24/12/2019
Mobility

สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า อนาคตการเคลื่อนที่ในเมืองกับสิทธิร่วมกันบนท้องถนน

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


กรุงปารีสเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นประชากรสูงกว่า 20,000 คนต่อตารางกิโลเมตร นับว่าสูงมากเกือบ 4 เท่าเมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานคร  ข้อมูลจากวิกิพีเดียและโครงการกรุงเทพฯ 250 เมื่อปี 2558 ระบุว่า  กทม.  มีความหนาแน่นประชากรกว่า 5,300 คนต่อตารางกิโลเมตร  มีเฉพาะย่านรัตนโกสินทร์เท่านั้น ที่หนาแน่นเพียง  3,800 คนต่อตารางกิโลเมตร

ดังนั้น ประเด็นการเคลื่อนที่ในเมือง (Urban Mobility) จึงเป็นเรื่องสำคัญ  หากไม่ต้องการให้เมืองวุ่นวายกลายเป็นนรกบนดิน

เป็นที่ทราบกันดีว่า Urban Mobility ขั้นพื้นฐานของคนเมืองทุกคน คือ การเดิน หากประเด็นการเดินในปารีส รวมถึงเมืองใหญ่ทั่วโลก อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงสักเท่าไหร่แล้ว (ต่างจากกรุงเทพฯ) เนื่องจากหลายเมืองเดินได้เดินดีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19-20  ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการเดินที่เข้มแข็ง และเมืองก็มีสาธารณูปการส่งเสริมการเดินเท้าที่มีคุณภาพดีครอบคลุมทั้งเมือง

ดังนั้น จึงขอข้ามช็อตไปกล่าวถึง อนาคตของการเคลื่อนที่ในเมือง (The Future of Urban Mobility)

คำถามที่ถูกถามถึงบ่อยครั้งต่อประเด็นดังกล่าว อย่างเช่น คนจะเดินทางได้สะดวกรวดเร็วแต่ใช้พลังงานน้อยลงและปล่อยมลพิษน้อยลงได้อย่างไร คนที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว เด็ก คนสูงอายุ จะสามารถเดินทางในเมืองได้อย่างอิสระและปลอดภัยได้อย่างไร หรือจะใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างไร

คำถามดังกล่าวนำมาสู่การคิดค้นทดลองใหม่ๆ ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา เช่น การแบ่งปันพาหนะร่วมกัน (Mobility Sharing) ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (E-moblility) และยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Driving) ทั้งที่เมืองทดลองทำเองและร่วมมือกับภาคเอกชนหรือภาคการศึกษา โดยเฉพาะเทรนการแบ่งปันพาหนะ ทั้งจักรยาน รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ เป็นต้น

สำหรับปารีส เมืองใหญ่แห่งนี้ภูมิใจนำเสนอน้องใหม่ในตระกูลแชร์ นั่นคือ แชร์สกู๊ตเตอร์ หรือเรียกในภาษาท้องถิ่นอย่างน่าเอ็นดูว่า ตร็อตติเน็ต (Trottinette)

ตร็อตติเน็ต ได้รับความนิยมอย่างระเบิดระเบ้อ ไม่เพียงเพราะเร็วกว่าเดิน เพลินกว่าวิ่ง แต่ยังมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา หิ้วไปมาสะดวก ไม่มีปัญหาโดนค้อนเวลาหิ้วขึ้นรถไฟฟ้าเหมือนจักรยาน แถมยังชาร์จไฟฟ้าได้ ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะมีข้อดีหลายประการ โดยเฉพาะไม่สร้างมลภาวะทางอากาศ แต่ดูเหมือนว่า Trottinette จะกลายเป็นมลภาวะของการสัญจรบนทางเท้าและถนนในกรุงปารีสแทน

ความสะดวกสบายและยังไม่ถูกควบคุมด้วยกฎหมาย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Trottinette เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในปี 2018 ที่ผ่านมา Trottinette มียอดขายรวมทั้งประเทศ 233,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 129% เทียบกับปี 2017 มีผู้ให้บริการ Shared Scooter เฉพาะในปารีสเพิ่มเป็น 11 เจ้า มี Trottinette ให้บริการเพิ่มจาก 15,000 คัน เป็น 40,000 คันภายในปีเดียว

แต่ที่เพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงจำนวน Trottinette เท่านั้น แต่รวมไปถึงจำนวนอุบัติเหตุอีกด้วย รายงานจากโรงพยาบาลในกรุงปารีส พบมีผู้เสียชีวิตจากการใช้สกู๊ตเตอร์แล้ว 5 ราย บาดเจ็บอีก 284 คน

ผู้ต่อต้านส่วนใหญ่มองว่า Trottinette เป็นยานพาหนะที่แทบไม่มีการควบคุม บ่อยครั้งจะเห็น Trottinette ซิ่งด้วยความเร็ว (ความเร็วสูงสุดคือ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ความเร็วคนเดินเท้าคือ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และเฉี่ยวชนคน โดยเฉพาะคนแก่ที่หูตาไม่ดี  เดินช้าหลบไม่ทัน หรือพ่อแม่ที่จูงลูกเล็ก หรือเอาลูกใส่รถเข็นเด็กมาเดินเล่น 

ส่วนปัญหาอื่นที่พบ เช่น คนที่ใช้ Shared Trottinette ไม่ได้เตรียมหมวกกันน็อคมาด้วย ประมาณว่าเดินเหนื่อยๆ แล้วติ๊ดจ่ายเงินค่าใช้บริการ  แล้วไส Trottinette ต่อไปเลย แถมหลายคนประสบอุบัติเหตุล้มหัวฟาดอีกด้วย จากการสำรวจพบว่า ผู้ใช้ Trottinetter ส่วนใหญ่ (ทั้งซื้อเองและใช้บริการ Shared) ไม่เคยขับขี่ยานพาหนะใดมาก่อน จึงไม่ค่อยทราบกฎจราจร มีการขับย้อนศร ยืนซ้อนสองเป็นประจำ คนขี่จักรยานก็ไม่ชอบ Trottinette เพราะไม่มีเบรก ขับขี่ทะเล่อทะล่า เป็นต้น

ตลอดปีที่ผ่านมา จึงมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องสิทธิของการเคลื่อนที่ในเมือง “Your liberty ends where mine begins” คุณมีอิสระจะเคลื่อนที่อย่างไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ไปกระทบอิสระของการเคลื่อนที่ของผู้อื่น จนนำมาสู่มาตรการทางกฎหมายที่กระทรวงคมนาคมของฝรั่งเศส เตรียมบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2562 เพื่อควบคุมการขับขี่ Trottinette เช่น ควบคุมความเร็ว ห้ามขับเกิน 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กรณีฝ่าฝืนมีโทษปรับ 135 ยูโร นอกจากนี้ ผู้ขับขี่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตโดยต้องผ่านการอบรม  สวมหมวกกันน็อค และที่สำคัญคือห้ามขับขี่บนทางเท้า โดยเฉพาะทางเท้าที่แคและมีการใช้งานหนาแน่น

ข้อถกเถียงเรื่อง Trottinette เป็นวาระสำคัญของกรุงปารีส ถึงขั้นการ์ตูน​ในหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ข้อความในเชิงแดกดัน  ‘สิ่งเดียวที่รัฐบาลไม่กล้าทำกับเหล่า trottinette คือจับใส่ yellow jacket!’

โดย ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC


Contributor