03/01/2020
Mobility

Bangkok Landscape ที่ไม่ได้เปลี่ยนขอบฟ้า แต่เปลี่ยนความคิด

กรกฎ พัลลภรักษา
 


ความลับของกรุงเทพ คือการรู้จักทางลับของเส้นทางเดิน 

เพราะมันหายากยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งสิ้น ในขณะที่ความระบาดของการขยายสิ่งก่อสร้างทุกสิ่งเติมพื้นที่ให้เต็ม ไม่ได้เกิดจากการคิดถึงประโยชน์ของการใช้งาน ศึกษาถึงวิถีชีวิตของชุมชน ไม่สนใจหัวใจของการออกแบบที่ต้องมีทั้ง beauty และ function ก็เหมือนกับว่านับวันๆ ยิ่งไม่มีที่จะให้ยืน ไม่มีที่จะให้เดิน ซึ่งแปลว่าไม่มีทางให้เดินได้จริงๆ ขอบฟ้ากรุงเทพเปลี่ยนไปอย่างน่าทึ่งทุกๆหกเดือน ไวกว่าปลูกต้นไม้ก็ไม่ผิดนัก จนความตกใจกับการเปลี่ยนแปลงของแลนสเคปเมือง เกือบเป็นเรื่องที่ไม่ต้องตกใจอีกต่อไป

มันแปลกมากที่ความเป็นเด็กฝั่งธนบุรีตั้งแต่เกิดจนถึงอายุประมาณ 10 ขวบเท่านั้นของฉัน หยั่งลึกฝังรากในความทรงจำ อารมณ์​ และหลอมรวมเป็นบุคลิกของตัวเอง ชัดกว่าช่วงอายุอื่นๆ ถึงแม้จะไม่ได้กลับไปฝั่งธนบุรีบ่อยเท่าไหร่ แต่ไม่เคย ไม่เคยลืมทางเดินเดิมที่ใช้ผ่านจากบ้าน ไปโรงเรียน ไปวัดระฆัง ไปลานดูหนังกลางแปลง ไปชุมชนติดกันคือบ้านช่างหล่อที่จะเดินผ่านโรงหล่อพระทะลุไปที่อีกถนนได้ ไปกินน้ำแข็งไสวัดวิเศษนิยม ไปบ้านทำขนมบ้าบิ่นทางทะลุไปตลาดพรานนก ไปโรงพยาบาลศิริราช ไปศาลเจ้าเกลือ ไปฝากเงินที่ธนาคารออมสิน ไปยืนแอบฟังเสียงซอตอนเย็นจากซอยข้างๆ ไปศาลาไอศกรีมโฟร์โมส และไปท่าน้ำเพื่อจะลงเรือข้ามเจ้าพระยาไปสู่ฝั่งกรุงเทพ ตรอกทางเดินเส้นเล็กคดเคี้ยวไปตามชุมชนเหมือนมีใครทิ้งเชือกลงพื้น ทอดตัวทรงไหนทรงนั้น ทำให้ฉันเป็นคนชอบความซอกแซก พิศวงกับการลองเข้าซอยที่พบผ่าน เพราะนั่นอาจแปลว่าฉันกำลังจะได้เจอทางลัดใหม่ หรือทะลุผ่านไปชุมชนที่ไม่เคยรู้จัก 

และฉันว่า นี่คือแลนสเคปอีกประเภทหนึ่งของกรุงเทพ ที่ไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ขอบฟ้า แต่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิดต่อเมือง ต่อชีวิต และทัศนคติต่อความเป็นการอยู่ในเมืองแบบไม่โดดเดี่ยวเพราะมีความหลากหลายร้อยพ่อพันแม่ของความเป็นชุมชน มีละคอนชีวิตของแต่ละครอบครัวที่ฝึกให้เรารับมือ เรียนรู้ เหลาจิต ในกระบวนการเติบโต ที่มีตัวอย่างมากมายราวกับไม่ได้เกิดมาดูโลกแค่ 10 ปี มากมายไปกว่าความฟูมฟายทางความรู้สึก ก็คือ นี่เป็นเมืองในฝันที่มีทั้งความมืดและความสว่าง มีจิตใจ ที่จัดการได้ ที่ต้องการ อยากได้ และอยากให้เป็น… เป็นเมืองที่เดินได้ 

ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาฝั่งเมืองเก่ากรุงเทพ ยังมีความคุ้นชินกลิ่นปัจจุบันโยงไกลไปในอดีตของความเป็นชุมชนที่ยังหลงเหลือ ในย่านนางเลิ้งและบริเวณรอบๆ เป็นเหมือนหมอรักษาโรคเหว่ว้า ยามรู้สึกเหนื่อยกับเมือง ฉันจะไม่เหนื่อยเลยกับการตะกายพาตัวเองมาย่านนี้ เพราะมันทำให้ได้รู้สึก รู้สึกถึงความสัมพันธุ์ของคน บทสนทนา และความไร้ขีดจำกัดของพื้นที่ ที่ทำให้ฉันได้เคลื่อนไหวในความเป็นพื้นที่ส่วนตัวของชุมชน และเป็นส่วนร่วมรวมกันของทุกคน ซึ่งยิ่งทำให้ฉันท้วงและหวงความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่เปลี่ยนเฉพาะเปลือก แต่ไม่เอาใจและจิตของสิ่งมีชีวิตที่เป็นมนุษย์ชุมชนเข้าไปด้วย ในด้านการสร้างวัตถุก็จะสร้างความเลิศเลอของการให้คำจำกัดความว่า เพื่อความเจริญของเมือง แต่ฉันกลับรู้สึกว่ามันเป็นความร่วงโรยของปัจจุบัน ที่ไม่มีการช่วยจัดการในอัตลักษณ์ที่บ่มมายาวนานให้ยั่งยืนและสามารถเดินจูงมือไปด้วยกัน จนในที่สุดเราก็ต้องไปชื่นชมความชราของเมืองที่รักษาไว้อย่างชื่นบานของบ้านเมืองอื่น 

ความแยบยลของภูมิทัศน์กรุงเทพจะปรากฏมหัศจรรย์อย่างธรรมชาติได้ ก็ต่อเมื่อเราหาหนทางทำความรู้จักด้วยการเข้าใกล้ชิดด้วยการเดิน ทางเลือกที่ไม่ควรเป็นเรื่องอภิสิทธิ์ แต่เป็นสิทธิและเสรีภาพของคุณภาพของคนอยู่ในเมือง เป็นการเชื่อมคนในสังคมที่อยู่ข้างนอกและข้างใน ลดช่องว่างของความแปลกหน้าแปลกถิ่น ย่านนั้นจะตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ ย่านค้าขายราคาส่ง ที่มักจะซ่อนอยู่ในหลืบและหลังตึกอื่นๆ หรือจะเป็นชุมชนหรือจะอยู่ท่ามกลางป่าคอนกรีต อย่างเช่น “สะพานเขียว” ที่ทอดตัวเชื่อมหลายถนนและข้ามคลองแบบที่ไม่มีรถผ่าน เป็นทางลัดเลี่ยงรถติดของคนเดินเท้าอย่างฉัน และคนขี่จักรยาน 

ทางเดินลอยฟ้าที่เชื่อมจากด้านข้างสวนลุมพินี ผ่านชุมชนหลังซอยร่วมฤดี เพลินจิต เลาะหลังบ้านของชุมชนเก่า ผ่านมัสยิดโบราณของซอยโปโล เลาะเลียดฝาไม้และหลังคาบ้านของคนที่อยู่ระหว่างทางนับร้อยๆนี้ มีคนใช้แค่น้อยกว่าคนอยู่ละแวกที่ทางผ่านนัก อาจะเป็นเพราะความร้อน ความดูเปลี่ยว และความแปลกของเส้นทาง ที่ไม่มีสถานที่ให้เช็คอิน แต่เป็นบ้านเรือนของชุมชนจริงๆ ที่มีปลายทางและต้นทางเป็นสวนลุมพินี และสวนหลังศูนย์ประชุมสิริกิตต์ 

แต่ถ้าสะพานเขียว สามารถชุบตัวให้เป็นทางเดินลอยฟ้าที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้จริงๆ ด้วยการปรุงความร่มรื่นจากการปลูกต้นไม้ทำสวนหย่อมยั่งยืน ใส่ไฟตามทางเดินไล่ความเปลี่ยวให้เป็นความอุ่นใจเพิ่มความรู้สึกปลอดภัย ทางเดินสีเขียวแห่งนี้ก็จะกลายเป็นมหัศจรรย์ทางเดินลอยฟ้า ที่ไม่ได้เปลี่ยนให้ขอบฟ้าเมืองสวยและน่าสนใจขึ้นเท่านั้น แต่เปลี่ยนคุณภาพชีวิตคนเมือง ที่ได้ทั้งพื้นที่สวน เพิ่มทางเดินลัดเลี่ยงการจราจรติดขัด และเป็นทางเชื่อมช่องว่างคนนอกชุมชน และคนในชุมชนให้กระชับและไม่แปลกหน้าต่อกัน เพราะเราต่างก็เหลือพื้นที่ของเราจริงๆ น้อยลงๆทุกวัน.  

ฟ้ากว้างกลางเมืองเก่าย่านนางเลิ้ง ถนนนครสวรรค์ยามเย็น มีเพียงร้านตัดผมผู้ชาย ที่ยังเปิดไฟรอลูกค้า 

ย้อนแสงกับการย้อนแย้งของประชาธิปไตยวันนี้ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

จากท่าเรือคลองแสนแสบสะพานผ่านฟ้า กับแสงอาทิตย์ทองส่องลอดยอดไม้ กระทบน้ำดำ ก็ยังดูสวยขึ้นมาได้ 

ภูมิทัศน์ของซอยย่านตรอกพราหมณ์ กับร้านพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ เอกลักษณ์ของย่าน ที่มีอาชีพของชุมชน เป็นตัวตนสัญลักษณ์ จะเจอกันได้ก็ต้องเดินเข้ามาหาสบตากันเท่านั้น

หลากหลายทางเดินในเขตเมืองเก่า กับสถานที่สำคัญของประเทศ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ได้แค่เล่าเรื่องผ่านป้ายบรรยาย แต่มีบรรยากาศร้อนหนาวเป็นตาย จากข่าว และประวัติศาสตร์ การเดินในย่านนี้ ให้ความรู้สึกได้ก้าวเดินภายในความคิด ถึงนัยยะ และสัญลักษณ์ไปด้วย

เมื่อไม่มีสภาพของรถติด อากาศสะอาด ฟ้าเมฆเป็นใจ และไม่มีตึกสูงเบียดบังทัศนวิสัย ทำให้เราแต่ละคน”ไหว” กับการเดิน เพื่อเปิดตัวเองให้รู้จักกับสิ่งที่มีอยู่มาก่อน ได้อยากสนุก เช่นถนนทำธง และแนวกำแพงโบราณ

หลังทาบหญ้าเงยหน้ามองภูมิทัศน์บนท้องฟ้า ที่ไม่สายเกินไปกับการสร้างป่าจริงไปพร้อมป่าคอนกรีต 

ลานบนตึกมิตรใหม่ ที่เหมือนเป็นทางเดิน และสวนกลางย่านสามย่าน มีพื้นที่เขียวให้ได้ปล่อยลมหายใจ ไปที่ขอบฟ้า พร้อมกับจังหวะการเคลื่อนไหวของกรุงเทพ 

มหัศจรรย์เล็กๆของชานเมือง คือ การได้มีโอกาสเห็นแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ที่ไม่ได้มีขอบตึกมาบดบัง ความสำคัญของการมีที่ว่างให้ได้ผ่อนสายตา เป็นการเยียวยาความเครียดของคนเมืองขนานหนึ่ง


Contributor