10/04/2020
Public Realm

‘Pandemic & The City’ จามครั้งเดียว สะเทือนไปทั้งเมือง

ธรกมล เรียงวงศ์ ธนพร โอวาทวรวรัญญู
 


การระบาดของเชื้อโรคและโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้ส่งผลแค่เฉพาะกับสุขภาพ แต่ยังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคน และนำพาเมืองไปสู่บริบทใหม่ทั้งในเชิงประชากร โครงสร้างทางสังคม และโครงสร้างทางกายภาพ ชุมชนเมืองมีการบริหารจัดการ รับมือ เรียนรู้ ปรับตัวและเดินต่ออย่างไร ในการอุบัติของโรคระบาด

WHO ได้เผยข้อมูลที่สำคัญว่า การรระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่เป็นโรคระบาดระดับโลก (Pandemic) เกิดขึ้นทุกๆ 10 – 50 ปี โรคระบาดและเมืองมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมือง ในฐานะศูนย์รวมของกิจกรรมทางเสรษฐกิจ สังคม การเมือง ความหนาแน่นของประชากรที่ประกอบกิจกรรมร่วมกันภายในเมือง สร้างโอกาสให้เกิดการติดเชื้อของโรคต่างๆได้อย่างไม่ยากนัก การรับมือต่อโรคติดต่อนั้นๆก็สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างทางสังคม ความเปราะบางของสังคม และสิ่งที่สังคมนั้นให้คุณค่าหรือมองข้าม เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ นั่นก็หมายถึงผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในเมืองในทุกระดับชนชั้น ที่ไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อชีวิต แต่รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และบาดแผลของความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มักจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบของเมืองในด้านใดด้านหนึ่ง 

แล้วการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในครั้งนี้ ที่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของเราอย่างเด่นชัด ความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นนี้จะสั่นสะเทือนเมืองและเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกในระยะยาวหลังจากที่วิกฤติครั้งนี้จบลงอย่างไร 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง จากโรคระบาด

ในช่วงปลาย ศตวรรตที่ 12 หรือปลายยุคกลาง  เกิดกระบวนการทำให้เป็นเมืองในบางส่วนของทวีปยุโรป ปัจจัยจากการค้าขายหรือจากแรงดึงดูดของแหล่งงานช่วยดึงดูดคนให้เข้ามาอยู่อาศัยรวมกันในพื้นที่เมืองต่างๆ เมื่อเกิดโรคติดต่อ ความหนาแน่นของประชากรเมืองยิ่งทำให้การแพร่ระบาดขยายวงกว้างออกไปได้อย่างไม่ยากเย็น  การระบาดของกาฬโรค หรือที่เรียกกันว่า The Black Death  ในช่วงคริสต์ศตวรรษ 1347 – 1351 การระบาดที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรในขณะนั้น โดยเชื่อว่าว่าการแพร่ระบาดของกาฬโรคนี้ มีต้นกำเนิดมาจากทวีปเอเชีย การติดต่อค้าขายทางทะเลทำให้การแพร่กระจายเกิดขึ้นจากทวีปหนึ่งไปสู่อีกทวีปหนึ่ง โดยที่พาหะของโรคคือหนู 

ก่อนหน้าการระบาดของกาฬโรค ทวีปยุโรปมีจำนวนประชากรที่หนาแน่น ประชากรส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม และมีโครงสร้างการปกครองภายใต้ระบบฟิวดัล (Feudalism) จำนวนที่ดินและขนาดของที่ดินเป็นตัวบ่งชี้ฐานะของขุนนางเจ้าของที่ดิน โดยที่แรงงานทำเกษตรกรรมตามที่ขุนนางเจ้าของที่ดินเป็นผู้ควบคุม ค่าแรงต่ำ เนื่องจากที่ดินเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับใช้ในการเพาะปลูกและมีเพียงขุนนางกลุ่มเล็กๆที่เป็นเจ้าของที่ดิน และมีอำนาจในโครงสร้างการปกครองนี้

หลังการระบาดของกาฬโรค มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโดยเฉพาะทวีปยุโรป แน่นอนว่าจำนวนประชากรที่ลดลงที่มีนัยยะถึงจำนวนแรงงานที่ลดลดอย่างมาก ส่งผลต่อทั้งภาคการผลิตและการบริโภค ระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะฝืดเคืองอย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติกาล การขาดแคลนแรงงาน ทำให้ชนชั้นแรงงาน เช่น ช่างฝีมือหรือชาวนามีอำนาจในการต่อรองค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และในบางพื้นที่เกิดการประท้วงต่อต้านขุนนางเจ้าของที่ดินเมื่อไม่สามารถต่อรองค่าจ้างได้ ราคาสินค้าการเกษตรมูลค่าของที่ดินเสื่อมราคาลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ระบบชนชั้น (Feudalism) ภายในทวีปยุโรปได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจากโรคระบาดในครั้งนี้

ในช่วงปลายยุคกลางของทวีปยุโรป คริสต์ศาสนายังคงมีบทบาทในโครงสร้างทางสังคมและการเมือง  ผู้คนใช้ศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจในคราวที่ความตายมีให้เห็นตรงหนา้ทุกๆวัน แต่เมื่อเหตุการณ์ยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆและไม่มีทีท่าจะเบาบางลง โครงสร้างเดิมของสังคมและการเมืองก็ถึงคราวสั่นสะเทือน 

รัฐบาลได้เข้ามามีบทบาททางการปกครองและสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการต่อประชาชนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

เนื่องจากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค สิ่งที่สังคมต้องการคือการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อคัดกรอง ตรวจสอบ และต่อสู้กับโรคร้าย รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการกับวิกฤติดังกล่าว หน้าที่ในการบริหารจัดการเมืองค่อยๆเกิดการรวมศูนย์อำนาจสู่รัฐ รวมถึงการยอมรับจากประชาชนคนเมือง โรคระบาดจึงถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางสังคมที่สำคัญ และอาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่แนวคิดการแยกศาสนจักรกับอาณาจักร 

หรือแม้แต่รูปแบบสถาปัตยกรรม ก็ได้รับอิทธิพลจากโรคระบาด ความหวาดกลัวของโรคทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสถาปัตยกรรมบางอย่าง อาทิ การใช้หลังคาแบบกระเบื้องมุงหลังคาแทนที่หลังคามุงจากซึ่งเป็นที่ซ่อนตัวของหนูซึ่งเป็นพาหนะนำโรค การเปลี่ยนรูปแบบจากบ้านไม้เป็นบ้านที่ก่อสร้างด้วยอิฐ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดโรค

การแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆภายในเมืองในยุคต่อมา ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองต่างๆ ตื่นตัวในเรื่องของระบบสาธารณะสุขและการดูแลเรื่องสุขอนามัย เพราะความหนาแน่นของประชากร เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าการติดต่อของโรคระบาดอาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ในศตวรรตที่ 19 การตื่นตัวนี้นำไปสู่ระบบท่อระบายน้ำภายในพื้นที่เมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคต่างๆผ่านการปนเปื้อนของน้ำ เช่น อหิวาตกโรค หรือไข้ไทฟอยด์

โลกหลังโควิด 19

นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนแปลงวิธีชีวิตประจำวัน เช่น มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้เราต้องลดการออกไปนอกบ้าน ทำงานที่บ้าน และใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อกันในช่วงเวลาแห่งวิกฤตินี้ ได้เผยให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับรัฐบาลของตนในอีกหนึ่งรูปแบบ จากที่เคยมีการถกเถียงเรื่องของรัฐสวัสดิการหรือการผลักให้เป็นไปตามกลไกตลาด มาวันนี้ผละกระทบจากวิกฤติได้ทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า สังคมมีความต้องการสวัสดิการจากรัฐในแง่ไหนและอย่างไรบ้าง

การตัดสินใจและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทั่วโลกในระยะอันใกล้นี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราและระเบียบโลกในอีกหลายปีข้างหน้า และนั่นจะส่งผลกระทบต่อทั้งสังคม เศรษฐกิจและการเมือง อย่างแน่นอน

การจัดการของรัฐบาลในบางประเทศได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวอย่างในการจัดการวิกฤติที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น จีน ไต้หวัน เกาหลี หรือสิงคโปร์ โดยที่ในแต่ละประเทศที่กล่าวมา มีรูปแบบของรัฐบาลที่แตกต่างกันไป ในประเทศจีนทีมี่รัฐบาลมีการปกครองในเชิงการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ หลังการระบาดทวีความรุนแรงอย่างชัดเจน ได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจจับ ป้องกัน หรือติดตามตัวประชากรในประเทศ และมีผลลัพท์ที่มีประสิทธิภาพ หรือในประเทศเกาหลีใต้ที่มีการใช้ระบบข้อมูลเปิดเพื่อจัดการกับสถานการณ์ และใช้มาตรการเชิงรุกในการตรวจค้นหาผู้ป่วยเพื่อที่จะจำกัดการแพร่เชื้อให้เร็วที่สุด

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ในสถานการณ์นี้ รัฐมีความชอบธรรมในการเข้าถึงและได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรับมือกับโรคระบาด หากแต่คำถามต่อมาคือรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชนได้มากน้อยเพียงไรในการดำเนินนโยบายต่างๆ แลกกับบางสิ่งที่ประชาชนยอมเสียไป เรามีความคาดหวังต่อรัฐบาลอย่างไร และรัฐบาลปฎิบัติอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

คำตอบนั้นอาจเป็นคำตอบที่หล่อหลอมโครงสร้างทางสังคมและการเมืองหลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านพ้นไป การตัดสินใจหรือการดำเนินนโยบายของรัฐต่อจากนี้จะส่งผลอย่างมากโครงสร้างทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง และวิถีชีวิตของเรา แต่จะถูกสั่นสะเทือนอย่างไรและมากน้อยเพียงไร คงเป็นคำตอบที่เราทุกคนจะค่อยๆเรียนรู้ไปพร้อมกัน

บทความ “‘Pandemic & The City’ จามครั้งเดียว สะเทือนไปทั้งเมือง” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดย ธรกมล เรียงวงศ์, ธนพร โอวาทวรวรัญญู

อ้างอิง


Contributor