08/11/2019
Public Realm

เมืองรับใช้คน หรือคนรับใช้เมือง คำตอบที่ซ่อนในผังเมืองบาร์เซโลน่า

พชร สูงเด่น
 


“Down with the walls!”
“ทุบกำแพงนั่นออกไปซะ!” 

เสียงประท้วงของผู้อยู่อาศัยในบาร์เซโลน่าปี 1843 อาจทำให้ใครต่อใครประหลาดใจที่ได้รู้ว่าเมืองที่ได้รับการชื่นชมนักหนาว่าเป็นเมืองที่มีผังเมืองดีที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลกอย่างบาร์เซโลน่านั้นจะมีผู้คนออกมาประท้วงไปทั่วเมือง ด้วยความไม่พอใจเรื่องความตกต่ำของคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในเวลาไม่กี่ร้อยปีก่อนหน้า 

จากสถานะเมืองขนส่งท่าน้ำที่รุ่งโรจน์ในยุคอุตสาหกรรม กลายมาเป็นเมืองที่เกือบล่มสลาย จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้อยู่อาศัยพอๆกับการเติบโตของโรงงานที่ผุดขึ้นทั่วยุโรปในช่วงเวลานั้น 

ในยุคอุตสาหกรรม บาร์เซโลน่าเปลี่ยนสถานะจากเมืองท่ามาเป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเมืองใดในสเปน โตเร็วเสียจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงของยุโรป แต่การพัฒนาของเมืองที่ก้าวกระโดดกลับสวนทางกับคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ค่อยๆดิ่งลงเรื่อยๆ เมื่อจำนวนผู้อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นจนเกือบแตะสองแสนคนในพื้นที่แคบๆของเมืองที่ไม่ขยายตัวตาม ด้วยความที่ถูกล้อมรอบไปด้วยกำแพงเมืองที่ห่อหุ้มเมืองไว้ตั้งแต่ยุคกลาง (Medieval Walls) ในวันนั้นที่การพัฒนาเปลี่ยนไป แต่กายภาพเมืองไม่เปลี่ยนตาม กำแพงที่ครั้งหนึ่งเคยปกป้องผู้คนไว้ เกือบจะกลายเป็นกำแพงเดียวกันที่ฆ่าผู้คนให้ตายอย่างช้าๆขาดอากาศหายใจ

จากผู้อยู่อาศัยร้อยกว่าคนต่อเฮคเตอร์ (1 เฮคเตอร์ = 0.01 ตารางกิโลเมตร) ในยุคก่อนอุตสาหกรรม กลายมาเป็น 856 คนต่อเฮคเตอร์ จำนวนนี้มากกว่าความหนาแน่นของเมืองที่ว่าใหญ่แล้วอย่างปารีสถึงเท่าตัว 

คุณภาพชีวิตที่ต่ำลงไม่ได้เป็นแค่เรื่องที่ผู้คนพูดกัน ทึกทักกันไปเอง แต่มีหลักฐานชัดเจน ทั้งเรทอายุเฉลี่ยที่ลดลงฮวบฮาบ โรคติดต่อ โรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ ฯลฯ ที่ในการประท้วงปี 1843 นั้นผู้คนต่างส่งเสียงกันว่ากำแพงเมืองสูงหนาที่บีบรัดล้อมคอกพวกเขาไว้ จะทำให้ผู้คนหายใจไม่ออกตายกันไปหมดทั้งเมือง ถ้าไม่ทุบทำลายมันลง

ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตทั้งสุขภาพ และความสะอาดในเมือง ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบาร์เซโลน่าเท่านั้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แต่เป็นประเด็นที่พบร่วมกันในหลายเมืองทั่วยุโรป อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้โรงงานเพิ่มขึ้น ถนนสายหลักแออัดกันอยู่ในย่านเศรษฐกิจ ผู้คนแห่กันเข้ามาตามการพัฒนาที่กระจุกอยู่ใจกลางเมือง พื้นที่เท่าเดิม คนและโรงงานเพิ่มมากขึ้นจนแทบไม่มีอากาศหายใจ ไม่มีพื้นที่ส่วนกลาง 

ภาพความยากลำบาก ผลลัพธ์ที่ไม่ตั้งใจของการพัฒนาในยุโรปช่วงเวลานั้นถูกบันทึกไว้ในงานวรรณกรรมหลายเล่ม เช่น  La Comédie Humaine (1829-1855) ของ Honoré de Balzacs, Les Miserables (เหยื่ออธรรม) (1862) ของ Victor Hugos, Oliver Twist  (1838) ของ Charles Dickens หรือ The People of the Abyss (1902) ของ Jack London ที่ว่ากันว่าได้รับอิทธิพลจากงานเนื้อหาเดียวกันเรื่อง How the Other Half Lives (1890) ของ Jacob Riiss ความเหมือนของความลำบากในเมืองที่ต่างกันที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกระหว่างการพัฒนาของเมือง และคุณภาพชีวิตของผู้คน

โชคดีที่ผู้ดูแลเมืองเห็นชีวิตผู้คนสำคัญกว่าซากประวัติศาสตร์อย่างกำแพงเมืองจากยุคกลาง โชคดีที่เสียงโห่ร้องดังลั่นพอก่อนจะมีคนขาดอากาศหายใจตาย กำแพงเมืองจึงถูกโค่นลงหนึ่งปีหลังจากการประท้วงปี 1843 

ผู้ว่าการเมืองเริ่มประกาศหาแปลนผังเมืองใหม่ๆ โดยมีโจทย์ให้กระจายความเจริญไปตามย่านต่างๆ – การกระจายความเจริญ แนวคิดที่อาจฟังดูไม่แปลกใหม่อะไรในสมัยนี้ หากเป็นการตัดสินใจที่ฉีกไปจากแบบแผนเดิมในสมัยนั้น ในวันที่ส่วนกลางยังครองตัวเป็นฐานอำนาจทั้งเศรษฐกิจ การเมืองของสังคม

อิลเดฟอนส์ แซร์ดา (Ildefons Cerdà) วิศวกรชาวคาตาลันที่กำลังศึกษาด้านการคมนาคมในบาร์เซโลน่าในเวลานั้น เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับการทาบทามให้ส่งแปลนเมืองเข้ามา แปลนของเขาทำให้คณะกรรมการต้องหันมาสนใจ แม้ตอนนั้นจะได้ผู้ชนะการประกวดผังเมืองแล้ว 

แปลนของแซร์ดาเป็นการออกแบบที่เรียบง่าย แต่ทะเยอทะยานในเป้าหมาย เมืองของเขากระจายเมืองออกไป ไม่ใช่แค่ในระยะไม่กี่ไมล์ แต่ไปไกลจนสุดขอบเมืองของบาร์เซโลน่าจากด้านหน้าที่จรดชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปจนสุดขอบด้านหลังของเมืองที่โอบล้อมด้วยภูเขา Montjuïc 

ตรงกลางของเมืองถูกแบ่งออกเป็นตารางสี่เหลี่ยมขนาดเท่าๆ กัน เชื่อมต่อกันไปตลอดทั้งเมือง แปลนนี้เขาตั้งชื่อว่า  “Eixample” ในภาษาสเปนิช ที่แปลตรงตัวเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “expansion” หรือ “การขยาย” 

แต่ยิ่งเวลาผ่านไปแปลน  “Eixample” ของเขาน่าจะถูกเรียกว่าเป็น “example” มากกว่า เพราะเป็นตัวอย่างการออกแบบผังเมืองที่กระจายความเจริญทั้งการพัฒนาขั้นพื้นฐานและคุณภาพชีวิตผู้คนไปพร้อมๆกันเสียมากกว่า

“My plan is boring just like justice” 
“แปลนของผมน่าเบื่อพอๆ กับความยุติธรรม”

แซร์ดาพูดถึงแปลนของเขาไว้อย่างนั้น แปลนที่เขาบอกว่าช่างน่าเบื่อ ความน่าเบื่อที่แท้จริงคือความเรียบง่ายในรูปแบบ แต่หนักแน่นในอุดมการณ์ที่แฝงความเชื่อด้านสังคมนิยม และการให้คุณค่าเรื่องความเท่าเทียมของเขาไว้อย่างชัดเจน

เอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกอย่างที่ทำให้แปลนของแซร์ดาติดตาติดใจผู้คนคือ หน้าตาของมันที่คล้ายกับวาฟเฟิลเมื่อมองลงมาจากมุมสูง สัดส่วนแต่ละบล็อคเท่ากันไปทั้งเมือง รูปทรงแปลกตาที่เกิดจากการตัดขอบตึกออกไป 45 องศา การแบ่งพื้นที่เพียงมุมตึกของแต่ละคนที่ทำให้เมือง “หายใจ” ร่วมกันได้มากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น มีพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงได้สำหรับคนทุกชนชั้นในทุกย่าน มีความเป็นชุมชนมากขึ้นจากการมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันในทุกหัวมุมถนน

นอกจากความสวยงาม ความสะอาดสะอ้าน และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากผังเมืองที่เปลี่ยนไปแล้ว ผังเมืองที่เป็นตารางขยายไปทั่วเมืองเช่นนี้ยังช่วยให้การเดินทางเชื่อมต่อกันได้สะดวกสบาย ช่วยกระจายศูนย์กลางของเมืองไปตามย่านต่างๆ พูดได้ว่า การขยายขอบเขต พัฒนากระจายไม่กระจุกที่ยังส่งผลต่อความเป็นบาร์เซโลน่ามาจนถึงทุกวันนี้

image1.png

ย่าน Poblenou  (“โพ-เบิล-นู”) เป็นอีกย่านที่เป็นตัวอย่างผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงจากการขยายศูนย์กลางเมืองออกไปในบาร์เซโลน่า จากย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงานที่แออัด ไร้ความน่าสนใจดึงดูดผู้คนใดๆ แต่หลังจากผังเมืองของแซร์ดาได้ถูกนำมาใช้ เมืองที่เริ่มเชื่อมต่อถึงกันได้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ รวมถึงการเปลี่ยนย่านที่อยู่อาศัยแออัด ให้เป็น “หมู่บ้านใหม่” (“poble” แปลว่า หมู่บ้าน, “nou” แปลว่า ใหม่) ที่ใช้รองรับนักกีฬาโอลิมปิกที่บาร์เซโลน่าได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าบ้านในปี 1992 

image5.jpg
ถ่ายจาก Rambla Del Poblenou (September, 2016)

มีคำกล่าวที่ว่า เมืองที่จัดโอลิมปิกนั้นมีสองประเภท ได้แก่ เมืองที่รับใช้โอลิมปิก และโอลิมปิกที่รับใช้เมือง  

การเปลี่ยนแปลงของ Poblenou จากย่านชุมชนแออัดกลายมาเป็นย่านนวัตกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 โดย Port Olímpic de Barcelona ที่พักนักกีฬาในช่วงจัดงานโอลิมปิกได้กลายมาเป็น  ศูนย์ประชุมแสดงสินค้า ผลงานศิลปะ เทคโนยี นวัตกรรม ขนาบข้างไปด้วยพื้นที่สีเขียว Parc del Port Olímpic  พื้นที่พักผ่อนของนักกีฬาเก่า และเพิ่มเติมด้วยอาคารทันสมัยสร้างใหม่อย่าง Torre Agbar ที่เป็นเหมือนปฏิมากรรมงานศิลปะอยู่กลางย่าน – การเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องของ Poblenou ที่น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า Poblenou นั้นเป็นเมืองโอลิมปิกแบบไหน 

Torre Agbar

ไม่ใช่แค่ Poblenou ที่เป็นย่านที่เติบโตขึ้นจาก “Eixample” ตัวอย่างการขยายเมืองจากผังเมืองทรงวาฟเฟิลของแซร์ดา แต่ยังรวมถึงหลายๆย่านของบาร์เซโลน่าที่เติบโตขึ้น มีเอกลักษณ์ของตนเองตามลักษณะที่ตั้ง และผู้อยู่อาศัยของย่านนั้นๆ เช่น

Gràcia

สายฮิปสเตอร์ สายอาร์ทไม่มีใครไม่รู้จักย่านนี้ ย่านเล็กๆย่านหนึ่งที่อยู่เขตกำแพงเมืองชั้นนอกที่ถูกรวบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เมื่อกำแพงถูกทุบออกไป และเมืองต่างๆถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน แม้จะไม่เหลือร่องรอยของยุคกลางแล้ว แต่ก้อนหินที่ใช้ปูถนนยังถูกเก็บไว้อยู่ เป็นสิ่งตกค้างจากอดีตที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับย่าน โดยไม่ต้องมีกำแพงเมืองมากั้นขวางให้แยกห่างออกจากย่านอื่นของเมือง 

La Barceloneta

ชุมชนชาวประมงเก่าแก่ของบาร์เซโลน่า ที่กลายมาเป็นย่านชายหาดสุดชิลของเมือง  

Montjüic

ชุมชนเก่าแก่บนเนินเขาความสูงเหนือระดับน้ำทะเลทางตะวันตกฝั่งตรงกันข้ามกับชายหาดของเมือง พื้นที่สีเขียว ทิวทัศน์แปลกตาจากมุมสูงที่เคยเกือบจะกลายเป็นย่านร้างในศตวรรษที่ผ่านมา กลายมาเป็นพื้นที่วงแหวนรอบนอกของโอลิมปิก ที่แม้ว่าเป้าหมายแรกในการเป็นศูนย์กลางด้านการกีฬาจะไม่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ถูกสร้างในวันนั้นก็ยังเป็นกาวประสานย่านที่ครั้งหนึ่งเคยเกือบถูกทิ้งร้างไว้ ให้เป็น weekend destination ย่านพักผ่อนหย่อนใจทั้งชาวโลคอล และเป็นจุดชมวิวจากมุมสูงสำหรับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี 

image4.png
(มาสเตอร์แปลนของแซร์ดา จาก http://www.ub.edu/escult/research/besos.html)

แต่ถึงแม้แผนของแซร์ดาจะได้รับการชื่นชม และส่งผลต่อการพัฒนาให้บาร์เซโลน่ากลายเป็นเมืองชั้นนำระดับโลกแค่ไหนในวันนี้ คงยากที่จะเชื่อว่าแผนของเขากลับเคยถูกวิจารณ์อย่างหนักมาก่อน 

แต่การวิจารณ์อย่างต่อเนื่องนี้เองที่ทำให้แผนของเขาค่อยๆ ถูกปรับจนตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของผู้คนในระยะยาว จนกล่าวได้ว่านี่ไม่ใช่แผนที่เป็นไปตามมาสเตอร์แปลนด้วยความคิดของเขาคนเดียว แต่เป็นแปลนผังเมืองที่ปรับตามเสียงความต้องการของผู้คนในเมือง จนกลายเป็นแผนที่ทุกคนร่วมสร้างกันขึ้นมาจากการ “ฟัง” เสียงของกันและกัน 

และแม้แผนนั้นอาจเปลี่ยนไปตามภาพแรกที่แซร์ดาหวังไว้ แต่เขาคงตายตาหลับได้บ้างหากได้รู้ว่าผังเมืองนี้ได้รับใช้ผู้คนตามเจตนารมย์ของเขา – ไม่ใช่ผู้คนรับใช้เมือง

โดย พชร สูงเด่น

อ้างอิง

Haddad, Marie El. (2017). Barcelona: Small-Scale Public Spaces. Retrieved May 28, 2019, from https://www.academia.edu/36209659/Barcelona_Small-Scale_Public_Spaces

Muniz, Ivan. (2008). The Effect of Employment Sub-centres on Population Density in Barcelona. Urban Studies 45(3):627-649. Retrieved May 25, 2019, from https://www.researchgate.net/publication/248974168_The_Effect_of_Employment_Sub-centres_on_Population_Density_in_Barcelona

Urbano, Judith. (2016). Focus The Cerdà Plan for the Expansion of Barcelona: A Model for Modern City Planning. Retrieved May 20, 2019, from https://www.academia.edu/35343262/Focus_The_Cerd%C3%A0_Plan_for_the_Expansion_of_Barcelona_A_Model_for_Modern_City_Planning


Contributor