มีความสำคัญกับการบริหารจัดการความรู้ หรือบริหารจัดการเมืองบนฐานความรู้ แบ่งข้อมูลออกเป็น 3 ประเภท

  • ประเภทที่ 1 ฐานข้อมูลกายภาพเชิงพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองเมือง อาทิ ตำแหน่งสถานที่ตั้งโรงเรียน พยาบาล เส้นทางคมนาคมขนส่ง ขอบเขตการปกครอง
  • ประเภทที่ 2  ฐานข้อมูลคน ประชากร พลเมือง ซึ่งสามารถมองได้ 2 แบบ คือ 1) คนที่เป็นประชากร คนแก่มีเท่าไหร่ คนเกิดเท่าไหร่ 2) คนในฐานะที่เป็นพลเมือง ดูเรื่องสารทุกข์สุขดิบ มีคนแก่เป็นโรคเบาหวาน ความดันมากน้อยแค่ไหน ทั้ง 2 แบบนี้คือลักษณะข้อมูลชุดประเภทที่สองที่จะต้องมี หมายรวมถึงข้อมูลลักษณะต่างๆ ของคนด้วย เช่น มีคนพิการหรือไม่ มีคนด้อยโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ 
  • ประเภทที่ 3 ฐานข้อมูลพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ ซึ่งมีความสำคัญมากในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลเชิงปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับพื้นที่ หรือพื้นที่กับพื้นที่ก็ได้ เช่น พฤติกรรมของการเปลี่ยนแปลงไปของห้องสมุด ความต้องการของผู้คน สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมภายในเมือง ข้อมูลชุดนี้มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรวดเร็วและมีความหลากหลาย มีความอ่อนไหวต่อเวลาสูง ดังนั้น ข้อมูลชุดนี้จึงมีความสำคัญกับความท้าทายในอนาคต ที่จะต้องจัดเก็บและรวบรวมในการบริหารจัดการเมือง ซึ่งในปัจจุบันถูกจัดเก็บอยู่น้อยมากในระบบราชการหรือการดำเนินงานของรัฐ ส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านี้จัดเก็บโดยภาพเอกชนในรูปแบบของพฤติกรรมการบริโภค การเดินทาง การจับจ่ายใช้สอย

แม้ว่ามีข้อมูลครบแล้วในขั้นที่หนึ่ง โจทย์สำคัญคือขั้นต่อมาที่จะทำให้ข้อมูลเกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการเมือง ฐานข้อมูลเมืองที่จะเกิดประสิทธิภาพได้ต้องมีองค์ประกอบที่ครบถ้วนทั้ง 3 แบบ และสิ่งสำคัญถัดมาคือ ต้องมีการอัพเดต ต้องแบ่งปัน และต้องเปิด (update-share-open) 

  • ประการที่ 1 ต้องมีการอัพเดต หมายถึง การปรับและแก้ไขข้อมูลให้มีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอตามความเหมาะสมของความอ่อนไหวของข้อมูลประเภทนั้นๆ แม้ว่าเรามีข้อมูลเมืองชุดหนึ่งแล้วก็คิดว่าจบแล้วซึ่งไม่เป็นเช่นนั้น ดังที่กล่าวไปว่าเมืองมีความเป็นพลวัตและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ข้อมูลของเมืองก็เช่นกัน ดังนั้น ข้อมูลก้อนหนึ่งของเมืองที่ครบถ้วนสมบูรณ์อาจไม่เพียงพอ หากแต่ต้องมีการเก็บรวบรวมในลักษณะที่สามารถนำมาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาได้ ดังนั้น ต้องเก็บข้อมูลในรูปแบบที่เป็นอนุกรมเวลา (time series) คือ เก็บข้อมูลเป็นชุดตามช่วงเวลาที่กำหนด สามารถเปรียบเทียบกันได้ ดูย้อนหลังได้ คาดการณ์หรือมองไปในอนาคตได้
  • ประการที่ 2 ต้องมีการแบ่งปัน เมื่อมีข้อมูลแล้ว ระหว่างหน่วยงานต้องเกิดการแบ่งปันซึ่งกันและกัน คล้ายๆ กับวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน มีการไหลเข้าและไหลออก สิ่งที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานนั้นเป็นเรื่องยากในอดีต หรือแม้กระทั่ง การถ่ายโอนข้อมูล ความรู้ ภายในหน่วยงานเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ยาก ยิ่งเป็นระหว่างหน่วยงานยิ่งยากไปใหญ่ แต่ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดทำเว็บท่า (web portal) ในการแลกเปลี่ยนและส่งผ่านข้อมูลเกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย แต่เป็นไปในรูปแบบของการแชร์หรือแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานซึ่งกลุ่มคนทั่วไป ไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่ไม่อยู่หรือไม่เข้าร่วมข้อตกลงก็ไม่สามรถเข้าถึงข้อมูลได้
  • ประการที่ 3 ต้องมีการเปิดข้อมูลสู่สาธารณะ คือ การเปิดให้สาธารณะชนเข้ามาใช้งานได้ด้วย เปิดให้หน่วยงานอื่นๆ ที่จะต้องใช้งานหรือเชื่อมโยงข้อมูลสามารถที่จะเห็นและใช้งานต่อยอดได้ นั่นคือ การสร้าง open data , open platform ที่ระดมจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กร ปัจเจก เช่น การเปิดและแชร์ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากภาคพลเมือง ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึง อัพเดต เพิ่มเติม และแก้ไขข้อมูลได้

ปราการด่านสุดท้ายของวัฒนธรรมการอัพเดต การแชร์ และการเปิดข้อมูลสู่สาธารณะนั้น ก็คงเป็นเรื่องความกังวลหรือความกลัวว่าข้อมูลที่มีการดำเนินการจัดเก็บ หรือดำเนินงานมาจะมีความผิดพลาด ไม่ถูกต้อง และกลัวที่จะมีความผิดในการเปิดหรือการแชร์ข้อมูลเหล่านั้น ส่วนหนึ่งจะจบลงที่การอ้างถึงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลภาครัฐและข้อมูลส่วนบุคคล จึงกลายเป็นว่าไม่เกิดการอัพเดต การแชร์ หรือการเปิดสู่สาธารณะ

ข้อเสนอที่อาจเป็นไปได้คือ การสังคายนาข้อมูลเมืองผ่านการนิรโทษกรรมข้อมูลให้กับเมือง หมายถึง ต้องให้อภัยข้อมูลที่มีความผิดพลาดมาก่อน จากการจัดเก็บโดยบุคคล โดยกระดาษ ซึ่งอาจจะเป็นความผิดพลาดพื้นฐานที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำงานของมนุษย์ (human error) สิ่งที่สำคัญคือจะต้องเริ่มสังคายนา ณ ตอนนี้ เพราะถ้าไม่ดำเนินการตอนนี้อาจจะไม่ทันการณ์ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ความท้าทายในอนาคตของข้อมูลและการจัดการข้อมูลเป็นเรื่องของการก้าวข้ามหรือเปลี่ยนผ่านทั้งเทคโนโลยีและบุคคล

ประเด็นสุดท้าย กลไกในการใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนหรือการบริหารจัดการเมือง

จากเงื่อนไขและการคลี่คลายใน 2 ประเด็นข้างต้น ทำให้ชี้ชัดว่า เมืองนั้นเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยข้อมูล จากผลการคาดการณ์และรายงานการศึกษาหลายฉบับชี้ให้เห็นโดยประมาณการว่า มีข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่กว่า 80% ในเมือง จากข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นและอยู่รอบตัวพวกเรา เมืองจึงเป็นเป็นพื้นที่รวบรวมข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดทั้งข้อมูลกายภาพเชิงพื้นที่ ข้อมูลคนกลุ่มคน ประชากร พลเมือง และข้อมูลพฤติกรรม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและพื้นที่ แต่สิ่งที่ท้าทายคือเราจะเปลี่ยนข้อมูลที่มีอยู่มาสร้างเป็นสารสนเทศ (information) เป็นข้อมูลเชิงลึก (insight) ได้อย่างไร

หากเรามองเมืองเป็นองค์กรธุรกิจที่มีการขาดทุน มีกำไร การใช้ข้อมูลเมืองนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่ทำให้เมืองมีทิศทางการออกนโยบายในการตัดสินใจ ข้อจำกัดคือ มีไม่มีองค์กรเมืองที่มีความเชื่อในข้อมูล (dataism) และใช้ข้อมูลในการออกนโยบาย เพราะโดยส่วนใหญ่เมืองหรือการบริหารจัดการเมืองยังเชื่อในระบบการตัดสินใจหรือการสั่งการจากบนลงล่างแบบเดิม ที่เชื่อว่าผู้นำมีความรู้ความสามารถเพียงพอ ครบถ้วน ในการที่จะตัดสินใจและออกนโยบาย ไม่ได้เชื่อในวัฒนธรรมของการใช้ข้อมูลที่จะเอามาสร้างเป็นข้อมูลเชิงลึกในการออกแบบและควบคู่ไปกับการตัดสินใจ เพราะในปัจจุบันเราไม่ได้ต้องการการออกแบบหรือบริหารจัดการแบบสั่งการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องการการบริหารจัดการ การจัดสรร การวางกลไกเรื่องของ เครือข่ายของคน กลุ่มคน องค์กรที่อยู่ในเมือง ซึ่งมีส่วนสำคัญมากๆ ในการขับเคลื่อนเมืองบนฐานความรู้หรือการจัดการข้อมูลในเมือง

แม้กระนั้น ความเป็นผู้นำขององค์กรหรือท้องถิ่นก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะหากมีข้อมูล มีข้อมูลเชิงลึกสนับสนุนนโยบาย หากขาดการตัดสินใจหรือไม่เกิดการตัดสินใจ ในการกำหนดนโยบายหรือออกแบบกระบวนการให้เกิดขึ้น ท้ายที่สุดการเปลี่ยนแปลงคงไม่เกิดขึ้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีหรือไม่มีข้อมูลแค่นั้น หากแต่ยังต้องการองค์ประกอบในการขับเคลื่อนข้อมูลเมืองเพื่อให้เกิดการเปลียนแปลงนั้นคือ กลุ่มเครือข่ายทางสังคม การเมือง เอกชน และการตัดสินใจที่ถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา ทันสถานการณ์อีก สามส่วนนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเมืองไปสู่ฐานการเรียนรู้หรือการจัดการความรู้ของเมือง หรือแม้กระทั่งการฟื้นเมืองโดยการจัดการความรู้


Contributor