10/02/2022
Public Realm

ส่องนโยบายเมืองน่าอยู่ของโลก

มัญชุชาดา เดชาคนีวงศ์
 


หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่ากรุงเทพฯ ได้รับเลือกให้เป็น “เมืองน่าเที่ยว” อันดับ 1 ของโลกหลายปีซ้อน หากแต่ในแง่ของ “ความน่าอยู่” จากการจัดอันดับเมืองน่าอยู่โดย The Economist Intelligence Unit (EIU) กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 98 จาก 140 เมืองทั่วโลก เพื่อตอบโจทย์ทั้งการเป็นเมืองน่าอยู่และน่าท่องเที่ยว บทความนี้จึงจะชวนผู้อ่านมาส่องนโยบาย วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ของเมืองที่ติดอันดับต้นๆของเมืองน่าอยู่ และกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ว่ามีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไร และทำไมเมืองเหล่านั้นถึงมีบทบาทเป็นเมืองน่าอยู่ของโลกได้

ต้องมีอะไรบ้าง ถึงจะเป็นเมืองน่าอยู่ของโลก?

การวัดระดับความเป็นเมืองน่าอยู่นั้น มีดัชนีชี้วัดการพัฒนาจากหลากหลายองค์กรทั่วโลก โดยดัชนีชี้วัดอันดับเมืองน่าอยู่ของโลก (Global Liveability Ranking) ของ EIU เป็นหนึ่งในข้อมูลที่ได้มาตรฐานและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ที่ได้มีการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเมืองกว่า 140 เมือง ผ่านตัวชี้วัดมากกว่า 30 ตัวชี้วัด ครอบคลุม 5 หมวดหลัก ได้แก่ (1) ความมั่นคง 25% (2) สาธารณสุข 20% (3) วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 25% (4) การศึกษา 10% และ (5) โครงสร้างพื้นฐาน 20% ที่เกณฑ์การพิจารณามีทั้งในรูปแบบปริมาณและคุณภาพ

โดยช่วงปีที่ผ่านมา การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การรับมือกับโรคขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละเมืองนั้น มีความสำคัญอย่างมากต่อการพิจารณาอันดับเมืองน่าอยู่ โดย EIU ได้เพิ่มตัวชี้วัดที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด เช่น การจัดการด้านสาธารณสุข ข้อกำหนดในการใช้บริการพื้นที่หรือสถานที่ต่างๆ รวมถึงการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ เป็นต้น ด้วยตัวชี้วัดใหม่ที่เพิ่มขึ้นร่วมกับเกณฑ์การพิจารณาเดิม ทำให้เมืองออกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ขึ้นมาเป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วยเมืองโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น จากความสามารถในการบริหารจัดการในช่วงโควิด-19 แซงหน้าเวียนนา ที่ครองตำแหน่งนี้มาหลายปี

ส่อง 3 อันดับเมืองน่าอยู่

เมืองออกแลนด์ (Auckland) เมืองน่าอยู่อันดับแรกของโลก เมืองใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดของนิวซีแลนด์ ถือได้ว่าเป็นแหล่งอยู่อาศัย แหล่งงาน แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของประเทศ มี Auckland Council เป็นองค์กรบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยนายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของเมืองว่า “ออกแลนด์ต้องเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจของนิวซีแลนด์จากการระบาดของโรคโควิด-19”

สำหรับการพัฒนาในระยะยาว ออกแลนด์จะต้องเป็นเมืองที่ส่งเสริมให้พลเมืองที่มีความสามารถยังคงอยู่ในเมือง รวมถึงดึงดูดคนที่มีทักษะทางด้านต่างๆ เข้ามา ภายใต้ Auckland Plan หรือแผนการพัฒนาเมืองที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับปัญหาที่เป็น pain point หลักของคนเมือง อย่างราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำ ปัญหาเรื่องระบบขนส่งสาธารณะและการจัดการจราจร นอกจากนี้ ยังเน้นในประเด็นการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนการให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม มากไปกว่านั้นพลเมืองยังได้มีส่วนร่วมในการร่างแผนยุทธศาสตร์ The Auckland Plan 2050 ที่ทุกภาคส่วนจะเข้ามาช่วยกันกำหนดทิศทางการเติบโตและการพัฒนาเมืองในอีก 30 ปีข้างหน้าอีกด้วย

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ออกแลนด์กลายมาเป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 1 ของโลก นอกเหนือไปจากการมีนโยบายที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพที่ชีวิตที่ดีตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น คือ ความสามารถในการจัดการกับโรคโควิด-19 ในการล็อกดาวน์ทั้งประเทศที่รวดเร็วและเข้มงวด ทำให้ที่มีอัตราการติดเชื้อภายในเมืองต่ำ การบริการทางด้านสาธารณสุขที่ดี ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่างๆ ยังคงเปิดให้บริการ รวมไปถึงโรงเรียน ที่นักเรียนยังสามารถเข้าไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติ (ในระหว่างที่ทำการสำรวจ ช่วงก.พ. – มี.ค. 64) เปิดโอกาสให้พลเมืองได้เกิดการเรียนรู้และยังสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับปกติ แตกต่างจากหลายๆเมืองทั่วโลก

เมืองโอซากะ (Osaka) เมืองน่าอยู่อันดับที่ 2 ของโลก อีกหนึ่งเมืองเศรษฐกิจสำคัญของญี่ปุ่น แผนนโยบายโดย Osaka City Government ให้ความสำคัญในประเด็นการพัฒนาโอซากะสู่เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายของ SDGs นอกจากนี้ ในโอซากะยังมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน รวมถึงวัฒนธรรมและมรดกวัฒนธรรมหลากหลายประเภท จึงให้ความสนใจกับการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นเมืองที่มีความอิสระทางวัฒนธรรม (a city of cultural freedom) ตลอดจนการร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำนวัตกรรมสร้างสรรค์มาต่อยอดในการพัฒนาในระดับชุมชน
แม้ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นจะมีความรุนแรง แต่รัฐบาลกลางก็ได้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการ โดยให้ท้องถิ่นดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่กระจายของโรค รวมถึงมีการมาตรการที่ช่วยให้เศรษฐกิจท้องถิ่นยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เช่น การให้ร้านอาหารเปิดได้ถึง 20.00 น. หรือขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการรวมตัว และเดินทางไปสถานที่เสี่ยง เป็นต้น จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โอซากะได้รับคะแนนการประเมินเมืองน่าอยู่จาก EIU สูง

เมืองแอดิเลด (Adelaide) เมืองที่มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษา วัฒนธรรม และธรรมชาติของออสเตรเลีย มียุทธศาสตร์ City of Adelaide 2020 – 2024 Strategic Plan จัดทำโดย City of Adelaide เป็นแผนหลักในการดำเนินการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับ 6 ผลลัพธ์ คือ (1) การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน
(2) การเป็นเมืองต้นแบบทางด้านสิ่งแวดล้อม (3) ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ (4) ความหลากหลายและงดงามของวัฒนธรรมและพื้นที่ (5) การเข้าถึงและเชื่อมต่อที่สะดวก และ (6) การดำเนินงานบนหลัก
ธรรมาภิบาล ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาทุกมิติ ทั้งในเชิงกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในกระบวนการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ ได้เปิดโอกาสให้พลเมืองเข้ามาส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และความคิดเห็น ที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนการพัฒนาตอบโจทย์กับความต้องการของคนเมืองและความสามารถในการดำเนินการของผู้ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการต่อไป

กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ ไกลแค่ไหนคือใกล้

หลังจากที่ได้ทราบถึงนโยบายและแผนการพัฒนาของ 3 อันดับเมืองน่าอยู่ของโลกแล้ว อยากชวนมาส่องนโยบายและแผนการพัฒนาของกรุงเทพฯ ว่ามีทิศทางอย่างไร

กรุงเทพมหานคร เมืองน่าอยู่อันดับที่ 98 ของโลก มีการปูทางในการพัฒนา โดยมีแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (2556-2575) เป็นตัวกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาเมือง โดยมุ่งหวังว่าอีก 20 ปีข้างหน้า จะก้าวขึ้นเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” หรือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและทวีปเอเชีย โดยมียุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ 6 มิติ คือ (1) มหานครปลอดภัย (2) มหานครสีเขียว สะดวกสบาย (3) มหานครสำหรับทุกคน (4) มหานครกระชับ (5) มหานครแห่งประชาธิปไตย และ (6) มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงที่ 2 (ระยะ 10 ปีแรก) ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นมหานครที่ปลอดภัยและมีความสะดวกสบาย ประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของการขับเคลื่อนนโยบายของกรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ไขปัญหาของเมือง เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำหนองบอน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การให้บริการทางด้านสาธารณสุข รวมถึงการเพิ่มความปลอดภัยโดยการเพิ่มกล้อง CCTV เป็นต้น อีกนโยบายที่สำคัญคือการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น หลังจากที่ซบเซาไปอย่างมากจากการระบาดของโรคโควิด-19

แค่วิสัยทัศน์เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ

จากที่กล่าวไปในข้างต้น จะเห็นได้ว่าแต่ละเมืองก็มีนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่แตกต่างกันไปตามความสนใจและปัญหาของตนเอง

  • ออกแลนด์ ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองโดยการเพิ่มโครงการที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ และส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม
  • โอซากะ มีนโยบายเน้นไปที่การอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และมรดกวัฒนธรรมอันยาวนาน ตลอดจนการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น
  • แอดิเลด มีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามีความครอบคลุมในทุกๆมิติ เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองบนหลักธรรมภิบาล
  • กรุงเทพฯ จากแผนพัฒนาในขณะนี้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่มหานครปลอดภัย ทั้งในมิติของการปลอดมลพิษ อาชญากรรมและยาเสพติด อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ สิ่งก่อสร้างปลอดภัย ตลอดจนปลอดโรค ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่สำคัญอย่างน้ำท่วมขัง และการป้องกันโควิด-19

ท้ายที่สุดนี้ วิสัยทัศน์และแผนการพัฒนาโดยภาพรวมของกรุงเทพฯ ถือได้ว่ามีการคิดมาอย่างครอบคลุม อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักในการจัดอันดับเมืองน่าอยู่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายและแผนการพัฒนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการถอดนโยบายเหล่านั้นสู่แผนปฏิบัติ และต้องนำมาดำเนินอย่างเหมาะสมและตรงจุด เพราะถึงแม้ว่าจะมีแผนที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาอย่างดีอย่างไร หากไม่มีการนำมาปฏิบัติก็ไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงที่ผ่านมา อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่สามารถสร้างโอกาสและความมั่นคงให้กับคนเมืองได้ต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
.

#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS

ที่มาข้อมูล

The Global Liveability Index 2021 How the Covid-19 pandamic affected liveability worldwide by The Economist Intelligence Unit

แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575)

The City of Osaka official website

City of Adelaide Strategic Plan

City of Adelaide 2020 – 2024 Strategic Plan Draft for consultation

Stricter virus measures to be rolled out for Osaka, Hyogo and Miyagi

Auckland Council

​About the Auckland Plan 2050

Mayor Phil Goff’s vision for Auckland


Contributor