01/09/2020
Public Realm
ความสัมพันธ์ระหว่างเรา : คนกับพื้นที่เมือง และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะอย่างมีชีวิตชีวา
The Urbanis
พื้นที่สาธารณะคืออะไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง
‘พื้นที่สาธารณะ’ (Public Space) เป็นการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นรูปแบบไหน เช่น ถนน ทางเดิน สวนสาธารณะ สนาม ลานชุมชน ลานเมืองเป็นต้น ซึ่งสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้หรือแบ่งปันร่วมกันสมาชิกทุกๆ คน พื้นที่สาธารณะจึงเป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ในเชิงกายภาพซึ่งสามารถมองเห็นได้จากทุกคนและมีการเข้าถึงได้มากกว่าพื้นที่ส่วนตัว
นอกเหนือจากพื้นที่ทางกายภาพแล้ว จะต้องสร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างคนกับสถานที่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างให้พื้นที่สาธารณะเกิดการใช้งานอย่างมีชีวิตชีวาคือ การสร้างให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ดังนั้นพื้นที่สาธารณะจะต้องมีการเข้าถึงพื้นที่ การเชื่อมต่อที่ดี ความรู้สึกสบาย ปลอดภัย บรรยากาศที่เชื้อเชิญ และมีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้าสังคมของผู้ใช้พื้นที่
กรุงเทพฯ vs วอร์ซอ
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองขนาดใหญ่มีพื้นที่กว่า 1,569 ตร.กม. และมีประชากรกว่า 10 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบแล้วเมืองวอร์ซอมีพื้นที่ 517 ตร.กม. มีประชากร 2.5 ล้านคน กล่าวคือวอร์ซอมีขนาดเล็กกว่ามาก เห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบพื้นที่เมืองต่อจำนวนประชากรกรุงเทพฯ มีพื้นที่ต่อคนน้อยกว่าคนวอร์ซอถึงร้อยละ 25 อีกทั้งเมืองวอร์ซอยังมีพื้นที่สีเขียวโดยรวมกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่เมืองและสัดส่วนของพื้นที่สาธารณะยังมีสูงถึงถึง 62 ตร.ม.ต่อคน แต่คนกรุงเทพฯ มีเพียง 6.2 ตร.ม.ต่อคน หรือต่างกันกว่า 10 เท่า เห็นได้จัดเจนจากการที่เมืองวอร์ซอมีสวนสาธารณะกระจายอยู่กว่า 85 จุด
อีกทั้งรัฐยังมีแผนการพัฒนาพื้นที่เมืองอย่างสอดคล้องกันระหว่างประชากรและพื้นที่สาธารณะ มีการกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อรองรับต่อประชากรในอนาคตซึ่งจะมีสัดส่วนของวัยเด็กสูงถึงร้อยละ 30 ทำให้พื้นที่สาธารณะมีกิจกรรมและการใช้งานที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กหรือ Start up
มาตรการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดมลพิษ และวิธีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ
นอกเหนือจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมืองหลักๆ แลัว ยังมีมาตรการที่ทำให้เมืองวอร์ซอมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น โดยเป็นผลพลอยได้มาจากจุดประสงค์ที่ต้องการลดมลพิษจากรถยนต์ในพื้นที่เมือง เนื่องจากเมืองวอร์ซอมีจำนวนการเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองชั้นในจากแหล่งที่อยู่อาศัยนอกเมืองสูง ส่งผลให้มีจำนวนรถยนต์เข้ามาในพื้นที่เมืองชั้นในกว่าวันละ 1.5 ล้านคัน ก่อให้เกิดการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศสูง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิดการลดจำนวนที่จอดรถเปลี่ยนการใช้งานเป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่นันทนาการ และพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นการจำกัดจำนวนรถที่จะเดินทางเข้าเมือง ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดมลพิษแล้วยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในเมือง
ตัวอย่างพื้นที่สาธารณะ : ฟังก์ชันที่ใช้ได้จริง
ตัวอย่างพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ของเมืองอย่างพื้นที่ลานและทางเดินริมแม่น้ำวิสตูลา (Vistula) การใช้งานพื้นที่ริมน้ำยังได้มีการวางแผนให้สอดคล้องกับบริบทเมืองในแต่ละจุดและความต้องการของผู้คนที่หลากหลายแต่ยังคงแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อตอบโจทย์ใช้ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ อาทิ นิทรรศการหมุนเวียน ลาน และสนามเด็กเล่น ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกเชื่อมต่อไปยังพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และพื้นที่ทางเดินริมแม่น้ำ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงและเชื่อมต่อที่ดี
นอกเหนือจากการพัฒนาพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ในเมืองวอร์ซอ ยังมีการพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็ก ตัวอย่าง พื้นที่สาธารณะในเมืองวุชที่ห่างออกไปทางตอนกลางของประเทศโปแลนด์ โดยพื้นฐานแล้วเมืองวุชเป็นเมืองอนุรักษ์ ทั้งเมืองเต็มไปด้วยพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมและอาคารบ้านเรือนเป็นบล็อกมีพื้นที่สีเขียวอยู่ตรงกลางลักษณะ Court หรือ Backyards ทำหน้าที่เป็นสถานที่พักผ่อนและพื้นที่นันทนาการของกลุ่มอาคารบริเวณนั้น นอกเหนือจากพื้นที่สีเขียวที่แทรกไปตามกลุ่มอาคารยังมีพื้นที่สาธารณะอื่นประกอบไปด้วย สวนสาธารณะ ทางเท้า และลาน กว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่เมือง ซึ่งสามารถจัดแสดงมหรสพ การละเล่น งานแสดงศิลปะ ถนนคนเดิน ตามเทศกาลประจำปี และอื่นๆ อีกมากมาย ที่จะเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้พื้นที่สาธารณะของเมืองมีชีวิตชีวา
อีกทั้งยังมีพื้นที่ที่ยังคงอัตลักษณ์ของเมืองไว้คือพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมไว้เพื่อการใช้ประโยชน์ทางนันทนาการของเมืองอย่างโครงการ Manufaktura ที่มีการพัฒนาฟื้นฟูโครงสร้างอาคารเก่า เพิ่มการใช้งานอย่างพาณิชยกรรมและสำนักงานเพื่อเป็นแหล่งงาน และยังคงสอดแทรกการใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา โดยมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่รอบอาคารที่แต่ก่อนเคยเป็นพื้นที่บริการให้เกิดเป็นพื้นที่ลานที่มีขนาดเหมาะสมกับจำนวนคนจากกลุ่มอาคารโดยรอบ และตอบรับกลุ่มอาคารที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานไปเป็นอย่างดี
ไม่ได้จบที่การสร้างให้เกิด แต่ประเด็นอยู่ที่การดูแลรักษาและคงสภาพทางสังคมที่ดี
การเกิดพื้นที่สาธารณะจึงถือเป็นการได้คืนสิทธิบนพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริงและยังเป็นการกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เพราะคนในเมืองสามารถใช้งานจริงบนพื้นที่จริงไม่ใช่เป็นเพียงแผน แต่สุดท้ายแล้วการพัฒนาไม่ได้จบที่การสร้างให้เกิดพื้นที่สาธารณะ แต่ประเด็นอยู่ที่การดูแลรักษาและคงสภาพทางสังคม เพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิตชีวา
อ้างอิง:
– KNOWLEDGE โดย SCHL/CHNG_MKRS
– แนวคิดสาธารณะของพื้นที่สาธารณะในเมือง โดย ศุภชัย ชัยจันทร์ และ ณรงพน ไล่ประกอบทรัพย์
– หนังสือ Amazing City Łódź – The lasr unexpored city