14/05/2021
Public Realm

บทเรียนฟื้นฟูเมืองลียง : ส่วนผสมของการวางแผนและการออกแบบที่ดี ภายใต้กลไกจัดการที่เหมาะสม

สิตานัน อนันตรังสี
 


หลายครั้งที่อาจารย์นิรมล (ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) มักหยิบยกกรณีศึกษา Lyon Part-Dieu หรือ โครงการพัฒนาย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจใจกลางเมืองลียง (Lyon) ประเทศฝรั่งเศส มาแลกเปลี่ยนในชั้นเรียน

อาจารย์นิรมลจะเน้นย้ำเสมอว่า Lyon Part-Dieu คือหนึ่งในโครงการฟื้นฟูเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับโครงการบรรยายสาธารณะ MUS x UddC International Lecture Series 2021 ที่ได้รับเกียรติจากสองผู้เชี่ยวชาญในโครงการ Lyon Part-Dieu อย่าง Mr. François Decoster ผู้ก่อตั้ง Founder of I’AUC Architectes Urbanistes ชาวฝรั่งเศส และ คุณพีรวิชญ์ ขันติสุข ที่ปรึกษา EUPOP ASEAN ณ ประเทศเบลเยี่ยม ร่วมบรรยายเมื่อวันก่อน

การบรรยาย “Lyon Part-Dieu, Contemporary Metropolitan Hub” โดย François Decoster ทำเราได้เห็นแนวคิด ความเป็นมา และการวางแผนโครงการในมุมกว้าง ผู้บรรยายเล่าว่า โครงการ Lyon Part-Dieu เริ่มขึ้นในปี 2009 ตั้งอยู่ที่ใจกลางของเมือง Lyon บริเวณรอบสถานีรถไฟหลัก และศูนย์กลางการคมนาคมของเมือง เปรียบเหมือนตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ที่ประกอบไปด้วยอาคารสำนักงานจำนวนมาก ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ และห้องสมุดที่สวยงาม

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านบทความ บทบาทของย่าน La Part-Dieu กับการพา Lyon สู่เมืองชั้นนำในยุโรป

เดิมพื้นที่แห่งนี้คือเขตทหารที่ได้รับการพัฒนาในช่วงปี 1970 ภายใต้ของนโยบายการกระจายอำนาจบริหารของฝรั่งเศส แม้ว่าในเชิงเศรษฐกิจจะประสบความสำเร็จ แต่เขตทหารแห่งนี้ก็ยังไม่มีกายภาพที่น่าดึงดูดมากพอ ทั้งเรื่องพื้นที่สาธารณะ สภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ และอาคารเก่าจำนวนมาก

โครงการ Lyon Part-Dieu ได้ชื่อว่าเป็น “one of the most ambitious urban regeneration projects” ในฝรั่งเศสและภูมิภาคยุโรป เนื่องจากได้ปรับโครงสร้างและสร้างความเป็นพลวัตให้กับเขตธุรกิจและพาณิชยกรรม ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และส่งเสริมการดึงดูดธุรกิจและการบริการใหม่ ๆ รวมถึงผู้มาอยู่อาศัยในเมือง

“Lyon Part-Dieu เปลี่ยนสิ่งเก่าสู่สิ่งใหม่โดยไม่ลบอะไรออกไปเลย เป็นการสร้างความรู้สึกใหม่จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว” François กล่าว

François ยังได้ระบุว่า Lyon Part-Dieu ถูกออกแบบมาให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน และการจัดสรรพื้นที่สาธารณะก็เป็นไปได้อย่างเหมาะสม ซึ่งต้องการให้พื้นที่ Lyon Part-Dieu เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ การทำงาน การอยู่อาศัย และมีความเชื่อมโยงกันของกีฬา วัฒนธรรม และความบันเทิงอย่างครบถ้วน

อีกเรื่องที่น่าสนใจ François ได้เล่าถึงการออกแบบ Open Station ให้เป็นส่วนสำคัญของโครงการ เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกระบวนการหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และให้ความสำคัญกับ Transit-Oriented Development (TOD) ให้มีการเชื่อมกับระบบคมนาคมขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ การเข้าถึงระบบขนส่งใน Lyon Part-Dieu ทำให้ผู้คนเดินเท้ามากขึ้น แต่เป็นการเดินในสภาพแวดล้อมที่น่าดึงดูดและเข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ ได้ง่าย

Mr. François Decoster ผู้ก่อตั้ง Founder of I’AUC Architectes Urbanistes

ส่วนการบรรยาย “Participatory Governance and Democratic Innovation: a case of La Métropole de lyon and its Lyon Part-Dieu Project” โดยคุณพีรวิชญ์ ขันติสุข ว่าด้วยการส่งเสริมบทบาทของพลเมืองในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูเมือง

“ทำไมความรู้ทางรัฐศาสตร์ถึงมีความสำคัญต่อการวางแผน และออกแบบเมือง” คำถามสำคัญเริ่มต้นการบรรยาย

คุณพีรวิชญ์ หยิบยกคำกล่าวที่ว่า “We shape our city, and our city shapes us.” ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในเมืองมีความสำคัญ เมืองไม่สามารถสร้างคนขึ้นมาได้หากคนเราไม่ได้ร่วมสร้างเมืองนั้นมาก่อน ตามด้วยไฮไลต์สำคัญของการบรรยาย นั่นคือ SPL Lyon Part-Dieu

SPL ในประเทศฝรั่งเศสนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่พบได้ทั่วไป อย่างในเมือง Lyon เองก็ยังมี SPL มากกว่าหนึ่ง เพื่อทำความเข้าใจอย่างง่ายนั้น SPL คือ องค์การที่จัดตั้งมาเพื่อวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาพื้นที่ในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยการรวมตัวกันขององค์การมหาชนกับองค์การในท้องถิ่นภายใต้กฎหมายการค้าของฝรั่งเศส ลักษณะการดำเนินงานคล้ายคลึงกับบริษัท โดยผู้ถือหุ้นต้องเป็นหน่วยงานรัฐ

กรณีของ SPL Lyon Part-Dieu คือ la Métropole de Lyon ถือ 90% และ la Ville de Lyon ถือ 10% และ SPL นี้จะดำเนินการโดยใช้งบประมาณสาธารณะ และแน่นอนว่าภารกิจหลักของ SPL Lyon Part-Dieu คือเพื่อพัฒนาฟื้นฟูเมือง นอกเหนือจากการออกแบบทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงนโยบายของ Lyon Part-Dieu ที่ดีแล้ว SPL นี่แหละคือกลไกสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในเมือง ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุมรวมถึงเด็ก คนสูงอายุ และผู้พิการ

ภาพจำลองพื้นที่ในย่าน Part-Dieu ที่มา www.lyon-partdieu.com

กลไกที่ SPL ทำงานเพื่อสร้างการร่วมมือในหมู่พลเมืองคือ Concertation ซึ่งคือการรวมตัวกันของกลุ่มคนในเมืองจากทุกฝ่าย ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เข้ามาปรึกษาหารือกันสำหรับการดำเนินโครงต่าง ๆ ในพื้นที่ ตัวอย่างที่คุณพีรวิชญ์ยกขึ้นมาคือ L’esplanade Mandela เมื่อครั้งก่อนการระบาดของโควิด-19 SPL มีแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Maison du Project เป็นเหมือนสำนักงานใหญ่ของ SPL ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ผู้คนเข้ามาร่วมทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเจ้าหน้าที่ประจำ Maison du Project ก็มีความเป็นมิตรกับผู้มาเยือนทุกคน ให้ข้อมูลต่าง ๆ อย่างครอบคลุม และโดยปกติจะมีการจัด Urban Walk เป็นกิจกรรมที่นำคนเข้ามาร่วมเดินไปที่ต่าง ๆ ในเมืองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วย

ทั้งนี้ หากสรุปกลไกของ SPL นั้นก็คือเครื่องมือที่เข้ามาช่วยจัดการกับความซับซ้อนของการฟื้นฟูเมืองที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นจำนวนมาก และอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการที่ยาวนาน

คุณพีรวิชญ์ ขันติสุข ที่ปรึกษา EUPOP ASEAN

เมื่อถอดบทเรียนสำคัญจากการบรรยายทั้งสองครั้งพบว่า โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการวางแผน การออกแบบที่ดี และกลไกการจัดการที่เหมาะสม ความสำเร็จของการฟื้นฟูเมืองจากบทเรียนของ Lyon Part-Dieu ล้วนมาจากการวางแผน และออกแบบเมืองที่ดี ที่ต้องอาศัยกลไกการดำเนินการในการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงสำหรับผู้คนในทุกภาคส่วน สำหรับฝรั่งเศสการมีส่วนร่วมในเมืองนั้นดูเหมือนว่าเป็นวัฒนธรรมที่ถูกฝั่งไว้ในพลเมืองแล้ว

คงดีมากวัฒนธรรมของการมีส่วนร่วมในทุกมิติของการพัฒนาเมืองจะเข้ามาอยู่ในทุกพื้นที่บนโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย

หมายเหตุ : บทความเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยาย MUS X UDDC INTERNATIONAL LECTURE SERIES 2021 : Urban Regeneration Strategy

ส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ Master of Science on Urban Strategies (MUS) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 4 มีนาคม – 4 พฤษภาคม 2564 ร่วมดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสื่อใหม่ Thai PBS และ The Urbanis


Contributor