03/02/2021
Public Realm

บทถอดเรียนการส่งเสริมบทบาทพลเมืองต่อการพัฒนาฟื้นฟูเมือง กรณีศึกษา กรุงเทพ-ปารีส

สิตานัน อนันตรังสี
 


เพราะเมืองคือพื้นที่ซับซ้อน… มาไขความซับซ้อนจากเวทีเสวนา “การเปลี่ยนแปลงของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: อะไรคือบทบาทของพลเมือง” (Urban Changes in Southest Asia: what is the citizen’s role?) โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)  และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2564 สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ และ ศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย (IRASEC) ร่วมกับ UddC-CEUS มูลนิธิ Heinrich Boll และ UN WOMEN ได้ร่วมเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: อะไรคือบทบาทของพลเมือง” (Urban Changes in Southeast Asia: what is the citizen’s role?) ส่วนหนึ่งของเทศกาล Night Of Ideas ที่จึดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก

สำหรับ “ค่ำคืนแห่งความคิดที่กรุงเทพฯ” ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ได้แก่ ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านการพัฒนานิสิต จุฬาฯ และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านกุฎีจีน Dr. Adele ESPOSITO นักวิจัยศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส Dr. Dominique ALBA ผู้อำนวยการ Paris Urbanism Agency (APUR) ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ราชินีผังเมืองแห่งปารีส” และ ม.ล. จิรทิพย์ เทวกุล ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ยังธน” และ ผู้อำนวยการ UddC-CEUS

หนึ่งในความน่าสนใจของเวทีเสวนาครั้งนี้คือ ความซับซ้อนของระบบการบริหารจัดการเมือง

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ได้พูดถึงความซับซ้อนที่พบเมื่อ UddC-CEUS ร่วมดำเนินการกับกรุงเทพมหานคร เช่น โครงการสวยลอยฟ้าเจ้าพระยาและโครงการปรับปรุงทางเข้าพื้นที่รัตนโกสินทร์ โดยเล่าผ่านมุมมองของนักวางแผนว่า ตนเองนั้นเหมือนคนที่ยืนอยู่บนเส้นแบ่งเขตระหว่างสองโลก หนึ่งคือโลกของกรุงเทพหมานคร และสองคือโลกของความเป็นพลเมือง

ผู้อำนวยการศูนย์ UddC-CEUS สะท้อนว่าปัญหาของกรุงเทพมหานครมีความสลับซับซ้อน และตัวโครงสร้างระบบเองยังมีความรวมศูนย์ “เพราะว่ามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่นบางครั้งกรุงเทพมหานครเองอยากยกระดับพื้นที่ใต้ทางด่วนแต่ทำไม่ได้ การจะเริ่มทำโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยตัวกรุงเทพมหานครเองนั้นไม่ง่ายเลย หลายครั้งต้องทำการขอการอนุญาตจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงคมนาคม เสียก่อน นี่สะท้อนให้เห็นปัญหามากจากระบบโครงสร้างที่แท้” ดร. กล่าว

“ท่านทราบหรือไม่ว่าเฉพาะการปรับปรุงทางเท้าเส้นเดียวมีหน่วยงานถึง 18 หน่วยงาน”  ดร.นิรมลยกตัวอย่างข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบจากการดำเนินโครงการฟื้นฟูทางเท้าย่านรัตนโกสินทร์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแม้กรุงเทพมหานครจะมีงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่มากเพียงใด ก็ยังไม่สามารถทำโครงการต่าง ๆ ได้อันเนื่องมาจากปัญหาดังกล่าวนี้

อีกด้านหนึ่งในมุมมองของพลเมือง ดร.นิรมล กล่าวว่า ใน planner school จะเน้นย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ก็พึงรู้ไว้ว่าในความจริงมันไม่ง่ายเลย ทุกคนล้วนแล้วมีความแตกต่างกันอย่างมาก คนเราล้วนมีความต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการที่รับฟังคนเหล่านี้ที่เหมาะสม เพื่อที่จะรวบรวมปัญหา ไอเดีย และความฝันของคนเหล่านี้เข้าด้วยกัน

เช่น โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่าภายใต้ข้อจำกัดทั้งหมดนี้ ยังสามารถสร้างสิ่งที่สร้างสรรค์และสร้างพลังบวก โครงการสวนลอยฟ้านี้มาจากการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือร่วมกับคนในพื้นที่ ซึ่งนี่คือหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดเพราะมันทำให้เข้าถึงปัญหาที่แท้จริง 

“โครงการสวนลอยฟ้ามาจากแนวทาง bottom-up การมีส่วนร่วมของประชาชน การมีกระบวนการปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน กระบวนการเหล่านี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ดีที่สุด”

ตลอดสี่ปีโครงการนี้ยังต้องอาศัยการเจรจาระหว่างกรุงเทพมหานครและกระทรวงคมนาคม โครงการมีความขึ้น ๆ ลง ๆ แต่เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครก็มีความพยายามอย่างสูงในการผลักดัน ถึงแม้โครงการสวนลอยฟ้านี้จะเล็กก็ตาม ประกอบกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการโอกาสที่จะได้แสดงความต้องการของพวกเขาออกมา

ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข ในฐานะคนในพื้นที่ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านกุฎีจีน บอกว่าประชาชนในพื้นที่พอใจกับโครงการสวนลอยฟ้านี้มาก เพราะเดิมพวกเขาไม่มีพื้นที่สาธารณะในการมาพักผ่อนและออกกำลังกาย สวนลอยฟ้าแห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ที่ดี ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกรุงเทพมหานครในการเรียนรู้ที่จะสร้างพื้นที่สาธารณะ

อ.สรายุทธ ยังได้พูดถึงเรื่องราวของชุมชนกุฎีจีนว่า ชุมชนนี้มีความเก่าแก่มานานกว่ากรุงเทพฯ ชุมชนนี้เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่มีคุณค่าไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม หรืออย่างขนมไข่ สูตรอาหารที่ตกทอดกันมา แต่วิถีชีวิตในชุมชนนี้แตกต่างไปจากเดิมมาก เนื่องมาจากวิธีการเดินทางที่เปลี่ยนไปจากเรือเป็นรถ คนในชุมชนจึงมีการย้ายออกไปบ้าง ด้วยเหตุนี้จึงเลือกที่จะเปิดพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านกุฎีจีนเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนเอาไว้ส่งต่อไปยังลูกหลาน

ทั้งนี้ ดร.นิรมลยังได้บอกถึงความฝันของตนเอง นั่นคือ การเลือกตั้งผู้บริหารระดับเขต กทม.

“ในฐานะพลเมืองเราเจอปัญหาในแต่ละวันเกี่ยวกับกลไกการทำงานของเมือง และส่วนงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดคือระดับเขต แต่ทุกวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่าใครคือผู้อำนวยการเขต เพราะสิ่งนี้เปลี่ยนเร็วมาก ถ้าคุณอยู่ในเขตที่โชคไม่ดีนักจะเจอผู้อำนวยการเขตที่ที่ย้ายเร็วออกเร็ว กรุงเทพใหญ่กว่าปารีสมาก กรุงเทพมีเลือกตั้งผู้ว่า ซึ่งมีงานหนักในทุกวันปัญหาในกรุงเทพมีความซับซ้อน หน่วยงานเดียวไม่สามารถจัดการได้ กรุงเทพมหานครต้องการการจัดการท้องถิ่นที่ดี เทียบกับปารีส ชิบูย่า ถ้ามีปัญหาความต้องการในพื้นที่ต่าง ๆ มันไม่สามารถทำได้ง่าย ด้วยงบประมาณที่จำกัด และอะไรหลาย ๆ อย่าง” กล่าว

“มันไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจปัญหาของกรุงเทพมหานคร”

ข้างต้นคือคำพูดของ Dr. Dominique Alba ผู้อำนวยการ Paris Urbanism Agency (APUR) ซึ่งถอดบทเรียนการพัฒนาฟื้นฟูเมืองปารีส เธอบอกว่าทุกที่บนโลกล้วนส่งผลต่อแนวการคิดและการกระทำของคน ดังนั้น เมืองจำเป็นต้องวางแผนระยะยาว โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพที่จะเติบโต และมีพื้นที่อีกมากมายที่รอการพัฒนา

ดร. Alba ได้ยกตัวอย่าง 3 แนวทางที่ส่งผลต่อเมืองที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส  ประกอบด้วย 1) การจัดตั้งงบประมาณเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีจำนวนราว 5 พันล้านยูโรสำหรับ 6 ปี การใช้เงินตรงนี้ต้องมาจากประชาชน ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในการไปดำเนินโครงการต่าง ๆ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบริหารจัดการเงินตรงนี้ หน่วยงานนี้จะสำรวจความสอดคล้องกันของแต่ละโครงการที่ถูกเสนอมาจากประชาชน ถ้ามีโครงการที่ไปในแนวทางเดียวกันก็จะนำมารวมด้วยกัน และนำมาทำการลงคะแนน กระบวนการนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 2014 ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 2500 โครงการที่สำเร็จแล้ว ทั้งโครงการเล็กและใหญ่ปนกันไป ซึ่งสิ่งนี้นำมาซึ่งการเชื่อมความสัมพันธ์กันของกับเมือง

2) อีกหนึ่งอย่างที่สร้างสรรค์ คืออนุญาตให้ทุกคนสามารถมาสร้างสวนในเมือง โดยเอาดอกไม้มาแขวนไว้ที่หน้าบ้าน ปลูกผัก ผลไม้ ช่วยเปลี่ยนปารีสให้เป็นเมืองที่มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ต้นไม้ที่เยอะขึ้นทำให้เกิดพื้นที่ถนนสำหรับเด็ก เป็นสนามเด็กเล่น เพราะเมืองมีความหนาแน่นมากการมีพื้นที่สาธารณะจึงจำเป็น ปารีสเป็นเมืองที่มีความหนาแน่น พื้นที่ 100 กว่าตารางกิโลเมตรแต่ประชากรในแต่ละวันเยอะประมาณ 3.5 ล้านคน ทั้งคนอยู่อาศัย คนทำงาน นักท่องเที่ยว

“เรามีธรรมเนียมอันยาวนานในเรื่องพื้นที่สาธารณะ และตอนนี้เราก็มีแนวทางในการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่สาธารณะ ที่สามารถรวมผู้คนมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้” ดร. Alba กล่าว

3) การวบรวมของต้องการของประชาชนผ่านช่องทางที่เรียกว่า 7 places ไอเดียนี้คือการนำเอาสถาปนิกเข้าไปนั่งในซุ้มคอนเทนเนอร์เล็ก ๆ ตามที่ต่าง ๆ และสำรวจความต้องการของพลเมือง และเริ่มทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดีไซน์ที่นั้น ๆ บางครั้งสิ่งที่สถาปนิกได้ออกแบบออกมาก็ตรงกับความต้องการของประชาชน

ทั้งหมดนี้ ดร. Alba อยากเสนอให้เห็นว่า การวางแผนระยะยาวนั้นต้องท้าทายไปกับแผนระยะสั้นด้วย แผนระยะสั้นของเมืองโดยส่วนมากจะเข้าไปมีความเกี่ยวผันกับประชาชน ถึงแม้ว่าหน่วยงานที่จัดการเรื่องเมืองอาจจะไม่ตอบโจทย์ประชาชนโดยทั้งหมด แต่สถาปนิกนักวางแผนจะเป็นเหมือนตัวกลางที่เข้าไปเชื่อมความสัมพันธ์ระว่างคนกับระดับเมืองได้ นักวางแผนเมืองในยุคนี้ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้นซึ่งมันคือสิ่งที่ดี และระบบการเมืองและระบบงบประมาณก็เป็นสำคัญ

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล สัมภาษณ์ คุณ Alba ที่สำนักงาน APUR เมื่อปี 2016

นอกจากนี้ ดร. Alba  เผยถึงการทำงานกับระบบราชการคือต้องเผชิญหน้า Dr. Alba กล่าวว่า “you have to do simple way but think very complex.” หลายคนอาจจะพูดถึงการทำอะไรง่าย ๆ ในเมือง แต่ ดร. Alba ก็ออกมาปฏิเสธสิ่งนี้ เพราะว่าเมืองที่เราอยู่นั้นมีความซับซ้อน ผู้คนล้วนแล้วต่างชื่นชอบในความหลากหลายต่าง ๆ ความซับซ้อนไม่ใช่ปัญหาแต่มันจะต้องถูกจัดระบบให้มันง่าย และสิ่งที่ทางแนว Dr. Alba ได้ทำเป็นประจำเลยคือ การจัดพื้นที่ที่เปิดกว้างในการฟังเสียงประชาชน ทุกคนจะได้แสดงความต้องการของตัวเอง และทำให้โครงการดำเนินต่อไปได้

บทเรียนที่สำคัญจากการเสวนานี้คือ การแสดงให้เห็นว่า การวางแผนเมืองที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือการพูดคุยกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการต่าง ๆ กับประชาชน ทั้งหมดนี้จะล้วนนำมาสู่กุญแจที่ไขความซับซ้อนของเมือง ทำให้โครงการพัฒนาพื้นที่ในเมืองประสบความสำเร็จและสามารถสร้างพลังบวกไปยังสังคมในวงกว่าง ดังเช่นโครงการมากมายในปารีสและโครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา


Contributor