06/11/2019
Mobility

เมื่อเมืองรองกำลังเนื้อหอม : โอกาสในการสร้าง ‘เมืองเดินได้เดินดี’ ในเมืองรอง

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


“โอ้โฮ นี่หรือบางกอก ผิดกับบ้านนอก ตั้งหลายศอก หลายวา รถราแล่นกันวุ่นวาย มากกว่าฝูงควายฝูงวัวบ้านนา ผู้คนเดินชนหัวไหล่ ไม่รู้ไปไหน เดินไปก็เดินมา…”

เคยคิดไหมว่า,

ทำไมรถไฟฟ้าถึงมีเฉพาะกรุงเทพมหานครเท่านั้น?

ทำไมเเรงงาน พี่น้องชาวอีสาน ชาวปักษ์ใต้ ชาวเหนือ จึงต้องหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองกรุง?

และทำไมสถานการณ์การพัฒนาเมืองของประเทศไทยตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่มีลักษณะเป็นแบบ “หัวโตขาลีบ”?

คุณรู้ไหมว่า – กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่าเมืองรองๆ ลงไปถึง 40-100 เท่าเลยทีเดียว

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น –  ลองมาหาคำตอบกัน

เมื่อการพัฒนาเมืองทำให้ประเทศหัวโตขาลีบ 

กระแสเมืองรองในมิติด้านการท่องเที่ยวของ ททท. และวาทะกรรมท้องถิ่นภิวัฒน์ เป็นกระเเสที่ถูกกล่าวถึงมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ ‘เมืองรอง’ ในแนวทางของการท่องเที่ยว เป็นคนละแนวทางกับ ‘เมืองรอง’ ในความหมายของการพัฒนาเมือง 

เนื่องจากถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ ในแง่ของขนาดแล้ว แทบไม่มีเมืองไหนอีกเลยในประเทศไทยที่ไม่ใช่เมืองรอง 

ศาสตราจารย์ อัน นิมมานเหมินท์ เคยเขียนบทความหนึ่ง พูดถึงการวางผังเมืองระบบขยายความเจริญของนครหลวง โดยชี้ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากนโยบายส่งเสริมความเจริญเฉพาะเมืองหลวง อันเป็นนโยบายที่ตอกย้ำความเป็นเมืองโตเดี่ยวของกรุงเทพมหานคร (Bangkok The Primate City) ไว้ว่า

“ความเจริญของประเทศไทยเป็นแบบ “หัวโตขาลีบ”

ประชากรในเขตเทศบาลนครหลวงรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ของเทศบาลทั้งหมด อันเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมความเจริญ

แต่เฉพาะราชธานีเป็นเวลานานเเสนนาน”

— อัน นิมมานเหมินท์

ที่มา ปรับปรุงจาก กรมโยธาธิการและผังเมือง, 2551

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ทิศทางการพัฒนาเมืองเป็นแบบเหลื่อมล้ำจนเห็นได้ชัด ระหว่างกรุงเทพฯ (เมืองอันดับที่ 1) และเมืองอันดับรองๆ ลงไป ซึ่งมีขนาดที่แตกต่างกันมากถึง 40-100 เท่าเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังมานี้ การเติบโตของเมืองขนาดเล็กเริ่มมีนัยยะในการพัฒนาเมืองมากขึ้น เกิดเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางมากมายในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ จนพูดได้ว่าเมืองเหล่านี้กำลังเป็นกลุ่ม “เมืองเนื้อหอม”

เพราะฉะนั้น เมืองรองจึงต้องภิวัฒน์

“อาจเป็นเพราะว่าผมเป็นคนหัวเมือง

จึงมองปัญหาต่างกับคนที่อยู่แต่ในพระนคร

ผมไม่เห็นด้วยที่มองปัญหาประเทศไทยด้วยสายตาของคนกรุงเทพฯ”

— ไกรศรี นิมมานเหมินท์, 2526

ที่จริง ถ้าย้อนแนวคิดของการพัฒนาเมืองไปไกลถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 และ 2 เราจะพบว่า กระทั่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยุคโน้น ก็พูดถึงนโยบายขยายความเจริญออกสู่ภูมิภาค เกิดการสร้างเมืองหลัก เมืองรองในแต่ละภูมิภาค รวมไปถึงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคอยู่แล้ว  

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราพบว่าเกิด “บริษัทพัฒนาเมือง” ขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะในเมืองรองระดับภูมิภาค บริษัทเหล่านี้เป็นการรวมกลุ่มกันของกลุ่มเอกชน โดยมีภาคการศึกษาในระดับภูมิภาคสนับสนุน ร่วมมือ และประสานประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่น เกิดเป็นเทรนด์การพัฒนาเมืองรองในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย อาทิ ขอนแก่นพัฒนาเมือง ภูเก็ตพัฒนาเมือง เชียงใหม่พัฒนาเมือง สมุทรสาครพัฒนาเมือง 

กลุ่มบริษัทพัฒนาเมืองนี้ก่อให้เกิด ‘โอกาส’ อะไรบ้าง?

ที่จริงแล้ว บริษัทเหล่านี้เปรียบเหมือนสารกระตุ้นแนวความคิดด้าน ‘ท้องถิ่นภิวัฒน์’  ที่ส่งแรงกระเพื่อมต่อเนื่องไปยังภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนคนทั่วไปที่เริ่มเปลี่ยนความคิดและกลายเป็นกลุ่ม “พลเมืองตื่นรู้” และมีความหวังอีกครั้งกับการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง

เทรนด์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในระยะหลัง คือการกลับบ้านเพื่อหาโอกาสในการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นที่ 3 (Gen Y) ที่กลับไปเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ เจ้าของกิจการขนาดเล็ก ธุรกิจ ร้านค้า บริษัททั้งทั้งเล็กและกลางในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง

เมืองรอง กับ โอกาสที่มาพร้อมกับเมืองเดินได้-เมืองเดินดี

พัฒนาการและการเติบโตของเมืองรอง ซึ่งเป็นเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กในภูมิภาคต่างๆ ของไทย ต่างมีแนวโน้มที่เจริญรอยตามวิถีในแง่ลบของพี่ใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองผ่านการพัฒนาโครงข่ายถนนหนทางที่ปราศจากระบบขนส่งสาธารณะ หรือการสร้างแหล่งงานที่กระจุกอยู่ในเขตพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมือง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรที่คั่บคั่งติดขัด เพราะผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใช้รถยนต์เป็นหลักในการเดินทางภายในเมือง

ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่องเมืองเดินได้เมืองเดินดี จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับใช้เป็นกรอบคิดในการวางแผนและพัฒนาเมืองรองเหล่านี้ 

คำถามง่ายๆ แต่เป็นโจทย์พื้นฐานที่ยากและสำคัญสุดในการพัฒนาเมือง คือ จะทำอย่างไรที่ทำให้เมืองนั้นๆ เป็นเมืองที่ ‘เดินได้’ และ ‘เดินดี’ กล่าวโดยขยายความ เมืองที่เดินได้และเดินดีนั้น คือเมืองที่ทุกอย่างอยู่ในระยะที่เดินถึง มีพื้นที่สีเขียวอย่างเพียงพอ มีย่านชุมชนเศรษฐกิจที่กระจายตัวไปหลากทิศ และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ ทั้งนี้เมืองรองเหล่านี้ล้วนเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นเมืองเดินได้เดินดี

เป้าหมายพื้นที่นำร่องของการศึกษาและส่งเสริมการพัฒนาเมืองเดินได้เดินดี ในโครงการ Goodwalk ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเมืองรองที่อยู่ในระดับของ เทศบาลนคร จำนวน 24 เมืองทั่วประเทศไทย

เมืองรอง คือ อนาคต 

จากการศึกษาของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ในพื้นที่เมืองรองทั้ง 24 เมืองทั่วประเทศ พบว่า ทุกเมืองล้วนมีพื้นที่ที่มีศักยภาพและรอคอยการพัฒนา เพื่อผลักดันสู่การเป็น ย่านเดินได้เดินดี ทำให้เห็นชัดว่าโอกาสของการขับเคลื่อนแลัผลักดันเมืองเดินได้เดินดีของประเทศไทยนั้น ไม่จำกัดเพียงกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองโตเดี่ยวตลอดกาลเท่านั้น 

แต่ในโอกาสที่เมืองรองต่างๆ กำลังเติบโต จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่จะหล่อหลอมและพัฒนาเมือง ให้เกิดย่านเดินได้เดินดีขึ้นมา 

ด้วยเหตุนี้ เมืองรองจึงถือเป็น อนาคต ของการพัฒนาและฟิ้นฟูเมืองในประเทศไทย

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เป็นคนต่างจังหวัด และกลายมาเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือกำลังขายเเรงงานอยู่ในกรุงเทพฯ ลองนึกภาพว่าจะดีแค่ไหน ถ้า โอกาสทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชีวิตไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ แต่คุณสามารถทำงาน มีรายได้อยู่ในเมืองที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเราเอง เราจึงเรียน ทำงาน และช่วยกันพัฒนาเมืองเกิดของตัวเองได้ไปพร้อมกัน

มีมนุษย์เมืองหลายคน ที่ต้องกลายมาเป็นประชากรแฝงในพื้นที่เมืองใหญ่ สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นคิดและบอกตัวเองอยู่เสมอคือ ตั้งใจทำงาน เก็บเงินได้สักก้อนหนึ่ง ที่พอจะตั้งตัวได้ หรือพอมีอันจะกิน แล้วกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

แต่นี่คือทศวรรษแห่งโอกาสที่จะกลับไปยังเมืองรอง เมืองที่ก่อนหน้านี้อาจจะถูกเรียกว่าเป็นบ้านนอกคอกนา หรือชนบท แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว 

ทุกวันนี้ เมืองรองเนื้อหอมเหลือเกิน ทั้งจากการพัฒนาในระดับภูมิภาค การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะอำนวยความสะดวกความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ระหว่างเมือง การพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตลอดจน สร้างให้เกิดแหล่งงาน ที่เรียน มหาวิทยาลัย ที่พอจะทัดเทียมกับในเมืองรอง ให้คนที่อยู่ในเมืองสามารถอยู่ได้ ศึกษาหาความรู้ได้ ทำงานได้ในเมืองของตัวเอง ตัวอย่างเมืองรองทที่มีแนวโน้มการพัฒนาเมืองและพัฒนาย่านที่เห็นได้ชัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช อุดร ขอนแก่น สงขลา ระยอง เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ เมืองรอง ไม่ได้เป็นภาพจำของบ้านนอกคอกนา เหมือนดังเนื้อเพลงเพลง โอ้โฮ…บางกอก อีกต่อไปแล้ว ความเจริญของเมืองรอง เเม้ไม่ทัดเทียมกรุงเทพฯ แต่ก็มีวิถีชีวิต ความสะดวกสบาย ความเจริญที่ไม่ต่างจากกรุงเทพมากนัก ในอนาคตอันใกล้ ความเนื้อหอมของเมืองรอง จะทำให้เมืองรอเหล่านี้กลายเป็นทั้ง อนาคต และปัจจุบันของผู้คนที่อยู่ในเมืองนั้น ๆ

โดย อดิศักดิ์ กันทเมืองลี้


Contributor