18/11/2019
Mobility

Seoul Transit : แก้พฤติกรรมคนเมืองด้วยการออกแบบ

ณัฐกานต์ อมาตยกุล
 


หลายครั้งเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับเมือง นิ้วชี้ทั้งหลายมักรีบระบุความผิดไปที่นิสัยของคน เช่น เพราะคนไม่ยอมใช้รถสาธารณะ เพราะคนมักง่ายไม่ทิ้งขยะให้เป็นที่ เพราะคนชอบจอดรถในช่องรถเมล์ เพราะคนชอบขายของบนทางเท้า ฯลฯ

โซลไม่ใช่เมืองที่สะอาดเนี้ยบ และคนในกรุงโซลก็ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย ทั้งนิสัย เชื้อชาติ​ และช่วงอายุ คงเป็นไปไม่ได้ (และไม่ควรเลย) ที่จะเหมารวมว่าคนโซลนิสัยแบบไหน

แต่อะไรที่ทำให้การเดินทางในเมืองดูเป็นระเบียบและคล่องตัว แม้มีความระเกะระกะของกองขยะให้เห็นบ้าง ผู้มาเยือนโซลไม่ว่าจะรักหรือชังก็ยังต้องยอมรับว่าภาพรวมของเมืองกลับดูดีและน่าเดิน

เราไปสำรวจท้องถนนของโซล ว่าในการเดินทางด้วยเท้านั้น หนึ่งในคีย์เวิร์ดสำคัญคือการเชื่อมต่อ เขาใส่ ‘ความคิด’ อะไรลงไปในการออกแบบเพื่อสู้กับนิสัยคนบ้าง

โซลเป็นเมืองหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งทางเดินเท้ากว้างขวาง เกาะกลางถนนที่ทำหน้าที่เป็นทั้งจุดพักคนข้ามและที่ตั้งป้ายรถเมล์ ออกแบบมาสนับสนุนการเคลื่อนที่อย่างไหลลื่น มีจุดสะดุดน้อยที่สุด และมีสัญญาณหยุดรอ-ข้ามได้ชัดเจน ไม่ต้องรอลุ้นว่าชั่วโมงนี้จะได้ข้ามถนนกันหรือเปล่า

ทางข้ามบางแห่งในย่านผู้คนพลุกพล่านจะมีเลนแยกสำหรับจักรยาน และมีร่มคันใหญ่เอาไว้สำหรับคนหลบแดดหรือฝนระหว่างรอสัญญาณไฟ

หน้าทางเข้าสถานที่สำคัญๆ มักมีทางข้ามกว้างมากเป็นพิเศษ มองไปบางครั้งจะรู้สึกเหมือนเป็นท่อยักษ์ที่ช่วยพาให้ผู้คนเคลื่อนที่ไหลตามกันไปอย่างไม่ติดขัด

ในย่านช็อปปิ้งอย่างฮงแด เราอาจเห็นทางข้ามลักษณะนี้ตามสี่แยก เพราะทิศทางสัญจรของคนเดินเท้านั้นหลากหลายกว่าเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ช่วยลดระยะเวลาและความวุ่นวายในการเดินข้ามถนน

จักรยานสำหรับเช่ามีแท่นจอดอยู่ประจำตามสถานที่ที่คนสัญจรผ่านบ่อยๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ สถานที่ราชการ โรงเรียน ธนาคาร ฯลฯ เป็นทางเลือกการเดินทางในระยะสั้นเกินกว่าจะลงทุนนั่งรถเมล์หรือรถไฟใต้ดิน การมีจุดจอดที่แน่นอนช่วยลดปัญหาการจอดจักรยานผิดที่ผิดทาง กีดขวางทางเดินเท้า

พื้นที่ทางเดินเท้าที่กว้าง ทำให้การเดินทางหลากรูปแบบและความเร็วนั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้ ทั้งการเดินทอดน่อง เดินเร็ว หรือปั่นจักรยาน อีกทั้งเหลือพื้นที่ไว้ให้คนได้เดินสวนทางกัน

ช่องทางเดินรถเมล์แยกออกจากช่องทางรถปกติชัดเจน ทั้งทิศทางที่สวนกันและราวกั้นเพื่อป้องกันรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาแย่งเลนหรือจอดแช่ ทำให้รถเมล์ไม่ค่อยเจอปัญหารถติด

ป้ายรถเมล์มีม้านั่งมากกว่าหนึ่งชุด มีป้ายไฟเล็กๆ ที่ให้ข้อมูลสายรถเมล์และระยะเวลาที่กำลังจะมาถึงแบบเรียลไทม์ แผงด้านหลังม้านั่งเป็นแผ่นวัสดุใส มีป้ายกราฟิกให้ข้อมูลจุดจอดตามเส้นทางรถเมล์แต่ละสายที่แปะไว้ บางแห่งเป็นจอทัชสกรีนระบุข้อมูลอุณหภูมิและอากาศในเมืองและสามารถค้นข้อมูลสายที่จะต้องขึ้นได้

การเชื่อมต่อเป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่ในเมือง ทางเท้าในโซลจึงมีทางเดินเบรลล์บล็อกที่เชื่อมต่อกันตลอดไม่ขาดตอนไปจนถึงทางจุดขึ้นรถเมล์ แต่ละทางข้ามสามารถกดปุ่มเพื่อให้ส่งสัญญาณเสียงเพิ่มเติมจากสัญญาณไฟข้ามถนนปกติ

อุปสรรคหลักของคนเดินเท้าในทุกๆ เมืองคือระยะทาง โซลช่วยลดปัญหานี้ด้วยการสร้างจุดเชื่อมต่อโหมดการขนส่งด้วยการวางทุกอย่างให้ใกล้ๆ กัน ทั้งป้ายรถเมล์ ทางข้าม มาสู่ทางลงสถานีรถไฟฟ้า อย่างที่เห็นได้ในรูป แม้จะเป็นเมืองที่คนต้องเดินเยอะ แต่การเห็นเป้าหมายในแต่ละจุดเชื่อมต่อก็อาจส่งเสริมกำลังใจให้คนเดินเท้าได้

ใช่ว่าโซลจะดีเลิศจนไม่มีปัญหาแผงลอยบนทางเท้าเลย โซลเองก็มีชื่อเรื่องวัฒนธรรมการแวะกินสตรีตฟู้ด หากทางเท้าบริเวณใดแคบเกินไป เจ้าหน้าที่ก็เจ้าเป็นต้องจัดระเบียบและสั่งให้ผู้ค้าย้ายตำแหน่งร้าน แต่เนื่องจากทางเท้าหลายแห่งในโซลได้รับการออกแบบมากว้าง เผื่อแผ่สำหรับกิจกรรมที่หลากหลาย การจัดระเบียบค้าขายบนทางเท้าจึงเป็นเรื่องที่รับมือได้ ไม่ต้องแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

การจัดโซนร้านแผงลอยให้มารวมตัวอยู่ในศูนย์อาหารที่ตลาดกวางจัง สร้างทางเลือกให้กับลูกค้าและทำให้การค้าขายอาหารของรายย่อยดูเป็นระบบระเบียบ ไม่กีดขวางเส้นทางเดินเท้า

ฮงแดเป็นย่านการค้าใกล้มหาวิทยาลัย จึงมักมีนักศึกษามาเล่นดนตรีเปิดหมวกอยู่เสมอๆ เมืองจึงออกแบบรูปแบบพื้นที่ให้เอื้อต่อกิจกรรมนี้ เช่นช่องทางเดินที่เว้าเข้ามาเป็นเวที และที่นั่งขั้นบันไดสำหรับผู้ชม กลายเป็นกิจกรรมสันทนาการที่แยกส่วนออกมาและลดการรบกวนคนเดินเท้าอื่นๆ ให้น้อยที่สุด

ทางเดินเท้าในโซล จึงเป็นทั้งตัวอย่างของการส่งเสริมการเชื่อมต่อ ลื่นไหล และใจกว้างพอให้กิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ เกิดขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อเป็นสีสันระหว่างการเดินทาง


Contributor