18/02/2022
Public Realm

ชื่อบ้านนามเมืองนั้นสำคัญไฉน บางกอก VS กรุงเทพมหานคร

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


คงเป็นที่สนใจอยู่ไม่น้อยสำหรับกระแสข่าวที่มี มติ.ครม เปลี่ยนชื่อเรียก “กรุงเทพมหานคร” ในภาษาอังกฤษ ตามที่สำนักงานสำนักงานราชบัณฑิตเสนอ จาก Krung Thep Maha Nakhon; Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) ซึ่งความจริงก็มีประกาศอย่างเป็นทางการของทางสำนักงานราชบัณฑิตว่าสามารถใช้ได้ทั้ง 2 ชื่อ คือ Krung Thep Maha Nakhon และ Bangkok แต่ก่อนที่สนับสนุน หรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทีมงาน The UrbanIs อยากชวนทุกท่านมาตั้งคำถามว่า แท้ที่จริงแล้ว ชื่อบ้านนามเมือง นี้ที่จริงแล้วมีที่มาที่ไป อย่างไร และความจริงแล้วมีความสำคัญอย่างไรบ้าง และหากเราสามารถตั้งชื่อเมืองที่เราอยู่ได้เอง เลยอยากจะชวนทุกท่านมาลองตั้งชื่อเมืองที่เราอยู่หน่อยว่าจะมีชื่ออะไรบ้าง

ชื่อบ้านนามเมืองหรือ “ภูมินาม” (Place Name/Geographic Name) ความจริงแล้วเป็นระบบวิธีคิดทางวัฒนธรรมของผู้คนแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความหมายสัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่อาศัย วัฒนธรรม ความเชื่อ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วรรณกรรม เรื่องเล่า นิทานปรัมปรา ที่สะท้อนถึงความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิศาสตร์จักรวาลของพื้นที่ ความจริงแล้วระบบวิธีคิดนี้ยังหมายรวมถึงการนินามตั้งชื่อสิ่งต่างๆ อาทิ ชื่อหมู่บ้าน ชื่อเมือง ชื่อวัดวาอาราม ชื่อภูเขา ชื่อป่า ชื่อแม่น้ำลำห้วย และชื่อสถานที่สำคัญต่างๆ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นระบบ “อัตลักษณ์” ของพื้นที่

BANGKOK

กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เดิมก็เป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ชาวต่างชาติเรียกกันว่า “บางกอก” มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนที่มาของชื่อ “บางกอกนั้น” มีอยู่ 3 ทิศทาง ไม่ว่าจะมาจากชื่อ บางเกาะ บางมะกอก หรือชื่อเรียกสถานที่ที่เคยเป็นบึงที่กลายมาเป็นแผ่นดิน

ส.พลายน้อย นักเขียนประวัติศาสตร์ ได้บันทึกไว้ว่า คำว่า “บางกอก” เป็นคำที่ประชาชนคนสามัญเรียกติดปากมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยนั้นเป็นเพียงตำบลที่มีหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่งเท่านั้น ตำบลบางกอก ที่กล่าวนี้ เป็นตำบลที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำเจ้าพระยาเดิม ก็ลำน้ำเจ้าพระยาเดิมนั้นไม่ตรงเหมือนเช่นทุกวันนี้ จึงสันนิษฐานว่าคำว่า บางกอก อาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า “บางเกาะ” หรือ “บางโคก” หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า “บางมะกอก” โดยคำว่า “บางมะกอก” มาจากวัดอรุณ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดดังกล่าว และต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่าบางกอก

หรืออีกที่มา ในหนังสือจดหมายรายวันของท่านบาทหลวงเดอ ชวาสี ซึ่งหลวงสันธานวิทยาสิทธิ์ เป็นผู้แปลและเรียบเรียง ได้ให้เหตุผลไว้ว่า บางกอกคือ จังหวัดธนบุรี บางแปลว่า “บึง” กอกแปลว่าน้ำ (กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลับเป็นดินหรือที่ลุ่มกลายเป็นดอน แต่ไม่ได้บอกว่ากอกนั้นเป็นภาษาอะไร ซึ่งหากพิจารณาตามความหมายนี้ จะสะท้อนถึงลักษณะพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำ ที่เป็น ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่เกิดจากการสะสมของดินตะกอนจนกลายเป็นผืนแผ่นดินบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง

นอกจากนี้หากตามย้อนดูในแผนที่ และเอกสารของชาวตะวันตก ปรากฏชื่อเขียนถึงพื้นที่บริเวณกรุงเทพในปัจจุบันนี้ต่างๆ กันไป เช่น Bancoc, Bancok, Banckok, Bankoc, Banckock, Bangok, Bancocq, Bancock

ภูมินาม

ส่วนคำว่า “บาง” ซึ่งคุ้นตาและปรากฏอยู่ในชื่อสถานที่ อยู่มากมายโดยเฉพาะในเขตที่ลุ่มติดเเม่น้ำ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้นิยามความหมายคำว่า “บาง” คือ ทางน้ำเล็กๆ ทางน้ำเล็กที่ไหลขึ้นลงตามระดับน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง หรือทะเล ตำบลบ้านที่อยู่ หรือเคยอยู่ริมบาง หรือในบริเวณที่เคยเป็นบางมาก่อน แต่มีการสันนิษฐานในทางอื่นว่า “บาง” อาจกลายเสียงมาจากคำว่า “บัง” ในภาษามอญ หมายถึง เรือ แล้วนำมาใช้ในความหมายว่า ย่านหรือสถานที่จอดและขึ้นลงเรือ รวมไปถึงชุมชนที่อยู่โดยรอบ เช่น บางโพ บางปลา บางกอก เป็นต้น

ดังนั้น “บาง” จึงหมายถึงสถานที่ หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่งที่น่าจะมีลำคลอง แม่น้ำ หรือทางน้ำพาดผ่าน หรือสิ้นสุดลง กลายเป็นย่านชุมชนที่มีผู้คนอยู่รวมกัน มีการแลกเปลี่ยน ทำมาหากิน ค้าขาย และในย่านนั้น มักจะมีท่าเรือให้คนในและนอก ใช้จอดเรือเพื่อร่วมสังสรรค์กันได้อย่างสะดวก

หากเราดูจากภูมินามของพื้นที่ที่เล็กกว่า กรุงเทพมหานคร ในระดับแขวง ซึ่งกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันมีทั้งหมด 50 เขต 181 แขวง สามารถเเยกชื่อแขวงออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

ภูมินามแขวง ที่เกี่ยวกับ เมืองฐานน้ำ/เมืองท่า/เมืองปากแม่น้ำ/ที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ซึ่งปรากฏชื่อที่เกี่ยวข้อง อาทิ บาง คลอง หนอง ทุ่ง ลำ ลาด ท่า ห้วย จำนวน 79 แขวง คิดเป็น 43% ซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏในฝั่งธนบุรีมากกว่าฝั่งพระนคร โดยจากทั้งหมดนี้สัดส่วนของแขวงที่ขึ้นต้นด้วย “บาง” เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด รวม 39 แขวง รองลงมา คือแขวงที่ขึ้นต้นด้วยคลอง รวม 21 แขวง

ภูมินามแขวง ที่เกี่ยวข้องกับเมืองฐานบก หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น วัด ตลาด วัง จำนวน 16 แขวง คิดเป็น 9% ส่วนที่ 3 คือภูมินามแขวงที่เป็นชื่ออื่นๆ อีก 86 แขวง หรือ 48%

ภูมินาม

หากมองเล็กลงไปจนถึง ภูมินามของชื่อหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนชุมชนรวมกว่า 2200 กว่าแห่ง ทั้งหมู่บ้านที่เป็นชุมชนดั้งเดิม ชุมชนจัดตั้งใหม่ และชุมชนบ้านจัดสรร พบรูปแบบของชื่อภูมินามในลักษณะเดียวกัน

ภูมินามที่เกี่ยวข้องกับเมืองฐานน้ำ ประมาณ 14% ประกอบด้วย เกาะ คลอง ปากคลอง ริมคลอง เลียบคลอง ท่า ทุ่ง บาง บึง รางลาด ลำ

ภูมินามที่เกี่ยวข้องกับเมืองฐานบก ประมาณ 23% ประกอบด้วย ข้างวัด ซอย ดารุส ตรอก ตลาด ทับ นคร นูรุ้ล มัสยิด ริมทาง โรง วัง วัด สวน สะพาน สุเหร่า หลังวัด

และภูมินามอื่นๆ ประมาณ 63% เช่น เจ้าพระยา พระยา เทพ ประชา เป็นต้น

KRUNG THEP MAHA NAKHON

ส่วนคำว่า กรุงเทพมหานคร หรือที่เราคุ้นหูกันดีคงมาจากเพลงกรุงเทพมหานคร ซึ่งระบบชื่อเต็มๆ ของเมืองหลวงแห่งนี้ว่า
“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”
“Krungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharayutthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonphimanawatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit”

ซึ่งแปลไทยเป็นไทย ได้ความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้”

ว่ากันว่า นามเดิมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานในตอนแรกนั้น ใช้ชื่อว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้นามพระนครเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า บวร เป็น อมร เปลี่ยนคำว่า มหินทอยุธยา โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น มหินทรายุธยา และเติมสร้อยนามต่อ ทั้งเปลี่ยนการสะกดคำ สินท์ เป็น สินทร์ จนเป็นที่มาของชื่อเต็มของกรุงรัตนโกสินทร์

ปัจจุบัน ชื่อเมืองหลวงของไทยในนาม “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ยาวกว่านี้มากๆ นั้นถือเป็นชื่อเมืองหลวงที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวภาษาอังกฤษถึง 169 ตัวอักษร และเป็นเมืองเดียวที่ชื่อเรียก ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ถูกเขียนในชื่อที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ กรุงเทพฯ เมืองหลวงของเราที่อายุกว่า 235 ปี ก็เพิ่งจะมีคำขวัญไม่นานมานี้เอง เนื่องในโอกาสที่กรุงเทพฯ ครบรอบ 230 ปี ในปี 2555 จากการจัดประกวดได้คำขวัญว่า “กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย” ซึ่งยิ่งตอกย้ำ และทำให้นิยามของ “บางกอก” ค่อยๆ เลือนหายไปแล้วถ้าพิจารณาจากคำขวัญนี้ เราจะเห็นเพียงสิ่งปลูกสร้างและบทบาทอำนาจของการเป็นเมืองหลวง/เมืองศูนย์กลางเท่านั้นที่นิยามความเป็นกรุงเทพฯ จากคำขวัญนี้ คำว่า “บางกอก”/ “Bangkok” จึงถูกใช้เป็นเพียงชื่อเรียกภาษาอังกฤษ ที่ดูคุ้นเคยของทั้งชาวไทยและชาวโลกเท่านั้น

หากเราตั้งชื่อเมืองที่เราอยู่ได้

ประเด็นการเปลี่ยนแปลงชื่อ เเม้ในความเป็นจริงจะเป็นเเค่ ; เป็น () เท่านั้น ซึ่งสามารถใช้ทั้ง Bangkok และ Krung Thep Maha Nakhon ได้ตามสะดวกเหมือนเดิม หากแต่เรื่องนี้กลายเป็นที่สนใจและถกเถียงกันมากทั้งในแวดวงสื่อสังคมออนไลน์ และการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการ

หากย้อนกลับมาดูการใช้งาน บางกอก และ กรุงเทพฯ นี้จะเห็นได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ เรามักเขียน “กรุงเทพมหานคร” ในภาษาไทย และ “Bangkok” ในภาษาอังกฤษ หากแต่ความสลักสำคัญของชื่อ “เมือง” (บ้าน) ที่เราอยู่อาศัย ใช้ชีวิตอยู่นี้ คงมิได้เป็นเพียงคำเรียกขานที่แตกต่างกัน หากแต่มันแฝงไว้ซึ่ง ระบบความคิดความเชื่อของผู้คนในพื้นที่ ในเมืองนั้นๆ ประหนึ่งที่หลายๆ เมืองก็มีชื่อเรียก เมืองตัวเอง ที่อาจไม่เป็นทางการแต่บ่งบอกถึง ถิ่นที่อยู่ หรือความเป็นกลุ่มก้อนของผู้คน เช่น เมืองย่าโม เมืองสองแคว เมืองรถม้า เมืองสามหมอก ล้านนา

ท้ายที่สุดนี้ ดังที่กล่าวไปว่า ชื่อเรียกเมือง ในอดีตนั้นมีความหมาย มีนัยยะถึงที่มาที่ไปของพื้นที่ ภูมิหลัง ความเชื่อ รวมถึงบ่งบอกถึงลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ตามหลักของ “ภูมินาม” ซึ่งความจริงเป็นการง่ายในการทำความเข้าใจพื้นที่ และมีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่ และภูมิวัฒนธรรม สะท้อนที่มาของภาษาและระบบความนึกคิด ดังที่เราจะเห็นความแตกต่างของการตั้งชื่อบ้านนามเมืองที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ชื่อเหล่านี้มีอิทธิพลมาจาก ลักษณะทางกายภาพและภูมิวัฒนธรรม เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็อยู่ที่ว่า ใครเป็นคนนิยามก่อน หรือชื่อไหนจะได้รับความนิยมมากกว่า หากแต่ความจริงแล้ว ชื่อบ้านนามเมืองนั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับผู้คนและพื้นที่นั้นๆ ผูกพันกับวิถีชีวิตความเชื่อ ระบบนึกคิด คติร่วมของผู้คน และก็คงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งปัจจุบันนี้ ชื่อเรียกอาจเป็นเพียงสิ่งที่บ่งบอก สถานที่ ทำเลที่ตั้งเท่านั้น

แท้จริงแล้ว ชื่อเมืองที่เราอยู่นั้น อาจจะไม่สลักสำคัญอะไร หากเราไม่มีสิ่งที่ยึดโยง หรือรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของเมือง และเมืองเองก็เป็นสิ่งประกอบสร้างของเรา รวมถึงผู้คนที่อยู่ในเมืองนั้น ซึ่งแท้จริงอาจจะต้องสะท้อนความคิดความเชื่อ สิ่งที่เราผูกพันกับพื้นที่ ผูกพันกับผู้คน ซึ่งหากมีโอกาสที่จะตั้งชื่อเมืองที่เราอยู่ได้ ท่านจะตั้งชื่อเมืองว่าอย่างไร ก็ลองคอมเม้นต์บอกกันได้ ทางทีมงาน The UrbanIs คงไม่มีคำตอบเป็นที่สิ้นสุดว่า ความสำคัญของชื่อนั้นสำคัญแค่ไหน อยู่ที่ว่าเรา ในฐานะพลเมืองที่อยู่ในเมืองนี้รู้สึกกับเมืองที่เราอยู่มากแค่ไหน และเมืองเองทั้งในฐานะโครงสร้างทางกายภาพ โครงสร้างทางสถาบัน ยึดโยงกับผู้คนที่อยู่อาศัยอยู่ในเมืองมากน้องเพียงไร

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
.

#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS

ที่มาข้อมูล

กรุงเทพธุรกิจ, เปิดที่มา “Bangkok” (บางกอก)กับ “Krung thep Maha Nakhon”(กรุงเทพมหานคร)

ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง. (2555) 100 ปี เขตบางกะปิ : ย้อนรอยตำนาน ร้อยอดีต 100 ปี เขตบางกะปิ. กรุงเทพฯ : สำนักงานเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

รังสรรค์ จันต๊ะ. (2555) ภูมินามพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับวรรณกรรมพื้นบ้านในเขตภาคเหนือตอนบน


Contributor