01/09/2020
Public Realm

เพราะเป็นคนกรุงเทพฯ จึงเจ็บปวด : เมืองไร้แสง ภัยจึงมี

The Urbanis
 


เคยไหม? เวลาเดินกลับบ้านคนเดียวในซอยเปลี่ยวตอนกลางคืน จู่ๆ คุณก็รู้สึกขนลุก ใจหวิว เสียวสันหลัง เหมือนมีใครเดินตามตลอดเวลา พอหันกลับไปก็ไม่มีอะไร นานเข้าคล้ายว่าเราเป็นโรคหวาดระแวงไปเสียแล้ว

มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณจะรู้สึกเช่นนั้น เพราะจากสถิติการรับแจ้งกลุ่มคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ภายในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วง พ.ศ. 2554 – 2558 พบว่า คดีวิ่งราวทรัพย์, กรรโชกทรัพย์, ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ไม่ได้มีแนวโน้มลดลงแต่อย่างใด หนำซ้ำบางคดียังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอีกด้วย เช่น คดีปล้นทรัพย์ที่มีจำนวนรับแจ้ง 56, 106, 105 , 113 และ 114 คดีตามลำดับ สอดคล้องกับผลสำรวจจากหน่วยวิจัยระดับโลก Economist Intelligence Unit ที่จัดอันดับกรุงเทพฯ ติดกลุ่มเมืองไม่ปลอดภัยที่สุดในโลก 12 ลำดับสุดท้าย และติดอันดับ 4 เมืองที่เกิดก่อการร้ายบ่อยและรุนแรงสูง

เมื่อเทียบกับผลสำรวจสภาพปัญหาการเดินเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2558 ของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ก็พบว่า ปัญหาสำคัญต่อการเดินเท้าในกรุงเทพฯ คือ ปัญหาด้านความปลอดภัย ประกอบด้วยปัญหาอันตรายจากอาชญากรรม 32.5 % ปัญหาอันตรายจากอุบัติเหตุบนทางเท้า 31.5 % และปัญหาในการเดินในยามค่ำคืน 31.5 % ตอกย้ำถึงความไม่ปลอดภัยในการเดินเท้ายามวิกาลอย่างมีนัยยะสำคัญ

ปัญหาดังกล่าวลดทอนศักยภาพการเดินในกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงให้เกิดคุณภาพการเดินเท้าที่ดีต่อไป หนึ่งในเครื่องมือขจัดความมืดคงหนีไม่พ้นการเพิ่มความสว่างไสวให้กับทางเดิน เพื่อยกระดับความปลอดภัย และเพิ่มความความกล้าในการสัญจรยามค่ำคืน

ทว่าที่ผ่านมากรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับรถยนต์มากกว่าคนเดินถนน สังเกตได้จากการติดตั้งเสาไฟฟ้าที่มีความสูงระดับ 9 เมตร มากกว่าเสาไฟฟ้าระดับ 3 เมตรที่ให้ความเข้มแสงเหมาะสำหรับทางเดิน แสงส่วนใหญ่จึงส่องไปยังถนนมากกว่าส่องทางเดิน รวมถึงการใช้หลอดไฟแบบดั้งเดิมที่กินพลังสูงมาก หลายประเทศทั่วโลกจึงมีแนวคิดสมาร์ทซิตี้ หันมาใช้แสงสว่างจากหลอด LED แทนหลอดดั้งเดิม ซึ่งประหยัดไฟมากกว่าเดิม 6 เท่า ให้ความเข้มแสงมากกว่า และทำให้เมืองสว่างกว่า

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความมืดเราก็ยังเห็นแสงสว่างส่องอยู่บ้าง เพราะล่าสุดต้นปีที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจนครบาลส่งข้อมูล 217 จุดเสี่ยงทั่วเมืองให้กรุงเทพมหานครนำไปดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาชญากรรม เช่น การตัดต้นไม้ ติดไฟส่องสว่าง และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้น เราหวังว่าการดำเนินครั้งนี้จะช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัย และลดระดับความหวาดระแวงของมนุษย์กรุงเทพฯ ให้หายไปเสียทีเถิด #สาธุ

อ้างอิง:
คดีอาญาที่สำคัญ โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 1 Feb 2019.
Vioce Online โดย Voice TV, 1 Feb 2019.
จาก “แสงสว่าง” สู่ “Smart Life” เทรนด์ชีวิตอัจฉริยะ ล้ำอนาคต [PR] โดย Brandbuffet, 1 Feb 2019.
ตำรวจเปิด 217 จุดเสี่ยงทั่วกรุงเทพ อันตรายห้ามเดินคนเดียว! โดย Khaosod, 1 Feb 2019.


Contributor