04/08/2020
Mobility

โอกาส ‘Smart City’ และความท้าทายของเมืองข้างหน้า

The Urbanis
 


คำว่า ‘Smart City’ กลายเป็นเทรนด์ยักษ์ (Mega-Trends) ที่หลายเมืองทั่วโลกกำลังเดินหน้าพัฒนาอย่างเต็มตัว ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างชาญฉลาด พร้อมการบริหารจัดการเมืองอย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับคุณภาพชีวิตพลเมืองให้ดีขึ้น

เพียงแต่ปัจจุบันเวลาพูดถึงการ ‘พัฒนาเมือง’ หลายคนกลับสนใจแค่การพัฒนาเชิงกายภาพอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเมือง หรือเทคโนโลยีล้ำสมัย 

ทว่าแท้จริงแล้ว มิติของการพัฒนาเมืองมีความซับซ้อนมากกว่านั้น 

ในงานเสวนา City Talk: Thammasat City Futures and TDS Exhibition 2020 ณ ลาน EDEN ชั้น 3 ศูนย์การค้า Central World มีการพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองสู่การเป็น Smart City กับ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา สองวิทยากรที่มีบทบาทในการพัฒนาเมืองมาอย่างเข้มข้น ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อโอกาสและความท้าทายของเมืองอนาคต

Satellite Town อาจเป็นคำตอบของเมืองอนาคต

งานเสวนาเริ่มต้นด้วยการแนะนำวิทยากรทั้งสองท่าน ที่สามารถเป็นตัวแทนเมืองในประเทศได้สองแบบสองสไตล์ 

กล่าวคือ นิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) เมืองใหญ่ที่มีสาธารณูปโภคครบครันในนิคมอุตสาหกรรม ส่วน ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็เป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย อดีตผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักการเมืองที่ลงพื้นที่สำรวจกรุงเทพฯ แก้ปัญหาเรื่องเมืองอย่างจริงจัง 

นิพิฐ เล่าประวัตินวนครให้ฟังคร่าวๆ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งถึงปัจจุบัน ที่เติบโตจนมีลักษณะคล้ายเมืองค่อนข้างสูง เพราะนอกจากเป็นนิคมอุตสาหกรรมแล้ว นวนครยังมีแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งพาณิชยกรรม สถานพยาบาล หรือสถานศึกษา ฯลฯ เรียกว่ามีทุกองค์ประกอบของความเป็นเมืองเมืองหนึ่ง เว้นแค่แต่ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับว่าเป็นเมืองเท่านั้น

ชัชชาติจึงเสริมขึ้นมาว่า ลักษณะเมืองแบบนวนครอาจเป็นคำตอบของกรุงเทพฯ ในอนาคต เมื่อเราต้องการย่านเมืองย่อย (Satellite Town) ตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อกระจายความเจริญออกไปแก่ชุมชน เพราะกรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งเดียวของไทย ทำให้เรากลายเป็นประเทศที่หัวโตเกินไป

“ปัญหาเมืองส่วนใหญ่คือการที่อยู่อาศัยห่างไกลแหล่งงานมาก เป็นต้นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย ทุกคนต้องเดินทาง 2 ชั่วโมงมาทำงาน และเดินทางกลับ ฉะนั้นการเกิดย่านเมืองย่อยมากมายในกรุงเทพฯ​ อาจเป็นคำตอบของอนาคต” ชัชชาติกล่าว

COVID-19 เปลี่ยน Physical Connect กลายเป็น Digital Connect

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอย่างเดียว แต่ยังส่งผลไปยังทุกมิติของโลก โดยเฉพาะความเป็นเมืองที่มีหัวใจหลักคือ การเชื่อมโยง (Connectivity) ทว่าโควิด-19 กลับบังคับให้เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

ด้วยเหตุนี้ กรุงเทพมหานครหลังโควิด-19 ชัชชาติจึงเรียกเป็น ‘เมืองทวิภพ’

เพราะหัวใจของการพัฒนาเมืองคือการเชื่อมโยง โดยสมัยก่อนเป็นการเชื่อมโยงทางกายภาพเป็นหลัก เห็นได้จากการลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เช่น ถนน รถไฟฟ้า ระบบน้ำเสีย ฯลฯ 

แต่แล้วโควิด-19 ทำให้การเชื่อมโยงทางกายภาพกลายเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อโรค พร้อมกันนั้นก็เร่งให้เกิดการเชื่อมโยงใหม่ในโลกดิจิทัลขึ้นมา 

เท่ากับว่าปัจจุบันโลกของเรามาสองโลกที่เดินไปด้วยกัน คือการเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connect) และการเชื่อมโยงทางดิจิทัล (Digital Connect) หรือเมืองทวิภพในสายตาของเขานั่นเอง

“โควิด-19 ทำให้การเชื่อมโยงทางดิจิทัลมีพลังมากขึ้น แต่ก่อนเราไม่เคยไลฟ์สด ไม่เคยประชุมผ่านซูม แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ภายในอาทิตย์เดียว การเชื่อมโยงดิจิทัลทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้น และมันก็เปิดโอกาสให้เกิด Digital Transformation” ชัชชาติกล่าว

สองนครกับโอกาส Smart City

นครแรกคือ นวนครที่กำลังพัฒนาตัวเองสู่ Smart City โดยนิพิฐอธิบายถึงแผนการณ์ในอนาคตให้ฟังอย่างละเอียดว่า นวนครเป็นเขตอุตสาหกรรมมีโรงงาน 200 กว่าโรงงาน มีประชากรคนทำงานเกือบ 2 แสนคน อนาคตจะมีการเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างนวนครกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นผ่านระบบรางหรือถนน ซึ่งจะเชื่อมโยงทั้งสองพื้นที่นี้เข้าด้วยกัน

ส่วนการเชื่อมโยงทางเทคโนโลยีนั้น ได้มีการวางสาย Fiber-optic เรียบร้อยแล้ว พร้อมเกื้อหนุนให้โรงงานต่างๆ เข้าสู่การเป็น Smart Industry เต็มตัว รองรับกาทำงานโดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) 

สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งกายภาพและดิจิทัลระหว่างนวนครกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมไปถึง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) หรือ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) ที่จะนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีมาพัฒนานวนครให้เป็น Smart City

“ผมเชื่อว่า Smart City จะสร้าง Smart People แล้วรวมตัวกันเพื่อให้เกิด Smart Society เพื่อนำไปสู่การเป็น Smart Country ในอนาคต”

นครต่อมาคือกรุงเทพมหานคร ซึ่งชัชชาติกล่าวถึงสิ่งที่คาดหวังว่า เขาไม่ได้ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็น Smart City สมบูรณ์แบบ แต่ต้องการให้เป็นเมืองที่ ‘ฉลาดอย่างพอเหมาะ’

เพราะคำว่า Smart หลายคนจะนึกถึงแต่เรื่องเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนในเมืองนั้นกลับไม่ได้ใช้งาน ยกตัวอย่าง จุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะที่ปัจจุบันกลายเป็นจุดจอดรถข้างถนน หรือกล้อง CCTV อัจฉริยะที่ใช้งานได้บางตัว ฉะนั้นการพัฒนากรุงเทพฯ ต้องตอบโจทย์ความต้องการของคนในเมือง สร้างมูลค่าทางธุรกิจได้ และมีเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริง 

นอกจากนี้ ชัชชาติยังอ้างอิงผลสำรวจของ Mastercard’s Global Destination Cities Index ที่ระบุว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนอันดับ 1 ของโลก ขณะเดียวกันก็มีการจัดลำดับเมืองน่าอยู่ที่กรุงเทพฯ รั้งลำดับ 98 จาก 140 เมือง นี่จึงสะท้อนให้เห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยว แต่ไม่ใช่เมืองน่าอยู่ 

ความปรารถนาของเขาก็คือ อยากเปลี่ยนให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองน่าอยู่ แล้วกรุงเทพฯ​ ก็จะเป็นเมืองน่าเที่ยวด้วยเช่นกัน เขายกตัวอย่าง เมืองโอซาก้าที่เป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งจะกลายเป็นเมืองน่าเที่ยวโดยปริยาย และที่สำคัญคือการได้นักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาเยือนอีกด้วย 

“คำถามสำคัญก็คือ แล้วเราจะทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองน่าอยู่ได้ยังไง?”

คำตอบก็คือ การรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง

ช่วงท้ายของการเสวนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาสาฬห์ ได้ถามถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความท้าทายในอนาคต หากเมืองที่เราอยู่กำลังก้าวสู่การเป็น Smart City ซึ่งชัชชาติได้ให้คำตอบว่า โจทย์สำคัญที่ทุกคนต้องให้ความสนใจก็คือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ จะทำอย่างไรให้ทุกคนในเมืองเติบโตไปพร้อมกันโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งเขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “โจทย์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย”

ชัชชาติยกตัวอย่างปัญหาหาบเร่แผงลอยที่เคยเป็นประเด็นถกเถียงกันมา ในช่วงที่กรุงเทพฯ จัดระเบียบทางเดินเท้า ซึ่งบางคนสนับสนุนให้เกิดการไล่หาบเร่แผงลอยไปเสีย แต่ความเป็นเมืองจะกระทบทุกมิติ การไล่หาบเร่แผงลอยจะกระทบทั้งคนเดินเท้า กระทบพ่อค้า/แม่ค้าที่เป็นคนจน ทำให้เขาไม่มีที่ทำมาหากิน รวมไปถึงกระทบคนทั่วไปที่พื้นที่อาหารหายไป

“มิติเมืองมีความละเอียดมากกว่าแค่มิติเดียว ฉะนั้นความท้าทายที่สุดคือจะทำยังไงให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนบางกลุ่มอย่างเดียว นั่นคือสิ่งที่ต้องระวังให้ดี ทุกคนต้องไปด้วยกัน ไม่ต้องไปเร็วมากก็ได้ ค่อยๆ ประคองกันไป หันมาดูแลเส้นเลือดฝอยของแต่ละชุมชนให้ละเอียดขึ้นดีกว่า”

ส่วนนิพิฐเห็นด้วยกับชัชชาติทุกอย่าง และเสริมว่าผู้นำในการพัฒนาเมืองจะต้องตั้งใจและจริงใจ โดยยกตัวอย่างสุภาษิตที่ว่า ‘If you want to go fast, go alone. If you want to go far, go together.’ 

“ถ้าคุณอยากเดินไปข้างหน้าเร็วๆ คุณเดินไปคนเดียวเถอะ แต่คุณอยากเดินทางไปได้ไกล พวกเราต้องไปด้วยกัน ผมว่านั่นสำคัญมากกับการสร้างเมือง”

เพราะเมืองมีความซับซ้อนหลากหลายมิติและหลายสเกล ไม่ว่าจะเป็นเมืองเล็กๆ อย่างนวนคร และเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร แม้ทั้งสองจะมีบริบทแตกต่างกัน แต่ก็สรุปเหมือนกันว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือพลังจากประชาชนในเมืองเองนั่นแหละ ที่จะเป็นตัวกำหนด ขับเคลื่อน และเปลี่ยนแปลงเมืองไปในทิศทางใด ฉะนั้นผู้นำจึงต้องรับฟังเสียงประชาชนอย่างจริงจัง


Contributor