01/09/2020
Public Realm

จากม่านรูดสู่ออฟฟิศสร้างสรรค์ : มุมมองเมืองผ่านสายตานักออกแบบ

The Urbanis
 


ภาพ : หฤษฎ์ ธรรมประชา

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ ถ.ประดิพัทธิ์ นอกจากภาพจำอย่างการเป็นถนนสายของกินที่คึกคักแหล่งรวมโรงแรมที่พักของชาวต่างชาติ และสถานสังสรรค์ยามราตรีแล้ว ประดิพัทธิ์ในทศวรรษที่ผ่านมายังเต็มไปด้วยการเปลี่ยนผ่านเชิงกายภาพและการไหลเวียนของผู้คนที่สำคัญจนอาจนำไปสู่การปรับประสานเป็นย่านประดิพัทธิ์ใหม่เช่นปัจจุบัน หมุดหมายสำคัญหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านบริเวณโดยรอบนี้คือการตัดผ่านของรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทที่ไม่เพียงเอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางเท่านั้น แต่ยังดึงดูดให้เกิดการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ที่พื้นที่

ประดิพัทธิ์ในวันนี้จึงเต็มไปด้วยโปรเจ็กน้อยใหญ่ เช่น คอนโด ร้านอาหาร คาเฟ่ชิคๆ ที่เริ่มเข้ามาเปิดตัวและแทบไม่น่าเชื่อที่ ซ.ประดิพัทธิ์ 17 นี้มีโครงการอาคารสำนักงานอย่าง 33 Space ในบรรยากาศเป็นกันเองซ่อนตัวอยู่ก่อนกระแสพื้นที่สร้างสรรค์จะเริ่มเป็นที่สนใจในประเทศไทย ถ้าจะพูดให้จ๊าบสมวัยหน่อยก็ต้องบอกว่า ที่ 33 Space นี้ช่าง Hipster before it was cool!

http://www.uddc.net/sites/default/files/image/wysiwyg/motel-02.jpg

ในเชิงพื้นที่ 33 Space เป็นอาคารสำนักงานที่มีขอบเขตแน่ชัดและอยู่ผสมกลมกลืนกับ ซ.ประดิพัทธิ์ 17 มานานจนเป็นส่วนหนึ่งของคนในย่านไปแล้ว อีกทั้งที่นี่ยังวางแผนระบบการอยู่ร่วมกันที่ค่อนข้างเอื้อให้คนทำงานใช้ชีวิตอย่างครบวงจร ทั้งการมีโรงอาหารกลาง มีลานจอดรถ มีแม่บ้านช่วยทำความสะอาด และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลตลอด 24 ชม. บรรยากาศภายในจึงดึงดูดทั้งผู้ประกอบการรวมถึงคนทำงาน และความคึกคักของถนนสายของกินอย่างประดิพัทธิ์ก็ช่วยเติมสีสันให้การทำงานและการใช้ชีวิตในย่านนี้

จากม่านรูดสู่พื้นที่สร้างสรรค์

แรกเริ่มเดิมที 33 space เกิดขึ้นจากการปรับปรุงพื้นที่ม่านรูดและห้องพักรับรองแขกระดับสูงที่หมดสัญญาเช่ามาแปลงโฉมเป็นออฟฟิศขนาดกะทัดรัดที่ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเก่าไว้ ความเป็นมิตรของพื้นที่ 33 space นี้ก็คือ ใกล้จุดเชื่อมต่อการเดินทางทั้งรถเมล์และรถไฟฟ้าในระยะเดินเท้า อีกทั้งความร่มรื่นย์และบรรยากาศที่เป็นกันเองของคนทำงานข้างในก็ช่วยเสริมให้พื้นที่ทำงานแห่งนี้ยิ่งน่าอยู่และดึงดูดผู้คนให้เข้ามาต่อคิวขอเช่าพื้นที่สำนักงานอย่างต่อเนื่อง

http://www.uddc.net/sites/default/files/image/wysiwyg/motel-03.jpg

อาจฟังดูโรแมนติก แต่สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ทั้งหลาย การลงทุนกับสภาพแวดล้อมของที่ทำงานนั้นถือเป็นค่าใช้จ่ายที่พวกเขายอมเสีย “ตอนแรกที่เข้ามาคนยังไม่ค่อยรู้จักที่นี่ ชอบบรรยากาศ มันถูกจริตกับเรา ตอนแรกเราไปเช่าออฟฟิศชั่วคราวแถวเพลินจิต เป็นออฟฟิศทาวเวอร์ ไม่มีหน้าต่าง เปิดแอร์ตลอดทั้งวัน มันเดินทางสะดวก แต่มันแห้ง พอเข้ามาดูที่นี่ ลมตีหน้าปุ๊บเรารู้เลยว่า โอเค จะอยู่ที่นี่แหละ” พี-พีรพัฒน์ กิตติสุวัฒน์ กราฟิกดีไซเนอร์ประจำ P. Library Design Studio หนึ่งในสมาชิกของพื้นที่ทำงานแสนละมุนละไมแห่งนี้เล่าให้ฟังถึงจุดตั้งต้นในการปักหลักทำงานที่นี่

http://www.uddc.net/sites/default/files/image/wysiwyg/motel-04.jpg

คนประเภทใกล้เคียงกันมักจะดึงดูดกันและกัน จากยุคตั้งต้นที่คนทำงานส่วนใหญ่ใน 33 Space คือสายสถาปัตย์ ก็เริ่มมีการชักชวนคนทำงานสร้างสรรค์สายอื่นเข้ามายังพื้นที่แบบปากต่อปาก เบิ้ม-กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล หรือที่รู้จักกันดีในนาม Wrongdesign นักออกแบบปกหนังสือ สมาชิกพื้นที่อีกท่านช่วยเสริมว่า “พอลักษณะคนที่มาอยู่มันทำงานใกล้เคียงกัน ก็เลยทำให้บรรยากาศการทำงานน่าสนใจขึ้น เรารู้สึกว่าคนทำงานสายเราค่อนข้างจะเรียกร้ององค์ประกอบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากทักษะการทำงาน อยากได้พื้นที่ดีๆ อากาศดีๆ อยากได้คนทำงานร่วมในส่วนงานอื่นที่น่าสนใจ”

เช่นนี้แล้ว 33 Space จึงเป็นพื้นที่ของความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้คนและบรรยากาศแวดล้อม เบิ้มยังเล่าถึงความสมดุลที่เกิดขึ้นระหว่างพื้นที่ส่วนตัวของคนทำงานกับพื้นที่ส่วนรวมที่เหล่าคนทำงานในนั้นเต็มใจจะแบ่งปันกัน เช่นการรวมกลุ่มกันออกกำลังกาย ชวนกันไปปาร์ตี้ หรือแม้กระทั่งระดมทุนพาแมวจรไปหาหมอ ซึ่งทำให้ความมักคุ้นในเชิงพื้นที่ก้าวข้ามไปยังความสนิทสนมและมิตรภาพส่วนบุคคล

น้ำมาปลากินหมด น้ำลดศิลปินจะกินพื้นที่?

ข้อถกเถียงหนึ่งเมื่อมีการเกิดขึ้นของพื้นที่สร้างสรรค์หรือ creative space ก็คือ การแทรกเข้าไปปรับปรุงหรืออยู่อาศัยในพื้นที่ของคนกลุ่มนี้จะตามมาซึ่งการรุกล้ำจนคนเดิมในพื้นที่อยู่ไม่ได้หรือไม่ หากศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์ชักชวนกันไปปักหลักทำงานหรือใช้ชีวิตในพื้นที่ใดสักระยะ สิ่งที่ตามมาแน่ๆ ก็คือความรุ่มรวยของความเป็นย่านในเชิงนามธรรมรวมถึงมูลค่าของที่ดินที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังกลุ่มคนสร้างสรรค์เข้าไปอยู่กินด้วย คำถามคือ กลุ่มผู้อยู่อาศัยหรือทำมาค้าขายเก่าในพื้นที่จะอยู่ต่อไปได้ไหมหากค่าครองชีพโดยรวมเพิ่มขึ้น

http://www.uddc.net/sites/default/files/image/wysiwyg/motel-05.jpg

“ปัญหาที่เราเห็นคือเหมือนน้ำใหม่ไปไล่น้ำเก่าจนเกินไป แล้วมันก็ผลักคนที่เขาเคยใช้ชีวิต เคยอยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อน โครงสร้างหนึ่งที่คนมักมองไม่เห็นกันก็คือ การมองแต่มุมตัวเองว่าเข้าไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้พื้นที่ แต่เมื่อเข้าไปแล้วค่าเช่าที่มันดีดตัวสูงขึ้น เหมือนไปกวนระบบ ร้านอาหารที่เคยเช่า เซ้ง ในราคาย่อมเยา พอมันมีพื้นที่แบบนี้เข้ามา เจ้าของที่ก็เริ่มไม่สนใจค่าเช่าแบบนี้แล้ว เพราะเขารู้ว่าสามารถได้ค่าเช่าอีกแบบถ้าปล่อยให้คนอีกกลุ่มเช่า หรือไม่ก็ขายไปเลย แล้วเรื่องพวกนี้มันเป็นปัญหาที่ย้อนกลับมาสู่คนทำงานสร้างสรรค์ทั้งหลาย ว่าพอถึงเวลาต้องใช้ชีวิตแบบปกติ ก็อาจจะเจอปัญหา เช่น ไม่มีที่กินข้าว คนเหล่านี้ตอนแรกก็เข้าไปด้วยความตั้งใจอันดีว่าจะเปลี่ยนพื้นที่ แต่พอเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ อาจจะเห็นอีกแบบหนึ่ง เห็นการรบกวนพื้นที่สาธารณะหรือชีวิตประจำวันของเขา แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นว่าไอ้ที่ต้องฝากท้องฝากชีวิต มันกลายเป็นห้างอย่างเดียว”

อย่างไรก็ตาม เบิ้มไม่ได้พยายามว่าร้ายต่อเจตนาของคนทำงานสร้างสรรค์ทั้งหลาย แต่นักออกแบบปกหนังสือท่านนี้พยายามชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการอุบัติใหม่ของปรากฏการณ์สักอย่างในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากขาดการจัดการที่รอบคอบและมองภาพกว้างของการอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง

ชวนศิลปินมาออกแบบเมือง

แล้วเมืองแบบไหนล่ะที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างแท้จริง ไหนๆ ก็มีโอกาสคุยกับคนทำงานสร้างสรรค์แล้ว เราจึงลองชวนพวกเขามาระดมไอเดียออกแบบเมืองในฝันที่น่าจะเป็นไปได้ไม่ยากในชีวิตจริง

เบิ้มกล่าวว่า “สำหรับเรามันคือการอยู่ร่วมกับชุมชน ถ้าเป็นไปได้เราอยากให้พื้นที่ใหม่กับพื้นที่เก่ามันอยู่ร่วมกันได้ กรุงเทพมีลักษณะอย่างหนึ่งที่มันเด่นชัด คือมีซอกซอย ถนนเล็กถนนน้อย มันสามารถให้เป็นที่ทำงานดีๆ ได้ โดยไม่ต้องมาแย่งพื้นที่หน้าถนน ถ้ามันหาสมดุลระหว่างพื้นที่ของคนสมัยใหม่ที่อยู่ร่วมกับเจ้าของพื้นที่เก่าได้ เราว่ามันก็โอเคมากแล้ว อย่างปัญหาพื้นฐานเวลากินข้าว เวลาลงจากคอนโดมาร้านข้าวเริ่มหายไปก็เจอปัญหา คอนโดเขาไม่ได้คิดเรื่องระบบการใช้ชีวิตอยู่แล้วน่ะ คิดแต่ในเชิงพื้นที่ เดินทางง่าย มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ฟังก์ชั่นในการใช้ชีวิตจริงเขาไม่ได้เอามาขายหรอก เช่น ลงจากคอนโดมาจะกินอะไร ตลาดอยู่ที่ไหน ทำอาหารกินเองหรือยังไง คนรุ่นใหม่ไม่ได้มีระบบคิดเรื่องพวกนี้”

ขณะที่กราฟิกดีไซเนอร์อย่างพีชี้ชวนให้เราตั้งคำถามกลับต่อการกำหนดความสามารถในการรองรับของเมืองหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง อย่างเช่น พื้นที่ประดิพัทธิ์ที่กำลังมีคอนโดขึ้นใหม่อีก 3 แห่งนั้น พีบอกว่าหากคำนวณเล่นๆ จะพบว่า การเกิดขึ้นของคอนโดเหล่านี้จะนำมาซึ่งปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นอีกราว 3,000 คัน

ด้วยความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของระบบขนส่งสาธารณะไทย การขยายตัวจึงอัดแน่นและแย่งชิงกันอยู่แต่ในพื้นที่กลางเมืองที่เอื้อต่อการรวมตัวกันทำงานและใช้ชีวิต พีเสริมในฐานะนักปั่นจักรยานว่า เขาต้องการให้มีอาคารจอดจักรยานใกล้รถไฟฟ้า เพราะหากพิจารณาสภาพความเป็นเมืองแล้ว คนเมืองอย่างเราๆ น่าจะเหมาะกับการปั่นจักรยานจากบ้านไปรถไฟฟ้ามากกว่าปั่นจากบ้านรวดเดียวมาที่ทำงาน

http://www.uddc.net/sites/default/files/image/wysiwyg/motel-06.jpg

“พอดีเป็นคนขี่จักรยาน แล้วเวลาเห็น กทม. ทำทางจักรยาน ทำเอาหน้าหมดเลย ถ่ายรูป จบไป ทุกอย่างใช้ไม่ได้จริง ด้วยปัจจัยหลายอย่าง กรุงเทพอาจไม่เหมาะจะเป็นเมืองที่คนขี่จักรยานเป็นหลัก ถนนกรุงเทพไม่ได้เกิดมาเพื่อจักรยานเลย หรือแม้แต่ภูมิศาสตร์ของประเทศด้วย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน มันอาจไม่ได้เอื้อให้เกิดการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันขนาดนั้น แต่สิ่งที่เราคิดว่ามันทำได้จริงๆ คือการสร้างที่จอดจักรยาน เพราะมันคือการเชื่อมต่อการเดินทางของคนแต่ละบล็อกแต่ละโซนให้สะดวกยิ่งขึ้น ทำโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่งั้นคนก็ไม่กล้าเดิน ไม่กล้าปั่น กลับไปใช้รถ”

พียังกล่าวติดตลกว่า “ไอ้ที่ล็อกจักรยานใต้รถไฟฟ้าน่ะเหรอ อันนั้นอย่าเรียกว่าที่จอดจักรยานเลย ถ้าอยากสนับสนุนการใช้จักรยานในกรุงเทพจริงๆ ทำที่จอดจักรยานก่อน อย่างเดียวเลย คนใช้น่ะมี แต่ที่ไม่มีคือความปลอดภัยและการรองรับให้พวกเขา”

“กรุงเทพมันขาดแคลนทางเลือกในการใช้ชีวิต”

“เราต้องการทางเลือก เราว่าเมืองที่ดีคือเมืองที่มีทางเลือก ทางเลือกทุกอย่าง การเดินทาง การใช้ชีวิต การกิน บางวันเราก็ไปแถวอารีย์อยู่แล้ว อยากกินอาหารญี่ปุ่นดีๆ แต่จะให้จ่ายอย่างนั้นทั้งเดือนก็ไม่ไหว ก็อยากกินกะเพรา ข้าวแกงหน้าปากซอย เมืองที่ดีคือเมืองที่สามารถตอบสนองให้คนทุกระดับได้อย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่ได้นอกจากใช้รถส่วนตัวหรือนั่งวินเท่านั้น เดินเข้าซอยบ้านก็อาจโดนรถเฉี่ยว ร้อนด้วย ฟุตบาธเดินไม่ได้จริง กรุงเทพมันขาดแคลนทางเลือกขึ้นเรื่อยๆ” เบิ้มทิ้งท้ายเป็นโจทย์ใหญ่ว่าเราจะหาพื้นที่ตรงกลางสำหรับการอยู่ร่วมกันภายใต้ความต้องการที่แตกต่างได้อย่างไร

คำตอบทั้งหมดเป็นเพียงอุดมคติของเมืองที่นักออกแบบทั้งสองอยากเห็น แน่นอนว่าเราไม่อาจหยุดยั้งการเติบโตของเมืองได้ โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่พร้อมจะมีแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ มาให้คนเมืองทดลองใช้ การจัดการต่อพลวัตของการพัฒนาเช่นนี้จึงไม่ควรหยุดอยู่ที่การกล่าวโทษต่อการลุกล้ำของวัฒนธรรมใหม่ เพราะไม่เสมอไปที่โลกาภิวัตน์จะทำลายโลกเก่าลงอย่างราบคาบโดยไร้ซึ่งการปรับประสานของคนในพื้นที่

การเกิดขึ้นของย่านสร้างสรรค์โดยผู้ประกอบการ และการรวมตัวของกลุ่มคนที่พยายามออกแบบพื้นที่ไม่ให้รบกวนต่อความเป็นอยู่เดิมอย่างพื้นที่ของ 33 Space ช่วยตอกย้ำให้เราเห็นว่าการพัฒนาพร้อมไปกับการคำนึงถึงองค์ประกอบทางพื้นที่อย่างรอบด้านก็เป็นตัวช่วยสำคัญในการฟื้นชีวิตให้ย่านกลับมาคึกคักอีกครั้ง คนเหล่านี้เองที่จะมาช่วยสำรวจตรวจสอบย่านผ่านการใช้งานพื้นที่จริงด้วยการเดินและการปั่นจักรยานอย่างที่นักออกแบบทั้งสองข้างต้นทำ การพัฒนาพื้นที่ผ่านการสำรวจมุมมองและพฤติกรรมของ “คนใน” จึงทำให้เราสามารถเข้าใจและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่อย่างมีประสิทธิผล

มาร่วมติดตามผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของย่านสร้างสรรค์อุบัติใหม่อย่าง 33 space ที่สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการเดินเท้าไปกับเรา โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี

#GoodwalkThailand

อ้างอิง:
Goodealk เมืองเดินได้-เมืองเดินดี


Contributor