16/07/2020
Public Realm
Globalization of suffering โลกาภิวัตน์ของความทุกข์ทรมาน โรคระบาด และการปลดเปลื้องมายาคติแห่งความตาย
ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์
เรื่อง: ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์
เป็นเวลานับเดือนที่เรื่องราวและเรื่องเล่าว่าด้วยการตาย ความตาย และการจัดการร่างผู้วายชนม์จากโรคระบาด COVID-19 ทั่วโลก ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบข่าวโทรทัศน์ ข่าวหนังสือพิมพ์ และอีกมากมายในสื่อกระแสหลักแนวใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย เรายังได้ทำความรู้จักโฉมหน้าที่เราไม่ค่อยได้จินตนาการถึงเกี่ยวกับความตาย และการจัดการกับร่างผู้วายชนม์ผ่านภาพนิ่งหรือวีดิโอคลิป ที่มีพลังสื่อสารได้ชัดและแรงพอทำให้เราทุกคนปลดปล่อยพลังแห่งความเป็นมนุษย์ในตัวเอง ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของคนมากมายในโลกนี่ ผู้กำลังสะเทือนใจจากการได้รับรู้ถึงการตายอย่างโดดเดี่ยว และไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว
นอกจากการตายที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล หรือแม้แต่ในบ้านท่ามกลางผู้คนมากมาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังทำให้เราได้เห็นศพจำนวนมากถูกลำเลียงออกจากโรงพยาบาลไปพักในตู้เก็บศพเฉพาะกิจที่จอดเรียงรายบนถนนสาธารณะ ศพจำนวนมากถูกนำมาวางซ้อนๆ กันอย่างรีบร้อนและผิดที่ผิดทางอย่างไม่มีทางเลือก เพราะพื้นที่สำหรับความตาย – ห้องเก็บศพในโรงพยาบาล สุสาน วัด และที่เผาศพ มีไม่เพียงพอที่จะจัดการกับความตายได้อย่างทันท่วงที และในวิถีที่อ่อนโยนกว่าที่เป็น
คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า โรคระบาดอย่าง COVID-19 มีพลังในการเปลี่ยนโลก ตีแผ่สัจธรรมแห่งชีวิตและสรรพสิ่ง ตลอดจนความสัมพันธ์ที่ผุพังระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติออกมาอย่างคมชัด นักคิด นักวิชาการชั้นนำของโลกต่างออกมาชี้ชัดว่า COVID-19 ได้ทำลายโลกาภิวัตน์ในฐานะระเบียบโลกลงแล้ว โลกจะแคบลง ยากจนขึ้น ชีวิตจะดำรงอยู่อย่างยากลำบาก ทุกคนต้องปรับตัวเข้ากับวิถีใหม่ หรือ New normal (บ้างเรียกความปกติใหม่ ความปกติที่เคยไม่ปกติ และนววิถี เป็นต้น) ให้ได้เร็วที่สุด แม้จะมีทุนมนุษย์และทุนทางสังคมที่แตกต่างกันลิบลับก็ตาม
แน่นอนว่าสิ่งแวดล้อมและขนบใหม่เช่นนี้ย่อมต้องส่งผลโดยตรงต่อชีวิตเราทุกคน นับตั้งแต่การอยู่อาศัย การดำรงชีวิต การบริโภค การเดินทาง การทำงาน ดังที่เห็นกันอยู่ และที่หนีไม่พ้นเช่นกัน ก็คือการเจ็บป่วยและการตาย ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอประเด็นที่ชี้ให้เห็นอำนาจของโรคระบาด COVID-19 ที่เข้ามาปลดเปลื้องสิ่งที่เป็น cultural scripts, myth, และวาทกรรมเกี่ยวกับการตาย ความตาย รวมถึงการจัดการร่าง เพื่อนำไปสู่การเตรียมพร้อมรับมือกับการตายและความตายในอนาคต เมื่อสังคมและชีวิตเราทุกคนยังต้องดำรงอยู่ในโลกแห่งความเสี่ยงภัย ไม่นับประเด็นว่าการตายและความตายไม่เลือกชนชั้น ดังนี้
ความตายในโลกสมัยใหม่
การตายและความตายในช่วงวิกฤติ COVID-19 บอกเราว่า ชีวิตมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ถูกคุกคามด้วยการตายจากความเสี่ยง (risk-related death) (ความตายจากความเสี่ยงเป็นหนึ่งใน trajectory ของความตายในสังคมสมัยใหม่และบริบทเมือง) ที่เราไม่อาจคาดเดาได้อย่างแม่นยำนัก ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างพัฒนาระบบดักจับความเสี่ยงที่ล้ำเลิศ และเผยแพร่ข้อมูลสู่สังคมถึงความเสี่ยงที่เราทุกคนร่วมกันสร้างมาโดยตลอด ในสารคดี Pandemic ของ Netflix ซึ่งถ่ายทำและเผยแพร่ในปี 2019 ทำให้เราได้รับรู้ว่าไม่นานนักก่อนการปะทุของ COVID-19 ที่อู่ฮั่นในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ในอิตาลีได้ออกมาเผยข้อมูลการดักจับการกลายพันธุ์ของไวรัสในสัตว์และแสดงความกังวลว่าโรคระบาดอาจจะเกิดขึ้นในเร็ววัน ทว่าอิตาลีเองกลับตกอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 รุนแรงที่สุดประเทศหนึ่งจาก 213 ประเทศทั่วโลก การระบาดของ COVID-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าว่าประเด็นความเสี่ยง และการตกอยู่ในความเสี่ยง ยังไม่ถูกรับรู้อย่างจริงจังมากพอที่ทำให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อปกป้องตนเองและสังคมจากหายนะ
ด้วยเหตุที่ความตายจากความเสี่ยงเป็นผลเกิดจากกระบวนการพัฒนาไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่สลับซับซ้อน จนสร้างสภาวะที่โลกทั้งโลกกำลังเสี่ยงภัย และด้วยธรรมชาติของความเสี่ยงที่เกิดจากมนุษย์นั้นมักจะรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้ยาก ประกอบกับภาพสวยงามที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ความเสี่ยงจึงเบี่ยงออกจากการรับรู้ของผู้คนในสังคม ที่ปิดหูปิดตา มองข้ามและซุกซ่อนหายนะไว้ใต้พรมมาช้านาน การขาดความตระหนัก เพิกเฉยและขาดการวางแผนทบทวนนี้เองที่ทำให้ความตายที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องยากที่จะตั้งรับ
ความตายจากความเสี่ยงดังเช่นกรณีของ COVID-19 นั้นเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว (unprepared death) และหากไม่มีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพความสูญเสียและความตายจะเกิดในขอบเขตและปริมาณที่มหาศาล (mass death) เนื่องจากความเสี่ยงเป็นเรื่องของระบบโลกที่อ่อนแอจากการตกเป็นเหยื่อในหลุมพรางแห่งชัยชนะที่ตนเองมีเหนือธรรมชาติมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ทุกสังคมในโลกล้วนได้รับผลจากความเสี่ยงอย่างทั่วถึง และซ้อนทับอยู่บนภาพของความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในสังคม
COVID-19 และมิติใหม่ของโลกาภิวัตน์
COVID-19 ก่อให้เกิด globalization of suffering หรือ โลกาภิวัตน์ของความทุกข์ทรมาน (นิยามโดยผู้เขียน) สะท้อนให้เห็นได้จากข่าวของการเสียชีวิตรายวันในระดับโลก ไม่ว่าจะหันไปทางใดสังคมต้องรับรู้ พูดถึง และเก็บไปไตร่ตรองถึงความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความตายถูกผลักออกจากซอกหลืบของความเป็นเรื่องต้องห้าม เรื่องอัปมงคล ไม่พึงพูดถึงในที่รโหฐาน และออกมาอยู่ในการรับรู้ของสาธารณะ ผู้ซึ่งจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามจะเชื่อมโยงเรื่องราวระดับโลกที่พบเห็นได้ตามข่าวเหล่านี้กับความคิดเกี่ยวกับความตายของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
เรื่องราวและเรื่องเล่าว่าด้วยการตาย ความตาย และการจัดการร่างที่เกิดขึ้นทั่วโลกชี้ให้เห็นช่องว่างที่กว้างมากระหว่างความจริงและอุดมคติของการตาย ความตาย และการจัดการร่างทั้งในมิติที่เป็นอัตวิสัยและ collective (วัฒนธรรม/cultural scripts) อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ COVID-19 จึงทำให้ความหมายของความตายและ “การตายดี” ในปริมณฑลต่าง ๆ ต้องถูกทบทวนใหม่ในทุกที่ทุกเวลา เช่น
ประเด็นเวลาที่เหมาะสมของการตาย (timely VS untimely death)
ประเด็นความตายอย่างมีศักดิ์ศรี (death with dignity) ที่มักเกิดจากการมีทางเลือก และทางเลือกนั้นได้รับการเคารพและปฏิบัติตาม ซึ่งมักอยู่ขั้วตรงข้ามกับการตายและความตายที่เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แปลกแยกในโรงพยาบาล
ประเด็นสถานที่ตาย (death at home VS death in ICU or hospital) ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับนโยบายสาธารณสุขทั้งของไทยและทั่วโลกที่สนับสนุนและพยายามผลักดันให้การตายเกิดขึ้นที่บ้าน หรือที่ๆ ผู้ป่วยคุ้นเคยและเลือกที่จะให้เป็นสถานที่สุดท้าย แต่ COVID-19 ทำให้การตายในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นบนท้องถนน (เอกวาดอร์) ทำให้การตายจำเป็นต้องกระจุกตัวอยู่ในห้อง ICU ของโรงพยาบาล หรือแม้แต่การตายที่บ้านก็ห่างไกลจากความเป็นอุดมคติ เพราะบ้านไม่อาจทำให้เกิดความใกล้ชิดและการดูแลที่อบอุ่นในระยะสุดท้ายของชีวิตได้ เมื่อตัดความเป็นสังคมออกไป บ้านก็ไม่แตกต่างจากสถานที่อื่น และยังจะแย่กว่าด้วย เพราะเราจะมองเห็นการตายของผู้เป็นที่รัก/สมาชิกในครอบครัวเกิดขึ้นอย่างร้าวรานที่สุดโดยไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย แม้แต่การกุมมือในลมหายใจสุดท้าย ดังเช่นในอิตาลีที่ผู้สูงอายุจะอยู่ในลำดับท้าย ๆ ที่จะถูกเลือกเข้ามารับการรักษาเมื่อเทียบกับคนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุหรือแม้แต่ผู้ติดเชื้อจำนวนมากต้องเผชิญกับทุกขเวทนาก่อนเสียชีวิตโดยไม่ได้รับการรักษาใดๆ อยู่ที่บ้าน บางประเทศผู้เปราะบางทางสังคมเสียชีวิตบนท้องถนน สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว การตายจะเกิดขึ้นในโรงพยาบาลที่เผชิญกับความขัดสนในทุกๆ ด้าน
ประเด็นด้านอารมณ์ของการตาย เช่น การตายที่ผู้ป่วยต้องเผชิญกับทุกขเวทนา เช่น หายใจไม่ออก อย่างน่าโศกสลด การตายที่ผู้ป่วยต้องอยู่ในความโดดเดี่ยวและเผชิญหน้ากับความตายตามลำพัง ล้วนแล้วแต่บีบคั้นหัวใจของญาติมิตรและผู้ที่ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านั้นอย่างยากที่จะพรรณา เป็นภาพที่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับอารมณ์ของการตายดีที่ให้ความสำคัญกับความสงบ สะอาด
ประเด็นสถานที่ที่รองรับและจัดการศพ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า COVID-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ดังนั้น การจัดการร่างของผู้ตายจึงต้องมีมาตรการรองรับและเป็นไปด้วยความระมัดระวังสูงสุด และในอีกด้านหนึ่งการจัดการกับศพ COVID-19 จึงมีนัยยะของความกลัวและความเป็นอื่นพ่วงเข้ามาด้วย และในท้ายที่สุดเมื่อจำนวนผู้เสียชีวิตมีมากจนเกินระบบจะสามารถรองรับและจัดการได้ ก็จำเป็นต้องตอบสนองต่ออุปสงค์ด้วยวิธีการที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน เช่นใช้วิธีการพักศพ
เราได้รับทราบเรื่องราวของการทิ้งศพไว้ที่บ้านหลายวัน ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปรับมาจัดการทำลายศพ การมีห้องเก็บศพเฉพาะกิจเรียงรายในโรงพยาบาล แสดงให้เห็นว่าศักยภาพของระบบจัดการศพนั้น ได้ล่มสลายแล้วจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีต่อเนื่องจำนวนมาก การแปลงสถานที่สาธารณะ เช่น สนามกีฬามาเป็นที่เก็บศพ (สเปน) การนำศพจำนวนมากแช่ห้องเย็นซ้อนๆ กัน และอื่นๆ ตามมาด้วยการจัดการศพซึ่งเป็นวงจรสุดท้ายของการตายดีนั้นก็ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีการร่ำลา ไม่มีพิธีกรรมใดๆ ไม่มีแม้แต่ผู้ที่จะมาร่วมส่งสู่สุขคติหรือไว้อาลัยให้เป็นครั้งสุดท้าย ซ้ำร้ายสุสานและที่เผาศพก็แน่นขนัดไปด้วยศพที่รอดำเนินการ การจัดการกับร่างผู้วายชนม์จึงเป็นยิ่งกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นการฉีกธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยยึดถือกันมาช้านานของทุกความเชื่ออีกด้วย เช่น การเผาทันที (direct cremation) การฝังในหลุมรวมในสถานที่ห่างไกลโดยไม่อาจระบุอัตลักษณ์ของผู้ตายได้ หรือกรณีของประเทศไทย ที่วัดและชุมชนรอบ ๆ วัดปฏิเสธที่จะเผาศพ COVID-19 เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ความตายของผู้โชคร้ายนับแสน แต่การตาย ความตาย และการจัดการร่างในยุค COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างลึกซึงต่อการมีชีวิตอยู่ต่อไปของญาติของผู้วายชนม์ เช่น ความรู้สึกผิด ตราบาป ความเศร้าโศกเสียใจที่เกิดจากการจากไปอย่างเศร้าใจและไม่สามารถจัดการได้
ในท้ายที่สุด พลังในการเปลี่ยนโลกของ COVID-19 ได้เข้ามารื้อระเบียบวิถีอันเป็นปกติออก และวิถีใหม่ที่มนุษย์เราจะต้องเริ่มปรับตัวก็เปิดฉากด้วยภาพของความทุกข์โศกหวาดหวั่นในระดับโลก โลกาภิวัตน์ของความทุกข์ทรมาน (Globalization of suffering) นำมาสู่ความเจ็บป่วย ความตาย และการจัดการร่างในรูปแบบที่มนุษย์ไม่เคยคาดฝันและตระเตรียมการรับมือมาก่อน
ในสภาวะวิกฤติที่ต้องการการเร่งรีบแก้ไขเช่นนี้ COVID-19 ได้บีบให้เราต้องปลดเปลื้องมายาคติแห่งความตาย (demythification of Dying and Death) ออกไป และด้วยความพร้อมหรือไม่พร้อมอย่างไรก็ตามแต่ นิยาม ความเชื่อ ความคิด และคติที่มีต่อความตายก็ได้ถูกแทรกแซง (disrupt) ไปแล้วนั่นเอง