02/12/2022
Public Realm

สภาพแวดล้อมเมืองที่ส่งเสริมการเรียนรู้

นวพร เต็งประเสริฐ
 


“การเรียนรู้ในอนาคตจะไม่ได้สิ้นสุดแค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่สามารถเรียนรู้ผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยน”

สะท้อนให้เห็นสถานที่นอกห้องเรียนมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน สถานที่นอกห้องเรียนสามารถเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นพบและเรียนรู้สิ่งที่สนใจและตัวตนของผู้เรียนได้อีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือ สภาพแวดล้อมด้านกายภาพของเมืองแบบใดกันที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้

สภาพแวดล้อมเมืองที่ส่งเสริมการเรียนรู้สำคัญไฉน

การเรียนรู้ตามทฤษฎีของบรูเนอร์ (Bruner 1961) ที่กล่าวถึงความรู้นั้น ถูกสร้างหรือหล่อหลอมโดย ประสบการณ์ โดยผู้เรียนมีบทบาทรับผิดชอบใน การเรียน เป็นผู้สร้างความหมายขึ้นจากแง่มุมต่าง ๆ ผู้เรียนควรอยู่ใน สภาพแวดล้อมที่เป็นจริง สามารถเลือกเนื้อหาและกิจกรรมเอง จะสะท้อนให้เห็นกระบวนการเรียนรู้มักสอดคล้องกันระหว่างประสบการณ์ กับการออกแบบสภาพแวดล้อมที่มีส่วนช่วยให้เกิดสภาวะการเรียนรู้

ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายท่านได้ให้ความหมายกับคำว่าสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ไว้หลายอย่าง ทั้งเป็นสภาวะแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวผู้เรียน ทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เป็นสิ่งที่มีผลต่อตัวผู้เรียน ทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ สภาพแวดล้อมการเรียน คือ สิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้เรียนทั้งสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น อาคาร ห้องเรียน บรรยากาศ หรือแม้กระทั่งเมืองเอง ที่เป็นกายภาพสำคัญที่มีผลต่อตัวผู้เรียนโดยตรง

สภาพแวดล้อมทางกายภาพ เป็นปัจจัยและยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ในแนวคิดภูมิทัศน์การเรียนรู้ (learning landscape) ทำให้เกิดการตระหนักว่าการเรียนรู้มิได้ถูก จำกัดอยู่แค่ในพื้นที่การเรียนการสอนอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่ สภาพแวดล้อมเชิงกายภาพมีผลต่อประสบการณ์ของผู้เรียน ดังนั้น การออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพจึงมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อ กระบวนทัศน์การเรียนรู้ 

องค์ประกอบของเมืองน่าอยู่ที่สนับสนุนการเรียนรู้

พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ

เป็นมิตรต่อการเดินเท้า ลดบทบาทการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ใช้ระบบขนส่งมวลชนทดแทน เป็นการสร้างโครงข่ายเชื่อมพื้นที่สาธารณูปการอื่น ๆ ในเมือง ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่ในเมืองได้สะดวก สร้างทางเลือก ผสานและร้อยเรียงรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ภายในเมืองด้วย

ส่งเสริมการสร้างปฏิสัมพันธ์

หนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ คือการ สร้างเสริมประสบการณ์ผ่านการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ทางสังคม เมืองที่ ส่งเสริมการเรียนรู้ มีพื้นฐานของการออกแบบพื้นที่สาธารณะภายในเมืองที่เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และผู้คนในเมืองรู้สึกปลอดภัยในการทำกิจกรรมทุกช่วงเวลา มีการออกแบบสภาพแวดล้อมเชิงกายภาพ ให้เกิดปฏิสัมพันธ์ผ่านลานแลกเปลี่ยนชุมชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้

การพัฒนาชุมชน 

การปรับและเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้เข้ากับบริบทของเมือง การพัฒนาฟื้นฟู พื้นที่ชุมชน และการปรับพื้นที่รกร้าง ว่างเปล่า ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ให้ เป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้คนในเมืองและชุมชน อาทิ การเพิ่ม พื้นที่สีเขียวในเมืองให้กระจายตัวอยู่ในชุมชน การปรับลดพื้นที่สาธารณะ ที่มีกิจกรรมเฉพาะทางให้เล็กที่สุด และเพิ่มพื้นที่ที่ยืดหยุ่นสามารถ ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันได้หลากหลายรูปแบบ ให้คนในชุมชนได้ใช้งาน และ การเพิ่มห้องสมุดชุมชน 

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

การพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมืองอันส่งเสริมการเรียนรู้ และนวัตกรรม จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อยู่บนพื้นฐาน ของการประยุกต์ใช้ความรู้หลากหลายสาขาวิชา การผสมผสานความ แตกต่าง มีความหลากหลายขององค์กรยึดโยงกัน ซึ่งหลักการสร้าง นวัตกรรมแบบเกลียว 3 สาย (triple helix model หรือ H3 model) ซึ่ง ประกอบด้วยองค์กร 3 ประเภท ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยของรัฐ ที่ทำหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้ 2) เอกชน ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และ 3) ภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล อำนวยความ สะดวก (Henry Etzkowitz, 2008) โดย 3 องค์กรจะช่วยการผลักดันและ ขับเคลื่อน พัฒนาสาธารณูปการพื้นฐานที่สำคัญของเมือง ส่งเสริมพื้นที่ การเรียนรู้

กรณีศึกษาเมืองซันติอาโก (Santiago) ประเทศเม็กซิโก

ประเทศเม็กซิโก เป็นประเทศที่เผชิญกับปัญหาทางด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน ทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชาติพันธุ์ ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ส่งผลให้การพัฒนาระบบการศึกษาเป็นไปได้อย่างมีอุปสรรค 

ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้น เมืองซันติอาโก้ กลับได้ริเริ่มโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กับภาคีในพื้นที่ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเมือง เพื่อพัฒนาหลักสูตรในการให้ความรู้ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของ ประชาชนในเมืองทุกคน โดยหลักสูตรครอบคลุมและส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และคงไว้ซึ่ง วัฒนธรรมดั้งเดิมของเมืองเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีโครงการ The Vision Santiago โครงการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมภายในชุมชน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกิจกรรมที่หลากหลาย ได้ง่ายขึ้น รวมถึงโครงการ Designed for Better ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในห้องเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่

ภาพจาก https://uil.unesco.org/city/santiago

โครงการดังกล่าว ช่วยรักษาและถ่ายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนานให้แก่คนรุ่นหลัง นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้ชาวเมืองทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนอย่างเท่าเทียม สอดคล้องกับองค์ประกอบของเมืองน่าอยู่ที่สนับสนุนการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้เมืองซานติอาโก จึงได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ในประเทศเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ได้รับรางวัลในปี 2019 (UNESCO Institute for Lifelong Learning, 2019)

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าสภาพแวดล้อมเมืองมีผลอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยเฉพาะองค์ประกอบของเมืองด้านกายภาพที่อยู่รายล้อมรอบตัวผู้เรียนและส่งผลต่อชาวเมือง  ทั้งการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ การส่งเสริมการสร้างปฏิสัมพันธ์ การพัฒนาชุมชน และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดสภาวะการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

บทความดัดแปลงจากคู่มือการเรียนรู้ แนวคิด ประสบการณ์การฟื้นเมืองด้วยความรู้ บทเรียนจากกรุงเทพมหานคร

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)


Contributor