16/12/2019
Mobility

เรารวยพอจะใช้รถไฟฟ้าหรือยัง? ค่ารถไฟฟ้าไทยแพงจริงหรือ?

The Urbanis
 


“ผู้โดยสารโปรดทราบขณะเข้า – ออก โปรดระวังช่องว่างระหว่างพื้นชานชาลากับขบวนรถ Attention, please mind the gap between train and platform.”

ได้ยินเสียงนี้ทุกเช้า จนหลายคนสามารถเลียนแบบได้เลย โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้รถไฟฟ้าเดินทางไปทำงานเป็นกิจวัตรประจำวัน

ในเมืองที่ขึ้นชื่อว่าปัญหาการจราจรมหาโหดอย่างกรุงเทพฯ ตัวเลือกในการเดินทางช่วงชั่วโมงเร่งด่วนคงมีไม่มาก และปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารถไฟฟ้าตอบโจทย์การเดินทางของเราที่สุด ณ ตอนนี้ เพราะทั้งสะดวก สะอาด ปลอดภัย รักษาเวลาได้ (แต่บางครั้งก็งอแงเก่งเหลือเกิน) แต่โดยรวมแล้ว คุณภาพและการให้บริการรถไฟฟ้าของเมืองนี้ทำได้ไม่เลวเลย

อย่างไรก็ตาม ความสะดวก และช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางก็มีราคาที่ต้องจ่าย สิ่งนี้เองที่ทำให้เริ่มเกิดคำถามขึ้นว่า “ค่าโดยสารแพงเกินไปสำหรับเราหรือเปล่า?” หรืออันที่จริงแล้ว “เรายังรวยไม่พอที่จะใช้รถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักในชีวิตประวันจำได้”

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของเราแพงจริง หรือเราแค่รู้สึกไปเอง?

เราอาจคิดไปเองหรือเปล่า?

 ลองมาดูกันหน่อยว่า ค่าโดยสารเราแพงจริงหรือไม่?

จากการสำรวจข้อมูลโดยเว็บไซต์ Priceoftravel ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลค่าเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะของเมืองใหญ่ในรูปแบบต่างๆ 80 ประเทศ และการวิเคราะห์ค่าโดยสารเฉลี่ยจากเว็บไซต์ The Momentum (นำมาวิเคราะห์ 40 ประเทศ) พบว่า ค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนของไทย อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยอยู่ที่ลำดับ 31 จาก 40 ประเทศ (ใช้ราคาเฉลี่ยค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS เป็นตัวแทน) ในขณะที่ประเทศในทวีปยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มีค่าโดยสารขนส่งสาธารณะในระดับสูง

ค่าโดยสารเฉลี่ยโดยรถไฟฟ้า BTS อยู่ที่ US$0.98 ต่อเที่ยว คิดเป็นเงินไทยประมาณ 31 บาท ราคานี้อาจจะดูไม่สูงมาก แต่ถ้าลองคิดเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง-กลับเพื่อทำงานในแต่ละเดือนเทียบกับรายได้เฉลี่ยแล้วก็ไม่ได้น้อยเลย (รายได้เฉลี่ยคนกรุงที่ US$784 หรือประมาณ 25,000 บาท/เดือน)

โดยค่าเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเฉลี่ยต่อเดือนคือ US$42.90 (ประมาณ 1,300 บาท) คิดเป็นสัดส่วน 5.47% ของรายได้ ด้วยสัดส่วนเท่านี้ ทำให้เราก้าวขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 11 ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าหลายประเทศในเอเชียเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน หรือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย แถมยังอยู่ในระดับเดียวกับบางประเทศในยุโรปอย่าง สเปน เยอรมนี และนอร์เวย์ ฟังดูรวยขึ้นมาเลยทีเดียว แล้วยิ่งสำหรับคนที่ฐานเงินเดือนยังต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยแล้ว สัดส่วนค่าเดินทางต้องสูงกว่า 5.47% แน่นอน

จากคำกล่าวที่ว่า คนกรุงเสียเงินไปกับค่าเดินทางต่อเดือนประมาณ 20% ของรายได้ ผู้เขียนลองคำนวณดูเลยว่าจริงหรือไม่

คำตอบที่ได้คือ “ไม่จริง” เมื่อเทียบกับรายได้ต่อเดือน แต่นั่นเป็นเพียงการคิดแค่ค่าเดินทางสำหรับการเดินทางไป-กลับเพื่อทำงานเท่านั้น ในชีวิตจริงของมนุษย์อย่างเราๆ ซึ่งเป็นสัตว์สังคม ก็มักมีกิจกรรมอย่างอื่น หรือการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเป็นเรื่องธรรมดา แน่นอนว่าเมื่อเกิดกิจกรรมเหล่านี้ขึ้น เราหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่ได้เลย คราวนี้ เมื่อลองคำนวณอีกครั้ง สัดส่วนค่าเดินทางในแต่ละเดือนก็ฉิวเฉียด 20% ทันที

ความโหดร้ายภายใต้เลข 65

จากการไล่เรียง Timeline ค่าโดยสารรถไฟฟ้า จากกรณีการให้บริการของรถไฟฟ้า BTS ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะแบบ Mass Transit สายแรกที่ให้บริการชาวกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 พบว่าจากเดิมที่ค่าโดยสารตลอดทางไม่เกิน 40 บาท เพิ่มเป็น 59 บาทในปัจจุบัน กล่าวคือ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราแบกรับภาระเพดานราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้นแล้ว 47.5% และกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 65 บาท ในอีกไม่นาน  หรือว่ากันง่ายๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือ BTS ส่วนต่อขยายที่กำลังก่อสร้างเปิดให้ครบแล้ว เราจะต้องแบกรับภาระเพดานค่าโดยสารเพิ่มจาก 47.5% เป็น 62.5%

แต่ความโหดร้ายภายใต้ราคา 65 บาทที่เราจะต้องพบเจอกันในเร็ววันนี้ ก็ยังพอมีเรื่องให้ชื้นใจกันอยู่บ้างเพราะมติการประชุมของคณะผู้บริหารระบุว่า “ผู้รับสัมปทานไม่สามารถขอขึ้นค่าบริการทีหลังได้จนกว่าหมดสัญญาสัมปทานเดินรถ”

ในมุมของผู้ใช้บริการแล้ว ราคานี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเดินทางบางรูปแบบโดยเฉพาะการเดินทางระยะไกลในเขตเมือง แต่จะเหมาะสมกับรายได้ของเราหรือไม่? ก็อาจจะต้องตั้งคำถามกันต่อไป เพราะนี่ยังไม่นับรวมในกรณีที่เราต้องเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางเป็นอย่างอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นต่อรถเมล์ เรือ แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือรถไฟฟ้าด้วยกันเอง ที่เราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าอีกครั้ง หรือแม้กระทั่งค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ได้ยินเสียงกระซิบแว่วมาว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาค่าโดยสารในเร็วๆนี้ ทั้งรถไฟฟ้าและค่าโดยสารรถเมล์ แล้วถ้าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนโหมดการเดินทาง 3 ระบบ 2 ครั้งต่อวัน 22 วันต่อเดือนล่ะ?

ประสบการณ์จากบ้านใกล้เมืองเคียง

แล้วต่างประเทศเขาต้องจ่ายแพงแบบนี้ไหม?

วิธีที่ดีที่สุดเพื่อรู้ความจริงก็คงต้องไปสัมผัสด้วยตัวเอง ดังนั้น จึงขอยกตัวอย่างบ้านใกล้เมืองเคียง คือเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างกัวลาลัมเปอร์ ในประเทศมาเลเซีย

ผู้เขียนเคยเดินทางไปที่นี่ 2 ครั้ง และมีประสบการณ์ใช้ระบบขนส่งมวลชนโดยเฉพาะรถไฟฟ้าของเขามาแล้ว ถ้ากล่าวถึงเรื่องคุณภาพและการให้บริการแทบไม่แตกต่างกันกับกรุงเทพฯ จะมีก็เพียงแค่ของเขาไม่มีพนักงานขับรถประจำขบวน และมีตู้จำหน่วยตั๋วอัตโนมัติที่รับได้ทั้งเหรียญและธนบัตรให้ใช้อย่างแพร่หลาย แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ “ราคา” ค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่นี่เริ่มที่ 1.20 ริงกิตมาเลเซีย หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 9 – 10 บาทเท่านั้น สำหรับการเดินทางเพียง 1 สถานี (ข้อมูลจาก www.myrapid.com.my) ราคานี้นับว่าถูกมากเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนมาเลเซียที่สูงกว่าเราเกือบ 2 เท่า

ถัดไปอีกนิดที่ประเทศเล็กๆ สุดแหลมมลายูอย่างสิงคโปร์ ซึ่งแค่ได้ยินชื่อก็รู้สึกแพงแล้ว

แค่ค่าอาหารต่อมื้อก็หลายร้อยบาท ประกอบกับค่าครองชีพอื่นๆในการดำรงชีวิต และค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยนั้น ชาวสิงคโปร์จะต้องจ่ายในอัตราค่อนข้างสูง แต่เมื่อลองพิจารณาถึงค่าเดินทางโดยเฉพาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าแล้ว จะพบว่า ราคาตั๋วแบบเที่ยวเดียวสำหรับการเดินทางเพียง 1 สถานี เริ่มต้นที่ SG$1.5 หรือประมาณ 35 บาท และค่าเดินทางเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 2,300 บาท ราคานี้สำหรับคนไทยอย่างเราแล้วถือว่าแพงมาก แต่สำหรับชาวสิงคโปร์ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 90,000 บาท ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางกลับมีสัดส่วนเพียงแค่ 2.55% ของเงินเดือนเท่านั้นเอง (ข้อมูลจาก www.numbeo.com)

ภาระค่าครองชีพของชีวิตตัวคนเดียว

หลายท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ อาจเกิดคำถามว่า “ถ้ารู้อยู่แล้วว่าค่าโดยสารแพง ทำไมไม่เลือกหาที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น” ก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่า หากที่ทำงานเราอยู่กลางเมือง ย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ กลุ่มคนที่รายได้ไม่สูงมาก อาจเลือกหาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลออกไป เพราะค่าที่พักอาศัยและค่าเดินทางรวมกันแล้ว อาจจะถูกกว่าค่าเช่าห้องพักในเมืองเสียอีก

ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงยอมแลกทั้งเวลา และความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง เพื่อค่าครองชีพโดยรวมที่ต่ำกว่า สำหรับชีวิตมนุษย์เดือนที่เพิ่งเรียนจบและก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานเพียงไม่กี่ปีแล้ว การใช้ชีวิตตัวคนเดียวกับภาระค่าใช้จ่ายของเมืองใหญ่แห่งนี้ที่ต้องแบกรับอย่างเลี่ยงไม่ได้ นับเป็นความท้าทายสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต ความท้าทายที่ว่าจะใช้เงินอย่างไรให้พอ ควบคุมการใช้เงินของตัวเองไม่ให้เกินตัว และเผื่อไว้สำหรับเป็นเงินเก็บไว้สำหรับอนาคตและยามฉุกเฉิน มันช่างเป็นโจทย์ที่ยากเสียจริงๆ

ท้ายที่สุดแล้ว ค่าโดยสารขนส่งสาธารณะที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอีกนั้น เราเองในฐานะผู้โดยสารคนหนึ่งคงทำอะไรไม่ได้มาก ครั้นจะให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องออกมาประกาศลดค่าโดยสารก็คงจะเป็นการ “หวังสูงเกินไป” นอกจากการก้มหน้ารับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็คงภาวนาให้ค่าโดยสารขนส่งสาธารณะไม่สูงกว่านี้เมื่อรายได้เฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้นในอนาคต


Contributor