27/05/2020
Life

คุยเรื่องห้องเรียนในอนาคต กับ ยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกเบื้องหลังแนวคิดพื้นที่เรียนรู้แบบไฮบริดในซิลิคอนแวลลีย์

นาริฐา โภไคยอนันต์
 


“ผมมองว่าหลังโควิด-19 คนในแคลิฟอร์เนียก็ยังจะกลับมาเข้าเรียนเหมือนเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือกรอบคิดของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องการเชื่อมต่อกับผู้คน หลัง COVID-19 แม้เมื่อมียารักษาแล้ว ผู้คนก็ยังไม่ลืมว่าเขาเคยสามารถทำงานที่บ้านได้ เคยเรียนและคุยกับคนทั้งห้องที่บ้านผ่านออนไลน์ได้ และเขาก็จะเริ่มถามว่า ทำไมเราจึงมีห้องว่างและสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากมายนัก ทั้งที่บางส่วนสามารถย้ายไปอยู่ Online ได้” ยรรยง บุญ-หลง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นของโควิด-19 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาแทบทุกประเทศอย่างฉับพลัน ทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การปรับตัวในระยะสั้นด้วยการเรียนทางไกลส่งผลให้นักเรียนและโรงเรียนต้องเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ยังทำให้เกิดความปกติใหม่ ที่ทำลายแนวคิดการเรียนรู้แบบเก่าที่ผูดขาดการเรียนการสอนในระบบไว้ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเท่านั้น 

The Urbanis ชวน ยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกชุมชนชาวไทย ผู้เป็นสมาชิกของสมาคมสถาปนิกอเมริกัน (The American Institute of Architects) พูดคุยเรื่องการเรียนรู้ในอนาคต ทั้งรูปแบบการเรียนการสอน คุณภาพการศึกษา รวมไปถึงการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้แห่งอนาคต ที่ยังคงไว้ซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และสนับสนุนแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

ปัจจุบัน ยรรยงอาศัยในสหรัฐอเมริกา เพื่อทำงานวิจัยและออกแบบโรงเรียนของรัฐในเขตซิลิคอนแวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย แน่นอนว่าแนวคิดที่ยรรยงให้ความสนใจและทำการศึกษาออกแบบอยู่ อาจถูกเร่งปฏิกิริยากลายเป็นความจริงได้เร็วขึ้นเพราะวิกฤตโควิด-19 ที่สั่นสะเทือนไปทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่แวดวงทางการศึกษา

เมื่อพูดถึงซิลิคอนแวลลีย์ หลายคนคิดถึงภาพศูนย์รวมของบริษัทและสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่ต่างแข่งขันกันนำเสนอนวัตกรรมเปลี่ยนโลก เช่นเดียวกัน โรงเรียนในเขตซิลิคอนแวลลีย์ก็ย่อมมีความพิเศษไม่แพ้กัน

ซิลิคอนแวลลีย์ การศึกษาส่วนผสมของแพลตฟอร์มการเรียนรู้เป็นอย่างไรบ้าง

สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในโรงเรียนรัฐในซิลิคอนแวลลีย์ ถูกออกแบบให้เป็นระบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน หรือ Hybrid Learning ที่นำการเรียนออนไลน์ภายใต้ระบบที่ชื่อว่า “คาน อะคาเดมี” (Khan Academy) มาผสมผสานในหลักสูตรการเรียนการสอน

โรงเรียน San Jose school ใช้ Khan Academy ร่วมในการเรียนการสอน
(ที่มาภาพจาก https://bretharte.sjusd.org)

คาน อะคาเดมีเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ที่สร้างแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กอายุ 2-18 ปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีสื่อการเรียนการสอนประเภทวีดิโอ  แบบฝึกหัด และแดชบอร์ดการเรียนรู้ส่วนบุคคลที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเองทั้งในและนอกห้องเรียน ครอบคลุมทุกวิชาพื้นฐาน ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ เศรษฐศาสตร์และอีกหลากหลายวิชา สำหรับที่ซิลิคอนแวลลีย์มุ่งเน้นวิชาเทคโนโลยีเป็นพิเศษ 

นอกจากนี้ ความเป็นพิเศษของ คาน อะคาเดมี คือความร่วมมือกับสถาบันระดับประเทศและระดับโลกในการจัดทำเนื้อหาหลักสูตรเฉพาะทาง อาทิ นาซา (NASA) พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ (The Museum of Modern Art)  วิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนียอะคาเดมี่ (California Academy of Sciences)  และ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ฯลฯ 

อะไรคือปัจจับสำคัญในการสนับสนุนสถานศึกษาจากทางภาครัฐ

รัฐสนับสนุนทุนทรัพย์ทุกอย่างเช่น หนังสือ อุปกรณ์ ไม่มีการใส่เครื่องแบบนักเรียน หรือในครอบครัวที่ยากจนก็มีการแจกอาหารให้รับประทานฟรี เช่น ในช่วงที่ปิดโควิด-19 เองยังมีการเปิดครัว เด็กที่ต้องการอาหารสามารถไปรับได้ จึงทำให้ในซิลิคอนแวลลีย์ หรือเบย์ แอเรีย (Bay Area) แคลิฟอร์เนียมีผู้ปกครองหลายครอบครัวย้ายบ้านหรือที่อยู่มาอาศัยในย่านที่มีโรงเรียนทางด้านเทคโนโลยีแห่งนี้  

ในช่วงที่เปิดเทอมคุณครูใช้แพลตฟอร์มอย่าง เวบเอ็กซ์ (Webex) ซูม (Zoom) หรือ กูเกิ้ลแฮงเอาท์ (Google Hangout) ที่โรงเรียนให้ใช้ฟรี  ในโรงเรียนมีสัญญาณไวไฟ (Wifi) ที่มีคุณภาพ ส่วนอุปกรณ์อย่างโครมบุ๊ก (Chromebook) เป็นโน้ตบุ๊คที่ทำงานบนระบบโครมแพลตฟอร์ม (Chrome Platform) เพื่อเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต ที่แคลิฟอร์เนียจะใช้กันเยอะมาก เด็กทุกคนจะมีเป็นของตนเอง โดยปกติที่โรงเรียนจะจัดให้ใช้ในห้องเรียน หรือในตอนนี้หากไม่มีเป็นของตัวเองที่บ้าน ทางโรงเรียนก็แจกให้ใช้ฟรีสามารถนำกลับมาใช้ที่บ้านได้ซึ่งตามปกติแล้วจะไม่ได้ให้เอากลับมาที่บ้าน 

A group of young children sitting next to a computer

Description automatically generated
ภาพห้องเรียนและ Chromebook Cart ที่เอาไว้ใช้เก็บและชาร์ทตัว  Chromebook 
(ที่มาภาพจาก Spectrum Technology)

มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวกับการเรียนออนไลน์ยังไงบ้าง

พลังของโควิดจะเปลี่ยนกรอบคิดของคนทั่วไป และทำให้คุณครูและเด็กคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์มากขึ้น อาจจะมีการผสมผสานกับคาน อะคาเดมี มาด้วย หรือในระดับมหาวิทยาลัยอาจจะมีนักศึกษาที่มีหน้าที่เป็นติวเตอร์ หรืออบรมให้คนไปเรียน Massive Open Online Course (MOOC) ที่มหาวิทยาลัยอื่นเปิด เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT), มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford)  ฯลฯ 

ประเทศไทยพอจะเป็นไปได้ในทิศทางไหน

สมมุติว่าอย่างมหาวิทยาลัยไทย หรือ กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) อาจจะมีห้องที่เปิดติวให้กลุ่มนักเรียนมาเรียนวิชาธุรกิจ (business class) ของสถาบันต่างชาติ เช่น MIT แต่นักเรียนสามารถได้เครดิตการเรียนที่ MIT Open Course ได้ด้วย แต่ อาจจะมีเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่ายในการติวให้กับติวเตอร์ของกลุ่ม 

การศึกษาในประเทศไทยต้องพัฒนาภาษาอังกฤษให้เด็กทุกคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ เพราะหลักสูตรการเรียนออนไลน์ส่วนใหญ่มีหลายองค์กรระดับสากลทำแต่เป็นสื่อการเรียนในภาษาอังกฤษ อย่าง คานอะคาเดมี ที่ใช้กันหลายประเทศ ถึงแม้จะเพิ่งมีในรูปแบบภาษาไทยแต่ก็ยังจำกัดเพียงไม่กี่วิชา

การออกแบบห้องเรียนในอนาคตในมุมมองยรรยง

การออกแบบห้องเรียน อาจจะมีผนังใหญ่ มีกล้องที่สามารถเชื่อมห้อง 2 ห้องได้ คล้ายการส่องกระจกแต่เป็นอีกห้องเรียนอาจเป็นคนละคณะ หรือคนละมหาวิทยาลัย หรือคนละประเทศเลยก็ได้ ตอนนี้ใช้จอโปรเจคเตอร์ไปก่อน แต่อีกไม่นานอาจจะมีจอดิจิทัล จอแบนที่ไม่แพง เป็นจอทั้งผนังเลยก็ได้ สามารถพูดคุยกันได้ ในการเชื่อมต่อ โครงสร้างของสถาปัตยกรรม ควรมีผนังที่สามารถเชื่อมต่ออีกห้องเรียนได้ในอนาคต

เช่น ห้องทดลองอาจจะเชื่อมกับอีกห้อง โดยไม่จำเป็นต้องสร้างห้องเพิ่ม หรือย้ายอีกห้องมาสามารถอยู่คนละมุมได้ หรือตัวอย่าง สถาปัตยกรรมต้องการใส่ต้นไม้ในการออกแบบ ก็สามารถเชื่อมกับห้องศึกษาต้นไม้เข้ากับห้องสถาปัตยกรรม มีฝาหนังเชื่อมกันสามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งในรูปแบบจอแบนหรือจอโปรเจคเตอร์ที่รัฐซานฟรานซิสโก และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (UC San Franciso) แผนกแพทยศาสตร์เริ่มมีการนำมาใช้แล้ว เป็นการเชื่อม 2 ห้องเรียนเข้าด้วยกัน สามารถสอนร่วมกันได้ 

A close up of a map

Description automatically generated
ภาพการ “ขยาย” ห้องเรียนด้วยการเชื่อมห้อง 2 ห้องเข้าด้วย Google Hangout และ Webcam โดยไม่ต้องสร้างห้องให้ใหญ่ขึ้น
 (ที่มาภาพจาก Yanyong Boon-Long, DSK Architects, San Francisco)

การเปลี่ยนพื้นที่โรงเรียนที่ไม่ได้ใช้งานเพื่อเป็นศูนย์รวมชุมชนเป็นอย่างไร

โรงเรียนในย่านเบย์ แอเรีย อย่างในเมืองเอเมอรี่วิลล์ (Emeryville) ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของ Pixar และ กลุ่ม Bio-tech ก็ได้มีนโยบาย “ปล่อยเช่า” ห้องเรียนและส่วนต่างๆ ของสถานศึกษา โดยเวลาหลัง 16.00 น. จะมีการอนุญาติให้กลุ่มคนภายนอกสามารถ “จอง” การใช้ห้องผ่านทางเวบไซต์ของเมืองได้ กลุ่มคนเหล่านี้มีตั้งแต่การจองไปทำห้องประชุม หรือจองไปทำกิจกรรมดูหนังกลางแปลง หรือแม้แต่จองยิมไว้เล่นกีฬาต่างๆ เช่น บาสเก็ตบอล หรือสระว่ายน้ำ โดยมีกฎหมายของเมืองดูแลในเรื่องการใช้งานและกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้งานจะเป็นชุมชนต่างๆ 

โครงการนี้บริษัทที่ผมทำงานอยู่ (www.dskarch.com/research)  เป็นกลุ่มที่ริเริ่มเอง และเพิ่งได้รับรางวัล Urban Land Institute Global Award ในปี 2017 นี้เอง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรใหม่ สำหรับสังคมไทยเดิม ที่โรงเรียนอยู่ในวัด และเป็นทั้งศูนย์ประชุมของสังคม เป็นตลาด และเป็นที่จัดหนังกลางแปลง อย่างเช่น การจัดงานวัด 

A close up of a newspaper

Description automatically generated
อัตราค่า “จอง” ห้องของโรงเรียนในเมือง Emeryville

เมื่อนำการออกแบบมาใช้ จะเกิดประโยชน์อย่างไรกับพื้นที่ทางกายภาพและชุมชน

การออกแบบโรงเรียนให้สามารถใช้เป็นสถานที่ประชุมสาธารณะได้หลังเลิกเรียน ทำให้เมือง Emeryville ประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องสร้างอาคารหอประชุมเพิ่มอีกอาคาร เนื่องจากคนทั่วไปมักจะมาประชุมกันในช่วงเวลาเย็นหลังเลิกงาน หรือเสาร์-อาทิตย์ อยู่แล้ว ดังนั้นแค่ออกแบบและปรับเปลี่ยนประโยชน์การใช้งานก็สามารถช่วยประหยัดงบประมาณไปทำอย่างอื่นได้

A large crane on the back of a truck

Description automatically generated
A large white building

Description automatically generated
ภาพ Modular Building ของบริษัท Gen7/AMS ใน California
ที่มาภาพ https://www.gen7schools.com

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจของห้องเรียน คือ ในเขตพื้นที่แคลิฟอร์เนียมีการใช้ห้องเรียนเคลื่อนที่ (modular &  mobile classroom) สามารถเคลื่อนย้ายได้ เป็นนวัตกรรมห้องเรียนที่มีความยืดหยุ่น (flexibility) และรวดเร็ว มีลักษณะคล้ายกระต๊อบ เป็นห้อง ย้ายที่ได้ ดัดแปลงได้ ไม่เน้นเรื่องความสวยงาม สามารถยกไปตั้งที่สนามโรงเรียนหนึ่งและย้ายไปอีกโรงเรียนได้ มีการใช้ในหลายประเทศทั้ง สหรัฐอเมริกา จีน สหราชอาณาจักร เป็นต้น

ในอนาคตมนุษย์จะปรับตัวกับสภาวะนี้อย่างไรบ้าง

โดยส่วนตัวผมคิดว่าในอีกไม่กี่เดือนจะมียารักษาได้เร็วๆ นี้ และเกิดแนวคิดที่มนุษย์จะคุ้นชินกับการใช้วิดีโอในการติดต่อสื่อสารกัน การทำงานที่บ้าน อาจจะมีประสิทธิภาพดีกว่าเพราะไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเจอปัญหารถติด  หลังโควิดทำให้เกิดกรอบคิดใหม่ มนุษย์จะคุ้นชินมากขึ้น มีการผสมผสานกันระหว่างการเรียนแบบเก่าและเรียนออนไลน์ เป็นการเรียนแบบไฮบริดในซิลิคอนแวลลีย์ หลายบริษัทเริ่มทำงานที่บ้านกันอยู่แล้ว อย่างบริษัทกูเกิ้ล เฟซบุค หรืออย่างโรงเรียนในแต่ละเขตก็ปิดสถานศึกษาก่อนที่รัฐบาลจะประกาศ ช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอม จะมีตารางเวลาในการเข้ามาคุยกับคุณครูวันละ 1 ชั่วโมง นอกนั้นเด็กนักเรียนก็เรียนด้วยตนเอง จะเจอคุณครูวันเว้นวัน  

Life-Long learning สามารถเริ่มได้จากจุดไหน

โรงเรียนในย่านซิลิคอนแวลลีย์จะมีทีมโต้วาที แทบทุกโรงเรียน เช่นเดียวกับทีมกีฬาทางด้านต่างๆ การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือแนวคิดของการศึกษาที่ปลูกฝังให้เด็กตั้งคำถามกับทฤษฎีเก่าๆ เช่น การเรียนสังคมศาสตร์ จะไม่บอกว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จะตั้งคำถามว่า ถ้ามองอีกมุมหนึ่งจะเป็นอย่างไร ให้เกิดการถกเถียง หรือ แม้แต่วิชาคณิตศาสตร์เน้นให้เข้าใจพื้นฐานก่อนและถกเถียงกันว่าบทพิสูจน์นั้นจริงหรือไม่ วัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องมาจากวัฒนธรรมการถกเถียง ตั้งคำถาม

แก้ปัญหาการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน แท้จริงแล้วต้องเริ่มต้นที่อะไร

ต้นตอการแก้ปัญหาจากรากฐานสำคัญเลยคือ การใช้ภาษีที่จัดเก็บในเมือง ตัวอย่างที่แคลิฟอร์เนียมีการจัดเก็บภาษีของแต่ละเมือง เงินภาษีจะเข้าสู่การบริหารในพื้นที่เมืองนั้น ในสหรัฐอเมริกา พลเมืองสามารถลงคะแนนได้ว่าจะให้เอางบประมาณเท่าไหร่ไปพัฒนาโรงเรียน โดยนักการเมืองท้องถิ่นจะเป็นผู้เสนอการนำเงินไปพัฒนาส่วนต่างๆ คนในเมืองจะลงคะแนนโดยตรง ในการจัดสรรงบประมาณที่จะให้โรงเรียนเท่าไหร่ เรียกว่า Proposition คนที่มีสิทธิเสนอจะเป็นคนในพื้นที่นั้นๆ หลักสำคัญในการเข้าเรียนคือ เด็กอาศัยอยู่ในย่านไหนก็จะต้องเข้าโรงเรียนในย่านนั้น โรงเรียนในแต่ละเขตจะมีการควบคุมมาตรฐานโรงเรียนที่ไม่ต่างกันมาก ส่งผลต่อการเดินทาง รถก็จะไม่ติด ไม่เสียเวลากับการเดินทาง และเมื่อกลับมาจากโรงเรียน เพื่อนที่โรงเรียนก็อยู่อาศัยในย่านเดียวกัน การจัดการภาษีไม่ได้เข้าไปส่วนกลางทั้งหมด จึงเป็นเรื่องของนโยบายในการพัฒนาโรงเรียน ก็จะช่วยทำให้เด็กเจอเพื่อนในย่านมากขึ้น 

หลังจากพูดคุยกับยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกที่เคยทำงานคลุกคลีตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงการออกแบบโรงเรียนในเขตซิลิคอนแวลลีย์ที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอันดับต้นของโลก จะพบว่าสุดท้ายแล้วการตั้งคำถามถึง การแก้ปัญหาปฏิสัมพันธ์ของเด็กที่จะขาดหายไปในช่วงการเว้นระยะห่าง (social distancing) นี้ คำตอบในระยะยาวอาจไม่ได้ไปไกลถึงการออกแบบห้องเรียนแห่งอนาคต แต่ต้องเริ่มต้นที่การบริหารงบประมาณ การใช้ภาษีโดยที่ประชาชนเป็นคนเลือกและตัดสินใจเองซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่

นอกจากนั้นเมื่อปัญหาการแย่งกันเข้าโรงเรียนชื่อดังหมดไป การเดินทางฝ่าการจราจรในตอนเช้าของเด็กที่เกิดขึ้นทุกครั้งในช่วงการเปิดเทอมก็จะลดน้อยลง และการแก้ปัญหาช่องว่างทางการศึกษายังสามารถแก้ไขได้ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนพร้อมไปกับการเพิ่มทักษะทางภาษาที่จำเป็นเพื่อให้คุณภาพการศึกษาสามารถกระจายได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย


Contributor