11/06/2023
Public Realm

Kamo River, the Life and Culture of Kyoto: คาโมะ แม่น้ำแห่งชีวิตและวัฒนธรรมของเมืองเกียวโต

สิทธิกานต์ สัตย์ซื่อ
 


นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น หรือในชื่อเรียกเดิมว่า ‘เฮอันเกียว’ (Heian-kyo) อันหมายถึง ‘นครหลวงแห่งสันติและความสงบสุข’ เป็นอดีตเมืองหลวงและเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่ถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 749 ปัจจุบันมีอายุกว่า 1,273 ปี ตั้งอยู่ในจังหวัดเกียวโต ศูนย์กลางของเกาะฮนชู ประเทศญี่ปุ่น การออกแบบและการวางผังเมืองมีลักษณะผังแบบตาตาราง (Grid system) โดยมีถนนวิ่งตัดกันในแนวเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก ตัดกันเป็นมุมฉาก ที่ได้รับอิทธิพลของการวางผังเมืองจากเมืองฉางอาน ประเทศจีน (Chang’an, China) เช่นเดียวกับเมืองประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นอย่าง เมืองฟูจิวาระ (Fujiwara-kyo ในปี 694) และเมืองเฮโจ (Heijo-kyo ในปี 710) ในจังหวัดนารา สภาพภูมิศาสตร์ของเมืองตั้งอยู่แอ่งเกียวโต ที่มีภูเขาอยู่รายล้อม และแม่น้ำที่ขนาบข้างทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตกทั้งสองฝั่ง หนึ่งในนั้นคือ “แม่น้ำคาโมะ” แม่น้ำแห่งชีวิตและวัฒนธรรมของเมืองเกียวโต

แม่น้ำคาโมะ (Kamo River) หรือคาโมะคาวะ (Kamogawa – 鴨川) เป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงเมืองเกียวโตมาอย่างยาวนาน  ชื่อของแม่น้ำคาโมะมีที่มาจากอักษรคันจิสองตัว คือ คาโมะ (鴨) ที่แปลตรงตัวว่า ‘เป็ด’ และคาวะ (川) หมายถึง ‘แม่น้ำ’  สื่อถึงชีวิตและสภาพแวดล้อมของสายน้ำในอดีต  แม่น้ำคาโมะมีความยาวกว่า 31 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดมาจากภูเขาซาจิกิกาทาเกะ (Mount Sajikigatake) บริเวณหมู่บ้านคุโมกาฮาตะ  (Kumogahata Village) และหมู่บ้านเคโฮคุ (Keihoku Village) ทางตอนเหนือของเมืองเกียวโต ไหลลงสู่บริเวณแอ่งเกียวโต (Kyoto Basin) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มาบรรจบกับแม่น้ำทาคาโนะ (Takano River) แม่น้ำอีกสายหนึ่งทางด้านทิศตะวันออก ก่อนจะไหลลงสู่ทิศใต้ขนาบข้างไปกับผังเมืองแบบตาตาราง ในฐานะเส้นทางขนส่งทางน้ำและองค์ประกอบทางธรรมชาติที่สำคัญของเมือง

บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำทั้งสองสายแห่งนี้เป็นบริเวณที่ตั้งของศาลเจ้าสำคัญอย่างศาลเจ้าคามิคาโมะ (Kamigamo Shrine) และศาลเจ้าชิโมะคาโมะ (Shimogamo Shrine) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและพิธีกรรมสำคัญของเมืองเกียวโต ที่ได้รับการจารึกชื่อเป็นแหล่งมรดกโลก “อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เกียวโตโบราณ” (Historic Monuments of Ancient Kyoto) ในปี 1994

ที่มาภาพ Shimogamo-Jinja in Kyoto: The Complete Guide

ความสำคัญของศาลเจ้าคาโมะทั้งสองแห่งอย่างศาลเจ้าคามิคาโมะ (Kamigamo Jinga – 上賀茂神社) หรือในชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ศาลเจ้าคาโมะ วาเคอิคาซูฉิ’ (Kamo Wakeikazuchi Jinja) เป็นศาลเจ้าเบื้องบนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,300 ปี ปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ถูกสร้างขึ้นราว ค.ศ. 677  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองใกล้กับภูเขาโคยามะ (Mt. Koyama) ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเทพคาโมะ วาเคอิคาซูฉิ (Kamo Wakeikazuchi no Okami) เคยลงมายังโลกมนุษย์ ถือเป็นเทพที่มีพลังในการควบคุมธรรมชาติ และการควบคุมฟ้าแลบ-ฟ้าผ่า เชื่อกันว่าให้ความคุ้มครองจากความโชคร้าย ฟ้าผ่า ภัยธรรมชาติ เหตุร้ายจากสิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ภายหลังจากการสถาปนาเมืองเกียวโต ศาลเจ้าแห่งนี้ได้รับการอุปถัมภ์จากจักรพรรดิหลายพระองค์ เพื่อป้องกันอิทธิพลชั่วร้าย คอยปกปักษ์รักษานครหลวงแห่งนี้เรื่อยมานับตั้งแต่ในอดีต

ที่มาภาพ Kyoto’s World Heritage: Kamigamo and Shimogamo Shrines

ส่วน ศาลเจ้าชิโมะคาโมะ (Shimogamo Jinja – 下鴨神社 ) หรือในชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ศาลเจ้าคาโมะมิโอยะ’ (Kamo Mioya Shrine) เป็นศาลเจ้าเบื้องล่างที่มีความเชื่อมโยงกับศาลเจ้าคามิคาโมะ และเป็นศาลเจ้าชินโตที่เก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น บริเวณศาลเจ้าเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาอย่างยาวนานกว่า 2,000 ปี ในยุคสมัยยาโยอิของญี่ปุ่น (4 ปีก่อนคริสตกาล) ปรากฎการสร้างศาลเจ้าขึ้นใน ค.ศ. 678 พื้นที่ส่วนหนึ่งถูกผนวกรวมเข้ากับป่าศักดิ์สิทธิ์ทาดาสุ (Tadasu no Mori – 糺の森) ตามตำนานของศาสนาชินโตกล่าวถึงเทพเจ้าคาโมะทะเกะสึโนะมิ โนะ มิโกะโตะ (Kamo Taketsunomi no Mikoto) ได้ลงมายังโลกมนุษย์ ณ ภูเขามิคาเงะ (Mt. Mikage) ทางตะวันออกของเมืองเกียวโต และอวตารเป็นยาตะการะสึ (Yatagarasu) อีกาสามขา สัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ ได้ชี้นำจักรพรรดิจิมมุ ปฐมจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นให้ก่อตั้งประเทศญี่ปุ่น และเทพธิดาทามะโยะริฮิเมะ โนะ มิโกะโตะ (Tamayorihime no Mikoto) ผู้ให้กำเนิดเทพคาโมะ วาเคอิคาซูฉิ ของศาลเจ้าคามิคาโมะ เชื่อกันว่าศาลเจ้าแห่งนี้ ให้พรเรื่องความงาม การแต่งงาน และการสร้างครอบครัว รวมถึงความคุ้มครองจากสิ่งชั่วร้ายจึงได้รับการอุปถัมภ์จากจักรพรรดิในฐานะศาลเจ้าสำคัญเช่นเดียวกับศาลเจ้าคามิคาโมะ

ถัดจากพื้นที่ตั้งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองแห่ง ถือเป็นพื้นที่ชีวิตของเมืองจากบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำทั้งสองสาย เป็นย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองที่เรียงรายไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร และร้านกินดื่ม บริเวณตรอกพอนโตะโช (Pontocho) ย่านโรงน้ำชา-เกอิชาของเมือง ที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนในยามค่ำคืน รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดของโรงละครคาบูกิ (Kabuki) ด้วยเช่นกัน

ในอดีต แม่น้ำคาโมะมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในหลายประโยชน์ ทั้งที่ถูกใช้ป็นทางขนส่งสินค้าระหว่างเมืองของพ่อค้า เนื่องจากติดกับบริเวณตลาดนิชิกิ (Nishiki Market) ซึ่งถูกยกเลิกไปจากการสร้างคลองทาคาเสะ (Takase River) ที่ขนาบข้างแม่น้ำคาโมะในช่วงศตวรรษที่ 17 เพื่อส่งสินค้าแทนแม่น้ำที่ไม่เสถียรและเชี่ยวกราดของกระแสน้ำ และเป็นแหล่งน้ำที่นิยมที่ใช้ล้างสีผ้ากิโมโนที่ผ่านการวาดเขียนด้วยเทคนิคเกียวยูเซน (Kyo Yuzen) อันมีชื่อเสียงของเกียวโต เนื่องจากความบริสุทธิ์ของน้ำที่ต้องใช้ในปริมาณมากในกระบวนการผลิต ซึ่งในปัจจุบันได้ยกเลิกไปเนื่องจากเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม หรือในช่วงฤดูร้อนร้านค้าบริเวณริมแม่น้ำคาโมะจะมีการต่อเติม ‘โนเรียว ยูกะ’ (Nouryo Yuka) เฉลียงหรือระเบียงสำหรับนั่งรับประทานอาหารดื่มชาจากบริเวณอาคารภายนอกร้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เพื่อสัมผัสลมเย็นเหนือสายน้ำที่พัดผ่านเมือง พร้อมกับชมทิวทัศน์ของแม่น้ำ ปัจจุบันหากไปท่องเที่ยวในเกียวโตช่วงฤดูร้อน ร้านค้าริมน้ำเหล่านี้ก็ยังมีการต่อเติมเฉลียงชั่วคราว เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตที่เคยดำเนินมาของเมืองเฉกเช่นในอดีต

แม่น้ำคาโมะถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและสีน้ำเงิน (Green and Blue Infrastructure) ที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้กับเมือง ในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นเสมือนพื้นที่สาธารณะที่สะท้อนสัญญาณชีพของเมืองจากกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อใช้เป็นพื้นที่สันทนาการ เดินเล่น ออกกำลังกาย พบปะสังสรรค์ หรือพักผ่อนหย่อนใจในยามเย็น หากมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยือนเมืองเกียวโต เดินเลียบริมแม่น้ำคาโมะในยามเย็นจะพบบรรยากาศโรแมนติกของคู่รักนั่งคู่เคียงกันริมแม่น้ำในขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของเมือง ก็อาจเต็มไปด้วยดอกซากุระกำลังบานสะพรั่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เทคนิคการหยิบยืมธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ช่วงสร้างอัตถะประโยชน์มากมายให้กับเกียวโตในช่วงฤดูกาลต่าง ๆ หากสังเกตรายละเอียดของแม่น้ำเพิ่มเติมจะพบการออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ที่น่าสนใจ เช่น การออกแบบเพื่อรับมือกับภัยพิบัติซึ่งจะกล่าวถึงในบทความต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

Historic Monuments of Ancient Kyoto (Kyoto, Uji and Otsu Cities) – UNESCO World Heritage Centre

Kamo Wakeikazuchi Jinja Shrine (Kamigamo Jinja)

Kamigamo Jinja | Discover Kyoto

English | 下鴨神社 (shimogamo-jinja.or.jp)


Contributor