10/06/2023
Public Realm
แผงลอยปารีส LES MARCHES DE PARIS และตลาดแผงลอยในชนบท
ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
ปารีสก็เหมือนกับเมืองอื่นๆ ที่มีตลาดเป็นหัวใจของเมือง ตลาดแผงลอยเป็นหนึ่งในตลาดที่เทศบาลปารีสให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจัง
เมืองปารีสมีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 150 เท่า แบ่งเป็น 20 เขต ปัจจุบันนี้มีแผงลอยกว่า 72 แห่ง เขตละ 3-4 แห่ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ โดยปกติแล้วแผงลอยในปารีสจะเปิดเป็นตลาดเช้า เวลาเจ็ดโมงจนถึงช่วงบ่ายโมงที่ตลาดเริ่มวาย แต่ด้วยการเติบโตของตลาดที่มากขึ้น เทศบาลปารีสจึงได้ริเริ่มตลาดบ่ายขึ้นในหลายย่าน เพื่อเป็น “เครื่องยนต์เสริม” ในการเพิ่มพลวัติให้กับเมือง
แผงลอยที่ไม่ล่องลอยอีกต่อไป
กลับมาปารีสครั้งนี้ สิ่งที่สังเกตเห็นคือ ในบางย่านและบนทางเท้าของถนนบางเส้น จะมีโครงสร้างร้านติดตั้งไว้ เป็นโครงสร้างเสาเล็กโปร่งเบา หลังคาผ้าใบสีแดงสีขาวม้วนเก็บได้ นี่คือโครงสร้างของตลาดแผงลอยที่ติดตั้งถาวรไว้เลย จากที่แต่ก่อนรื้อเก็บหลังตลาดเลิก
ที่เปลี่ยนมาทำแบบนี้ อาจจะเป็นไปได้ว่า เป็นบริเวณที่ทางเท้ามีความกว้างพอที่โครงสร้างเหล่านี้จะไม่เกะกะคนเดิน หรือเป็นตลาดที่มีชื่อเสียงและคนติดแล้ว (เช่น ในเขต 14 เป็นตลาดขายอาหารที่มีความยาวที่สุดในปารีส คนประมาณมดรุมน้ำตาลก้อน) รวมทั้งความถี่ของตลาดมีบ่อยขึ้น จากอดีตมีแค่สัปดาห์ละครั้ง ตอนนี้ตลาดในบางย่านมีสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะมาเดี๋ยวติดเดี๋ยวรื้อก็ไม่ไหว จึงออกแบบให้อยู่ร่วมกับทางเท้าหรือลานสาธารณะ
การขยายตัวของตลาดแผงลอยทั่วกรุงปารีส
ด้วยความนิยมของผู้บริโภคชาวปารีสที่นิยมอาหารออแกนิคหรืออาหารที่มีห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) สั้น รวมทั้งต้องการความหลากหลายของสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอาจจะให้ไม่ได้ เช่น หากจะซื้อปลาก็ต้องไปตลาด เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตมีสินค้าให้เลือกน้อยและอาจจะไม่สดเท่า ตลาดแผงลอยในปารีสจึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ เทศบาลเมืองปารีสยังได้ระบุชัดเจนว่า ตลาดแผงลอยเหล่านี้คือ ตัวขับเคลื่อนในการสร้างพลวัติให้เกิดขึ้นในเมือง ตลาดเหล่านี้ดึงดูดผู้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ผลพลอยได้ก็ตกอยู่กับย่านและร้านค้าโดยรอบ ทำให้ร้านค้าขายดีและย่านคึกคักมีชีวิตชีวาไปด้วย ยิ่งสัปดาห์หนึ่งมีตลาดหลายวัน วันที่ย่านจะคึกคักพิเศษก็หลายวันตามไปด้วย
เพราะมีการดูแลจึงอยู่ร่วมกันได้
ตลาดแผงลอยจึงเป็นนโยบายสำคัญและได้รับการส่งเสริมที่เป็นรูปธรรมจากเทศบาลเมืองปารีส ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้มีการค้าขายบนพื้นที่สาธารณะมากขึ้น หลายจุดขึ้น ประเภทสินค้าหลากหลายขึ้น ไม่ใช่แค่ตลาดอาหาร แต่ยังมีตลาดดอกไม้ ตลาดนก ตลาดขายของเก่า ตลาดแสตมป์ ตลาดงานศิลปะ และอีกมายมาย ที่สำคัญคือมีการจัดการ ซึ่งบนเว็บไซต์ของเทศบาลจะมีการแสดงตำแหน่งและประเภทของตลาดไว้ และระบุวันเวลาให้บริการ รวมทั้งเปิดเชิญชวนให้ผู้ค้าที่สนใจมาขายส่งใบสมัครเข้ามา
การจัดการตลาดแผงลอยในปารีส ไม่ได้จัดการแบบรวมศูนย์ที่เทศบาลกลาง แต่จัดการโดย Bureau des marchés de quartier (BMQ) หรือ แผนกตลาดของย่าน เป็นหน่วยงานระดับย่อยกว่าหน่วยงานระดับเขต ซึ่ง Quartier นี้เป็นหน่วยที่ย่อยลงกว่า District (Arrondissement) คือประมาณหลายๆ บล็อคที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน รวมกันเป็นหนึ่ง Quartier
BMQ จะทำหน้าที่วิเคราะห์หาตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมในการจัดทำตลาด เช่น เป็นเส้นทางสัญจรผ่านของคน มีความกว้างทางเท้าหรือลานสาธารณะเพียงพอ แต่ละย่านก็จะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ผู้ค้าที่ประสงค์จะขายสามารถส่งใบสมัครไปที่แผนกตลาด โดยแจ้งประเภทสินค้าและส่งตรวจสอบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ หรือไม่ เมื่อผ่านแล้ว ก็จะมีหน่วยงานภาคเอกชนที่รับสัมปทานจากเทศบาลทำหน้าที่เป็นผู้จัดการแผงลอย ซึ่งเป็นคนกลางระหว่าง BMQ และผู้ค้า ทำหน้าที่ดูแลจัดการต่างๆ เช่น จัดวางตำแหน่งแผงค้า คอยตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพสินค้า เก็บค่าแผง ซึ่งเงินก็เข้าระบบ กลายเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าเก็บขยะ และค่าทำความสะอาดพื้นที่
ตลาดแผงลอยของเมืองในชนบท
นอกจากเหมืองหลวงอย่างปารีส เมืองเล็กๆ ในชนบทก็ใช้ตลาดนัดแผงลอยสร้างความคึกคักกับเมืองเช่นกัน หมู่บ้านที่อาศัยอยู่ไม่มีตลาด หากไม่ปลูกผักเลี้ยงไก่เลี้ยงแกะกินเอง ก็ไปซื้อในเมืองใกล้ๆ
เมือง Grenoble มีประชากรประมาณเกือบ 4,000 คน ซึ่งนับเป็นเมืองใหญ่แถวนี้ เมืองนี้จะจัดตลาดนัดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เมืองจะปิดถนน เกษตรกรโดยรอบจะเอาผลผลิตมาขาย ผักผลไม้ เนื้อ ชีสแพะแกะวัว ขนมปัง มะกอก ของหมักดอง ไวน์ ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่ซื้อปลูกเอง ทำเอง มีรายละเอียดแปะแสดง (อาจจะกำหนดโดยเทศบาล) นอกจากนี้ก็มีเสื้อผ้า และบริการเช่น ลับมีด ซ่อมเฟอร์นิเจอร์เก่า
ผู้ค้าต้องมาลงทะเบียนกับเทศบาลและมีกระบวนการคล้ายๆ ที่ปารีส วันที่มีตลาดนัดคือวันที่คนในเมือง-รอบเมือง และร้านค้าต่างๆ เฝ้ารอ เพราะขายดี คนแน่น คึกคัก คาเฟ่ที่นั่งเต็ม คนมากันตั้งแต่ 8-9 โมงเช้า มาซื้อของแล้วนั่งพูดคุยกับเพื่อนฝูงต่อ ร้านผักคือขายดีที่สุด ผลผลิตมาจากแถวๆ นี้ ถ้าจะซื้อต้องไปก่อน 10 โมงไม่อย่างนั้นของจะหมด ผักและเนื้อของที่นี่ราคาถูกเกือบครึ่งของปารีส ถุงพลาสติกน่าจะเกือบศูนย์ เพราะคนใช้ตะกร้า รถเข็นแทน
ในใจเมือง มีร้านที่เป็นผู้ก่อการอยู่ 3 ร้าน คือ ร้านชำ ร้านหนังสือ และร้านอาหาร คอยจัดกิจกรรมต่างๆ ให้เมือง เช่น กิจกรรมดนตรี กิจกรรมอ่านบทกวี หรือพบปะนักเขียน ดูคนจะรักและมีแฟนคลับแวะเวียนมาคุยตลอด ที่น่าสนใจคือร้านชำ เป็นคนหนุ่ม 3 คนจากวงการเทคฯ เป็นคนที่อื่นที่ล้างมือจากวงการแล้วหันมาหุ้นเปิดร้านชำจนขายดี และจัดกิจกรรมดนตรีทีไรก็คนแน่น เพราะนอกจากจะรสนิยมการเลือกไวน์ ชีส ผัก ดีๆ มาขายแล้ว ก็ยังชอบเล่นเปียโนและรู้จักเครือข่ายนักดนตรีมืออาชีพจากที่อื่น เดินทางมาเล่นให้
เมืองนี้เคยมีอุตสาหกรรมทำเหล็ก แต่โรงงานปิดไปช่วง 70-80s ประชากรลดลง เมืองซบเซา ต้องหาเศรษฐกิจอย่างอื่นมาแทน เช่น การท่องเที่ยวธรรมชาติ เดินป่า และแคมป์ปิ้ง ซึ่งคึกคักแค่ช่วงหน้าร้อน เมืองพยายามสร้างแบรนด์ดิ้งด้านอื่นๆ เช่น ศิลปวัฒนธรรมและดนตรี โดยมีกลุ่มคนในเมืองช่วยด้วย ดูๆ แล้วคงต้องทำอะไรกันอีกพอสมควร แต่ภาพรวมดูคนที่นี่มีความสุข แม้ว่าจะไม่ได้มีรายได้อะไรมาก
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์