16/03/2020
Mobility

The Gamer Changer เมืองเปลี่ยนรถเมล์ รถเมล์เปลี่ยนเมือง

ชยากรณ์ กำโชค
 


รถติดที่สุด
มลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุด
เมืองเสี่ยงจมน้ำที่สุด
เมืองขยายออกไปในทางราบที่สุด ฯลฯ 

คือบางส่วนของ “ที่สุด” ปัญหาเมืองอันเรื้อรังของกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย  – ไม่ต่างกับกรุงเทพฯ เลยสักนิด – กระทั่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นายโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีแห่งอินโดเซียเสนอรัฐสภา ประกาศย้ายเมืองหลวงไปยังเกาะกาลิมันตัน ที่มีที่ตั้งไกลกว่าเมืองหลวงเดิมกว่า 1,400 กิโลเมตร 

แม้แผนการย้ายเมืองหลวงยังไม่เป็นรูปธรรมและได้ข้อสรุป หากปัญหาอันเรื้อรังทั้งหลายประกอบกับวิกฤตการณ์ด้านภูมิอากาศของโลก ก็ใช่ว่าจะหยุดนิ่งรอความชัดเจนของแผนการดังกล่าว ซ้ำร้ายยังไล่ล่าและทำลายคุณภาพชีวิตชาวจาการ์ตาอย่างไม่ลดละ 

ดังนั้น เพื่อตั้งรับกับวิกฤตการณ์ด้านภูมิอากาศก่อนจะสายเกินไป  “จาการ์ตา” จึงประกาศแผนเชิงรุกเพื่อเปลี่ยนเมืองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (eco-friendly) โดยส่วนหนึ่งของแผนการดังกล่าว คือการทดลองให้บริการขนส่งมวลชนพลังงานไฟฟ้านั่นเอง

จาการ์ตา…มหานครแห่งรถเมล์ที่ใหญ่สุดในโลก 

จาการ์ตามีพื้นที่ประมาณ 750 ตร.กม. หรือเล็กกว่ากรุงเทพฯประมาณ 1 เท่าตัว ทว่าเป็นที่อยู่ของประชากรกว่า 10.6 ล้านคน (ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2019) แม้รถยนต์ส่วนบุคคลจะเป็นทางเลือกในการเดินทางของชาวจาการ์ตาจนทำให้เมืองประสบปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม รถโดยสารประจำทางก็ยังเป็นทางเลือกการเดินทางยอดนิยม แต่ละปีรถเมล์โดยสารที่วิ่งให้บริการในจาการ์ตา รองรับการใช้งานของผู้โดยสารรวมเกือบ 200 ล้านคน นับเป็นโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ที่มาภาพ : https://www.thejakartapost.com/news/2019/06/15/believe-it-or-not-jakarta-traffic-improves-says-global-index.html

เพื่อใส่เกียร์เดินหน้าสร้างมหานคร eco-friendly ตามเป้าหมาย  รัฐบาลอินโดนีเซียเห็นว่า “รถเมล์” เป็นเป้าหมายที่ควรแก้ไขลำดับแรกๆ จึงสั่งการให้ บริษัท ทรานส์จาการ์ตา (Transjakarta) ซึ่งดูแลโดยรัฐบาลท้องถิ่นกรุงจาการ์ตา ทดลองวิ่งรถเมล์ไฟฟ้าเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา มีรถเมล์ไฟฟ้า 3 คันนำร่องทดสอบระบบ รถเมล์ดังกล่าวมีขนาด 18 ที่นั่ง สามารถบรรทุกผู้โดยสาร 33 คน ด้วยการชาร์จไฟเพียงครั้งละ 4 ชั่วโมง ก็จะสามารถวิ่งได้ 300 กิโลเมตร คาดว่าในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จะทราบผลการทดสอบเพื่อนำไปต่อยอดโครงการต่อไป 

ที่มาภาพ : https://www.thejakartapost.com/news/2019/06/28/jakartas-electric-buses-face-regulation-hurdles.html

พลังงานไฟฟ้ากำลังขับเคลื่อนขนส่งมวลชนทั่วโลก 

ข้อมูลของ Climate and Clean Air Coalition พบว่า ทุกๆ วันประชากรกว่า 4,000 ล้านคนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือกว่า 92 % ของประชากรทั้งภูมิภาค – รวมถึงประเทศไทยและอินโดนีเซีย – ปล่อยมลพิษทางอากาศในระดับที่เป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิต แน่นอนว่าต้นทางของมลพิษดังกล่าวส่วนหนึ่งก็มาจากท่อไอเสียของยานพาหนะนั่นเอง สวนทางกับแนวทางของ UN Environment ซึ่งกำหนดให้เมืองที่ตั้งเป้าแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จำเป็นต้องส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็น 1 ใน 25 มาตรการสำคัญ

ที่มาภาพ : Image: Bloomberg New Energy Finance / World Economics Forum

นับเป็นข่าวดีที่หลายเมืองทั่วโลกพร้อมใจหันมาใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยเริ่มต้นที่รถโดยสารสาธารณะ เห็นได้จากผลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กเกี่ยวกับยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดจีน ยุโรป และสหรัฐฯ พบว่า รถบัสไฟฟ้ามียอดขายสูงสุดเมื่อเทียบกับรถประเภทอื่นๆ และมียอดขายพุ่งสูงขึ้นจากปีก่อนกว่า 32% ทั้งยังคาดการณ์ว่ายอดขายจะยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับรถประเภทอื่นๆ

ตั้งแต่ปี 2020 เมืองลอนดอนจะปรับให้รถบัสโดยสารประจำทางคันสีแดงประเภทชั้นเดียวทุกคัน เป็นรถโดยสารปลอดมลพิษ ส่วนรถโดยสารสองชั้นที่จัดซื้อใหม่ก็จะเป็นรถไฮบริด (Hybrid) คือขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด สลับกันระหว่างพลังงานไฟฟ้าและพลังงานไฮโดรเจน ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษตั้งเป้าให้รถโดยสารทั้ง 9,200 คัน ที่วิ่งให้บริการทั่วประเทศ ปล่อยมลพิษเป็น 0 ให้ได้ภายในปี 2037 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า 

ที่มาภาพ : https://www.electrive.com/2019/05/30/nfi-will-expand-e-bus-offer-with-adl/

ขณะที่ มหานครนิวยอร์ก ซึ่งได้ชื่อว่ามีโครงข่ายรถโดยสารสาธารณะใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ มีแผนปรับรถโดยสารเป็นรถพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ภายในปี 2040 เช่นเดียวกับ เมืองแคลิฟอร์เนียร์ที่ตั้งเป้าไว้ที่ปี 2040 เช่นกัน ส่วนเมืองที่ชื่อคุ้นหูคนไทยอย่าง เซินเจิ้น ประเทศจีน ซึ่งประกาศตัวเป็นเมืองขนส่งมวลชนรักษ์โลกก่อนประเทศใดๆ ปัจจุบันมีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการถึง 16,000 คัน เรียกว่ามากที่สุดในโลกในปัจจุบัน

รถเมล์ไฟฟ้ากรุงเทพฯ คืบหน้าถึงไหนแล้วหนอ

ควันดำจากท่อไอเสียรถเมล์หลายคันในกรุงเทพฯ อาจทำให้หลายคนอาจคิดว่า การมีรถเมล์พลังงานไฟฟ้าอาจเป็นเรื่องไกลเกินฝัน แต่ถ้าย้อนไปเมื่อปีที่ผ่านมา องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (ขสมก.) เคยนำรถโดยสารไฟฟ้าของบริษัท Edison Motors จำกัด ประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 1 คัน มาทดลองวิ่งให้บริการในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. 6 เส้นทาง ระหว่างเดือนสิงหาคม 2561 – มีนาคม 2562 เพื่อศึกษาข้อมูลอัตราการสิ้นเปลืองพลังงาน และสมรรถนะของรถโดยสารใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน 100% ตามแผนฟื้นฟู (ในขณะนั้น) ขสมก. ต้องมีการจัดหารถไฮบริด 1,400 คัน และมีรถไฟฟ้า 35 คัน ภายใน 4 ปี

คำถามคือผ่านไปแล้ว 1 ปี แผนการเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถพลังงานสะอาดคืบหน้าถึงไหนแล้วหนอ? ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อกรุงเทพฯ มีฤดูกาลใหม่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่าง “ฤดูฝุ่น” แผนการเปลี่ยนรถเมล์พลังงานสะอาดเพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะกลายเป็นจริงในเมืองแห่งนี้หรือไม่?  

ที่มาภาพ : https://www.thaipost.net/main/detail/15592

ขนส่งมวลชนคุณภาพเพื่อเมืองไร้ฝุ่นพิษ

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ได้ให้สัมภาษณ์ a day online เมื่อครั้งกรุงเทพฯ กำลังจมอยู่ในมวลมหาฝุ่นละออง PM 2.5 ช่วงต้นปีที่ผ่านมา  โดยผู้อำนวยการ UddC กล่าวว่า ต้นเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์ “ฝุ่นพิษ” เกิดจากการสันดาปโดยไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ พร้อมกับเสนอให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพและไม่สร้างมลพิษ

“คุณต้องลดการใช้รถยนต์ และถ้าต้องการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน ก็ต้องสร้างระบบฟีดเดอร์ที่มีคุณภาพ ราคาถูก ไม่สร้างมลพิษ อย่างวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และสำคัญที่สุดคือปรับปรุงระบบทางเดินเท้าให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้คนหันมาเดินเท้า สอดคล้องกับผลการศึกษาของ UddC ที่พบว่า คนกรุงเทพฯ ยอมเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 800 เมตร หากทางเท้าเดินได้และเดินดี”  ผศ.ดร. นิรมล กล่าว

ที่มาภาพ :  a day magazine 

เมืองเปลี่ยนรถเมล์ เพื่อ รถเมล์เปลี่ยนเมือง 

หากภาครัฐ โดย ขสมก. สามารถปรับเปลี่ยนระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะ “รถเมล์” ซึ่งให้บริการกว่า 2,700 คันเป็นรถพลังงานไฟฟ้าได้จริง แน่นอนว่าจะช่วยลดมลภาวะทางอากาศของกรุงเทพฯ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตโลกร้อน และแน่นอนว่าการเกิดขึ้นของรถเมล์พลังงานไฟฟ้าย่อมเกิดขึ้นควบคู่กับวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จพลังงาน กระทั่งเกิดผู้เชี่ยวชาญในระบบยานยนต์ไฟฟ้า  ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนมั่นใจต่อระบบและหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้จริงในอนาคต นับเป็นการส่งเสริมให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้รถยนต์ ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันวิกฤตการณ์โลกร้อน…ก่อนที่จะสายเกินไป

ที่มาข้อมูล

เรื่อง ชยากรณ์ กำโชค


Contributor