01/06/2023
Public Realm

Urban gender: เมืองไม่จำกัดเพศ

จุฬารัตน์ ป่าหวาย
 


ด้วยยุคปัจจุบันกระแสความนิยมทั่วโลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด การเปิดกว้างทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องของความหลากหลายทางเพศกลายเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น หลาย ๆ ประเทศอนุมัติให้มีการจดทะเบียนสมรสที่นอกเหนือจาก ชาย-หญิง อีกทั้งในแง่ของแฟชั่นเครื่องแต่งกายแบบ Unisex ก็เป็นกระแสที่โด่งดังมากขึ้นตาม ๆ กันมา ซึ่งหลายคนมองว่าแฟชั่นการแต่งกายนั้นไม่ควรจำกัดอยู่ที่เพศใดเพศหนึ่ง บ้างกล่าวว่าเสื้อผ้าไม่มีเพศ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้สวมใส่ว่าแบบไหนเราถึงจะมั่นใจและเป็นตัวของตัวเอง

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องของปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่ต่างกันคือเรื่องของการออกแบบเมือง โดยการออกแบบเมืองในที่นี้จะหมายถึง การจะออกแบบเมืองอย่างไร เพื่อให้รองรับกับการใช้ชีวิตบนพื้นฐานความหลากทางทางเทศ และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป

The Urbanis อยากจะชวนผู้อ่านทุกท่านมาดูกันว่าถ้าเราสามารถออกแบบเมืองภายใต้หัวข้อความหลากหลายทางเพศได้ เมืองแห่งนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อห้องน้ำกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งความหลากหลายทางเพศ

อย่างที่เราคุ้นชินและเป็นที่รู้กันดีว่าห้องน้ำสาธารณะทั่วไป ทั้งในห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ หรือในพื้นที่ใดก็ตาม มักถูกแบ่งแยกเพื่อรองรับกับการใช้งานตามเพศกำเนิด กล่าวคือเพื่อรองรับสำหรับเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงของสังคมปัจจุบันหลายคนมักเลือกวิถีทางเพศเป็นของตัวเอง หากกล่าวให้เข้าใจโดยง่ายคือ เพศวิถี ไม่เท่ากับ เพศกำเนิด นั้นเอง

เมื่อเรามองว่าห้องน้ำคือพื้นที่สาธารณะขั้นพื้นฐานที่สำคัญของเมือง ดังนั้นการออบแบบห้องน้ำที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเมือง ให้รองรับกับการใช้งานบนพื้นฐานความหลากหลายทางเพศอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สำคัญ เพราะการใช้ห้องน้ำที่ไม่ตรงตามเพศวิถีอาจจะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ขัดแย้ง ถึงขั้นร้ายร่างกายตามหน้าข่าวที่พบเห็นได้ทั่วไป ประเด็นการออกแบบห้องน้ำไร้เพศจึงมีกระแสมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บทความเรื่อง “Why Architects Must Rethink Restroom Design in Schools” โดย JoAnn Hindmarsh Wilcox และ Kurt Haapala (2016) ได้นำเสนอห้องน้ำที่ถูกออกแบบใหม่โดยบริษัท Mahlum ในโรงเรียนหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา สถาปนิกได้เปลี่ยนห้องน้ำสาธารณะจากลักษณะของ “ห้อง” เป็น “เขตพื้นที่” ห้องน้ำ ที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างอิสระโดยไม่กั้นแบ่งเป็นพื้นที่ของเพศใดเพศหนึ่ง และสุดท้ายการออกแบบยังคำนึงถึงรายละเอียดเล็กๆ เช่น การออกแบบสัญลักษณ์แทนห้องน้ำที่ไม่จำเป็นต้องระบุเพศเพื่อย้ำว่าห้องน้ำสาธารณะนี้เป็นของทุกคน

ที่มาภาพ https://www.nbcnews.com/politics/congress/democratic-lawmakers-call-unisex-bathrooms-capitol-rcna33778

สวนสาธารณะ พื้นที่แห่งความสบายใจ

สวนสาธารณะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่องค์ประกอบที่เมืองต่าง ๆ ต้องมีไว้ประดับเมือง โดยส่วนมากใช้เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งพบปะพูดคุยกันในหมู่เพื่อน หรือแม้แต้เป็นสถานที่สำหรับการออกกำลังกาย แต่ทว่า พื้นที่เหล่านั้นกลับถูกออกแบบมาโดยไม่ได้คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ หรือแม้แต่ในบางครั้งพื้นที่เหล่านั้นยังดูเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับคนบางกลุ่ม เช่น การออกแบบแสงไฟที่สว่างไม่เพียงพอ อาจจะทำให้สวนสาธารณะดูน่ากลัวและไม่ปลอดภัยในเชิงอาชญากรรมสำหรับผู้หญิง เด็กหรือกลุ่ม LGBTQ+ เป็นต้น

จากการศึกษาของ Queering Public Space โดยความร่วมมือระหว่าง Arup และ The University of Westminster กล่าวไว้ว่า “เราต้องก้าวข้ามแนวคิดในการออกแบบพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้คำนึงถึงความหลากหลายของผู้ใช้งาน” ดังนั้นแล้ว การออกแบบพื้นที่สาธารณะที่สามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัย เสริมคือการสร้างพื้นที่เพื่อป้องกันการทำร้ายโดยอคติ รวมไปถึงการส่งเสริมความกล้าแสดงความรักของกลุ่ม LGBTQ+ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราไม่ควรจะมองข้ามในโลกปัจจุบัน และค่านิยมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

ที่มาภาพ https://www.wmagazine.com/culture/fire-island-pines-art-trailblazers-park-tm-davy

ต้องยอมรับว่าโลกกำลังพลวัตและกำลังเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าเป็นห้องน้ำไรเพศหรือสวนสาธารณะเพื่อทุกคน อาจจะเป็นพื้นที่เพียงแค่ตัวอย่างเบื้องต้นที่อยากจะนำเสนอให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้จัก ถึงแม้เป็นเพียงแนวคิดในการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นแนวทางหรือจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการนำไปปรับใช้ และอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศภายในเมืองได้

ท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมืองในรูปแบบไหน เมืองที่สร้างจะเป็นเมืองแบบใด ต้องไม่ลืมว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครด้อยกว่าใคร ไม่มีใครเด่นไปมากกว่าใคร บนบรรทัดฐานของความเป็นมนุษย์และการใช้พื้นที่เพื่อส่วนรวม และต้องไม่ลืมว่าเมืองคือพื้นที่สำหรับทุกคน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

วณัฐย์ พุฒนาค. (2564). GENDER DIVERSE-CITY หน้าตาของเมืองเพื่อความหลากหลายทางเพศ

ลัษมณ ไมตรีมิตร. (2561). ห้องน้ำกับความเท่าเทียมทางเพศในพื้นที่สาธารณะ

ภัชรกรณ์ โสตติมานนท์, พิชชาพร อรินทร์. (2565). ‘Unisex’ มากกว่าแฟชั่นคือความเท่าเทียม


Contributor