01/09/2020
Mobility

ชวนดูเทรนด์การพัฒนาเมืองด้วยข้อมูลเปิด แก้ปัญหาสาธารณะจากเทคโนโลยีและความร่วมมือของทุกคน

The Urbanis
 


ปกติเวลาคุณเห็นปัญหาสาธารณะอย่างทางเดินเท้า ไม่ว่าจะเป็นบล็อกแตก ทางเดินขาด ขยะล้น มอเตอร์ไซค์วิ่งข้างบน หรือคนตั้งของขวางทาง ฯลฯ แล้วคุณทำอย่างไร?

ปัญหาทางเดินเท้าเรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิกของมนุษย์กรุงเทพฯ ที่ต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งเชื่อได้ว่าหลายคนคงทำได้แค่บ่นกับคนรู้จักหรือทางโซเชียลมีเดียไปวันๆ แต่คุณเคยสังเกตไหมว่าสุดท้ายแล้วปัญหาเหล่านี้ก็ยังอยู่เราและไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ นานวันเข้าก็กลายเป็นความ ‘เคยชิน’ ในการอยู่ร่วมกับปัญหาเหล่านั้นเสียแล้ว

แต่เดิมการแก้ปัญหาเมืองคือการที่หน่วยงานของรัฐลงพื้นที่ในชุมชนด้วยตนเอง สิ่งนี้เป็นกระบวนการที่ล่าช้าใช้งบประมาณจำนวนมากและไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ ฉะนั้นปัญหาต่างๆ ก็จะถูกแก้ไขเพียงบางส่วนเท่าที่ผู้ดูแลสำรวจเห็น

ครั้นเกิดการปฏิวัติเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตที่ทำให้เราเชื่อมต่อกับข้อมูลสรรพสิ่งจำนวนมาก Big data จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในแวดวงต่างๆ หนึ่งในนั้นคือบริบทการฟื้นฟูและการบริหารจัดการเมือง ทำให้เกิดแนวคิดการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ หรือ Open Data ที่นำความรวดเร็วของเทคโนโลยีบวกกับความร่วมมือของประชาชนมาสร้างช่องทางในการแจ้งปัญหา เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างคุณภาพชีวิตในเมืองให้ดียิ่งขึ้น

ซึ่งปัญหาสาธารณะเป็นปัญหาที่ทั่วโลกประสบเหมือนกัน แต่หลายประเทศเริ่มนำแนวคิด Open Data มาใช้พัฒนาเมืองกันบ้างแล้ว เราไปดูตัวอย่างจากต่างประเทศกันหน่อยว่าเขาประยุกต์ใช้แนวคิดการจัดการข้อมูลมาสร้างช่องทางหรือแพลตฟอร์ม Open Data ในการปรับปรุงและพัฒนาเมืองอย่างไรกันบ้าง?

/var/folders/p2/_4cfnlf97mggf8nhfyzxxj2h0000gn/T/com.microsoft.Word/WebArchiveCopyPasteTempFiles/fix_my_street_0.jpg
(ภาพจาก Fix My Street)

Fix My Street เป็นแพลตฟอร์มของประเทศอังกฤษที่จัดทำโดยวิสาหกิจเพื่อสังคม mySociety โดยมีจุดประสงค์เป็นช่องทางกลางให้ประชาชนสามารถเข้าไปปักหมุดแจ้งปัญหา รายงาน หรือพูดคุยเกี่ยวกับถนนและทางเดินเท้าทั่วทั้งประเทศ ซึ่งปัญหาต่างๆ จะส่งไปยังผู้รับผิดชอบโดยตรง (เข้าไปดูตัวอย่างการแจ้งปัญหาได้ที่ >>> Fix My Street)

/var/folders/p2/_4cfnlf97mggf8nhfyzxxj2h0000gn/T/com.microsoft.Word/WebArchiveCopyPasteTempFiles/qlue.jpg
(ภาพจาก Qlue

Qlue แพลตฟอร์มเพื่อนบ้านอาเซียนจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ประชาชนกลายเป็นหนึ่งในผู้ตรวจสอบการทำงานของส่วนบริหารท้องถิ่น สามารถร้องเรียนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเมือง เช่น ปัญหาทางเดินเท้า พื้นถนน ขยะ ไฟจราจร กระทั่งถึงอาชญากรรม โดยปัญหาต่างๆ จะส่งตรงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน (เข้าไปดูตัวอย่างการแจ้งปัญหาได้ที่ >>> Qlue)

/var/folders/p2/_4cfnlf97mggf8nhfyzxxj2h0000gn/T/com.microsoft.Word/WebArchiveCopyPasteTempFiles/clean.jpg
(ภาพจาก Cleanstreetsla)

The Clean Streets L.A. แพลตฟอร์มในสหรัฐ ที่จะให้ประชาชนเข้าไปแจ้งความสะอาดของถนนในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ สีเขียว – ถนนสะอาด สีเหลือง –ถนนค่อยข้างสะอาด และสีแดง – ถนนสกปรก และแน่นอนข้อมูลต่างๆ จะส่งตรงไปยังส่วนกลางให้ดำเนินการทำความสะอาดต่อไป (เข้าไปดูความสะอาดของถนนได้ที่ >>> The Clean Streets)

สามตัวอย่างนับเป็นการสร้างระบบ Crowdsourcing หรือการสร้างความมีส่วนร่วมผ่านการรายงานของประชาชน เพื่อนำข้อมูล (ปัญหาที่พบเจอ) มาเปิดเผยต่อสาธารณะ นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ตรงจุด และครบวงจร เพราะเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ผลประโยชน์ที่ได้จึงไม่เพียงช่วยให้รัฐทราบถึงปัญหา แต่คนทั่วไปก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำมาวางแผนการดำเนินชีวิตประจำวันได้อีกต่อหนึ่ง หนำซ้ำยังช่วยประเมินการทำงานของหน่วยงานนั้นๆ ได้อีกด้วย

ย้อนกลับมายังประเทศไทย ใช่ว่าเราจะไม่มีช่องทางในการแจ้งปัญหาพื้นที่สาธารณะ

/var/folders/p2/_4cfnlf97mggf8nhfyzxxj2h0000gn/T/com.microsoft.Word/WebArchiveCopyPasteTempFiles/rngthukkh.jpg
(ภาพจาก Rongtook)

หน่วยงานรัฐบาลอย่างกรุงเทพมหานครก็มีก็มีการจัดตั้ง ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์และป้องกันภัย ผ่านสายด่วน 1555 และให้บริการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีภารกิจในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน วินิจฉัยปัญหา และประสานแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อไปดำเนินการแก้ไข ซึ่งสถิติล่าสุดปี 2559 มียอดร้องเรียนทั้งสิ้น 63,299 เรื่อง และสามารถแก้ไขเรื่องร้องเรียนได้สำเร็จกว่า 70-80 % อย่างไรก็ตามการร้องเรียนเช่นนี้ยังเป็นการร้องเรียนแบบระบบปิดรายบุคคล ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการร้องเรียนเป็นสาธารณะแต่อย่างใด (สามารถเข้าไปร้องทุกข์ได้ที่ >>> Rongtook)

/var/folders/p2/_4cfnlf97mggf8nhfyzxxj2h0000gn/T/com.microsoft.Word/WebArchiveCopyPasteTempFiles/youpin.jpg
(ภาพจาก Youpin)

หรือโครงการที่ใกล้เคียงกับแนวคิดดังกล่าวอย่าง YouPin แพลตฟอร์มจากเอกชนที่เปิดให้ทุกคนสามารถ Pin ปัญหาที่ตัวเองพบเจอ เพื่อนำปัญหาดังกล่าวไปบอกต่อให้กับหน่วยงานราชการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยแก้ไขปัญหา โดยวางตัวเป็นศูนย์รวมของการแจ้งเรื่องที่เราอยากบ่นและติดตามในการแก้ไขต่อไป (สามารถเข้าไป Pin ปัญหาได้ที่ >>> Youpin)

จะเห็นได้ว่าการร้องทุกข์ของประเทศไทยมิได้เกิดจากความร่วมมือของรัฐและเอกชนตั้งแต่ต้น เช่น เป็นการเปิดช่องทางจากรัฐเองที่ขาดระบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อประเมินอย่างเป็นระบบ และมิได้เปิดเผยเป็นข้อมูลสาธารณะให้ประชาชนได้ทราบ หรือเป็นช่องทางแจ้งปัญหาที่เกิดจากภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นแนวคิดการทำข้อมูลเปิดในประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนจึงยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างแท้จริง

(ภาพจาก ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง)

ทาง UddC เห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและความมีส่วนร่วมของประชาชนมาช่วยในการแก้ไขปัญหาเมือง จึงดำเนินโครงการ Open Data ขึ้นมาโดยเริ่มจากเขตปทุมวัน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายและหนาแน่นสูง มีการเจริญเติบโตของเมืองและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีข้อมูลจำนวนมากจากโครงการ GoodWalk ที่สามารถดึงมาใช้และต่อยอดในโครงการนี้ได้

ปัจจุบันโครงการนี้เริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยอยู่ในช่วงหาประเด็นที่ประชาชนสนใจซึ่งนอกเหนือจากแค่ปัญหาทางเท้า อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหาร, อาชญากรรม, พื้นที่สีเขียว ฯลฯ เพื่อนำไปพัฒนาต่อเป็นช่องทางการรวบรวมและพัฒนาข้อมูล ซึ่งเบื้องต้นโครงการพบว่า 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างมีความอยากรู้ด้านข้อมูลเมืองที่ยังไม่มีการถูกรวบรวม

เป้าหมายและฝันของโครงการ Open Data คือการมองเห็นกรุงเทพฯ มีช่องทางในการรวบรวมและกระจายข้อมูลให้ทั่วถึง โดยมีทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขและพัฒนาเมืองไปพร้อมๆ กัน ฉะนั้นหากทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกันคนละเล็กคนละน้อย มันจะเกิดการเปลี่ยนในสังคมอย่างมากในอนาคต

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะมีระบบการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างแท้จริง เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

อ้างอิง:
Fix My Street , 1 Feb 2019.
Qlue, 1 Feb 2019.
CleanStat
โดยCleanstreetsla, 1 Feb 2019.
กรุงเทพมหานคร ระบบรับเรื่องร้องทุกข์ทาง Internet โดย Rongtook, 1 Feb 2019.
Youpin, 1 Feb 2019.
1555 ศูนย์ร้องทุกข์ กทม. เต็มที่ เต็มใจ รับใช้คนกรุง โดยMatichon, 1 Feb 2019.


Contributor