30/03/2021
Life

ข้อเสนอสู่เมืองที่ดีกว่าโดยนักรัฐศาสตร์: ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ และ ปลดล็อกโครงสร้างบริหารจัดการ

สิตานัน อนันตรังสี
 


กว่า 2 ชั่วโมงของการบรรยาย “Complex Public Governance in City Rehabilitation and Reconstruction toward Resilience” โดย ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มี 2 ประเด็นหลักที่เราสนใจ

ประการแรก ผู้บรรยายชี้ให้เห็นกลไกการดำเนินงานของ กทม. ซึ่งมีกลไกที่สลับซับซ้อนและแฝงไปด้วยปัญหาที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนาน ประการที่สอง คือ เสนอข้อชวนคิดที่จะนำมาปรับมุมมองปรับกลไกการทำงานของ กทม.

ปัญหาเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการที่หยั่งรากลึก

ชุดปัญหาหนึ่งที่ ผศ.ดร.ทวิดา หยิบยกขึ้นมาบรรยาย คือ ชุดปัญหาของยุทธศาสตร์ที่ไม่สมบูรณ์ของของกรุงเทพมหานคร (Dysfunctional Strategy) ได้แก่

1) ไม่สามารถตีความยุทธศาสตร์ของเมืองออกมาได้เพราะหลายคนคนมองไม่เห็นวิสัยทัศน์ร่วมของยุทธศาสตร์

2) กำหนดยุทธศาสตร์ที่ไม่ยืดหยุ่น ยุทธศาสตร์ของ กทม. ถูกสร้างมาในปี 2555 และถูกนำมาใช้ในปี 2556 ซึ่งกระบวนการดำเนินการสร้างยุทธศาสตร์ในปี 2555 นั้นเจ้าหน้าที่ กทม. ได้มีการลงพื้นที่ไปสอบถามประชาชน มีการทำ ประชาพิจารณ์ ซึ่งค่อนข้างมีความสอดคล้องกันและชอบด้วยกฎหมาย แต่ในปี 2555 เป็นปีที่ชาวกรุงเทพฯ เพิ่งพ้นจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ยังไม่มีการรัฐประหาร ยังไม่มีการเรียกร้องทางการเมือง รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหามลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 แต่ยุทธศาสตร์ที่มีกลับไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนกรุงเทพฯ อีกแล้ว

3) มียุทธศาสตร์ ภารกิจ และผลลัพธ์ที่ทับซ้อนกัน ผู้บรรยายยกตัวอย่างการนำสายไฟฟ้าลงดิน ภายใต้ยุทธศาสตร์เมืองสีเขียวและสวยงาม แต่ในมุมมองของ ผศ.ดร.ทวิดา มองว่าการนำเสาไฟฟ้าลงดินยังเกี่ยวโยงกับความปลอดภัยด้วย การประเมินผลจึงควรมีดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ร่วมกัน

4) ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพในการวางแผนเมืองและการบริหารงาน เนื่องจากการขาดการวางแผนในการนำข้อมูลไปใช้

5) ขาดกระบวนการติดตามการดำเนินงานและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอจากนักรัฐศาสตร์เพื่อเมืองที่ดีกว่าและยั่งยืน

อาจารย์ทวิดาได้ยก 6 ประเด็นสำคัญที่มีต่อการปรับกลไกการทำงานของกรุงเทพมหานคร ประเด็นต่าง ๆ ที่อาจารย์หยิบยกขึ้นมานี้ นับเป็นการซ่อมแซมอนาคตที่ล้มเหลวของกรุงเทพฯ ได้ตลอดกาล

ประเด็นแรก “Rethinking city concept and readiness of facing dynamic risks & uncertainty” อาจารย์ได้แนะนำถึงโครงสร้าง smart physical infrastructure ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของเมือง ภายใต้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเมืองที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ (city resiliency) ประเด็นที่สอง “Restructure city authority: from function-based organizations to strategic-based organizations” อาจารย์ได้นำเสนอประเด็นนี้ให้กับ กทม. เพื่อนำมาปรับปรุงปัญหาการทำงานแยกส่วนกันของแต่ละสำนัก รวมถึงการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในหน่วยงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์การทำงาน

ประเด็นที่สาม “City R&D, Research and knowledge utilization, city labs and sandbox” กทม. ต้องการการวิจัยและการพัฒนา ทุกวันนี้ กทม. ไม่ได้ทำการจัดแคตตาล็อกชุดของการวิจัยและชุดนโยบายอย่างเหมาะสม ประเด็นที่สี่ “Data-driven analysis and informative dashboard for urban decision making” เพื่อแก้ปัญหาทุกอย่าง กทม. ต้องมีระบบจัดการข้อมูลที่ดี ปัจจุบันแต่ละสำนักเป็นผู้เก็บข้อมูลซึ่งมาจากการดำเนินภารกิจของแต่หน่วยงานที่แยกส่วนกัน

ประเด็นที่ห้า “Budgeting reform: agenda-based budgeting, integrated budgeting and participatory budgeting” อาจารย์นำเสนอว่าการปฏิรูปกระบวนการงบประมาณของ กทม. นั้นต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนาน ต้องตั้งต้นจากจุดมุ่งหมายของยุทธศาสตร์ ลงมาทำเป็นแผนภาพที่เฉพาะสำหรับการวางแผนงบประมาณที่เชื่อมโยงกับจุดมุ่งหมายของยุทธศาสตร์ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของโครงสร้างการดำเนินงบประมาณ รวมถึงการนำเสนอการวางแผนงบประมาณอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งจะนำไปสู่การกางแผนในระดับชุมชน

ประเด็นสุดท้ายคือ “Cross-cutting issues, inter organizational synergy and collaborative governance” อาจารย์ต้องการให้เกิดการหมุนเวียนการดำเนินงานข้ามหน่วยงานกัน ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้งานที่หลากหลายเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของกรุงเทพที่ดี ซึ่งจะก่อให้เกิดธรรมาภิบาลที่ดีในการบริหารงาน

การบรรยายของ ผศ.ดร.ทวิดา ช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างของ กทม. พร้อมทั้งเปิดมุมมองการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานอย่างหลากหลาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อผู้คนในวงการการทำงานวางแผนเมือง ผู้ที่ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงชาวกรุงเทพมหานครทั่วไปเช่นกัน

หมายเหตุ : บทความเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยาย MUS X UDDC INTERNATIONAL LECTURE SERIES 2021 : Urban Regeneration Strategy EP.03 “Complex Public Governance in City Rehabilitation and Reconstruction toward Resilience” โดย ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564

ท่านสามารถรับฟังย้อนหลังได้ทาง https://www.facebook.com/276255902507371/videos/1064252420728367

การบรรยายสาธารณะ MUS X UDDC INTERNATIONAL LECTURE SERIES 2021 เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ Master of Science on Urban Strategies (MUS) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 4 มีนาคม – 4 พฤษภาคม 2564 ร่วมดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสื่อใหม่ Thai PBS และ The Urbanis


Contributor