05/12/2019
Public Realm
พื้นที่สาธารณะในนามสนามหลวง : จากทุ่งพระเมรุ สนามกอล์ฟ ลานเล่นว่าว สู่พื้นที่สัญลักษณ์
นาริฐา โภไคยอนันต์
ใครเกิดทันได้เล่นว่าวที่สนามหลวงบ้าง?
ครั้งหนึ่ง ก่อนที่สนามหลวงจะมีรั้วล้อมรอบ สนามหลวงเคยเป็นพื้นที่สาธารณะผืนใหญ่ใจกลางเมืองที่มีฉากหลังเป็นพระบรมมหาราชวัง วิวสวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ที่จริงแล้ว สนามหลวงเคยเป็นอะไรต่อมิอะไรมาหลายอย่าง ทั้งลานเล่นว่าว ตลาดนัด ฉายหนังกลางแปลง ท้องนา ยุ้งฉาง ทุ่งพระเมรุ ลานประหาร สนามกอล์ฟ สนามม้า ไฮด์ปาร์ค ลานจอดรถ ห้องนอนชั่วคราวของคนไร้บ้าน และพระราชพิธีสำคัญต่างๆ
กูดเซลล์ นักผังเมือง เคยอธิบายถึงพื้นที่สาธารณะว่า มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างพื้นที่เปิดโล่งทางกายภาพเพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์กับลักษณะการใช้ที่เป็นสาธารณะและเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนเมือง ดังนั้น สนามหลวงจึงน่าจะเข้าข่ายเป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ แห่งแรกๆ ของมหานครแห่งนี้มาก่อน
แต่ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ สนามหลวง หรือ ทุ่งพระเมรุ มีการใช้งานครั้งแรกในงานพระเมรุพระบรมอัฐิพระชนกแห่งรัชกาลที่ 1 และเป็นสถานที่เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์มาโดยตลอด
นอกจากกิจกรรมพระราชพิธี สนามหลวงยังเคยเป็นผืนนา แสดงความอุดมสมบูรณ์ของสยามประเทศ ให้สมกับคำว่า อู่ข้าว อู่น้ำ การทำนาที่ท้องสนามหลวงเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำนา เพื่อเป็นการแสดงให้นานาประเทศเห็นว่า เมืองสยามบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ ๆ พระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าให้ใช้ ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์ มีพลับพลาสำหรับทอดพระเนตรการทำนา และมีโรงละครสำหรับการบวงสรวง และยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าวที่ท้องนาสนามหลวงอีกด้วย
จาก ‘ทุ่งพระเมรุ’ เป็น ‘ท้องสนามหลวง’
ในรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ ‘ทุ่งพระเมรุ’ มาเป็น ‘ท้องสนามหลวง’ เมื่อ พ.ศ. 2398 และถึงกับเคยมีกฎลงโทษ หากใครหลุดเรียกทุ่งพระเมรุจะต้องถูกปรับไหม นั่นแสดงให้เห็นว่า ทรงต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เปลี่ยนบทบาทหน้าที่ กลายมาเป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ สำหรับประชาชนทั่วไปอย่างแท้จริง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากเปลี่ยนชื่อแล้ว ยังอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาเล่นว่าวได้ การเล่นว่าวที่สนามหลวงได้สืบทอดต่อมาอีกหลายปีและได้มีการจัดการแข่งขันในรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2449
ตั้งแต่นั้นมา การแข่งขัน ว่าวจุฬา-ปักเป้าก็เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ในระหว่างเทศกาลดังกล่าว ก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น การแสดง ศิลปะป้องกันตัว กระบี่กระบอง ดนตรีไทย การจำหน่ายว่าวชนิดต่างๆ รวมทั้งมีการนำว่าวจากต่างประเทศมาแสดงด้วย
จากลานเล่นว่าว สู่สนามกอล์ฟและตลาดนัด
ด้วยลักษณะของพื้นที่เปิดโล่ง สนามหลวงยังเคยเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกในสยามประเทศ สำหรับสามัญชนชั้นสูงและชาวต่างชาติในการพบปะเจรจาระหว่างกันอีกด้วย
จากข้อมูลที่สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมได้รวบรวมไว้ พบว่า สนามกอล์ฟนี้ดำเนินการโดยสโมสรบางกอกกอล์ฟ หรือ The Bangkok Golf Club โดยได้รับพระราชบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นสนามกอล์ฟเมื่อ พ.ศ. 2438 ในสมัยรัชกาลที่ 5
แต่ต่อมาก็เลิกไป เนื่องจากสนามหลวงเป็นที่ชุมนุมพบปะของกลุ่มคนทั่วไป จึงไม่เหมาะจะเป็นสนามกอล์ฟ เพราะอาจเป็นอันตรายผู้คนได้
จนถึงปี พ.ศ. 2491 สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งตลาดนัดขึ้นในทุกจังหวัด โดยกรุงเทพฯ ได้เลือกสนามหลวงเป็นสถานที่จัดตลาดนัด
แต่ต่อมาก็ได้ย้ายตลาดนัดสนามหลวงไปยังตลาดนัดจตุจักร เพื่อความสวยงามเป็นระเบียบของบ้านเมือง
ภาพ สนามหลวงและลานเเสดงกลางแจ้ง “ยังจำ อับดุลเอ๋ย ได้ไหม”
ในระยะหลัง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา นโยบายเกี่ยวกับสนามหลวงมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ที่มีการปิดและปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวงหลายรอบ จนถึงปัจจุบัน สนามหลวงมีแผงรั้วกั้น มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล และกลายเป็นที่จอดรถทัวร์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
สนามหลวงในนิยาม ความงาม ความเป็นระเบียบ และความปลอดภัย
ยุภาพร ต๊ะรังษี ได้ศึกษามิติความงามและพื้นที่สาธารณะของสนามหลวงได้อย่างน่าสนใจ โดยเสนอว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์แฝงไปด้วยมิติของการจัดการเชิงพื้นที่ที่หลากหลาย ทั้งเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพ และเพื่อตอบสนองการรับรู้ความหมายและความทรงจำที่มีไปพร้อมกัน โดยมีการยก “ความสวยงาม” “ความเป็นระเบียบ” และ “ความปลอดภัย” มาเป็นเกณฑ์สำคัญในการปรับปรุงสนามหลวง เพื่อตอบสนองความหมายและ ความต้องการของคนหลายกลุ่ม
สนามหลวงเคยเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ เคยเป็นที่ชุมนุมทางการเมือง เคยเป็นห้องนอนของคนไร้บ้าน เคยเป็นศูนย์กลางสายรถเมล์ เคยเป็นจุดนัดพบของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาเมืองกรุง เคยเป็นที่ทำมาหากินของคนหลากหลายอาชีพ เคยเป็นสถานที่แข่งประกวดนกเขา แข่งลวดลายการทำว่าวของแต่ละคน และเคยเป็นลานโล่งที่หนุ่มสาว แก่เฒ่าสามารถจูงลูกจูงหลานมาปูเสื่อนอนเล่นกันได้ทั้งครอบครัวในยุคที่ห้างสรรพสินค้ายังไม่เฟื่องฟูเช่นทุกวันนี้
ดังนั้น จึงพูดได้ว่า ความหลากหลายของการใช้งานพื้นที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ ‘พื้นที่สาธารณะ’ อย่างสนามหลวง
สีเขียวของต้นหญ้าตัดกับท้องฟ้าสีครามสดใสของสนามหลวงวันนี้ต่างจากความงามในอดีตร่องรอยความทรงจำของใครหลายคน
อาณาบริเวณสาธารณะที่เปลี่ยนไป
ในปัจจุบัน สนามหลวงเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งในแง่การเข้าใช้งานและกิจกรรมที่เคยเกิดขึ้น รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทั้งทางกายภาพด้วยตัวกิจกรรมต่างๆที่พื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ใช้งานได้ตลอด
หากเทียบกับหลักเกณฑ์ของอาณาบริเวณสาธารณะที่นักคิดอย่าง อาเร็นท์ได้นิยามไว้ว่า พื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ที่เข้าถึงได้ทุกคน ใช้งานได้ทุกคน และเป็นพื้นที่ถาวร เราจะพบว่า ปัจจุบันสนามหลวงอาจไม่ตรงกับคำว่าพื้นที่สาธารณะมากนัก
แต่ถ้าดูจากตัวกิจกรรมและจากลักษณะการเข้าถึงและใช้งานของสนามหลวงที่เกิดขึ้นในอดีต ก็พูดได้ว่า ครั้งหนึ่งสนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งแรกๆในประเทศไทยแน่ๆ
สนามหลวง คือพื้นที่สาธารณะที่ผ่านการใช้งานที่หลากหลายมาตลอด ทั้งงานราษฎร์ งานรัฐ งานหลวง แต่พื้นที่สาธารณะประวัติศาสตร์แห่งนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไรอีกในอนาคต คงไม่มีใครสามารถคาดเดาได้
เพราะคุณค่าเชิงสังคมที่มีต่อสนามหลวงในอนาคต จะหมุนไปตามวงล้อของคุณค่าทางสังคมตามยุคสมัยนั่นเอง
โดย อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
ที่มา
https://www.blockdit.com/posts/5dabf0483e8c671c0b16060e
https://architservice.kku.ac.th/wp-content/uploads/2017/02/05-Supachai.pdf
http://www.resource.lib.su.ac.th/ejournal/images/stories/SUTJ_Social/Vol36No2/article04.pdf