09/01/2020
Mobility

ทางเท้าของชาวเมือง : กรุงเทพฯ วันนี้ ‘เดินได้-เดินดี’ แล้วหรือยัง?

The Urbanis
 


เมืองใหญ่อันเต็มไปด้วยรถราบนท้องถนนและระบบขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบอย่างกรุงเทพมหานคร การเดินเท้าคงไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่หลายคนนึกถึงเมื่อต้องออกเดินทาง

แต่ในขณะเดียวกัน การเดินทางหลายครั้งกลับเริ่มต้นด้วยการเดินเท้า ทั้งเดินไปยังป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า กระทั่งเตร็ดเตร่ไปมาเพื่อรอแท็กซี่หรือรถยนต์ส่วนตัว การเดินเท้าเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อการเดินทางทุกประเภท รวมถึงเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่สุดที่สอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเกือบทุกเพศทุกวัย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางเท้าที่สามารถ ‘เดินได้’ ไปจนถึงขั้น ‘เดินดี’ จึงมีความสำคัญอย่างมาก แต่คำถามคือทางเท้าของชาวเมืองกรุงในวันนี้มีสภาพที่ดีพอจะ ‘เดินได้’ ในชีวิตประจำวันของพวกเขาแล้วหรือยัง ปัญหาเรื่องการเดินของพวกเขาคืออะไร และทางเท้าที่ ‘เดินดี’ ในสายตาพวกเขานั้น สมควรเป็นอย่างไร

คำตอบอยู่ในบทสนทนาและประสบการณาการเดินเท้าจากผู้ใช้จริง

“ผมเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลบ่อยมาก เรียกได้ว่าแทบทุกวันเวลาเดินทาง จะใช้วิธีเดินเท้าไปขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้า แล้วแต่เวลาและความสะดวก

“ถ้าถามผมว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เหมาะกับการเดินไหม.. ไม่น่าจะเหมาะ เพราะสภาพแวดล้อมของทางเท้าส่วนมากไม่เอื้ออำนวยให้เดินอย่างสะดวกสบาย มักมีสิ่งกีดขวางตามพื้น เช่น เสาหรือต้นไม้ บางที่ถึงมีไม่เยอะ แต่มันก็ไม่สวยงาม ทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับอากาศร้อน ควันพิษจากท้องถนน เรียกว่าสิ่งแวดล้อมไม่ดีเลย

“ส่วนตัวอยากให้มีการปรับปรุงทางเท้าให้เป็นระเบียบมากกว่านี้ ให้เป็นสัดส่วนมากกว่านี้ อาจจะมีสิ่งกีดขวางเล็กน้อยบ้างก็ได้ แต่ต้องมีการดูแลสภาพอยู่เป็นประจำ อย่าปล่อยปละละเลย”

สุพจน์ ลูกแสงสี, อายุ 72 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว

“บ้านเราอยู่แถบพุทธมณฑลสาย 4 แถวนั้นไม่ค่อยมีป้ายรถเมล์ กว่าจะเดินถึงสักป้ายก็นับว่าไกล บางครั้งเลยต้องอาศัยขับรถส่วนตัวออกมาที่ป้าย แล้วต่อรถไปที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ

“ปัญหาที่เจอเวลาเดินเท้าในกรุงเทพฯ คือเรื่องคนขับจักรยานและมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า มีหลายที่มาก ต่อให้เป็นทางเท้าสภาพดีๆ ที่เคยไปเดินอย่างแถวจุฬา-สยามก็ยังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ คนเดินเท้าต้องคอยหลบตลอด อีกเรื่องหนึ่งคงเป็นเรื่องสิ่งกีดขวางบนทางเท้าที่มีบ้าง สภาพแล้วแต่เขต

“ในความคิดของเรา ถ้ามีการจัดระบบที่ดี กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่เหมาะกับการเดินเท้าได้ อย่างเช่น ทำให้ทางเท้ามีความกว้างมากพอ เพื่อแบ่งสัดส่วนระหว่างทางเดินเท้า ทางจักรยาน หรือกระทั่งทางมอเตอร์ไซค์ให้เป็นระบบระเบียบดีกว่านี้ นอกเหนือจากนั้นก็อยากให้มีต้นไม้เยอะๆ จะได้มีร่มเงา บรรยากาศร่มรื่นเหมาะกับการเดิน”

จิรชา สุขสดเขียว, อายุ 21 ปี อาชีพ นักศึกษา

“ส่วนใหญ่ผมเดินทางในกรุงเทพฯ ด้วยการเดินเท้ากับโดยสารรถเมล์ เหตุผลที่ผมเลือกเดินมีสองข้อหลักๆ ข้อแรกคือจำเป็นต้องเดินไปที่ป้ายรถเมล์เพื่อเดินทางต่อ อีกข้อคือเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

“ปัญหาทั่วไปของทางเท้ากรุงเทพฯ ก็มีเรื่องพื้นไม่เสมอกัน มีมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า บีบแตรไล่คนเดิน และเรื่องคนตั้งแผงลอยกีดขวางทางเท้า

“ประสบการณ์การเดินเท้าที่แย่ที่สุดคือครั้งหนึ่ง ผมเคยไปเดินย่านประชาชื่นตอนฝนตก น้ำขังอยู่เต็มทางเท้าจนมองไม่เห็นว่าตรงไหนเป็นหลุมบ้าง ทำให้วันนั้นผมเหยียบน้ำเลอะเทอะไปพอสมควร และด้วยความที่ทางเท้ามันแคบมาก รถเองก็วิ่งเร็วมากเลยวิดน้ำขังบนถนนสาดใส่เราอีกด้วย

“ผมอยากให้ทางเท้ามีขนาดกว้างเท่ากันทุกพื้นที่ ตรงใจกลางเมืองตอนนี้ก็ดูดี แต่พอห่างจากตัวเมืองกลับแคบ ยกตัวอย่างบริเวณสนามหลวง ทางเท้ากว้างมาก แต่ประชาชื่น ทางเท้ากลับแคบเกินไป เดินคนเดียวยังลำบาก

“ถึงตอนนี้สำหรับผมจะมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เดินเท้าได้ แต่ก็เป็นการเดินที่ต้องยอมรับความเสี่ยงหลายๆ อย่าง เช่น ความไม่เสมอกันของทางเท้าทำให้เดินแล้วเสี่ยงสะดุด เดินแล้วมีรถมาบีบแตรไล่ ถ้าพูดถึงทางเท้าดี ผมหมายถึงทุกอย่างรอบๆ มันต้องดี ถ้าคุณเดินไปบนทางเท้าต้องสามารถเดินได้โดยไม่สะดุด ไม่ลื่น ไม่ล้ม ไม่มีอะไรมาชน ไม่ตกท่อ ไม่มีของตกใส่หัว ไม่มีรถจากถนนเข้ามาชนคุณ”

“ผมเคยได้ยินมาว่าเมืองที่ดีควรสร้างทางโดยให้ความสำคัญ (priority) กับคนเดินเท้า ไม่ใช่รถ แต่ประเทศเรากลับให้ความสำคัญกับรถมากกว่าคน นโยบายรัฐสนับสนุนให้คนมีรถ ทำให้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ คนซื้อรถเพิ่ม ก็ต้องขยายถนนเพิ่ม จนบางทีไปกินพื้นที่การเดินของคน ดังนั้นเรื่องการแก้ปัญหาทางเท้าจึงไม่ใช่แค่เรื่องทางเท้า แต่ต้องแก้ปัจจัยทุกอย่างที่ส่งผลถึงทางเท้าด้วย”

ชินภัทร จันทร์หล้าฟ้า, อายุ 23 ปี อาชีพ Copy Writer

“พี่เป็นคนดูแลทางเท้าแถวซอยราชวิถี 5 ถึงซอยราชวิถี 11 เดินทางมาทำงานจากดอนเมืองด้วยรถมอเตอร์ไซค์ เข้ากะบ่ายโมงถึงสามทุ่ม เวลาทำงานกวาดขยะตอนกลางคืนก็ไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะอยู่ใจกลางเมือง ยังมีแสงไฟ มีผู้คนอยู่เยอะ แต่ถ้าเป็นแถวนอกเมืองก็เรียกได้ว่าน่ากลัว อันตราย”

“ขยะบนทางเท้าก็มาจากต้นไม้ใบไม้บ้าง มาจากประชาชนที่เดินไปมาบ้าง บางวันก็เยอะ บางวันก็ไม่เท่าไร แต่ถ้าเป็นแถบที่ตั้งร้านค้าแผงลอย คนจะทิ้งขยะกันเยอะมากโดยเฉพาะตอนเย็น มีสาดน้ำเสียเททิ้งลงทางบ้าง ทำให้คนเดินสัญจรไปมาลำบากอยู่เหมือนกัน

“เวลาพี่ดูแลทางเท้า นอกจากคอยระวังเรื่องรถรา มอเตอร์ไซค์วิ่งเลียบทางเท้า ควันพิษจากบนถนน ก็ต้องระวังเรื่องเศษขยะอันตราย เช่น ขวดแก้วแตก หลอดไฟแตก คนเขาก็ทิ้งบนทางเดิน ถ้าเป็นวันฝนตก  ทางเท้าจะมีน้ำขัง เพราะทางยังเป็นหลุมเป็นบ่อ พื้นไม่เรียบเสมอกัน ทำให้ทำงานยากขึ้น

“ถ้าจะปรับทางเท้าให้ดี พี่ว่าก็ควรจะปล่อยโล่ง ไม่ต้องมีร้านค้าแผงลอยมากีดขวางทาง คนเดินจะได้ไม่ลำบาก บางทีคนต้องการหลบแดดหลบฝนจะได้มีที่หลบเข้าใต้หลังคา การที่แม่ค้ามาตั้งร้านยึดที่ก็ทำให้คนเดินลำบากขึ้น”

กุลวาริณ กุยนอก, อายุ 47 ปี อาชีพ คนกวาดขยะ

“เราเป็นคนส่งยาคูลท์ ทำงานด้วยการขับมอเตอร์ไซค์ไปรับของ แล้วมาเดินเท้าขาย เพราะได้เจอลูกค้าเยอะกว่า พูดคุยเยอะกว่า แล้วก็จะขายได้มากกว่า

“สำหรับเรา กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เหมาะกับการเดิน เพราะกรุงเทพฯ รถติดมาก (หัวเราะ) เวลาเร่งด่วนให้นั่งอยู่แต่ในรถก็คงรอไม่ไหว เดินแล้วมันถึงปลายทางเร็วกว่า อีกอย่าง การเดินก็มีประโยชน์ ทำให้เราได้ออกกำลังกาย เดินวันละนิด จิตแจ่มใส สุขภาพแข็งแรง

“แต่ถ้าพูดถึงสภาพทางเท้า เราว่ามันยังไม่เหมาะกับการเดิน ส่วนมากเจอปัญหาว่าทางเท้าไม่เรียบ บางที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ฝาท่อแตก บางช่วงก็แคบ ทางเดินแทบไม่มีเลย เพราะมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของ เราต้องลงไปเดินตรงริมถนนแทน มันก็อันตรายอยู่นะ แต่เราเข้าใจว่าเขาต้องทำมาหากินของเขา

“ทางเท้าที่เหมาะกับการเดิน เราว่าน่าจะต้องกว้างกว่านี้ ควรมีหลังคา มีร่มเงาต่างๆ ช่วยบังแดดบังฝน … แต่มันคงจะเป็นไปได้ยาก”

ธนพร บุญชาเรียง, อายุ 40 ปี อาชีพ สาวยาคูลท์

 “ป้ามาขายขนมตั้งแต่ 6 โมงเช้า หมดเมื่อไรก็กลับเมื่อนั้น ไม่แน่นอน ปกติป้าเดินเท้าหาบของมาขายเอง มีที่นั่งริมทางเท้าแถวนี้ ป้าก็นั่ง

“ตอนเดินหาบมาขายของก็เจออากาศร้อนบ้างเป็นปกติ แต่สภาพแวดล้อมสำหรับป้า ก็ยังถือว่าน่าเดินอยู่นะทางเท้าเดินดี ถึงพื้นจะขรุขระนิดหน่อย ถ้าคนเดินไม่ได้มองก็อาจมีสะดุดบ้าง แต่รวมๆ ไม่มีปัญหา วันฝนตกก็ไม่ค่อยเห็นมีน้ำขัง ขยะก็ไม่มี สะอาดดี เวลามีใบไม้ร่วง ป้าเห็นยังช่วยเก็บกวาดให้ด้วย (หัวเราะ)

“ทางเท้าก็ไม่แคบไป ป้าเห็นคนก็ยังเดินได้อยู่ แต่ตอนเย็นประมาณห้าโมง คนจะมารอรถกันเยอะ จะมียืนเบียดๆ กัน เบียดป้าบ้าง ป้าก็ไม่ได้ว่าอะไร

“ป้าขายแถวนี้ก็ไม่เคยมีใครมาบ่นนะ ป้าก็ขายมานาน รู้จักกันไปทั่วแล้ว เทียบกันแล้วทางเดินสมัยนี้กับสมัยก่อนต่างกันเยอะ แต่ก่อนร้านค้าจะอยู่ตามฟุตปาธเต็มไปหมด ทางเดินแคบกว่านี้ ทีนี้เมื่อสามปีที่แล้ว โดนไล่หมดเพราะเขาจะกั้นทางเท้าให้คนเดิน ให้คนมารวมขายแค่ที่ๆ เดียว ตอนนี้ก็เลยว่าสะดวกขึ้นแล้ว แต่สะดวกสำหรับคนเดินเท้าล่ะ คนขายก็ลำบากหน่อย ไม่มีที่ให้ขายมากเท่าเดิม”

สุพิน เต็มบริบูรณ์, อายุ 55 ปี อาชีพ แม่ค้าหาบเร่

“เราเดินทางในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ด้วยรถส่วนตัว รถเมล์ มีเดินเท้าบ้างเป็นส่วนน้อย แต่จากประสบการณ์ที่ได้เดินมา คิดว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่เหมาะกับการเดินเท่าไร เพราะมีปัญหาอย่างพื้นชำรุด อย่างแถวมหาวิทยาลัยของเราอยู่ในเขตพระราชวัง ทางมันควรจะเรียบแต่ก็ไม่เรียบ มีน้ำขังตอนฝนตก เวลาเดินเหยียบก็ทำให้เท้าสกปรก

“อีกปัญหาที่เจอบ่อยคือมีคนมาขายของบนทางเท้า บางที่ไม่ใช่ที่ที่ควรมาขายของ หรือมีวินมอเตอร์ไซค์มาตั้งเก้าอี้ขวางทาง หรือกระทั่งขับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า เพราะมันอันตราย อย่างเราเป็นคนปกติ เวลาเดินยังสามารถหลบหลีกได้ แต่กรณีผู้พิการทางสายตา เขาจะหลบหลีกสิ่งกีดขวางพวกนี้ได้ยาก

“ทางเท้าที่ดีสำหรับเรา ควรเป็นทางเท้าที่ทุกๆ คน ทั้งคนที่มีร่างกายปกติ และผู้พิการสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกปลอดภัย ไม่ต้องมาคอยหลบหลีกร้านค้าแผงลอย หรือมอเตอร์ไซค์ พื้นทางเท้าเองควรจะเรียบเสมอกัน

“เราว่าถ้าจะปรับปรุงทางเท้าให้ได้ผลจริง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ส่วนตัวเรามองว่าก่อนหน้านี้มีการปรับปรุงทางเท้ามาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังประสบปัญหาเดิมๆ อยู่ ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นเพราะอะไร เพราะหน่วยงานที่ดูแลมีการโกงกินจนต้องซ่อมแล้วซ่อมอีกหรือเปล่า หรือเป็นปัญหาเรื่องจิตสำนึกของคน ที่ชอบใช้ข้ออ้างว่าขับรถบนฟุตบาธจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเยอะ เป็นแค่เรื่องเล็กน้อย ดังนั้นการปรับปรุงทางเท้าให้ดีขึ้น เราจึงคิดว่าต้องได้ความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายแก้ปัญหาไปด้วยกัน”

วิเวียน รอดบาง, อายุ 23 ปี อาชีพ นักศึกษา

“ปัญหาทางเท้าที่ป้าเจอคือพื้นขรุขระ ไม่เสมอกัน ทำให้เดินยาก ป้าโชคดีที่ยังพอมองเห็นนิดหน่อย แต่ก็ต้องใช้ไม้เท้าเพื่อให้รู้ความต่างระดับของพื้นเวลาก้าว หรือไม่ยังต้องอาศัยคนตาดีช่วยนำทางให้บ้างเป็นบางครั้ง

“ทางเบรลล์บล็อกสำหรับคนพิการทางสายตาก็พึ่งไม่ค่อยได้ เพราะมันไม่ได้มีทุกที่ มีแค่เฉพาะบางที่เท่านั้น บางทีพ่อค้าแม่ค้ายังมาตั้งร้านขายของทับทางเบรลล์บล็อกด้วย

“อีกเรื่องที่เป็นปัญหาคือมอเตอร์ไซค์พากันวิ่งบนทางเท้าเยอะมาก ไล่คนเดินเท้าอย่างเราๆ

“ทางเท้าที่ดีควรจะทำให้เรียบเสมอกัน ส่วนที่ต่างระดับอย่างริมฟุตปาธกับถนนก็ขอให้มีจุดสะดุดเล็กน้อยหรือมีที่กั้นให้คนใช้ไม้เท้าพอรู้ว่ากำลังจะสิ้นสุดระยะทางเดิน ต่อไปเป็นทางลง แต่ไม่ควรทำทางลงเป็นทางลาดทั้งหมด เพราะบางทีทางลาดสำหรับรถเข็นคนพิการใช้ร่วมกันกับคนพิการทางสายตาไม่ได้ เรากะระยะการเดินทางลาดจากไม้เท้าไม่ถูก เดินแล้วอาจจะเกิดอุบัติเหตุล้มลงไปได้”

ชนากานต์ เอี่ยมชมนาค, อายุ 57 ปี ผู้พิการทางสายตา อาชีพ แม่ค้าขายล็อตเตอรี่

“ปกติผมเดินทางโดยใช้รถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว เพราะมันสะดวกกว่าการเดิน สำหรับการเดินเท้าผมจะเลือกเดินทางแค่ระยะสั้นๆ อย่างไปตลาด หรือปากซอยบ้าน

“ผมว่าทางเท้าในกรุงเทพฯ ตอนนี้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ดูสะอาดสะอ้าน อย่างแถวพระโขนงที่ผมทำงานอยู่ถือว่าโอเคเลย เขามีการจัดระเบียบไม่ให้คนขายของแถวริมทางเท้ามากเกินไป คนก็เดินได้อย่างสะดวกสบาย เทียบกับสิบปีก่อน ทางเท้าไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อย ตอนนี้ยังดูน่าเดินมากกว่า

“แต่ข้อเสียคือพอมีการจัดระเบียบ ทำให้ความปลอดภัยเวลาเดินตอนกลางคืนลดลง แถวบ้านผม เมื่อก่อนมีแม่ค้าขายของริมทางเท้าก็ยังพอมีไฟสว่างจากร้านรถเข็น มีคนเดิน พอจัดระเบียบทำให้ไม่มีคนกล้ามาขาย ทางหลายๆ ที่ก็มืด อาศัยแค่แสงไฟจากถนนใหญ่มันไม่พอ”

ธรรมธิติ สมบัติวงศ์, อายุ 48 ปี อาชีพ พนักงานบริษัท

“ผมเดินเท้าในกรุงเทพฯ ค่อนข้างบ่อย ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับทางเท้าของกรุงเทพฯ ในตอนนี้คือยังไม่สะดวกสบายพอสำหรับคนเดิน สภาพทางเท้าค่อนข้างเดินยาก มีผุกร่อนชำรุด เป็นหลุมเป็นบ่อ บางที่ก็เหมือนอยู่ในขั้นกำลังซ่อมแซม แต่เห็นนานเป็นปีแล้วก็ยังซ่อมไม่เสร็จ ทำให้เดินเท้าลำบาก

“ยังมีเรื่องมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า อันนี้อันตรายกว่าทางเท้าชำรุดอีก ผมเคยเดินแถวรัชดาแล้วมีรถวิ่งมาจากข้างหลัง ผมมองไม่เห็นเลยถูกกระจกมองข้างของเขาเข้ามาเฉี่ยวแขน เรื่องเฉี่ยวชนนี่ยังมีอีกหลายที่ที่เจอ คนต้องหลบรถแทนที่รถจะหลบคน

“สภาพแวดล้อมรอบทางเท้าก็ไม่ค่อยน่าเดิน บางที่มีกองขยะอยู่เยอะ เศษขยะกระจุยกระจายเพราะหมามาคุ้ยหาอาหารทำให้ทางสกปรกก็มี บางที่มีคนจร โดยเฉพาะตอนกลางคืนแถวรามคำแหงกับรัชดา เวลาเดินรู้สึกยังไม่ค่อยปลอดภัย เพราะต่อให้คนจรมีหลายแบบ บางคนนิสัยดี แต่ที่กร่าง นักเลงก็มี ผมก็ไม่ค่อยกล้าเดินผ่าน

“ถ้าเราไม่คิดมากเรื่องเหล่านี้ กรุงเทพฯ ก็ถือว่าเป็นเมืองที่เดินได้นะ แต่เวลาเดินต้องยอมรับความเสี่ยง ว่าเดินแล้วก็ต้องเจอรถ เจอกับอะไรไม่ค่อยดีบ้าง

“สำหรับผมอยากให้ทางเท้าแบ่งเป็นสัดส่วนไปเลย ถ้าทำให้มีพื้นที่กว้างพอ เราสามารถแบ่งเลนให้คนเดินสวนกันไปมาได้อย่างสะดวก แล้วก็มีทางจักรยาน ผมยอมรับให้จักรยานปั่นบนทางเท้าได้นะ แต่ถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์คงไม่อยากให้มีเท่าไร

“แต่ถ้าทำให้พื้นที่ทางเท้ากว้างกว่านี้ไม่ได้จริงๆ อย่างน้อยก็ควรทำให้เดินสะดวก สะอาด ปลอดภัย ไม่มีรถที่วิ่งขึ้นมาบนทางเท้าอย่างแน่นอน ไม่ต้องมาคอยมองหลังว่าจะมีอะไรมาชนเราบ้าง”

กีรตินันท์ วัฒนาเจริญพานิชย์, อายุ 33 ปี อาชีพ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในห้องแลป

เรื่อง – ภาพ : Asonne


Contributor