31/10/2019
Life

แหม่ม-วีรพร นิติประภา การเดินทางครึ่งชีวิตบนเมืองฝันสลาย

สุธามาส ทวินันท์
 


บางคนนิยามกรุงเทพฯว่า เป็นเมืองคนเหงา บ้างก็ว่าเป็นเมืองแห่งโอกาส ส่วนบางคนก็เรียกเมืองแห่งสีสัน แต่สำหรับ ‘แหม่ม-วีรพร นิติประภา’ นักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้เกือบทั้งชีวิต เธอให้นิยามกรุงเทพฯ ไว้ว่า‘เมืองฝันสลาย’

“ถามว่าพี่รักเมืองนี้ไหม..พี่เรียกมันว่าเมืองฝันสลายเวลาพี่เขียนนิยาย เพราะพี่รู้ว่ามันเป็นเมืองที่ไม่มีอะไรให้ใครฝันถึง มันเป็นเมืองที่ผู้คนวิ่งเข้ามาหาโอกาสแล้วก็อกหักกลับไป” 

น้ำเสียงแผ่วเบาที่อ่อนลงเรื่อยๆ จากความเหนื่อยใจ คือคำตอบที่ว่าทำไมกรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองในฝันสำหรับวีรพร แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็มองว่านี่อาจเป็นเสน่ห์ของมัน เมืองที่มีทั้งความรวย ความจน ความสวยงาม และความน่าเกลียดผสมรวมกันอยู่ในพื้นที่เดียว

ตลอดระยะเวลากว่า 57 ปีในชีวิตของวีรพรบนเมืองฝันสลาย  เธอเห็นการเปลี่ยนผ่านของกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง และอะไรคือเหตุผลที่ทำให้กรุงเทพฯ ยังคงเป็นบ้านสำหรับเธอ หรือเพราะอีกฝากความวุ่นวายยังมีความอบอุ่นของย่านเมืองเก่าที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของกรุงเทพฯ รวมทั้งจิตวิญญาณของวีรพรใช่หรือเปล่า

เมื่อได้ยินคำว่ากรุงเทพฯ ภาพความทรงจำแรกที่ขึ้นมาคืออะไร

แหม่ม : รถติด จริงๆ มันก็เป็นเมืองที่มีทุกอย่างนะ เวลาที่พี่ไปเมืองอื่นๆ ไม่ใช่แค่เมืองนอกนะ แต่ในเมืองไทยเองพี่ก็มักจะมองหาเมืองที่มีด้านสองด้าน และพี่ก็พบว่ากรุงเทพฯ มันอาจจะมีด้านอย่างนั้นอะนะ ก็อาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ที่พี่ทนอยู่กรุงเทพฯ ได้มาอย่างยาวนาน เพราะมันมีทั้งส่วนที่ดีที่สุดเท่าที่เมืองๆ หนึ่งควรจะมีกับส่วนที่แย่ที่สุดเท่าที่เมืองๆหนึ่งควรจะมีได้เช่นกัน มีความรวย มีความจน มีความสวยงามกับน่าเกลียดพอๆ กัน

ในฐานะที่อยู่กรุงเทพฯ มานาน เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรของกรุงเทพฯ บ้าง

แหม่ม : เหมือนเดิมนะ นัยยะหนึ่งมันก็เป็นเมืองที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เราควรจะแก้ปัญหารถติดได้ในหลายสิบปีก่อนเปล่าวะ นี่ผ่านมากี่ปีแล้ว พี่เข้าใจว่ารถเริ่มติดในกรุงเทพฯ ตอนพี่อายุ 10 ขวบ ตอนนี้พี่ 57  เกือบครึ่งศตวรรษคุณยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้เลย ที่เราแก้ไม่ได้เพราะเราไม่เคยลงลึกกับปัญหาหรือโครงสร้าง ถ้าทำอย่างนั้นก็แก้ได้แล้ว ไม่ใช่เอาแต่ตัดถนนทำทางด่วน แบบนั้นรถก็ยังติด มิหนำซ้ำเรายังใช้ประโยชน์จากปัญหานี้ด้วยการสร้างห้างมาดักสิค่ะ จะได้เข้าไปอยู่ในห้างกัน กินข้าวเย็นในห้าง พอสร้างห้างมันได้กำไร เราก็เปิดบริษัทอยู่ข้างบนห้างต่อ รถที่ติดอยู่แล้วตอน 5 โมงเย็นถึงทุ่มหนึ่งนี่ ก็มีทั้งรถไหลลงมาจากออฟฟิศข้างบนและคนมาเดินห้าง รถก็ยิ่งติดหนักเข้าไปอีก ติดมากเข้าก็เปิดห้างเพิ่ม คุณลองนึกดูแล้วกันว่ามันคืออะไร เป็นวิธีคิดแบบไม่แก้ปัญหาเลย

ในมุมหนึ่ง กรุงเทพฯ ก็เจริญขึ้นและคงจะเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณคิดว่าอะไรที่มันไม่ควรจะเปลี่ยนไปตามความศิวิไลซ์ที่เข้ามา 

แหม่ม : ชุมชนดั้งเดิม พี่ยังยืนยันว่าเมืองควรจะมีจิตวิญญาณของมันและจิตวิญญาณยาวนานเนี่ยมันอยู่ที่ชุมชนเก่า อย่าง ตลาดบางลำพู ป้อมมหากาฬ และหลายๆ ย่านที่พี่คิดว่ามันสวยสดงดงามในรูปแบบนั้น ตอนนี้ที่ยังเห็นหลงเหลืออยู่ก็คือแถวดุสิต แถวศรีย่านมั้งคะ ที่ยังมีบ้านเรือนหลังเล็กๆ แผ่ออกไปในแนวระนาบ แล้วก็ไม่มีห้างใหญ่ๆ เข้าไปตั้ง มันก็ยังคงวิธีเดิมแบบไทยๆ ที่คนเดินไปเต็มถนน รู้จักกันครึ่งค่อนถนน รู้ว่าใครอยู่ตรงไหนยังไง ลักษณะแบบนี้ที่หายไป อีกอันหนึ่งที่หายไปคือตลาด ตลาดสดนะไม่ใช่ตลาดติดแอร์อะไรแบบนั้น เพราะตลาดมันคือศูนย์กลาง ก็ดูเหมือนว่าเราทำลายชุมชนดั้งเดิม แล้วก็ไปทำตลาดน้ำ ไปทำหมู่บ้านปลอมในห้างเรื่อยเปื่อย ทุกอย่างก็กลายเป็นว่าสะอาดสะอ้านสวยงาม แต่มันเฟค เราไม่เคยมองปัญหาว่าคนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เฟคมากๆ คือแบบไหน ซึ่งน่ากลัว และคนกรุงเทพฯ ก็เป็นคนเฟค

ย่านเมืองเก่าเป็นย่านโปรดที่คุณชอบไปเดินเล่นตั้งแต่สมัยก่อน?

แหม่ม : พี่ชอบย่านเมืองเก่าแต่ไหนแต่ไร ย่านพาหุรัด ย่านบางลำพู เกาะพระนคร พี่ก็จะชอบอะไรแถบๆ นั้นแหละ และตอนเขียนหนังสือพุทธศักราชอัสดงฯ ก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับย่านตลาดน้อย ข้ามไปฝั่งคลองสาน กุฎีจีน แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งตอนในวัยสาวๆ เคยทำงานแถวย่านดุสิต ซึ่งพี่ชอบมาก เพราะเป็นย่านที่รู้สึกว่าไท้ย ไทย ก็อย่างที่ว่า คนเดินเต็มถนน จะซื้ออะไรกินกันดี พูดคุยกับแม่ค้า มันมีความเป็นเมืองที่เรียบง่ายและก็มีความสุขตามประสา คือไม่ใช่ย่านรวยแต่เป็นย่านที่คนอยู่อาศัยแล้วมีชีวิตประจำวันร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ เราไม่มีชีวิตประจำวันร่วมกันกับชุมชนเพราะเราใช้เวลาไปกับการทำงานและรถติดอยู่บนถนน ดุสิตทุกวันนี้ก็ยังเป็นย่านที่พี่ชอบอยู่ บางวันก็ไปเดินทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว เดินเรื่อยเปื่อยด้วยนะ ไม่ใช่เดินแบบธรรมดา เดินแบบไร้เป้าหมายอะ ดูนั่นดูนี่อะไรไปเรื่อย

เสน่ห์ของการเดินคืออะไร

แหม่ม : เราได้เดินผ่านเข้าไปในชีวิตของบ้านนั้น บ้านนี้ ก็เหมือนดูทีวีน่ะคุณ ผ่านเข้าไปในถนนแล้วได้ยินเสียงของมัน ได้ยินคนคุยกัน ก็สบายใจดีนะ เพราะเราชอบเดินอยู่แล้ว พี่ไม่ได้คิดว่าคนทุกคนจะชอบอะไรแบบนี้ แต่โดยส่วนตัวชอบอะไรแบบนี้ ในขณะที่เราเข้าไปในห้างเราได้ยินเพลงอะไรก็ไม่รู้ ได้ยินคนประกาศเจอนั่นเจอนี่ เรียกร้องให้คนไปดูสินค้า ตรงนั้นมันก็ไม่ใช่ชีวิตในแบบที่เราสนใจ

การเดินในสมัยก่อนกับเดินเล่นในสมัยนี้แตกต่างกันไหม

แหม่ม : เดินสมัยก่อนพี่เดินได้ถึงมืดเลยนะ เดี๋ยวนี้พี่แก่หรือยังไงก็ไม่รู้ พี่กลัวโดนจี้ ปล้น ข่มขืน พี่รู้สึกว่าความปลอดภัยมันน้อยลง และก็หูตาก็ไม่ค่อยจะดี เดี๋ยวจะเดินตกบ่อ ตกท่อหรือเปล่า อาจจะขึ้นอยู่กับแต่ละศตวรรษด้วยแหละ เพราะเมื่อก่อนย่านเมืองเก่าก็ยังไม่เยินเท่านี้ ซึ่งมันก็ยังคงทุกอย่างไว้เหมือนเดิมแหละ แต่มีหลุมบ่อเพิ่มขึ้น ขยะเพิ่มขึ้น ไอ้ที่น่าเกลียดที่สุดของย่านเมืองเก่า คือการขาดการเหลียวแลจากภาครัฐ ในบางครั้งคุณก็จะเจอเศษขยะต่างๆ กองอยู่หน้าบ้าน รัฐควรจะไปจัดการให้เขาไหม ส่งพนักงานเทศกิจเข้ามาในชุมชนแล้วเอาสิ่งที่เขาไม่ต้องการออกไป แต่กลับมาบอกว่าคนจนซกมก คนจนไม่รับผิดชอบ จริงๆ แล้วเราแสดงออกถึงความล้มเหลวของภาครัฐอย่างแรงกล้ามาก ไม่ใช่ว่าเป็นความล้มเหลวของปัจเจก พอมีปัญหาเกิดขึ้นกับเมืองๆ หนึ่ง หรือหมู่บ้านหนึ่ง เป็นเพราะปัญหาของการจัดการ รถติดคือปัญหาของการจัดการ จัดการผังเมือง จัดการการสร้างห้าง จัดการการออกรถจำนวนมาก จัดการขนส่งมวลชนที่ไร้ประสิทธิภาพ อะไรก็แล้วแต่แหละ

ทำไมเมืองนอกมันไม่ออกรถกันอย่างบ้าคลั่งเหมือนคนประเทศนี้ล่ะ เพราะเขามีขนส่งมวลชนในราคาที่ประชาชนจับจ่ายได้ด้วย ขอโทษนะ รถไฟฟ้า รายได้ 300 บาท ไม่มีปัญญาขึ้นนะคะ มันเป็นการแบ่งชนชั้นวรรณะที่น่าเกลียดมาก รถไฟ้ฟ้าวิ่งผ่านหัวคุณทุกวันแต่คุณไม่มีปัญญาขึ้น คุณต้องขึ้นรถเมล์สามทอด มันหยาบคายและเลวร้ายมาก ถ้าเป็นเมืองนอกเขาไม่ยอมนะคะ ในการตัดสินประชากรให้แยกกันด้วยรายได้ขนาดนี้ เขาจะเรียกร้องให้คนจนด้วย คนกรุงเทพฯ ไม่เคยเรียกร้องให้คนระดับล่าง กรรมกรไม่มีสิทธิใช้ ทำไมเราเป็นประชากรที่ไม่มีคุณภาพขนาดนั้น

เราควรทำอย่างไรกับปัญหานี้มากกว่ารอความหวังของภาครัฐอย่างเดียว โดยที่เราไม่รู้ว่าจะมาหรือเปล่า

แหม่ม : เราจ่ายภาษีเพื่อให้รัฐจัดการปัญหาให้เพราะเราไม่สามารถจัดการเรื่องพวกนี้เองได้ มันเป็นเรื่องของโครงสร้าง เรื่องของระบบ เป็นเรื่องของการจัดแจงพื้นที่ในเมือง ซึ่งเราเป็นเมืองใหญ่นะ เราเป็นเมืองที่มีประชากรอยู่ 20 ล้านคน 20 ล้านคือที่ลงทะเบียนด้วย ยังไม่รวมนักท่องเที่ยว เราจึงต้องการจัดการที่มีประสิทธิภาพมาก และแน่นอนเราจ่ายภาษี คนกรุงเทพฯ มักจะพูดว่าก็ฉันเป็นจังหวัดที่จ่ายภาษีมากที่สุดนิ แล้วทำไมอยู่กันในสลัมแบบนี้วะ ทำไมคุณอยู่กันซกมกแบบนี้วะ คุณจ่ายภาษีมาก คุณทั้งเป็นศูนย์กลางของทุกๆ อย่าง แต่ดูสิ่งที่รัฐตอบแทนกับประชาชน เราต้องการชีวิตที่ดีกว่านี้ เราต้องการอากาศหายใจ เราต้องการสวนสาธารณะ ถ้าพี่ตื่นตอนเช้าอยากไปเดินสวนรถไฟ นั่นคือหายไปทั้งเช้าเลยค่ะ เพราะรถมันติด เราต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่รัฐกับไม่แคร์เราเลย และประชากรก็อ่อนเปลี้ย ถูกทำให้เชื่อง เขาจะว่ายังไงก็ว่ามา เขาจะให้อะไรก็ให้มา ไม่มีที่จะไป กูไปห้างแอร์เย็นดี ประหยัดแอร์ที่บ้านด้วย หารู้ไม่ว่าค่าที่จอดรถก็จ่ายไปแล้วชั่วโมงละ 40 บาท อย่างไรคุณก็เสียตังค์อยู่ดี กรุงเทพฯ ไม่มีที่ที่พอให้เราสามารถสร้างสรรค์และเติบโตทางความคิดได้เลย มีแต่การเติบโตทางอีโก้ นัยยะหนึ่งเราไม่ได้เป็นแค่เมืองเฟค เราเป็นเมืองโง่ เพราะเราไม่สามารถหาความภาคภูมิใจจากอะไรที่ซื้อหาไม่ได้

ถ้าเราออกมาเรียกร้อง รัฐจะสนใจไหม

แหม่ม : รัฐควรต้องสนใจไหม เราควรจะมีกลไกของการเลือกตั้งที่ถูกต้อง เราควรจะมีกลไลของการเลือกผู้ว่าที่มีวิสัยทัศน์ และเราควรจะรู้ด้วยว่าเราจะเลือกแบบไหน ในบางครั้งเราก็จะมักเลือกคนที่ดูฟุ้งๆ หน่อยเพราะคิดว่าเขาดูดีว่ะ แต่เราต้องเลือกคนที่เข้าใจ Setting ของเมืองพอสมควร เข้าใจว่าปัญหาของเมืองอยู่ตรงไหน คือตอนนี้กรุงเทพฯ จะเหมือนกับบ้านที่สวยสดงดงามหลังหนึ่ง แต่ว่าตามซอกมุมซุกขยะเอาไว้หมดเลย เอาคนจนไปหมกไว้ ซุกปัญหาเอาไว้ หาบเร่แผงลอยที่ว่าไม่ดี ก็ควรจัดสรรพื้นที่ให้เขาไม่ใช่ระงับ แต่คุณไม่ได้สนใจว่าเขาจะอยู่ยังไง กินยังไง กลับถึงบ้านกี่โมง เรามีคนใช้ประโยชน์จากทุกปัญหาที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วถามว่าเราจะแก้ปัญหาได้ไหม แก้ทำไมอะ มีคนรวยจากสิ่งนี้

อะไรที่คุณคิดว่ากรุงเทพฯ ควรจะเปลี่ยนมากที่สุด

แหม่ม : ผู้ว่าฯ (หัวเราะ) เพราะผู้ว่าเป็นคนจัดระเบียบเมือง จริงๆ มันเป็นงานแม่บ้านนะ ที่ต้องคอยจัดระเบียบ คอยเช็กว่า น้ำพอไหม ไฟพอไหม ขุดถนนสายไหน ไม่ขุดสายไหน สายไหนรอ สายไหนเริ่ม จะทำอะไรกับเมือง รัฐจะต้องเข้าถึงแล้วก็จัดเก็บขยะยังไง รัฐต้องจัดการน้ำครำใต้สลัมที่เต็มไปด้วยขยะ หาหน่วยที่เข้าไปถึงในชุมชนแออัดและจัดการเอาขยะออกมาไหม พร้อมจัดการขยะอย่างสมเหตุสมผลด้วย

เวลาเรามีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ตรงหน้าตลาดคุณจะเห็นว่ามันเป็นกองขยะกองอยู่ หรือตรงป้ายรถเมล์ก็จะมีร้านค้าเอาขยะมากองถมๆ กันอยู่ กว่ารถขยะจะมาเก็บก็ดึกๆ ทีนี้ถ้าเกิดมีฝนตอนกลางคืนมันก็ลอยไปกระแทกใส่รถวิ่งผ่าน คุณก็โทษคนจน เอะอะคุณก็โทษคนจน ผู้ว่ามีหน้าที่ดูแลประชาชนทุกคน แล้วมีปัญหานู้นปัญหานี่มาตลอดเวลาก็จัดการไป คุณขุดถนน ขุดเสร็จ อิฐทรายที่ขนเข้า หรือขุดขึ้นมาไปไหน ก็ลงท่อไง พอลงท่อ น้ำมาไม่ไหล น้ำรอระบาย โทษคนจนอีกว่าเทน้ำมันล้างกะทะลงท่อ แค่นั้นจะเท่าไหร่กัน แต่ปัญหาใหญ่ไม่แตะ ไม่มีมาตรการว่าก่อสร้างแล้วต้องจัดเก็บขยะด้วยตัวเอง แล้วเอาส่วนนั้นไปทิ้งที่ไหน ทำอย่างไร ฉะนั้นการจัดระเบียบเล็กๆ น้อยๆ เนี่ยเป็นหน้าที่ผู้ว่า คือ ได้ผู้ว่าที่มีประสิทธิภาพจะเป็นอะไรแบบว่าศิวิไลซ์มาก ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ ไฟดับๆ ติดๆ บ้าง เป็นปัญหาผู้ว่าบอกตรงๆ

คุณคาดหวังอะไรกับการเลือกตั้งผู้ว่าที่ใกล้จะถึงในเร็วๆนี้

แหม่ม : พี่คาดหวังว่าหนึ่งคือมีสติ รู้ว่าจะต้องจัดการอะไรก่อนหลัง อันไหนคือปัญหาของกรุงเทพฯ จริงๆ และก็อย่างบอกมันเป็นงานแม่บ้าน ไม่ใช่งานที่สวยหรูอะไร ไม่ใช่งานที่แบบจะมาแอคท่า แล้วก็พูดถึงเรื่องอุดมการณ์ของการจัดการอะไรแบบนี้ ไม่มีใครสนใจตรงนั้น ปัญหาพื้นๆ อย่างทำความสะอาด เก็บกวาด เนี่ยมันเป็นที่คนต้องการการเปลี่ยนแปลง กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่บล็อกมากนะ หนึ่งน้ำเน่า สองขยะบาน ขยะแบบอย่างที่บอก สลัมก็อยู่ตรงกลาง แล้วก็บล็อกตัวมันเองทำให้ไม่มีใครเข้าถึงในการจัดการความสะอาด แค่กำจัดบล็อกต่างๆ ของเมืองนี้ ผู้ว่าทำแค่นี้เองนะ น้อยมาก เพราะว่าจริงๆ มีตั้ง 30 ถนน 800 เส้นทั่วกรุงเทพฯ ก็ขุดกันมาแล้ว

คุณเข้าใจไหม ว่าเมืองใหญ่ขนาดนี้รถติดขนาดนี้มันทำไม่ได้ ที่จะให้เขาขุดถนนเส้นที่คู่ขนานกันอยู่เนี่ย สองเส้นเหรอ ไม่ นี่ทำสี่เส้นค่ะ เส้นที่ขนานกันอยู่เลย งั้นคำถามก็คือว่า ฉันจะออกลูก ณ บัดนาวนี่ เส้นนี้ติดแล้วจะไปเส้นไหน ไปไม่ได้ ติดหมดเลยค่ะ 4 เส้น เมืองเป็นอัมพาต ทุกอย่างบล็อก ถนนบล็อก ท่อระบายน้ำบล็อก คลองบล็อก เมืองอะไร เป็นเมืองชนิดไหนทุกอย่างปิด ติดขัดหมด

ตอนไปหาข้อมูลเขียนนิยายเรื่องพุทธศักราชอัสดงฯ ทราบมาว่าไปคลุกคลีกับย่านกะดีจีน-คลองสานอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนั้นไปทำอะไรมาบ้าง

แหม่ม : ความจริงพี่ไม่ได้ทำอย่างนั้น พี่แค่ไปเดินเอาฟีล เอามู้ดของมันเท่านั้น แล้วก็นั่งคิดว่าในวันนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 บ้านหลังนี้มันจะทาสียังไง มันจะใหม่กว่านี้ใช่ไหม ตายายคู่นี้อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ต้นไหม นอกนั้นข้อมูลก็หาจากอินเทอร์เน็ต พี่ไม่ได้ถึงขนาดเข้าไปคลุกคลีกับผู้คนหรือไปเป็นส่วนหนึ่งชุมชนอะไรแบบนั้น

ชุมชนกะดีจีนมันเริ่มมาจากแม่น้ำที่เราเคยใช้ประโยชน์เป็นหลัก พอถึงวันหนึ่งเราใช้ถนนเป็นหลัก แล้วถนนก็ตัดขนานบ้างไม่ขนานบ้าง ทำให้ปิดล้อมชุมชนดั้งเดิมไว้ ชุมชนมันถึงยังอยู่เพราะมันถูกปิดจากถนนเข้าไปถึงแม่น้ำที่ไม่ได้ใช้แล้ว แต่มันก็ยังเป็นพื้นที่ที่ดีในแง่ของทำเล ในแง่ของอากาศหายใจ ในแง่ความไม่แออัดมาก แต่ตัวชุมชนเองก็ทรุดโทรมลงไปเยอะเหมือนกันเพราะมันไม่มีตลาดอีกแล้ว คนก็ไม่รู้จะเข้าไปทำไม

ที่พี่รักย่านนั้นมากเพราะมันเป็นย่านพหุวัฒนธรรมที่เติบโตมาพร้อมๆ กับความแตกต่างทางความเชื่อ วัฒนธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย มันจึงเป็นชุมชนเจ้าเสน่ห์ที่คุณสามารถได้กลิ่นมัน กลิ่นของการอยู่ร่วมกันมายาวนานของผู้คน แล้วชุนชุมเก่าๆ อย่างนี้เช้าเขาก็เดินลงมาข้างล่างไปตลาด ก็รู้จักกันหมด ซึ่งก็เป็นรูปแบบการอยู่ในฝันของเราหรือเปล่าวะ เราอยากมีเพื่อนบ้าน มีชุมชนที่เราเดินไปหาได้ มีเรื่องนินทา มีลูกหลานที่เติบโตด้วยกันประหนึ่งครอบครัว ไม่ใช่แบบที่เราอยู่กันย่านกลางเมือง

ช่วยเล่าประสบการณ์ในการไปเป็นที่ปรึกษาฝ่ายศิลปวัฒนธรรมให้กับเทศกาลศิลป์ในซอยครั้งที่ 6 ‘กะดีจีน-คลองสาน ย่านรมณีย์ วิถีเจ้าพระยาในพยับแสง-สี-ศิลป์’ ให้ฟังหน่อยว่าการทำงานนั้นช่วยเหลือชุมชนได้อย่างไรบ้าง 

แหม่ม : นิดๆ หน่อยๆ แค่เข้าไปช่วยดูช่วงสั้นๆ พี่หวังว่าการทำงานกุฎีจีนก็เพื่อทำให้คนมองเห็นว่าสิ่งนี้มีอยู่ แล้วช่วยในด้านการระดมสมองและเงินทุนเพื่อรักษาสิ่งนี้ไว้  พี่ก็ไม่รู้ว่าเราจะรักษาความเป็นชุมชมไว้ได้แค่ไหนบอกตรงๆ เพราะการต่อสู้ของกะดีจีนคลองสานมันก็ค่อนข้างจะเข้มข้น อาจจะเข้มข้นกว่าเมืองเก่าอื่นๆ เพราะว่าเป็นเมืองริมแม่น้ำ แม่น้ำเดี๋ยวนี้เรือก็ไม่จอแจแล้ว เสียงก็เงียบสงบ จึงเหมาะกับการทำห้างและคอนโด เรากำลังต่อสู้กับทุนขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่ามากพอที่จะเผามันให้หวอดวาย ทำลายมันให้สิ้นซาก

หากชาวบ้านยินยอมให้เปลี่ยนชุมชุนเป็นเมืองท่องเที่ยว คุณว่าวิธีนี้จะช่วยเซฟชุมชนไว้ได้จริงไหม

แหม่ม : มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนนะในการจะบริหารคนเข้าไปเที่ยวในหมู่บ้านโดยรักษาความเป็นชุมชนไว้ด้วย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆ เมืองท่องเที่ยวระดับโลก คนในชุมชนเองแทบไม่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเลยเพราะอยู่รอดไม่ได้ คือกาแฟแก้วละ 15 บาทก็กลายเป็นแก้วละ 150 อะ จะอยู่รอดได้ยังไง ก็จะมีบางคนที่ได้กำไร แต่บางคนในที่สุดแล้วก็ต้องขายบ้านแล้วย้ายออกไปเพราะว่าสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว พอคุณย้ายออกก็มีคนเข้ามาซื้อ คนเข้ามาซื้อก็คือคนนอกนั่นแหละ เพราะงั้นถ้ามันบูมกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวจริงๆ ชีวิตเขาจะเปลี่ยนมากเลยนะ ชุมชนเดิมที่เคยอยู่ก็จะถูกแยกออกไป วิธีการทำงานจึงต้องเข้าใจสภาพชุมชนก่อนว่าเราต้องการคงสภาพย่านเมืองเก่านี้แค่ไหน และเราสามารถที่จะฟื้นฟูมันได้อย่างไร เรื่องนี้มันซับซ้อนมากๆ และต้องใช้การระดมสมองจากหลายภาคส่วน

อีกเรื่องคือเราต้องคิดด้วยว่าถ้าทำเป็นเมืองท่องเที่ยวเขาจะได้รายได้แค่ไหน คือรายได้พวกนี้ก็ไม่ได้เป็นรายได้ที่เสถียร พี่กลับมองไปว่าเราควรจะส่งออกสินค้าในชุมชนที่เคยทำหรือทำกันอยู่ แทนที่จะให้คนกรูกันเข้ามาในชุมชนเอง นั่นหมายความว่าต้องมีการรื้อฟื้นกิจการโรงครามไหม เป็นไปได้มากแค่ไหนที่เราจะรื้อฟื้นกิจการโรงคราม แต่พี่ไม่แน่ใจว่าเรามาสายเกินไปแล้วหรือเปล่าเพราะเจ้าของโรงครามเขาอาจจะไม่กระตือรือร้นแล้วก็ได้

ยากที่จะบอกว่าตรงนี้จะเป็นอย่างไร มันจำเป็นที่ต้องมองหลายด้านมาก พร้อมกับเงินทุนมหาศาล พี่ยังไม่มองเป็นสำเร็จรูปเพราะเราต้องเข้าไปทำงานและค่อยๆ เรียนรู้ว่าเราจะจัดการยังไง และแต่ละย่านเมืองเก่ามันก็มีคาแรกเตอร์ต่างกันหมดนะ คุณไปนางเลิ้งก็จะอีกแบบหนึ่ง กุฎีจีนถัดมาอีกก้าวเป็นกฎีฝรั่งก็แตกต่างกันออกไปละ

ในเมื่อความเจริญก็เหมือนเป็นดาบสองคม แล้วจริงๆ ชุมชมเก่าควรคงไว้แบบเดิมหรือพัฒนาให้เจริญกว่านี้ดี 

แหม่ม : ต้องพัฒนาค่ะ แบบเดิมคือมันอยู่ไม่ได้ แต่การพัฒนาก็ต้องขึ้นอยู่ว่าจะพัฒนาแบบไหน แล้วแน่นอนคนรุ่นใหม่ต้องการอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้ใหม่แบบมีร้านกาแฟเฟรนไชน์ราคาแพงมาลง มันควรจะถูกพัฒนาในรูปแบบที่คนทั้งชุมชนมีส่วนร่วมด้วย แล้วต้องไม่ใช่วัฒนธรรมห้าง คำถามก็คือเขาจะอยู่ได้มากน้อยแค่ไหนหากชุมชนทำร้านกาแฟเองแล้วขายราคาไม่แพงมาก เราจึงต้องมีนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจเรื่องความยั่งยืนต่างๆ นักวัฒนธรรม นักการศึกษามาช่วยกันระดมสมอง แต่เราไม่ค่อยทำงานประสานกันเท่าไหร่ด้วย อย่างรถติดเราก็ไม่เคยประสานกับเรื่องผังเมือง ประสานกับขนส่งมวลชน กับรถไฟฟ้า แล้วไม่ประสานกันมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ก็อยู่อย่างนี้แหละ

ถ้าไม่ต้องคิดว่าจะเป็นไปได้ไหม คุณอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองแบบไหน

แหม่ม : เป็นเมืองที่มีทุกสิ่งทุกอย่าง พี่รักความจนและความรวยของมัน แต่ที่ผ่านมามันเริ่มเสียสมดุล มันเริ่มจะกลายเป็นเมืองคนรวย เป็นเมืองที่แพงมากๆ หลายเมืองที่พี่ไป พี่ก็พบว่ารายได้ขั้นต่ำเขาสูงกว่านี้มาก แต่ก๋วยเตี๊ยวราคาเท่ากัน ตรงนี้มันเป็นเรื่องของการจัดการโดยตรงเลยแหละ พี่อยากเห็นกรุงเทพฯเป็นเมืองที่เขียวขึ้น เป็นเมืองแห่งโอกาส เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นเมืองแห่งการเข้าใจชีวิต เป็นเมืองแห่งการมีเตี้ย สูง ต่ำ ดำ ขาว ยาก ดี มี จน อยู่ในเมืองเดียว และก็มีเมืองในโลกนี้ไม่มากนักที่เป็นเมืองอย่างนี้ แต่รัฐต้องจัดสรรการเข้าออกของประชากรให้ได้ คุณต้องจัดสรรที่ดินให้ได้ แล้วก็ไม่มีการจัดการกับน้ำที่กำลังเน่าหรือระบบเดินเรือที่สามารถพาดข้ามเมืองไป ตรงนี้จะลดความแออัดของถนนลงได้  มันควรเป็นเมืองที่เราเดินจูงมือกันเปล่าวะ ผู้คนได้แบบโรแมนติก รักกัน ทุกวันนี้หรอเมาควัน คนกรุงเทพฯ มันโสดอย่างนี้อะค่ะ รักกันไม่ลง จะกระหนุงกระหนิงกันในห้างเหรอ ห้างมีอะไรโรแมนติกถามจริง ใช่ไหม นอกจากห้างมันจะไม่โรแมนติกมันยังโง่อีกต่างหาก เราควรจะมีการลงทุนที่ดีให้แก่เมืองที่รวยที่สุดในประเทศสิ พี่ก็รอมา 50 ปีแล้วก็ยังไม่เห็นสิ่งนี้

โดย สุธามาส ทวินันท์


Contributor