05/04/2022
Public Realm

10 พื้นที่การเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมในย่านกะดีจีน-คลองสาน

สุภาภรณ์ แก่นคำหล่อ
 


ทิศทางการเรียนรู้ในปัจจุบันนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในระบบการศึกษาอีกต่อไป แต่ยังให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้แบบสหศาสตร์ การเรียนรู้เชิงลึกและเชิงกว้าง ตลอดจนการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่จะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มความรู้และความเข้าใจของผู้เรียน โดยเฉพาะการศึกษาและทำความเข้าใจในเชิงพื้นที่ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ที่สามารถเรียนรู้ผ่านสถานที่สำคัญร่วมกับคนในพื้นที่ได้

ย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นหนึ่งในย่านประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ที่ได้ชื่อว่าเป็นย่านแห่งความหลากหลาย ของมรดกวัฒนธรรมและผู้คนจาก 3 ศาสนา และ 4 ความเชื่อ ส่งผลให้ในพื้นที่มีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ถึง 121 รายการ กระจายอยู่ในพื้นที่ย่าน มรดกวัฒนธรรมในเชิงพื้นที่เหล่านี้ นอกจากจะมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมแล้ว ยังมีความสำคัญในการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของย่านและเมือง ในการศึกษาและทำความเข้าใจ ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คน ตั้งแต่ในอดีตที่เปลี่ยนผ่านมาสู่ปัจจุบันได้อย่างชัดเจน วันนี้เราจะพาทุกท่านไปชม 10 สถานที่สำคัญ อันเป็นพื้นที่เรียนรู้มรดกวัฒนธรรมในย่านกะดีจีน – คลองสาน ดังนี้ 

1. วัดประยุรวงศาวาสวรมหาวิหาร

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หรือชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดรั้วเหล็ก เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุญนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 ที่มาของคำว่าวัดรั้วเหล็กก็ คือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่สั่งรั้วเหล็กมาจากประเทศอังกฤษ เพื่อนำมาน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 ใช้เป็นกำแพงในพระบรมมหาราชวัง แต่ทรงไม่โปรด จึงขอรับพระราชทานมาใช้เป็นกำแพงวัดแทน โดยภายในวัดออกแบบพระอุโบสถด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทย หน้าบันเป็นลายดอกบุนนาค พระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนาคน้อย ซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัย รวมทั้งมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง  และในปี พ.ศ. 2556 พระเจดีย์แห่งนี้เองก็ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ คือ รางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากโครงการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2556 ได้รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1

2. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร 

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดย เจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยาณมิตร (โต) ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียง และสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2368 รัชกาลที่ 3 จึงพระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร โดยตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ จึงทำให้บรรยากาศภายในวัดเย็นสบายและร่มรื่น เราสามารถนั่งเรือโดยใช้บริการเรือข้ามฟากที่ ท่าเรือปากคลองตลาด มายังท่าเรือของวัดกัลยาณมิตรเพื่อกราบสักการะ หลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก ที่คนจีนนิยมเรียกตามแบบจีนว่า ซำปอกง อีกทั้งภายในวัดส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงพุทธประวัติ และแสดงชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3 อีกด้วย

3. วัดซางตาครู้ส 

วัดซางตาครู้ส (Santa Cruz Church) เป็นโบสถ์นิกายโรมันคาทอลิกที่มีลักษณะโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2312 ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 พระองค์ทรงพระราชทานที่ดินบริเวณชุมชมกุฎีจีน ให้แก่ บาทหลวงคอรร์ (Corre) ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้สร้างวัดซางตาครู้ส เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวคริสต์สถาปัตยกรรมของวัดซางตาครู้สเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบนีโอคลาสสิก (Neo-Classic) และเรเนอซองส์ (Renaissance) ลักษณะของโดมนั้นถอดแบบมาจากโดมของมหาวิหารฟลอเรนซ์ (Florence) อีกทั้งภายในโบสถ์ก็ตกแต่งด้วยสีขาว สีดำ และสีทองเป็นหลัก และมีกระจกสีประดับอยู่ตรงหน้าต่าง ประกอบไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าถึงประวัติของคริสต์ศาสนา สวยงามมากเลยทีเดียว ใครที่สนใจอยากไปศึกษาและเรียนรู้แนะนำที่นี่เลยเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สวยงามไม่แพ้กับสถาปัตยกรรมของไทย

4. มัสยิดบางหลวง

มัสยิดบางหลวง จากรูปภาพข้างต้นแทบจะแยกไม่ออกว่าเป็นมัสยิดหรือวัดไทยกันแน่แต่นี่คือมัสยิดที่นำสถาปัตยกรรมแบบวัดไทยมาสร้าง มัสยิดบางหลวง หรือกุฎีขาว เป็นมัสยิดของชุมชนมุสลิมนิกายซุนนีที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีทั้งแขกจาม และแขกแพ มัสยิดหลังแรกสันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นโดยโต๊ะหยี พ่อค้าชาวมุสลิมในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนจะมีการสร้างมัสยิดหลังปัจจุบันขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 หากมองจากภายนอกตัวอาคารมัสยิดจะดูเหมือนวัดไทยพุทธชนิดแยกไม่ออกถ้ามองจากภายนอก จะมี 2 จุดที่พอสังเกตได้ อย่างแรกคือ สีของกระเบื้องมุงหลังคา ถ้าเป็นหลังคาวัดมักจะใช้กระเบื้องมากกว่า 1 สี อาจจะเป็นสีส้มกับสีเขียว หรือน้ำเงิน เหลือง แดง แต่มัสยิดหลังนี้ใช้หลังคาสีเขียวเพียงสีเดียว ภายในยังมีการสมผสานศิลปะไทย จีน และตะวันตก เข้าด้วยกัน จนออกมาเป็นมัสยิดบางหลวง หรือ กุฎีขาวนั่นเอง

5. มัสยิดกูวติล (ตึกแดง)

มัสยิดกูวติลอิสลาม หรือ ตึกแดง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้เชิงสะพานพุทธฯ ซึ่งแต่เดิมตึกแดงคือสำนักงานพระคลังสินค้าของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้บริจาคเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ให้กับช่างมุสลิมในชุมชนนี้ มัสยิดนี้จึงเริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2402 มุสลิมในชุมชนนี้ประกอบด้วยกลุ่มใหญ่ ๆ คือ เชื้อสายปัตตานี ซึ่งมีความสามารถทาง การช่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างทำทองและนาก กับกลุ่มเชื้อสายอินเดียซึ่งมีความสามารถในการประกอบธุรกิจค้าขายปัจจุบันมัสยิดกูวติลยังคงทำหน้าที่เป็นศาสนาสถานของชุมชนบนริมฝั่งแม่น้ำในเขตคลองสานมีการบอกเล่าถึงความเป็นมาของ 2 ตระกูลที่มีชื่อเสียง คือ ตระกูลบุนนาค และ ตระกูลนานา

6. ศาลเจ้ากวนอู

ศาลเจ้ากวนอู (คลองสาน) ถือเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีอายุมากว่า 286 ปี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2279 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ศาลเจ้ากวนอูแห่งนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับสวนสมเด็จย่า หลังวัดอนงคารามย่านคลองสาน ฝั่งธนบุรี ด้านล่างประดิษฐานรูปจำลองเจ้าแม่กวนอิม ชั้นสองประดิษฐานรูปจำลองเง็กเซียนฮ่องเต้ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไฉ่ซิ่งเอี้ย) และพระอรหันต์จี้กง พระศรีอริยเมตไตยโพธิสัตว์ส่วนชั้นบนสุดประดิษฐานพระพุทธเจ้าแบบมหายานสามพระองค์ ได้แก่ พระอมิ-ตาภพุทธเจ้า พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาพุทธเจ้า เพื่อโปรดมวลหมู่สรรพสัตว์และเหล่าสรรพวิญญาณทั้งหลายในท้องน้ำเจ้าพระยามีความเก่าแก่ อีกทั้งอักษรจีนที่เห็นอยู่ทั่วไปในศาลเจ้า ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ที่ประเทศจีน

7. ศาลเจ้าพ่อเสือ 

ศาลเจ้าพ่อเสือ หรือ ตั่วเหล่าเอี้ย ตั้งอยู่ในชุมชนสวนสมเด็จย่า เลื่องชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ อธิษฐานขอพรสิ่งใดได้สมประสงค์ บ้างมาขอพรเรื่องค้าขาย เรื่องขจัดอุปสรรค เสริมอำนาจบารมี ขอโชคลาภ ขอพรให้มีลูก ฯลฯ คนมาไหว้ ตั่วเหล่าเอี้ยทุกปี ตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีนคือคนปีเสือต้องไปไหว้เจ้าพ่อเสือ เพื่อเสริมดวง เสริมมงคล อีกทั้งยังเป็นศาลเจ้าชาวจีนแต้จิ๋ว (สายลัทธิเต๋า) ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย คนจีนเรียกกันว่าตั่วเล่าเอี้ย ศาลเจ้าที่ประดิษฐานเฮี้ยงเทียนเซียงตี่ เป็นศาลเจ้าของชุมชนในย่านตลาดเก่ามีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่เป็นที่เคารพนับถือชาวชุมชนตลาดสมเด็จและใกล้เคียงผู้คนนิยมมาไหว้และบูชา

8. สมาคมเผยแผ่คุณธรรม “เต็กก่า”  จีจินเกาะ

สมาคมเผยแผ่คุณธรรม “เต็กก่า”  จีจินเกาะ เป็นวัดจีนที่สร้างขึ้นในศิลปกรรมแบบจีน ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาสามารถนั่งเรือผ่านได้ ภายในวัดประกอบไปด้วย โบสถ์จีนสูง 8 ชั้น เป็นอีกหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญของวัด นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นโบสถ์จีนได้จากระยะไกล สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในศาสนสถานแห่งนี้ก็คือพระมหาธาตุเจดีย์พระจอมชาตรีไทยจีนเฉลิม ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมานมัสการ กราบไหว้ตามความเชื่อมากมาย โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2544 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงพระเมตตาเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพระมหาธาตุเจดีย์พระจอมชาตรีไทยจีนเฉลิม ในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการก่อตั้งสมาคม

9. ฮวยจุ่งล้ง หรือ ล้ง 1919

ฮวยจุ่งล้ง หรือ ล้ง 1919 พื้นที่อันเก่าแก่ของตระกูล “หวั่งหลี” ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในนาม ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” สถานที่อันที่เป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์อันรุ่งเรือง ในช่วงยุคทองของการค้าระหว่างไทย-จีนสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นสร้างจากไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง เป็นหมู่อาคารแบบ ซาน เหอ หยวน ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์ เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน และ ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว เทพที่คุ้มครองความปลอดภัยให้การเดินทางทางเรือ อีกทั้งเป็นเทพแห่งความมั่นคง และประสบความสำเร็จอีกด้วย ผู้คนจึงนิยมกันไปขอพรด้านการงานและความสำเร็จเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย อีกทั้งยังมีศิลปะที่โดดเด่นด้วยศิลปะเชิงอนุรักษ์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ไทยจีนได้ดีเลยทีเดียว

10. อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สร้างขึ้นสนองกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ พ.ศ.2536 ที่จะอนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสสถานเดิมครั้งทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ภายในสวนมีพิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สถาปัตยกรรมแบบจีน บ้านจำลองของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สถานที่แห่งนี้เป็นได้ทั้งที่เรียนรู้และสวนริมน้ำที่เป็นสถานที่ไว้สำหรับให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ เป็นทั้งพื้นที่รวมตัว พื้นที่ปฏิสังสรรค์ของชุมชน คนในย่านนิยมมาใช้พื้นที่อุทยานฯ ในรูปแบบของการออกกำลังกาย อาทิ วิ่งออกกำลังกายในตอนเช้า รำไทเก๊กในตอนกลางวัน และพื้นที่นั่งพักผ่อนในตอนเย็น

10 พื้นที่เรียนรู้ย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่นำมาเสนอในข้างต้นนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพื้นที่ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจย่านผ่านมรดกวัฒนธรรมจากหลากหลายความเชื่อและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ในย่านกะดีจีน-คลองสาน ยังมีพื้นที่การเรียนรู้อีกมากมาย ที่รอให้ผู้คนได้เข้าไปทำความรู้จักเพิ่มเติม หากท่านชื่นชอบและสนใจเรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และมรดกวัฒนธรรม สามารถมาเยี่ยมเยือนย่านและชาวย่านได้ หรือสามารถติดตามบทความเส้นทางการเรียนรู้ย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่เราจะกล่าวถึงต่อไปได้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ที่มาข้อมูล

การจัดการมรดกทางวัฒนธรรม

โครงการพัฒนาพื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน

เปิดภาพอนาคต’กะดีจีน-คลองสาน’ ฟื้นฟูเมืองเก่า สร้างโอกาสเศรษฐกิจ

กุฎีจีน พื้นที่มรดกวัฒนธรรมลุ่มน้ำบางกอก

มารู้จัก วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดไทยสร้างชื่อระดับโลก

สักการะ หลวงพ่อโต ซำปอกง วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร วัดศักดิ์สิทธิ์ ในกรุงเทพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

โบสถ์ซางตาครู้ส ที่เที่ยวกรุงเทพ ธนบุรี โบสถ์สวยริมน้ำ มรดกกว่าร้อยปี

มัสยิดบางหลวง

มัสยิดกูวติล (Goowatin Islam Mosque)

281 ปี ศาลเจ้ากวนอู (คลองสาน) เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย!!

เดินเพลิน “คลองสาน” เปิดตำนานย่านการค้าเก่าแก่ของฝั่งธนฯ

ศาลเจ้าพ่อเสือ (ตลาดสมเด็จ)

เที่ยววัดจีนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดจีจินเกาะ

“ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


Contributor