20/11/2019
Mobility
ออกจาก สุวรรณภูมิ สู่ สมรภูมิ เมืองท่องเที่ยวเดินยาก สู่กับดักรายได้ท่องเที่ยวปานกลาง
ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
ประเทศไทยเป็นประเทศท่องเที่ยวยอดนิยมที่ติดอันดับโลกเป็นประจำทุกปี ล่าสุดปี 2019 ก็ติดอันดับ 2
แต่คำถามที่ต้องลองถามตัวเองก็คือ ถ้าเราเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทย เราจะเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกแค่ไหน
เพราะแค่ออกจาก “สุวรรณภูมิ” ก็เหมือนเข้าสู่ “สมรภูมิ” แล้ว!
ไทยเป็นจุดหมายยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงหยุดยาว จึงไม่แปลกที่ภาครัฐพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการเชื่อมโยง (Connectivity) การเดินทางในประเทศหรือต่างประเทศระดับสเกลใหญ่ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้นักท่องเที่ยวในการเดินทางมายังบ้านเรา เช่น ระบบรถไฟ
แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือการเชื่อมโยงเชิงพื้นที่ระดับสเกลเล็ก ๆ ตั้งแต่มิติของการพัฒนาระบบขนส่งภายในเมือง รวมไปถึงการพัฒนาทางเดินเท้า
เชื่อไหมว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงอำนวยความสะดวกในการเดิน แต่ยังช่วยสร้างเศรษฐกิจของสังคมได้อย่างมีนัยยะสำคัญด้วย
ดังนั้นถ้าประเทศไทยปรารถนาจะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวแล้วละก็ การสร้างเมืองเดินได้-เมืองเดินดี จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
เกาะรัตนโกสินทร์ : แหล่งท่องเที่ยวที่รายได้ยากกระจายสู่ท้องถิ่น
กรุงเทพมหานครเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องมาเยือนสักครั้งในชีวิต ความที่กรุงเทพฯ มีค่าครองชีพถูกสำหรับชาวต่างชาติ สามารถเพลิดเพลินกับหลากหลายแหล่งช็อปปิ้ง ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าสุดหรูไปจนถึงร้านค้าแผงลอย ทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนหลงเสน่ห์เมืองนี้
ไม่เท่านั้น กรุงเทพฯ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีสถาปัตยกรรมที่งดงามมากมายให้สำรวจ โดยเฉพาะพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์
ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าชมพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 35,000 คน
อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ทางเดินเท้าบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์กลับมีเพียง 54% เท่านั้นที่จัดว่า “เดินดี” นั่นหมายความว่า นักท่องเที่ยวทำได้เพียงนั่งรถทัวร์มาจอดหน้าสถานที่ท่องเที่ยวแล้วก็นั่งกลับ ไม่สามารถเดินเล่นรอบย่านรัตนโกสินทร์ได้เพราะทางเดินเท้าไม่เอื้ออำนวย
ท้ายที่สุดแล้วรายได้จากท่องเที่ยวก็มิได้กระจายสู่ท้องถิ่นอย่างที่ควรจะเป็น ทิ้งไว้แต่เพียงควันรถที่สร้างมลพิษให้กลับชุมชนแทน
กับดักรายได้ (การท่องเที่ยว) ปานกลาง จากทางเท้าไม่ส่งเสริมการเดิน
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ติด “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) มาเป็นเวลานาน แต่ไม่น่าเชื่อว่า รายได้จากการท่องเที่ยวก็ติดอยู่ใน “กับดัก” นี้ด้วยเช่นกัน
การสำรวจในปี 2559 พบว่าไทยมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 5,640 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราวๆ 169,000 บาท) ยังไม่ถึงเกณฑ์กลุ่มประเทศรายได้สูงที่ต้องมีรายได้ต่อหัวสูงกว่า 12,235 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว ๆ 367,000 บาท) ทั้งยังมีการวิเคราะห์ว่าไทยอาจต้องอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลางต่อไปนานอีกกว่า 30 ปี
ขณะเดียวกัน หนึ่งในรายได้หลักของประเทศก็คือรายได้จากการท่องเที่ยว โดยล่าสุดคุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แถลงผลงานด้านการท่องเที่ยวรอบปี 2561 ที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสูงถึง 38.27 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 2 ล้านล้านบาท ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของโลก
เช่นเดียวกับคุณทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กล่าวว่าความปรารถนาในการเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวจาก 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 30% นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการพัฒนาเมืองให้สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น
ไม่เท่านั้น นอกจากจำนวนแล้ว อายุของนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ปัจจุบันสถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ปี 2557 – 2560 มีจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ไล่ตั้งแต่ 1,263,022 คน, 1,794,395 คน, 2,215,050 คน และ 2,668,470 คนตามลำดับ ทำให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
คำถามสำคัญคือ แล้วเราได้ออกแบบเมืองเพื่อนักท่องเที่ยวสูงอายุแล้วหรือยัง?
เพราะหากเมืองยังไม่เป็นเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพ ไม่พรีเมียมพอ จะทำให้เราไม่สามารถเรียกสินค้าและบริการในราคาที่สูงได้ สุดท้ายเมืองก็ไม่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักกลับมาเยือนอีกครั้ง และเราอาจไม่เหลือนักท่องเที่ยวอีกต่อไป
ทางเท้าคุณภาพช่วยกระจายรายได้ท่องเที่ยวให้คนทุกกลุ่ม
การพัฒนาเชิงพื้นที่อาจฟังดูธรรมดา แต่ผลลัพธ์นั้นกลับยิ่งใหญ่มหาศาล มีหลายงานวิจัยที่ยืนยันว่า เมืองใดที่มีการลงทุนพัฒนาปรับปรุงทางเท้าในย่านพาณิชยกรรม เมืองนั้นจะมีเศรษฐกิจดีขึ้น
สาเหตุก็เพราะความเร็วของการเคลื่อนที่มีผลต่อการจับจ่าย นั่นหมายความว่ายิ่งคุณเคลื่อนที่เร็วเท่าไหร่ คุณก็จะหยุดเพื่อแวะซื้อของได้ลำบากขึ้นเท่านั้น
แต่เมืองที่ผู้คนสามารถออกมาเดินหรือใช้จักรยานได้อย่างปกติในชีวิตประจำวัน จะมีการกระจายการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่เมืองมากขึ้น ทำให้การใช้เงินไม่กระจุกตัวอยู่แค่ในห้างสรรพสินค้า
ในทำนองเดียวกันกับการท่องเที่ยว การพัฒนาทางเดินเท้าจะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวลงเดินพื้นที่ท้องถิ่น เพื่อพบปะธุรกิจขนาดเล็กหรือร้านค้าปลีกรายย่อย ดึงดูดให้พวกเขาเข้าไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งผลประโยชน์จะตกไปอยู่ที่ธุรกิจท้องถิ่น เรียกได้ว่าเป็นการกระจายโอกาสและกระจายรายได้การท่องเที่ยวให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
ยิ่งพึ่งพารายได้การท่องเที่ยว ยิ่งต้องมีสภาพแวดล้อมเมืองคุณภาพ
ว่ากันตามตรง เราต้องยอมรับว่ากรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่ตอบโจทย์การเดินได้-เดินดีในระดับที่ต่ำพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของทางเท้า ทางข้าม ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมภายในเมืองที่ไม่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว ทำให้กรุงเทพฯ ไม่สามารถแข่งขันในฐานะเมืองท่องเที่ยวในตลาดโลกได้
ขอยกตัวอย่างเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการปรับปรุงพื้นที่ทางเท้าและทางจักรยาน ซึ่งส่งผลต่อการสร้างเศรษฐกิจมวลรวม โดยพอร์ตแลนด์ทุ่มเงิน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกของจักรยานและปรับปรุงทางเท้า ทำให้คนพอร์ตแลนด์ขับรถเพียงระยะทาง 4 ไมล์และ 11 นาทีต่อวัน โดยนักเศรษฐศาสตร์คำนวณว่า ระยะทางและระยะเวลาดังกล่าว ได้เพิ่มเศรษฐกิจมวลรวมให้แก่เมืองได้ถึง 3.5%
หลายคนอาจคิดว่านักท่องเที่ยวเป็นคนเลือกเมือง แต่ในความเป็นจริง เป็นไปได้อย่างสูงที่เมืองต่างหากเป็นผู้เลือกนักท่องเที่ยว ในเมื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เมืองของเรายังไม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวในระดับพรีเมียมได้อย่างเต็มที่ เป็นได้แค่เมืองท่องเที่ยวระดับกลาง
สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่เพียงติดกับดักรายได้ปานกลาง แต่ยังติด “กับดักรายได้ (การท่องเที่ยว) ปานกลาง” Middle (Tourism) Income Trap ด้วยเช่นกัน
เรื่องเล็ก ๆ อย่างการพัฒนาทางเดินเท้าจึงเป็นกลไกสำคัญต่อการเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ผ่านโอกาสที่นักท่องเที่ยวในการพบปะร้านค้าท้องถิ่น และจับจ่ายใช้สอยกระจายรายได้การท่องเที่ยวสู่คนทุกกลุ่ม
สิ่งเหล่านี้จึงต้องการการวางแผนและพัฒนาอย่างเป็นระบบ เหมือนอย่างที่โครงการ GoodWalk Thailand เมืองเดินได้-เมืองเดินดี ที่ตั้งใจใช้เทคโนโลยีต่อยอดต้นทุนของเมือง พัฒนาเชิงพื้นที่สร้างการเชื่อมต่อ connecting the dots เพื่อกระจายโอกาสและรายได้ให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม
ถ้ามีโอกาส เราก็ควรพัฒนาในหลาย ๆ พื้นที่ หลาย ๆ เมืองทั่วประเทศไทย เพื่อสร้าง Connectivity ที่เชื่อมย่านไทยให้ก้าวไกล ไปพร้อมกับการเชื่อมโลกเป็นหนึ่งเดียว
โดย ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)
อ้างอิงจาก
https://siamrath.co.th/n/104268
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_7Nov2017.pdf
https://thestandard.co/travel-income-ranked-4th-in-the-world/
https://www.prachachat.net/property/news-372758
http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/17.aspx
https://www.mots.go.th/more_news.php?cid=411
https://www.nesdb.go.th/download/document/Yearend/2019/03PPT_NESDC_03.pdf
http://uddc.net/en/knowledge/good-walk-save-cost-เมืองไม่จน-เพราะคนเดิน#.XYvAhC-B1QI
https://www.facebook.com/NESDCfan/videos/2418813198441986/