29/11/2019
Life

The Better City ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ “เราคือเมือง เมืองคือประชาชน”

สุธามาส ทวินันท์
 


แม้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังมาไม่ถึง แต่คนที่เรารู้อย่างแน่ชัดแล้วว่าจะลงแข่งขันในศึกชิงตำแหน่งครั้งนี้แน่นอนก็คือ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ อดีตรองศาสตราจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมผู้ได้รับสมญานามว่า ‘รัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ 

บ่อยครั้งที่ใครๆ ก็พบเห็นชายผู้แข็งแกร่งที่สดในปฐพีคนนี้ไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนลุมฯ และถ้าเข้าไปทักทายของถ่ายรูปด้วย ก็จะได้รับปฏิกิริยาตอบกลับแบบยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นมิตรเสมอ ไลฟ์สไตล์ติดดิน เข้าถึงง่าย ชัชชาติเป็นหนึ่งในนักการเมืองไม่กี่คนที่ประชาชนรู้สึกคุ้นเคย รวมไปถึงพื้นที่โซเชียลมีเดียด้วย

ดังนั้น ชัชชาติจึงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. โดยเฉพาะเมื่อเขาตัดสินใจลงในนามอิสระ ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘สามารถทำงานกับทุกภาคส่วนได้มากกว่าลงสมัครในนามพรรคการเมือง’ 

ว่าแต่ว่า วิสัยทัศน์ในเรื่อง ‘เมือง’ ของผู้ชายคนนี้จะเป็นอย่างไร The Urbanis อยากชวนคุณไปพูดคุยกับเขาหลังการบรรยายครั้งสำคัญในหัวข้อ “Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร” 

การบรรยายนี้จัดขึ้นโดย ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง (CUURP) คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ซึ่งนอกจากจะเปิดมุมมองใหม่ในการพัฒนาเมืองให้แก่นิสิต นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว ยังทำให้เรา ‘เห็น’ ชัดเจนอีกด้วย ว่าชัชชาติมีวิสัยทัศน์ต่อกรุงเทพฯ อย่างไร

รวมทั้งเขาอยากทำอะไรบ้าง – เพื่อให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น

ชัชชาติเริ่มการบรรยายด้วยการตั้งคำถามว่า ‘เมืองที่ดีคืออะไร’ เพราะการจะวัดผลว่าดีหรือไม่ดีนั้น เราต้องมีไม้บรรทัดเป็นตัววัดสิ่งเหล่านั้นก่อน ซึ่งไม้บรรทัดของชัชชาติมีด้วยกันอยู่ 3 ข้อที่เป็นหัวใจสำคัญ 

1. ยั่งยืน (Sustainable)  คือ การที่คนรุ่นนี้ต้องไม่เบียดเบียนทรัพยากร หรือทิ้งภาระต่างๆ ไว้ให้คนรุ่นถัดไป 

2. ครอบคลุม (Inclusive)  หมายถึงการพัฒนาที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่ทำแค่โครงการเมกะโปรเจกต์ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า 13 สาย แต่ทำเสร็จแล้วคนจนขึ้นไม่ไหวเพราะราคาสูงเกินไป  ชัชชาติมองว่าเราไม่ควรลืมรายละเอียดอื่นเล็กๆ น้อยๆ ของคนกลุ่มต่างๆ  ทั้งคนมีรายได้ต่ำ หรือคนพิการด้วย 

3. ยุติธรรมและเข้าใจ (Fair & Empathy) ชัชชาติย้ำว่าเมืองที่ดีนั้นต้องยุติธรรมและเข้าใจ โดยยกตัวอย่างแนวคิดการกำจัดหาบเร่แผงลอยโดยไม่ได้คำนึงว่า แล้วคนทำงานออฟฟิศหรือคนงานจะกินข้าวที่ไหน เพราะราคาอาหารในศูนย์การค้าต่างๆ สูงเกินไป การจัดการเมืองจึงต้องลงลึกไปถึงความยุติธรรม ความเข้าใจ เพราะมิติของเมืองไม่ได้ง่าย เอากฎหมายไปจับอย่างเดียวไม่ได้ 

เพิ่มพื้นที่สาธารณะ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี

พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอด ว่ามีไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ไม่ใช่แค่สวนสาธารณะ ห้องสมุด หรือพิพิธภัณฑ์ แต่รวมไปถึงพื้นที่แบบอื่นๆ ที่ไม่ต้องจ่ายเงิน และไม่มีเงื่อนไขอื่นๆ ที่จำกัดความเป็นสาธารณะด้วย

ชัชชาติเป็นคนที่มักไปออกกำลังกายตามสวนสาธารณะอยู่เป็นประจำ เขามองว่าการมีสวนสาธารณะหรือสถานที่ออกกำลังกายที่ดี มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสร้างโรงพยาบาล แนวทางการพัฒนาเมืองที่ดีของเขาจึงบรรจุประเด็นพื้นที่สาธารณะลงไปด้วย

“ผมว่าพื้นที่สาธารณะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งคุณภาพชีวิตมันก็สะท้อนอยู่ในคนนั่นแหละ ถ้าคุณภาพชีวิตดีขึ้น งานการก็ดีขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคนดีขึ้น ในปัจจุบันเมื่อพื้นที่มันยิ่งคับแคบลง คนก็จะไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น”

ชัชชาติยกตัวอย่างการพัฒนาเมืองของ Janette Sadik-Khan อดีตกรรมาธิการของ New York City Department of Transportation เขาเล่าว่า ตอนที่ Sadik-Khan เข้ามารับตำแหน่ง เธอขอแค่กระป๋องสีกับแปรงสำหรับการเปลี่ยนนิวยอร์กให้ดีขึ้น ด้วยการทาสีบริเวณที่ว่าง และจัดให้เป็นที่จอดรถ เป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ทุกคนเข้ามาพักผ่อนย่อนใจได้ 

นอกจากนี้ Sadik-Khan ยังลดความสำคัญของการจราจรบริเวณไทม์สแควร์ที่รถหนาแน่นที่สุดลง ด้วยการสั่งปิดถนน ถึงแม้ตอนนั้นจะมีกระแสต่อต้านจากคนทั้งเมือง แต่สุดท้ายแล้วไทม์สแควร์ก็กลายเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่และดึงดูดคนทั่วโลกให้มาท่องเที่ยวทุกปี 

“Michael Bloomberg กระซิบบอก Janette Sadik-Khan ว่าอย่าทำพังนะเพราะมันสเกลใหญ่มาก แต่แล้วเธอก็ทำได้ จากวิธีเปลี่ยนเมืองด้วยการเอากระป๋องสีมาทา และให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานมากขึ้น พร้อมลดความสำคัญของการจราจรลง หรือในเกาหลีใต้ก็มีกรณีคลองชองเกชอนที่แต่ก่อนเป็นทางด่วน และต่อมามีนโยบายทุบทางด่วนทิ้งเปลี่ยนเป็นคลอง ซึ่งก็เปลี่ยนเมืองไปเลย แต่กว่าจะเปลี่ยนได้ก็มีการประท้วงทั้งเมืองตามสไตล์เกาหลี แต่สุดท้ายแล้วเมืองดีขึ้นจริงๆ”

ชัชชาติกล่าวต่อว่าในประเทศไทยเองก็มี ‘พนัสนิคม’ ตำบลเล็กๆ ในจังหวัดชลบุรี ที่มีพื้นที่ประมาณ 2.76 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรราว 1.1 หมื่นคนคนอาศัยอยู่ แต่เป็นตำบลที่เคยติดอันดับ 1 ใน 1,000 เมืองระดับโลกที่มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพคนเมืองดีใน พ.ศ. 2553 จากการคัดเลือกขององค์กรอนามัยโลก (WHO) และคว้าตำแหน่งเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนของประเทศใน พ.ศ. 2555 จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยตำบลนี้มีแนวคิดในการพัฒนาเมืองว่า ‘เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมดี สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย’

“ผมว่าหัวใจอย่างหนึ่งของการสร้างเมืองพนัสนิคม คือท่าน วิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีของเทศบาลพนัสนิคมนั้น ทำงานต่อเนื่อง เพราะท่านเป็นนายกเทศมนตรีถึง 6 สมัย และท่านก็ยังจบปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Akron รัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นประเทศไทยเราเองก็มีผู้นำที่สามารถพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นได้เหมือนกัน”

จุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของพนัสนิคมคือ การส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ตรงตามมาตรฐานสากลที่กำหนดให้เมืองควรมีพื้นที่สีเขียวไม่ต่ำกว่า 10 ตารางเมตร/คน โดยการนำพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้งาน มาเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะแก่ชุมชนจนกลายเป็นปอดของเมือง 

นอกจากนั้นยังจัดการกับปริมาณขยะด้วยการ ปรับขนาดถังขยะลดเหลือ และแบ่งเป็นประเภทเพื่อคัดแยกขยะ พร้อมกำหนดเวลาเก็บขยะภายในชุมชน ทำให้ทุกคนต้องตื่นตัวในการคัดแยกขยะ ทั้งยังมีโครงการส่งเสริมสังคมผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ด้วยการออกแบบเมืองเพื่อรองรับคนทุกกลุ่มวัย (Universal Design)

ทลายกำแพงความไม่ไว้ใจ สู่การแบ่งปัน 

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะนั้น ชัชชาติเสนอแนวคิด ‘เมืองแบ่งปัน’ เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมองว่าเราไม่จำเป็นต้องสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ เพียงแต่ต้องหันมา ‘แบ่งปัน’ พื้นที่เดิมที่มีให้แก่ผู้อื่น เพราะภาครัฐเองก็มีทรัพยากรเยอะอยู่แล้ว แต่เรามักไม่ค่อยนำแบ่งปันกันและกัน พร้อมยกตัวอย่าง สนามปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิตของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่แต่เดิมห้ามคนเข้า จนกระทั่งทาง AOT ได้ปรับพื้นที่ดังกล่าวเป็นเลนจักรยาน และอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้ออกกำลังกายได้ ซึ่งต่อมาก็ได้รับความนิยมมากจนกลายเป็นสนามปั่นจักรยานมาตรฐานระดับโลก และคาดว่าในแต่ละวันมีคนหลายพันคนเข้ามาออกกำลังกาย ณ ที่แห่งนี้ 

“ผมเชื่อว่าเรายังมีพื้นที่แบบนี้อีกมาก ทั้งของภาครัฐและเอกชน เพียงแต่เราต้องเปลี่ยนแนวคิด ทำลายกำแพงของกฎระเบียบที่ขวางกั้นเอาไว้ แล้วแบ่งปันทรัพยากรที่เรามีแก่คนอื่นๆ หากทำได้เราจะมีพื้นที่สาธารณะดีๆ ที่ทุกคนสามารถมาใช้ร่วมกัน ที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น เมืองก็เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นได้ มันคุ้มยิ่งกว่าไปทำโรงพยาบาลอีกหลายแห่งเลย  โดยที่เราไม่ต้องสร้างสวนสาธารณะใหม่ แต่เราแค่เปิดให้คนเข้านอกเข้ามาใช้เอง 

“อย่าง มศว. เปิดสนามตรงกลางให้คนนอกเข้ามาใช้ได้ ก็มีฝรั่ง มีคนทำงานออฟฟิศแถวนั้นเข้ามาใช้งานเต็มเลย ผมว่าหลักๆ คือการทลายรั้วออก แบ่งปันให้คนเข้ามาใช้งานได้  บางทีเรากลัวว่าคนจะมาขโมยของหรือทำความเสียหาย ผมกลับมองว่าเขามาช่วยกันดูแลต่างหาก ผมยกตัวอย่างของสนามปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิตที่เมื่อเขาเปิดเป็นสาธารณะ เขามีประชาชนอีกหมื่นกว่าคนมาช่วยสอดส่องให้เขา” 

นอกจากนี้การที่ชัชชาติไปลงพื้นที่อยู่บ่อยๆ ทำให้ได้เห็นว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้งานจำนวนมาก ซึ่งเป็นของบุคคลทั่วไป ชัชชาติจึงมองว่าหากเจ้าของที่ดินไม่ต้องการขาย และแทนที่จะต้องเสียภาษีที่ดินจำนวนมาก เราควรมีนโยบายให้นำพื้นที่เหล่านั้นมาให้ภาครัฐเช่าทำเป็นสวนสาธารณะระยะยาว โดยยกเว้นการจ่ายภาษีให้แก่เจ้าของที่ดินน่าจะทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มจำนวนพื้นที่สาธารณะได้อีกทาง

“หรือปัญหาเรื่องหาบเร่แผงลอยที่ขว้างทางฟุตบาทนี่ บริเวณหน้าร้านของเอกชนที่มีพื้นที่ว่างเยอะแยะเลย คุณสามารถรับรถเข็นที่ขายของอยู่บนฟุตบาทขึ้นไปอยู่หน้าร้านของคุณได้ไหม เพราะคนที่ซื้อของก็เป็นคนบนตึกคุณนั่นแหละ”  

เราถามต่อไปว่าข้อจำกัดอะไรที่ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่สามารถนำพื้นที่เหล่านั้นมาแบ่งปันได้ ชัชชาติให้ความเห็นว่าอยู่ที่ Mindset ด้วยส่วนหนึ่ง Mindset ที่ไม่มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน

“ยกตัวอย่างผมไปชุมชนหนึ่งในเพชรเกษม 48 ซึ่งเป็นชุมชนแออัด และก็มีโรงเรียนอยู่ติดกันเลย แต่เสาร์อาทิตย์โรงเรียนปิดรั้วกั้น เพราะกลัวว่าชาวบ้านจะมาทำลายของ นี่คือ Mindset ที่ว่าเราหวาดระแวงไม่มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นทำยังไงที่จะสร้างความไว้วางใจว่า ชาวบ้านเขาไม่ได้มาทำลาย ถ้าปล่อยให้เด็กบริเวณๆ นั้น เข้าไปเล่นเขาก็ช่วยดูแลกันได้ หัวใจของการแบ่งปันมันอยู่ที่จึงอยู่ที่ความไว้ใจ และเราจะสร้างความเชื่อใจอย่างไรที่สามารถแบ่งปันกันได้

“ผมเคยไปมหาวิทยาลัยในเมืองนอกหลายที่เขาไม่มีรั้วนะ เขาเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะเลยอ่ะ ใครจะไปทำอะไร ก็ช่วยกันดูแลให้เขา เหมือนอย่างสุวรรณภูมิที่ผมไปปั่นจักรยาน ทีแรกเขาก็ไม่เชื่อใจ แต่พอปล่อยให้คนเข้าไปแล้วเขาเห็นว่ามันสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันได้นะ แต่เขาคงไม่ได้สร้างความไว้ใจได้ข้ามวันเลยหรอกนะ ก็คงทำแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป”

ทั้งนี้ ชัชชาติเน้นย้ำว่าหากแบ่งปันก็ต้องช่วยกันดูแล เห็นได้จากโครงการแบ่งปันพื้นที่ใต้ทางด่วนของชุมชนเยูซาเล็มแถวพระราม 9 ที่ใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนจัดทำเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่สวนสาธารณะกลับสภาพแย่ ขาดการดูแล ดังนั้น เมืองจะดีได้จึงต้องเกิดจากการร่วมมือของทุกคน ไม่ใช่การไปฝากความหวังไว้ที่ผู้ว่าฯ อย่างเดียว เพราะผู้ว่าฯ ไม่ใช่ฮีโร่

“กทม. จะดีได้ไม่ใช่เกิดจากผู้ว่าคนเดียว แต่มันต้องเกิดจากการร่วมกัน 4 ฝ่ายร่วมกัน คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ถ้าไม่ร่วมกัน เมืองไม่มีทางดีขึ้นแน่นอน เราอย่าไปหวังว่าทุกอย่างจะแก้โดยรัฐ เราคือเมือง เมืองคือประชาชน เพราะงั้นถ้าเราไม่เปลี่ยนเราอย่าหวังว่าเมืองจะเปลี่ยน เราต้องเริ่มที่ตัวเราด้วย” 


Contributor