22/06/2021
Mobility

ปรากฏการณ์ Bike Boom ทั่วยุโรป จากการเคลื่อนที่ในเมืองที่เปลี่ยนไปเพราะวิกฤตโควิด-19

สรวิชญ์ อังศุธาร
 


โรคระบาดสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงต่อการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติในหลายช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ เช่นกันกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อปลายปี 2019 ที่ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ เช่น การเดินทางและการเคลื่อนในเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป จากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส เพิ่งนำเสนอสารคดีเชิงข่าวความยาวประมาณ 30 นาที พาสำรวจปรากฏการณ์ Bike Boom ในหลายเมืองทั่วยุโรป ที่พบว่าวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา เปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางและรูปแบบการเคลื่อนที่ในเมืองอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะค่านิยมการใช้งานจักรยาน แทนการใช้บริการขนส่งสาธารณะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส

ปรากฏการณ์ Bike Boom ไม่เพียงสะท้อนผ่านจำนวนคนใช้จักรยานที่เพิ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว กระทั่งจักรยานขาดตลาดและต้องอาศัยการสั่งจองล่วงหน้านานนับเดือน มลพิษในอากาศน้อยลงกว่า 50% เมืองเปลี่ยนผิวจราจรของรถยนต์เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งของผู้คน ฯลฯ หากยังสะท้อนผ่านการกำหนดนโยบายของเมืองที่รองรับค่านิยมดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกะทันหัน ตลอดจนการป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

อัมสเตอร์ดัม – จักรยานคาร์โก อีกก้าวของเมืองหลวงจักรยานของโลก

หลายเมืองในยุโรปรับมือกับปัญหาการเดินทางในช่วงโควิด-19 ด้วยจักรยาน แทนการใช้บริการขนส่งสาธารณะที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ พูดถึงจักรยานเชื่อว่าหลายคนคิดถึงเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะเมืองหลวงจักรยานของโลก

ต้องย้อนไปในอดีตเมื่อเนเธอร์แลนด์เคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีถนนอันตรายที่สุดสำหรับเด็ก กระทั่ง Maartje van Putten เริ่มต้นแคมเปญ หยุดการฆาตกรรมเด็ก เมื่อปี 1973 เธอกล่าวว่า ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุมันสูงมาก จนเรารู้สึกว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง แคมเปญนำร่องรณรงค์ที่กลุ่มคุณแม่ ผ่านการเรียกร้องให้วันอาทิตย์เป็นวันปลอดรถอย่างน้อยเดือนละครั้ง

ตัดภาพในปัจจุบัน เนเธอร์แลนด์มีเลนจักรยานรวมกว่า 767 กิโลเมตร เฉพาะในเมืองหลวงอย่างอัมสเตอร์ดัมมีจำนวนจักรยานมากกว่าจำนวนประชากรในประเทศ และท้องถนนในประเทศให้ความสำคัญกับผู้ขับขี่จักรยานมากที่สุด

นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เมืองหลวงจักรยานของโลกเดินหน้าก้าวไปอีกขั้น เห็นได้จากพฤติกรรมการเดินทางในเมืองที่เปลี่ยนไป เดิมที่ผู้คนมักใช้รถรางเมื่อเดินทางเป็นครอบครัว หรือจำเป็นต้องขนสัมภาระจำนวนมาก ทว่า ปัจจุบันผู้คนนิยมใชจักรยานคาร์โกไฟฟ้าทดแทน ซึ่งสะดวกต่อการขนคนและขนของเช่นกัน กระทั่งยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 53% ในปีที่ผ่านมา

“มันไม่ใช่แค่การเดินทางอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นความสนุกสนาน” ชาวดัชต์เจ้าของธุรกิจค้าจักรยานคาร์โก้กล่าว

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนำเสนอข่าวแคมเปญ หยุดการฆาตกรรมเด็ก
หน้าตาของจักรยานคาร์โกที่ชาวดัชต์และหลายเมืองในยุโรปนิยมใช้งาน

บรัสเซลส์ – ธุรกิจจักรยานบูมจนสินค้าขาดตลาด

ในวิกฤตโควิด-19 เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ลงทุนสร้างเลนจักรยานเพิ่ม 40 กิโลเมตร เนื่องจากความต้องการจักรยานในประเทศสูงขึ้นจนเกิดปรากฏการณ์จักรยานขาดตลาด การสั่งจักรยาน 1 คันต้องใช้เวลาถึง 2 เดือน ด้านธุรกิจให้เช่ายืมจักรยานเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บริษัท Swapfiets ขยายการให้บริการเช่ายืมจักรยานไปเพิ่มยังเมืองใหม่อีก 3 เมือง

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือค่านิยมการรับส่งลูกไปโรงเรียนโดยใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนถึง 75% ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวใช้เวลานับทศวรรษในเนเธอร์แลนด์

คุณแม่ชาวบรัสเซลล์ส่งลูกไปโรงเรียนด้วยจักรยาน

มิลาน – ความขัดแย้งจากการเปลี่ยนแปลง

ปรากฏการณ์ Bike Boom ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแม้จะมีข้อดี แต่ก็สร้างปัญหามากมายที่เราอาจไม่ได้เตรียมตั้งรับ ดังที่เกิดขึ้นในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในยุโรป เช่น ความขัดแย้งระหว่างคนใช้รถยนต์กับคนปั่นจักรยาน

อย่างไรก็ตาม การแบ่งเลนถนนที่ทุกคนคุ้นชินให้กับจักรยาน และการออกแบบที่ยังมีปัญหาการทับซ้อนของเลนจักรยานและ รถยนต์ นอกจากจะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่จักรยานแล้ว ยังทำให้ผู้ใช้รถยนต์เกิดคำถามว่า การปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วนี้ อาจไม่ได้คำนึงถึงมุมมองของผู้ใช้รถยนต์

“พวกเราทุกคนหวังถึงเมืองในอุดมคติ ที่การเดินทางเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เคารพ และให้ความสำคัญกับผู้ใช้ถนนทุก ๆ คน ตอนนี้เราอยู่ในประวัติศาสต์การเปลี่ยนผ่าน จากระบบเก่า สู่สิ่งที่อาจเป็นไปได้ในอนาคต แต่เราต้องการเวลาในการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปสู่อนาคตนั้น” Claudio ผู้ประกอบการแท็กซี่มามากกว่า 20 ปี

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ อาจไม่เพียงพอสำหรับทุกคน ในอิตาลีผู้คนส่วนใหญ่ได้สูญเสียคนใกล้ชิดจากการระบาดในครั้งนี้ ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะนักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม ออกมาเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายที่เอื้อต่อการเดินทางทางเลือกด้วยจักรยาน เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายชั่วคราวครั้งนี้ ดำเนินต่อไปอย่างถาวร และอำนวยความสะดวกปลอดภัย ให้ผู้ขับขี่จักรยานมากขึ้น ถึงแม้ว่าประชาชนในเมืองบางกลุ่มเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงควรค่อยเป็นค่อยไป แต่บางกลุ่มก็เชื่อว่าทุกคนพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนี้

เลนจักรยานใหม่ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ที่แบ่งมาจากผิวจราจรเดิม
กลุ่มคนปั่นจักรยานในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี

ปารีส – หลักสูตรขี่จักรยานปลอดภัยฟรีเพื่อประชาชน

เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นอีกเมืองที่ค่านิยมการใช้จักรยานพุ่งสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 และถือเป็นตัวอย่างการตั้งรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้จักรยานได้ โดยรัฐบาลร่วมมือกับร้านซ่อมจักรยานจัดหลักสูตรอบรมการขี่จักรยานสำหรับประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยรัฐอุดหนุนค่าซ่อมแซมจักรยานเก่าที่เก็บไว้และไม่ได้ใช้งานให้กลับมาพร้อมใช้งาน ผ่านโครงการ Out of the Basement โดยออกนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้ถนนของผู้ใช้จักรยาน รวมทั้งข้อปฏิบัติของคนขี่จักรยานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนสู่อนาคต

ความเปลี่ยนแปลงจากโควิด-19 สู่แนวทางสร้างความยั่งยืน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกได้ร่วมมือกันเพื่อพยายามฟื้นฟูธรรมชาติ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา หลายฝ่ายกล่าวว่าธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูและผลิบานที่สุดในรอบศตวรรษ เนื่องจากการใช้ชีวิตและการใช้ทรัพยากรที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ ดังเช่นตัวอย่างเมืองในยุโรปข้างต้น ผู้คนเปลี่ยนมาใช้วิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในชั่วข้ามคืน เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดจากการระบาดของโรค แต่การเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นจะดำเนินไปอย่างยั่งยืนหรือไม่ หรือพวกเราจะกลับสู่วิถีชีวิตเดิมก่อนการระบาดนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล ผู้ใช้รถ ใช้ถนน และคนขี่จักรยานเอง

ชาวเมืองปารีสเข้าอบรมหลักสูตรขี่จักรยาน

แหล่งข้อมูล

BBC World Service is a British public broadcast service


Contributor