11/03/2020
Mobility

ลดวิกฤติฝุ่นด้วยเมืองเดินได้

The Urbanis
 


เข้าปีใหม่มาได้สองสามเดือน ประเทศไทยดูจะเจอกับวิกฤติที่ต้องเร่งแก้ไขหลายเรื่อง หนึ่งในวิกฤติเมืองที่ติดค้างมาตั้งแต่ปลายปีและดูท่าจะกลับมาเยือนทุกลมหนาว คือ ‘เราจะแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ ฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ ได้อย่างไร’ นี่เป็นเรื่องซีเรียสและเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องผลักดันหาทางแก้ไข

ถ้าเอารถยนต์ออกจากถนนไม่ได้ เราจะไม่มีวันได้อากาศที่ดีคืนมา

ต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหามลภาวะทางอากาศในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราหายใจสูดฝุ่นพิษ PM2.5 กันมาตั้งนานแล้ว แต่ที่เราตื่นตัวในช่วง 1-2 ปีให้หลังเพราะเพิ่งจะมีตัวเลขจากการตรวจวัดสภาพอากาศมาแสดงให้เราเห็นและแชร์กันทั่วโซเชียลมีเดีย

สาเหตุหลักของ PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนต้องพึ่งพารถยนต์ตลอดเวลา

ตัวเลขรถยนต์จดทะเบียนในกรุงเทพฯ มีสูงถึง 11 ล้านคันและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงปีละกว่า 300,000 คัน หรือร้อยละ 17 ซึ่งสูงกว่าทุกเมืองในโลก จำนวนรถยนต์ที่เยอะขนาดนี้ไม่สอดคล้องกับปริมาณถนนในกรุงเทพฯ ที่มีเพียงแค่ 7% (เมืองที่ดีควรมีพื้นที่ถนนร้อยละ 25-30 ของพื้นที่ทั้งหมด) นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้กรุงเทพฯ รถติดหนัก ผลการศึกษาจากโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) ระบุว่าคนกรุงเทพฯ ใช้เวลานั่งอยู่ในรถยนต์ถึง 800 ชั่วโมงต่อปี และทุกชั่วโมงที่รถติดอยู่บนถนนจึงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 400 กรัมต่อการเดินทาง 1 กิโลเมตร ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกว่า ในหนึ่งปี รถยนต์ในกรุงเทพฯ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเท่ากับตึกมหานคร 23,000 ตึก

ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาฝุ่นพิษในเมืองจึงไม่ใช่ไปแก้ที่ปลายเหตุอย่างการปลูกต้นไม้หรือปรับนโยบายให้พนักงานบริษัททำงานที่บ้าน แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือ ทำอย่างไรจึงจะลดจำนวนรถยนต์ส่วนตัวออกจากถนนในกรุงเทพฯ ให้มากที่สุด

คำถามคือ เรามองเห็นภาพกรุงเทพฯ ที่ไม่มีรถยนต์ออกไหม?

เปลี่ยนเกมด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ดีและทางเท้าที่เชื่อมต่อกัน

จะลดจำนวนรถยนต์ได้อย่างไร หนึ่ง ต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบรางและรถเมล์ให้มีคุณภาพเพื่อดึงให้คนหันมาใช้มากขึ้น ในบริบทกรุงเทพฯ หากพัฒนารถเมล์ที่ทั้งเก่าและไม่ได้ออกแบบวางแผนสายรถเมล์ที่ดีพอได้ จะถือเป็น Game Changer ที่ช่วยให้คนที่บ้านและที่ทำงานอยู่ไกลกันประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปได้มาก

สอง จากการศึกษาโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี พบปัญหาว่าระยะทางจากหน้าบ้านไปยังจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร และจากจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรไปยังปลายทาง (First Mile, Last Mile) ยังไกลเกินเดินถึง ในขณะที่เราทุ่มงบประมาณมหาศาลทำระบบรางกว่า 256 สถานี แต่เรื่องนี้ยังเป็นจุดบอดของกรุงเทพฯ ที่ยังไม่มีใครใส่ใจพัฒนาให้ดีพอ

เพราะแท้จริงแล้ว คนกรุงเทพฯ ยินดีที่จะเดินในระยะทาง 800 เมตร หรือประมาณ 10 นาที มากพอๆ กับคนญี่ปุ่น ฮ่องกงและอเมริกา โดยคนกรุงเทพฯ ที่เดินและใช้บริการขนส่งสาธารณะยังมีมากถึง 68% ด้วยเหตุผลว่าพวกเขาไม่อยากทนเสียเวลารถติดอีกต่อไป

แต่หากมองกลับมาที่ตัวเลขถนนในกรุงเทพฯ ที่มีน้อยแค่ 7% เรายังพบว่าพื้นที่ทางเท้าที่คนเดินได้จริงๆ มีแค่ 5% ของถนนทั้งหมด ยกตัวอย่างถนนพญาไท พื้นที่ถนน 90% เป็นอภิสิทธิ์ของรถยนต์ เหลือแค่ทางเท้าแคบ 1.75 เมตรที่คนเดินเท้า หาบเร่แผงลอย และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างใช้ร่วมกัน เท่านี้ก็เห็นปัญหาแล้วว่าทำไมคนกรุงเทพฯ ที่มีใจอยากเดินถึงเดินต่อไม่ได้

ถึงเวลา พากรุงเทพฯ ออกเดิน

ในวิกฤติมลภาวะอากาศเช่นนี้ คนกรุงเทพฯ ก็ยังมีโอกาส หากเราเริ่มหัดกลับมาเดินใหม่ ปรับกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ง่ายๆ อย่างการเดินให้อยู่ในชีวิตประจำวัน

โครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ที่ UddC ทำมาตลอด 4-5 ปีคือการพัฒนาให้เกิดย่านที่ทั้ง ‘เดินได้’ คือจุดหมายปลายทางในชีวิตประจำวันอยู่ในระยะที่เดินถึง เช่น ที่ทำงาน ที่พักผ่อนหย่อนใจ จุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร และยังต้อง ‘เดินดี’ อย่างมีความสุข เดินได้สะดวกไม่มีสิ่งกีดขวาง ปลอดภัย มีทางข้ามและแสงสว่างเพียงพอ และยังต้องสวยงาม มีต้นไม้ร่มรื่น มีที่กันแดดกันฝนเพื่อเชื้อเชิญให้คนออกมาเดิน

ตัวอย่างเมืองเดินได้เดินดีทั่วโลกมีให้เห็นตั้งแต่สิงคโปร์ที่ออกแบบทางเดินในร่มกันฝน จากรถไฟฟ้าใต้ดินถึงอาคารเรียนให้เด็กนักเรียนเดินมาได้โดยไม่เปียกฝนสักหยด ไทเป เมืองมรสุมที่ฝนตกตลอดทั้งปี เทศบัญญัติก็กำหนดชัดเจนว่าชั้นล่างของอาคารต้องไม่มีสิ่งกีดขวางเพื่อให้คนเดินเชื่อมต่อกันได้

เราคงไม่สามารถเปลี่ยนพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เดินได้ทั้งหมด แต่การพัฒนาย่านที่มีศักยภาพโดยเฉพาะเขตเมืองชั้นในที่ลงทุนระบบรางไปแล้ว แค่ออกแบบทางเท้าให้น่าเดินและเพิ่มระบบ feeder ให้คนลดการใช้รถยนต์ จะเป็นทางออกที่ไม่ได้จบแค่แก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ แต่ยังจะคืนคุณภาพชีวิต ตัวเลขเศรษฐกิจ และสังคมที่ดีให้คนกรุงเทพฯ ด้วย

เมืองคือจุดเริ่มต้นของปัญหาในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกัน เมืองก็เป็นทางออกที่เราร่วมกันแก้ไขได้

ถ้าเราเปลี่ยนเมืองได้ เราก็เปลี่ยนโลกได้


Contributor