04/11/2020
Public Realm

แนวโน้มในการเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัย

The Urbanis
การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย  


ในอดีตการศึกษาเป็นการยกระดับชีวิต เลื่อนสถานะทางสังคม ใบปริญญาหลังจบการศึกษาจึงล้ำค่าเพราะแปลว่าโอกาสที่จะก้าวเท้าสู่การทำงานสว่างไสวในพริบตา แต่ปัจจุบันด้วยจำนวนบัณฑิตที่จบการศึกษามากขึ้น และการจบการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ได้การันตีการมีงานทำอีกต่อไป แถมกรอบการเรียนรู้แบบเดิมก็มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์จนหลายคนไม่ได้ค้นหาความถนัดของตนเอง เมื่อวันเวลาผ่านไป เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น คุณค่าการศึกษาและการเรียนรู้จึงมีการขยับปรับเปลี่ยน

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ทิศทางการเรียนรู้ได้เปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ด้วยอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ที่ทวีความเข้มข้นขึ้นจากการปฏิวัติเทคโนโลยีและการสื่อสาร โลกได้เคลื่อนออกจาก “ยุคอุตสาหกรรม” เป็น “ยุคหลังอุตสาหกรรม” ที่เศรษฐกิจสังคมตั้งอยู่บน “ฐานของความรู้” ข้อมูลข่าวสาร ความรู้และนวัตกรรมเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงความต้องการทักษะของทรัพยากรมนุษย์อันพึงประสงค์ที่แตกต่างไปจากเดิม

จากการศึกษาเนื้อหาเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สามารถอธิบายสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในองค์กรมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักระดับอุดมศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านสาระการเรียนรู้ (substance) ด้านวิธีการและเครื่องมือ (methods and tools) และด้านองค์กร (organization)

หมายเหตุ เนื้อหาเรียบเรียงจากโครงการจัดทำผังแม่บทฯ ศตวรรษที่ 2 : เขตการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. หมวดสาระการเรียนรู้

สาระการเรียนรู้ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันใน 5 ทิศทาง ได้แก่

1.1 การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้เชิงกว้างในอนาคต

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยลง ทำให้เกิดการคงอยู่ในตลาดแรงงานที่นานขึ้นของประชากรผู้สูงวัยในอนาคต รวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนงานบ่อยครั้งในช่วงชีวิตทำให้เกิดความต้องการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง ลอกคราบความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นคำตอบของการปลูกฝังแนวคิดตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในลักษณะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องเรียนรู้เชิงกว้าง บูรณาการหลายศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถปรับตัวทำความเปลี่ยนแปลงของอาชีพได้ทันท่วงที

1.2 ระบบการศึกษาเปิด

ระบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถกำหนดเนื้อหาสาระที่ต้องการเรียนได้ด้วยตนเอง (what) โดยสามารถเลือกเวลาในการเรียนรู้ (when) สถานที่ในการเรียนรู้ (where) และวิธีการในการเรียนรู้ได้ตัวตนเอง (which method) ซึ่งการศึกษาแบบเปิดจะตั้งอยู่บนหลักการเรียนรู้  3 รูปแบบ คือ ความเฉพาะตัว (personalization) ผู้เรียนสามารถเลือกเนื้อหา เวลาและวิธีการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับตัวเองได้ ความร่วมมือ (collaboration) ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้เรียนและผู้ให้การเรียนรู้ในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน  และความไม่เป็นทางการ (informalisation) สามารถเรียนรู้ได้ผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ

เรียกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการเรียนรู้ที่มีเพียงหลักสูตรสำเร็จรูป รูปแบบเดียวและถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ออกแบบเองได้ทั้งกระบวนการ

1.3 การศึกษาข้ามศาสตร์

การศึกษาข้ามศาสตร์จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคต การลดกำแพงระหว่างกลุ่มคนที่มีภูมิหลังทางความรู้ วัฒนธรรม และระดับทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ด้วยการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ และการทำให้การเชื่อมต่อที่เป็นทางการง่ายขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนานวัตกรรมข้ามศาสตร์เกิดได้ง่ายขึ้น

1.4 การศึกษาเพื่อทักษะ

การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่ง เมื่อผู้เรียนต้องการทักษะที่สัมพันธ์กัน ระหว่างความรู้ ชีวิตประจำวัน และสังคม สร้างการเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาและการทำงานจริงด้วยการฝึกฝนทักษะในพื้นที่ปฏิบัติงานจริงผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น internship, mentoring projects และ collaboration projects

1.5 สาระการเรียนรู้ใหม่ที่สัมพันธ์กับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างตลาดงานในอนาคต งานบางประเภทจะสูญหายไปและเกิดงานประเภทใหม่ขึ้นมาทดแทน รวมถึงงานบางประเภทจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่งของงาน การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อการคงอยู่ สูญไป หรือเกิดขึ้นใหม่ของสาระการเรียนรู้แห่งอนาคต

ด้านสาระการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมเช่นนี้จะทำให้ศูนย์กลางของการศึกษาย้ายจากสถาบันการศึกษามาอยู่ที่ผู้เรียนรู้ เงื่อนไขที่ผู้เรียนรู้ต้องการเพื่อสนับสนุนให้รูปแบบการเรียนรู้แบบเปิดมีประสิทธิภาพในอนาคตคือสภาพแวดล้อมเชิงนวัตกรรมที่เอื้อต่อการออกแบบวิถีการเรียนรู้เฉพาะบุคคล เช่น การมีระบบให้ผู้เรียนรู้สามารถออกแบบเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ส่วนบุคคลที่สัมพันธ์กับความแตกต่างของผู้เรียนรู้ในมิติต่างๆ เช่น ภูมิหลัง ความรู้เดิม แรงจูงใจในการเรียนรู้ หรือความสามารถของผู้เรียนรู้ (inclusive) การมีรูปแบบการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบมาอย่างเป็นระบบและหลากหลาย และเอื้อให้ผู้สอนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนผู้เรียนรู้ทุกรูปแบบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

2. หมวดวิธีการและเครื่องมือ

เมื่อสาระการเรียนรู้เปลี่ยนไป วิธีการและเครื่องมือก็จะต้องปรับตามให้สอดคล้อง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบ ได้แก่

2.1 การเรียนรู้บนฐานดิจิทัล

พื้นที่การเรียนรู้บนโลกดิจิทัลเป็นพื้นที่อีกรูปแบบหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนทั่วไป และกลายเป็นโอกาสและทางเลือกของการเรียนรู้ที่ใครก็เข้าถึงได้ ผู้คนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเคลื่อนที่ (mobile culture) และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับทุกสิ่งอย่าง (internet of things) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ICT ทำให้พื้นที่การเรียนรู้บนโลกเสมือนมีบทบาทแทนที่พื้นที่การเรียนรู้เชิงกายภาพ เกิดเป็นหลักสูตรออนไลน์ (MOOC: massive open online course) หรือบทเรียนออนไลน์อื่นๆ ยิ่งเกิดโรคโควิด-19 ก็ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเรียนรู้บนฐานดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

2.2 วิถีการเรียนรู้ด้วยตนเอง

แต่ละบุคคลก็ต่างมีรูปแบบการเรียนรู้ต่างกัน พื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนรู้มีระบบนิเวศการเรียนรู้ด้วยตนเองที่สมบูรณ์ขึ้น แต่ในทางกลับกันอุปสรรคของการเรียนรู้ด้วยตนเองคือความสามารถขั้นพื้นฐานของผู้เรียนรู้ ระบบสนับสนุนจากเครือข่ายหรือชุมชนการเรียนรู้จึงยังคงสำคัญ

2.3 การเรียนรู้ตลอดทั้งปี

ระบบการศึกษาเปิดและรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่ยึดติดกับกรอบเวลาจะส่งผลทำให้กรอบแนวคิดเรื่องเทอมการศึกษาเจือจางลง แทนที่ด้วยปฏิทินการศึกษาตลอดทั้งปี ทำให้สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับแผนกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การวางแผนทรัพยากรเชิงกายภาพ ระบบการตรวจวัดผลการเรียนรู้ การกำหนดงบประมาณ ฯลฯ เพื่อให้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้

2.4 พื้นที่การเรียนรู้ในอนาคต

การพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้เชิงกายภาพที่ตอบรับทิศทางการเรียนรู้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางกายภาพหรือพื้นที่บนโลกออนไลน์ การพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้เชิงกายภาพรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับทิศทางการเรียนรู้ในอนาคตจึงมีความสำคัญ เช่น ห้องเรียนที่ปรับเปลี่ยนได้และมีความยืดหยุ่น ห้องเรียนเพื่อการฝึกทักษะที่ต้องการการปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้า (face-to-face interaction) ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนรู้รูปแบบต่างๆ ห้องเรียนที่เหมาะสมต่อการใช้อุปกรณ์พกพาส่วนบุคคล (BYOD: bring your own device) พื้นที่ co-working space ห้องเรียน VR (virtual reality) เพื่อการเรียนรู้แบบดื่มด่ำ (immersive learning) ฯลฯ

2.5 มหาวิทยาลัยที่เชื่อมต่อกับชุมชน

การเรียนรู้ต้องผ่านการลงมือทำ เมื่อการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมยังคงเป็นพันธกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยชั้นนำ การสร้างความเชื่อมต่อระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนภายนอกจึงเป็นสิ่งสำคัญ การเชื่อมต่อนี้คลอบคลุมตั้งแต่เงินทุนเพื่อการวิจัย บุคคลากร และทรัพยากรเชิงกายภาพ อาทิ ห้องทดลอง เครื่องมือ อุปกรณ์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

2.6 การบริหารจัดการทรัพยากรบนฐานข้อมูล

การบริหารจัดการบนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและฐานข้อมูลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งการวางแผน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล กระตุ้นให้เกิดการนำทรัพยากรที่มีอยู่เดิมมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพบนหลักการแบ่งปันข้ามกำแพงของหน่วยงานและองค์กร โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและฐานข้อมูลจะเอื้อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรและพัฒนาระบบเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการวางแผน การตรวจสอบ และการประเมินผลลัพธ์ เป็นการกระตุ้นให้ระบบทรัพยากรเดิมถูกนำมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่มากขึ้นบนหลักการแบ่งปัน (Sharing) และข้ามกำแพงของหน่วยงาน

3. หมวดองค์กร

การเปลี่ยนแปลงด้านสาระและวิธีการเรียนรู้จะส่งผลกระทบสำคัญต่อคุณค่าและบทบาทขององค์กรการศึกษาในอนาคต กล่าวคือ เมื่อคุณค่าใหม่ของสังคมในอนาคตให้ความสำคัญต่อทักษะและความรู้มากกว่าปริญญาและความเป็นสถาบันการเรียนรู้ในระบบอุดมศึกษา

3.1 ทิศทางของมหาวิทยาลัยในอนาคต

มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างทางแยกการดำรงตัวเองคงคุณค่าแห่งสถานศึกษา (academy) หรือการเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรธุรกิจที่ตอบโจทย์การตลาด  

3.2 มหาวิทยาลัยในฐานะสนามทดลอง

การเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยเป็นสนามทดลองสำหรับการเรียนการสอน เป็นพื้นที่ที่ผู้เรียนรู้จะได้ทดลองบทบาทก่อนจะเข้าสู่สนามการทำงาน และเป็นพื้นที่ในการวิจัยศึกษาเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริง และมีความสามารถในการเติบโตได้ แนวคิดนี้ต้องการการปฏิรูปตั้งแต่การเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ยืดหยุ่นและคล่องตัวขึ้น การจัดเตรียมกองทุนสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การจัดตั้งสถาบันการวิจัยขั้นสูง การมีระบบติดตามผลงานของนักวิจัย ฯลฯ

3.3 มหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่ขัดเกลาทางสังคม

บทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่ฝึกฝนทักษะทางสังคมของมนุษย์ ที่ไม่สามารถแทนที่ได้ด้วยพื้นที่การเรียนรู้เชิงเสมือน แต่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ปล่อยของ ได้ฝึกทักษะทางสังคม การสื่อสารภายในหน่วยงาน การถกเถียงและนำเสนอผลงาน

3.4 สถาบันการศึกษาโดยองค์กรภาคเอกชน

องค์กรธุรกิจภาคเอกชนเริ่มถูกเพิ่มบทบาทในการพัฒนาสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างบุคคลกรที่มีความรู้และทักษะความสามารถที่เหมาะสมและสอดคล้องไปกับทิศทางการพัฒนาธุรกิจขององค์กร สามารถเชื่อมต่อระหว่างองค์ความรู้เชิงทฤษฎีกับการปฏิบัติงานจริงอย่างไร้รอยต่อ เพราะแนวโน้มการจ้างงานในอนาคตจะเน้นไปที่ทักษะที่ตรงกับประเภทงานมากกว่าใบปริญญา หน่วยงานเอกชนอย่าง Microsoft และ Google เริ่มเปิดคอร์สการเรียนรู้ของตัวเองและใช้เกียรติบัตรที่ออกโดยหน่วยงานเป็นการวัดผล


Contributor