เมืองรับใช้คน หรือคนรับใช้เมือง คำตอบที่ซ่อนในผังเมืองบาร์เซโลน่า
08/11/2019
“Down with the walls!”“ทุบกำแพงนั่นออกไปซะ!” เสียงประท้วงของผู้อยู่อาศัยในบาร์เซโลน่าปี 1843 อาจทำให้ใครต่อใครประหลาดใจที่ได้รู้ว่าเมืองที่ได้รับการชื่นชมนักหนาว่าเป็นเมืองที่มีผังเมืองดีที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลกอย่างบาร์เซโลน่านั้นจะมีผู้คนออกมาประท้วงไปทั่วเมือง ด้วยความไม่พอใจเรื่องความตกต่ำของคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในเวลาไม่กี่ร้อยปีก่อนหน้า จากสถานะเมืองขนส่งท่าน้ำที่รุ่งโรจน์ในยุคอุตสาหกรรม กลายมาเป็นเมืองที่เกือบล่มสลาย จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้อยู่อาศัยพอๆกับการเติบโตของโรงงานที่ผุดขึ้นทั่วยุโรปในช่วงเวลานั้น ในยุคอุตสาหกรรม บาร์เซโลน่าเปลี่ยนสถานะจากเมืองท่ามาเป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเมืองใดในสเปน โตเร็วเสียจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงของยุโรป แต่การพัฒนาของเมืองที่ก้าวกระโดดกลับสวนทางกับคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ค่อยๆดิ่งลงเรื่อยๆ เมื่อจำนวนผู้อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นจนเกือบแตะสองแสนคนในพื้นที่แคบๆของเมืองที่ไม่ขยายตัวตาม ด้วยความที่ถูกล้อมรอบไปด้วยกำแพงเมืองที่ห่อหุ้มเมืองไว้ตั้งแต่ยุคกลาง (Medieval Walls) ในวันนั้นที่การพัฒนาเปลี่ยนไป แต่กายภาพเมืองไม่เปลี่ยนตาม กำแพงที่ครั้งหนึ่งเคยปกป้องผู้คนไว้ เกือบจะกลายเป็นกำแพงเดียวกันที่ฆ่าผู้คนให้ตายอย่างช้าๆขาดอากาศหายใจ จากผู้อยู่อาศัยร้อยกว่าคนต่อเฮคเตอร์ (1 เฮคเตอร์ = 0.01 ตารางกิโลเมตร) ในยุคก่อนอุตสาหกรรม กลายมาเป็น 856 คนต่อเฮคเตอร์ จำนวนนี้มากกว่าความหนาแน่นของเมืองที่ว่าใหญ่แล้วอย่างปารีสถึงเท่าตัว คุณภาพชีวิตที่ต่ำลงไม่ได้เป็นแค่เรื่องที่ผู้คนพูดกัน ทึกทักกันไปเอง แต่มีหลักฐานชัดเจน ทั้งเรทอายุเฉลี่ยที่ลดลงฮวบฮาบ โรคติดต่อ โรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ ฯลฯ ที่ในการประท้วงปี 1843 นั้นผู้คนต่างส่งเสียงกันว่ากำแพงเมืองสูงหนาที่บีบรัดล้อมคอกพวกเขาไว้ จะทำให้ผู้คนหายใจไม่ออกตายกันไปหมดทั้งเมือง ถ้าไม่ทุบทำลายมันลง ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตทั้งสุขภาพ และความสะอาดในเมือง ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบาร์เซโลน่าเท่านั้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แต่เป็นประเด็นที่พบร่วมกันในหลายเมืองทั่วยุโรป อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้โรงงานเพิ่มขึ้น ถนนสายหลักแออัดกันอยู่ในย่านเศรษฐกิจ ผู้คนแห่กันเข้ามาตามการพัฒนาที่กระจุกอยู่ใจกลางเมือง […]