11/06/2023
Public Realm
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” เมืองแบบไหนจะช่วยตอบคำถามนี้
วราภรณ์ ประดิษฐ์
“ไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร หรืออยากทำอะไร จะทำอย่างไร? ในวันที่โลกกำลังเดินไปข้างหน้า”
หากใครที่ยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเราอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร หรือชอบอะไรกันแน่ สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมันอาจไม่ได้อยู่ที่คุณก็ได้ ถ้าลองนึกย้อนกลับไปยังความทรงจำของคุณในวัยเด็ก คุณอาจจะร้อง อ๋อ! เราเคยอยากเป็นหมอ เคยอยากเป็นนักดับเพลิง หรือเคยอยากเป็นนักบินอวกาศนี่นา แต่คุณคิดไหมว่าในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว มีเพียงกี่คน? ที่จะเคยได้เข้าไปลองสัมผัสกับอาชีพต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างแท้จริงในวัยเด็ก ดังนั้นการที่เราตอบคำถามเหล่านั้นไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลย ในเมื่อเมืองของเราอาจไม่มีพื้นที่เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปสำรวจตัวเองและเส้นทางของอาชีพต่าง ๆ มากเพียงพอ
เคว้งคว้างเพราะอยู่กับคำถามที่ตอบไม่ได้ว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร?’
จากการศึกษาของ The Australian (2017, as cited in Hedayati, 2017) มีการชี้ให้เห็นว่าเด็กอายุเพียง 8 ปี จะเริ่มมีความใฝ่ฝันถึงเรื่องอาชีพของตนเองในอนาคต แต่กลับกันจากการศึกษาของ Technological Horizons in Education กลับพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ที่เรียนจบออกมา กลับไม่มีความคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตของตนเองเลย หรือแม้กระทั่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยก็ด้วยเช่นกัน ที่มักจะเผชิญหน้ากับช่องว่างทางด้านทักษะและอาชีพ จนทำให้ต้องเกิดการดิ้นรนหางานที่ความหมายกับตนเองเพิ่ม (Schaffhauser, 2019) ถ้าอย่างนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่เราจะหาทางออกจากวังวนปัญหาเหล่านี้ได้นั้น เมืองต้องเปิดโอกาสให้เราได้เกิดการเรียนรู้และเมืองจะต้องมีพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่เราทุกคน
จากบทความ สภาพแวดล้อมเมืองนอกระบบการศึกษา ทุกคนคงได้รู้จักพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ที่เป็นพื้นที่ศักยภาพต่อการพัฒนาและการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ทุกคนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ร้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ โบราณสถาน พื้นที่นันทนาการ ตลอดจนอุทยาน ทั้งอุทยานทางธรรมชาติ และอุทยานประวัติศาสตร์ รวมกว่า 14,000 แห่งในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็ยังเล่าอีกว่า การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเมืองไทย ยังมีการกระจายตัวในแต่ละเมืองไม่มากนัก ทำให้ในหลาย ๆ จังหวัดยังขาดพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ในระยะเฉลี่ย 16 กิโลเมตร หรือนี่อาจเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมเราถึงยังให้คำตอบกับคำถามดังกล่าวไม่ได้
วันนี้ The Urbanis จึงจะพาทุกคนไปดูว่า พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เราได้เกิดการเรียนรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียนหรือเอื้อต่อการเรียนรู้ของพลเมือง ที่มาในรูปแบบของอาชีพและการค้นหาตนเองของต่างประเทศว่า พื้นที่แห่งการเรียนรู้นั้นเป็นอย่างไร และทำไมพื้นที่แห่งการเรียนรู้นั้นถึงมีความสำคัญ
พิพิธภัณฑ์การขนส่งสวิส (Swiss Museum of Transport)
ที่มาภาพ https://www.sbb.ch/en/leisure-holidays/ideas/offer.html/tagesausflug/swiss-museum-of-transport-lucerne
พิพิธภัณฑ์การขนส่งสวิส เมืองลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คือพิพิธภัณฑ์ที่ได้มีการนำเสนอมุมมองแบบอินเทอร์แอคทีฟที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขนส่งและยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางในสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำ ทางอากาศและอวกาศ โดยมีการนำเสนอผ่านจอแสดงผลกว่า 3,000 ชิ้น บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร
นอกเหนือจากการจัดแสดงโมเดลและสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและยานพาหนะแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์การขนส่งสวิส ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวและนิทรรศการต่าง ๆ อีกมากมายที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความอันตรายบนท้องถนน การชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ ท้องฟ้าจำลองเกี่ยวกับจักรวาลภายในโดมขนาดใหญ่ ที่ซึ่งจะพาทุกคนได้ไปสำรวจการเดินทางไปยังอวกาศและดาวต่าง ๆ พร้อมกับการบรรยายความมหัศจรรย์ของดาราศาสตร์ อีกทั้งยังมีการผจญภัยช็อกโกแลตสวิส ที่จะเล่าให้ทุกคนฟังถึงที่มา กระบวนการผลิต และการขนส่งของช็อกโกแลต
แต่สิ่งที่พลาดไปไม่ได้เลยของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ พื้นที่แห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพก่อสร้าง อาชีพซ่อมถนน ที่พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ได้เปิดโอกาสให้เด็กและผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้เรียนรู้และทดลองสร้างถนน ได้ลองทดสอบพื้นถนนด้วยตนเอง อีกทั้งภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์จำลอง ที่เราสามารถเข้าไปดูและฝึกการขับเครื่องบินจำลองได้ ดังนั้น พิพิธภัณฑ์การขนส่งสวิส จึงไม่ใช่เพียงแค่พิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้และจัดแสดงการขนส่งและยานพาหนะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าไปรับชมพิพิธภัณฑ์ ได้มีโอกาสทดลองปฏิบัติอาชีพต่าง ๆ ด้วยตนเอง ทั้งอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและยานพาหนะต่าง ๆ อาชีพโลจิสติกส์ อาชีพวิศวกรโยธา รวมไปถึงอาชีพนักบินด้วยเช่นกัน
พิพิธภัณฑ์เด็กเดนเวอร์ (Children’s Museum of Denver)
ที่มาภาพ Children’s Museum of Denver at Marsico Campus
พิพิธภัณฑ์เด็กเดนเวอร์ เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา คือพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดงกิจกรรมต่าง ๆ มากมายสำหรับเด็กด้วยการลงมือปฏิบัติจริง โดยภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้มีการแบ่งการจัดแสดงกิจกรรมออกเป็น 4 กิจกรรมหลัก เริ่มจากการจัดแสดงกิจกรรมการค้นหาความจริงที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือ H2O ฟองสบู่ พลังงาน จลนพลศาสตร์หรือสนามเด็กเล่นฟิสิกส์ขนาดยักษ์ ที่เราสามารถทดสอบทฤษฎีเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ แรง และแรงโน้มถ่วงได้ ถัดมาการจัดแสดงกิจกรรมสำหรับจินตนาการ ที่ซึ่งมีทั้งสถานีดับเพลิง สัตวแพทย์ โอเอซิส ตลาด และมุมหนังสือสำหรับเด็ก
การจัดแสดงกิจกรรมผจญภัยและการสำรวจ โดยภายในพิพิธภัณฑ์จะมีจอยพาร์คหรือพื้นที่กลางแจ้งที่สามารถขุดทราย เคลื่อนย้ายทราย สร้างประติมากรรมทราย และเก็บแอปเปิ้ลในสวนได้ ซึ่งภายในกิจกรรมนี้ ก็ยังมีการค้นพบหุบเขาลึก เนินทราย และกิจกรรมกลางแจ้งที่น่าประหลาดใจในโคโลราโด รวมไปถึงกล่องแคนยอนด้วยเช่นกัน ที่จะทดสอบความสมดุลและความว่องไวในการเดินทางบนภูเขา ระดับความสูงที่จะค้นพบความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโคโลราโดในขณะที่ปีนภูเขาสูง โดยในส่วนของกิจกรรมสุดท้าย การจัดแสดงกิจกรรมสร้างสรรค์หรือการประดิษฐ์ จะมีสตูดิโอศิลปะที่เราสามารถสร้างสไตล์ศิลปะของตนเองได้ มีห้องครัวสำหรับสอนทำครัวในเรื่องต่าง ๆ ทั้งโภชนาการ เทคนิคการทำอาหาร การทำสวน และอาหารจากทั่วโลก ตลอดจนการมีโรงงานประกอบเครื่องที่มีทั้งแคลมป์ เลื่อย และค้อน สำหรับการสร้างผลงานที่ไม่เหมือนใครโดยการใช้เครื่องมือจริงด้วยเช่นกัน
พิพิธภัณฑ์เด็กเดนเวอร์ จึงเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับเด็กที่สนับสนุนให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ในแบบของตนเองจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพและจินตนาการให้แก่เด็กได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนักประดิษฐ์ นักผจญภัยและนักสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ นักดับเพลิง หรืออาชีพต่าง ๆ มากมายด้วยเช่นกัน พิพิธภัณฑ์จึงเน้นการสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงให้แก่เด็ก
คิดส์ซาเนีย (KidZania)
ที่มาภาพ https://www.timeoutmexico.mx/ciudad-de-mexico/ninyos/kidzania-cuicuilco
คิดส์ซาเนีย เม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก คือศูนย์การเรียนรู้หรือเมืองแบบอินเทอร์แอกทีฟที่สร้างขึ้นสำหรับเด็กอายุ 1-14 ปี โดยการจำลองเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่รวมเอาแรงบันดาลใจ ความสนุกสนาน และการเรียนรู้ผ่านการเล่นสวมบทบาทที่สมจริง ที่ทำให้เด็ก ๆ สามารถสำรวจเมืองในร่มขนาดใหญ่กว่า 7,000 ตารางเมตรได้อย่างอิสระ พร้อมอาชีพที่น่าตื่นเต้นกว่า 100 อาชีพที่สามารถลองสวมบทบาทได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักดับเพลิง คนงานก่อสร้าง นักออกแบบแฟชั่น และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยภายในเมืองจำลองของคิดส์ซาเนีย จะมีขนาดเท่าเด็ก และได้สถานประกอบการต่าง ๆ ตามธีมของภาคอุตสาหกรรมมากมาย เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านเสริมสวย สถานีวิทยุ โรงละคร เป็นต้น
นอกจากการสวมบทบาทที่สมจริง ภายในเมืองจำลองยังได้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดในการจัดการเงินด้วย ที่ภายในเมืองคิดส์ซาเนียแต่ละแห่ง จะดำเนินการด้วยสกุลเงินที่มีชื่อว่า “คิดส์โซ” ซึ่งช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการการเงิน จากการหารายได้ผ่านการจ้างงาน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเรียนรู้ในเรื่องของความรู้ทางการเงิน และเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจวงจรเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่คิดส์ซาเนียออกแบบมา จึงเน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ที่มุ่งมั่นที่จะส่งเสริม พัฒนา และเสริมสร้างความเชี่ยวชาญ ทักษะ และค่านิยมของเด็ก ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่เด็ก “เรียนรู้จากการทำ” อีกทั้งยังเป็นการเสริมพลัง และสร้างความมั่นใจในการเป็นตัวของตัวเองที่ดีที่สุดให้กับเด็ก รวมไปถึงยังสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นพลเมืองโลกด้วย เพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับโลกที่ดีกว่า โดยในปัจจุบันคิดส์ซาเนียมีสาขาอยู่กว่า 17 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าในกรุงเทพมหานคร ก็เคยมีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่มีชื่อว่า “คิดส์ซาเนีย” ด้วยเช่นกัน แต่ก็อาจไม่ได้รับความนิยมมากเพียงพอ จนทำให้ไม่สามารถแบกรับความเสียสมดุลทางการเงินได้ จึงทำให้คิดส์ซาเนียสาขาเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย
ทางออกของเขาวงกตแห่งคำถามที่ยังเฝ้าการค้นหาคำตอบ
จากตัวอย่างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทั้ง 3 แห่ง จะเห็นได้ว่า การที่เมืองได้ให้ความสนใจและให้การสนับสนุนในเรื่องของอาชีพให้กับเด็กและพลเมือง จากการมีพื้นที่แห่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนภายในเมือง ที่เด็กสามารถเลือกได้ว่า 1 วันอยากประกอบอาชีพอะไร หรือรับรู้ได้ว่าอาชีพแต่ละอาชีพเป็นอย่างไร ก็อาจช่วยส่งเสริมให้เด็กและพลเมืองสามารถเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับพวกเขาได้ง่ายมากยิ่งขึ้น จากการที่เด็กได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ ณ พื้นที่แห่งการเรียนรู้นั้น ๆ ที่ได้มีการลงมือปฏิบัติจริง ได้ทดลองทำอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้เด็กรู้จักตัวเอง รู้จักสิ่งที่ตัวเองชอบ และไม่ชอบ รวมไปถึงจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และได้พบกับประสบการณ์จริงโดยตรงด้วยตนเองได้มากยิ่งขึ้น
การมีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ จึงไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้เราสามารถค้นหาตนเองเจอได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยสนับสนุนให้พลเมืองเกิดการเรียนรู้ หรือการพัฒนาอุปนิสัยการเรียนรู้ และความตระหนักรู้ในเรื่องของอาชีพของตนเองในอนาคตได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากพื้นที่แห่งการเรียนรู้จะสามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่ยังค้นหาตัวตนของตนเองไม่พบได้ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็ตาม จนเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ ความอยากรู้อยากเห็น และจินตนาการได้ ซึ่งอาจทำให้พลเมืองมีนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในการเสริมสร้างศักยภาพของพลเมืองได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การที่เมืองมีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ภายในเมือง จึงอาจเป็นหนึ่งในทางออกที่จะทำให้พลเมืองสามารถตอบคำถามได้อย่างมั่นใจว่า “โตขึ้นแล้ว…เราอยากเป็นอะไร”
จาก ‘พื้นที่เปิดโอกาส’ สู่การกลายเป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’
จากบทความ เมืองแห่งการเรียนรู้คืออะไร เมื่อการเรียนรู้ > การศึกษา ได้มีการรวบรวมนิยามของคำว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ไว้ โดยสามารถสรุปได้อย่างกระชับว่า เมืองแห่งการเรียนรู้ คือเมืองที่จะต้องสามารถส่งเสริมศักยภาพในการเรียนรู้ของประชาชนได้ เนื่องจากเมืองไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ที่ผู้คนอาศัยหรือทำงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและการศึกษา เมืองแห่งการเรียนรู้จึงจะต้องมีพื้นที่หรือช่องทางในการเรียนรู้ที่หลากหลายที่จะสามารถตอบสนองความต้องการและแรงบันดาลใจของประชาชนได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ คุณณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ของ Spaceth.co ยังเคยมีการกล่าวถึงเรื่องของเมืองกับพลเมืองที่สะท้อนต่อกันในรายการ EP4. กรุงเทพฯ เมืองไร้อนาคต? ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ถึงผู้ว่าฯ กทม. ว่า “ต้องการให้คนมีการศึกษาที่ดี ซึ่งการที่การศึกษาที่ดีจะเกิดขึ้นได้นั้น สิ่งที่จะสามารถสะท้อนออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ การมีห้องสมุด พื้นที่สำหรับการเรียนรู้สำหรับประชาชน หรือพื้นที่สาธารณะที่สามารถใช้งานได้จริง”
จากข้อความดังกล่าว พลเมืองจึงอาจเปรียบเสมือนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาจากเมือง เฉกเช่นเดียวกับข้อความดังกล่าว ที่หากเราต้องการให้พลเมืองของเรามีนิสัยใฝ่เรียนรู้ หรืออยากตอบคำถามของพลเมืองในเรื่องใด เมืองของเราก็ต้องมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ให้แก่พลเมืองด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเมืองของเรามีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ภายในเมืองที่เปิดโอกาสให้พลเมืองได้เข้าไปเรียนรู้มากเพียงพอ ดังเช่นจากตัวอย่างการมีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ภายในเมืองทั้ง 3 แห่ง ที่นอกจากจะสามารถช่วยตอบคำถามของพลเมืองได้แล้ว พื้นที่แห่งการเรียนรู้เหล่านั้น ก็ยังอาจจะนำพาเมืองของเราให้ไปสู่ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ และ ‘เมืองน่าอยู่’ ได้ในอนาคต
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ที่มาข้อมูล
How Can I Help my Children to Shape Their Future Careers?
Report: Career Planning Needs to Start in Middle School
สภาพแวดล้อมเมืองนอกระบบการศึกษา
เมืองแห่งการเรียนรู้คืออะไร เมื่อการเรียนรู้ > การศึกษา
กรุงเทพฯ เมืองไร้อนาคต? ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ถึงผู้ว่าฯ กทม. I BKK Election I NOW x UddC